หนีบๆๆ
ความนิยมของการร้องและเล่นกีตาร์อัดคลิปลง YouTube ทุกวันนี้ เป็นเรื่องที่สามารถเห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นลูกเด็ก เล็กแดง ผู้ใหญ่ขนาดไหน ทุกคนสามารถเล่นกีตาร์ร้องเพลงอะไรก็ได้ ลงใน YouTube เผลอๆ จะดังเป็นกระแสเอาด้วย เอาล่ะเรื่องการร้องเพลง คงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ปัญหาใหญ่จริงๆ ก็คือการเล่นกีตาร์ การร้องเพลงยังพอจะกล้อมแกล้มไปได้ แต่การเล่นกีตาร์นี่สิ จะจับคอร์ดให้แม่นๆ ร้องไปด้วยมันก็ยากเอาเรื่องนะเพราะการเล่นคอร์ดถ้าลงตัว เข้ากับคีย์เสียงร้องจะทำให้เพลงที่ร้องเพราะขึ้น ทุกวันนี้ด้วยอะไรมันก็ง่ายๆ เราก็ต้องหาวิธีที่ง่ายที่สุดเพื่อที่จะให้เล่นกีตาร์ง่ายๆ ร้องเข้าคีย์ เราก็เลยมีอุปกรณ์เสริมสักหน่อย นั่นก็คือที่หนีบ ที่เรียกกันว่า Capo นั่นเอง เราใช้ Capo เพื่อให้เล่นคอร์ดง่ายๆ ไม่ต้องจับคอร์ดยากๆ เพื่อให้ร้อง เข้าคีย์ จะได้ไม่ต้องไปพะวงกับคอร์ดมาก ซึ่งในความเป็นจริง เราใช้ Capo ได้ยังไม่เต็มที่นัก จริงแล้ว Capo ยังสามารถทำอะไรให้เราได้มากกว่าแค่หนีบให้เล่นง่ายๆ ร้องให้เข้ากับคีย์ เอาล่ะมารู้จักกับ Capo กันให้มากขึ้นดีกว่า
คำเตือน : อย่างที่เกริ่นไปตอนต้น เราอาจจะใช้ Capo ได้อย่างไม่เต็มที่ จริงๆ แล้ว Capo นั้นสามารถเอามาทดลองได้หลายอย่าง แม้ในเบสิกจริงๆ เราอาจจะรู้จักแค่เอาไว้หนีบเพื่อให้เล่นง่ายๆ แค่นั้นก็พอ แต่ไหนๆ ก็มีของเล่นมาแล้วก็ใช้ให้มันคุ้มสักหน่อย มาดูกันว่า เจ้าของเล่นชิ้นนี้ทำอะไรให้คุณได้บ้าง
เอาล่ะมารู้จัก Capo ก่อนดีกว่า ว่ามันทำอะไรให้เราได้ บ้าง แล้วความลับอันลึกซึ้งของมัน เราสามารถ ทำอะไรได้อีกกับสิ่งที่เรียกว่า Capo นี้
- ตัวหนีบ
หน้าที่ของ Capo ในลำดับแรก จริงๆ มันทำหน้าที่เหมือน Nut ของ Guitar หรือจะมองว่ามันเป็นนิ้วชี้ที่เอาไว้ทาบเป็นบาร์คอร์ดก็ได้ เวลาที่เราเล่นกีตาร์สายเปิดที่ตั้งสายแบบปกติ ถ้าดีดสายเปิดทั้ง 6 สาย เราจะได้โน้ต สาย 6 E สาย 5 A สาย 4 D สาย 3 G สาย 2 B สาย 1 E ตามลำดับ แต่ถ้าหากเราเอา Capo ไปหนีบที่เฟร็ตที่ 2 เราจะได้ สาย 6 F# สาย5 B สาย 4 E สาย 3 A สาย 2 C# สาย 1 F# ซึ่งพอระดับเสียงเปลี่ยน จะทำให้รูปคอร์ดที่เราจับแบบปกติ ได้เสียงที่เปลี่ยนไป
- จากคอร์ดง่ายๆ
พอระดับเสียงเปลี่ยนไป ก็จะทำให้คอร์ดเบสิกที่จับได้ง่ายๆ เช่นคอร์ด C-G-Am-Dm เราเล่นในรูปแบบการจับเดิม แต่เสียงที่ได้จะสูงขึ้น สมมติเรา Capo ที่เฟร็ตที่ 2 เสียงของคอร์ดที่ได้จะเปลี่ยนไปจาก C เป็น D จาก G เป็น A จาก Am เป็น Bm จาก Dm เป็น Em โดยที่เราจับในรูปแบบการจับคอร์ดเดิม ซึ่งสามารถทำให้เสียงโดยรวมเป็นของคีย์ D Major
- ร้องง่ายเล่นง่าย
ในกรณีนี้ จะทำให้เราสามารถเปิดหนังสือเพลง หรือคอร์ดจากเน็ต สมมติว่ามันเป็นคอร์ด ในคีย์ D เราสามารถเล่นทุกคอร์ดโดย จับรูปคอร์ด แบบคีย์ C ทั้งหมดได้ ดังนั้นเรื่องที่จะตัดไปได้เลย ก็คือคอร์ดทาบ หรือบาร์คอร์ด ที่ทำให้เมื่อยมือ แล้วคราวนี้เราสามารถ เลื่อนหาคีย์ที่เหมาะกับเสียงร้อง เราได้โดยที่ไม่ต้องไปเปลืองแรงจับคอร์ด ยากๆ
เพิ่มความคุ้มค่าขึ้นหน่อย
ใน 3 ข้อเบื้องต้น เป็นการใช้ Capo ในแบบที่นิยมใช้ในปัจจุบัน คราวนี้ความลึกซึ้งในการใช้ Capo เราสามารถทำอะไรได้อีกบ้าง แล้วเราควรจะหนีบมันอย่างไรตรงไหน เพื่ออะไรยังไง เราลองมาดูกันครับ
- พื้นที่ในการหนีบ
คำถามแรก ก็คือจริงๆ เราควรจะหนีบเจ้า Capo ตรงไหน เพราะการหนีบ Capo สิ่งที่จะเปลี่ยนเป็นอย่างแรกก็คือสิ่งที่เรียกว่า Voicing Chord เสียงคอร์ดจะเปลี่ยนไป บางรูปคอร์ดที่เราจับแล้ว มีสายเปิด พอใช้ Capo จะทำระดับเสียงแตกต่างจากเดิม ในตัวอย่าง เราจะ Capo ที่เฟร็ต 3 กับ 4 ใช้รูปคอร์ด ของ C-Em7-Fmaj#11 (คอร์ด F แบบมีสายเปิด 2 สายล่าง) และ G โดยที่ถ้าเราคาด Capo ที่สาย 3 แล้วจับรูปแบบคอร์ดเดิม เราจะได้เสียงของ Eb-Gm7-Abmaj7#11-Bb ซึ่งคอร์ดพวกนี้ถ้าไม่มี Capo จะต้องทาบที่เฟร็ต 3 พอมีก็จะง่ายขึ้น แต่พอเราคาด Capo ไว้ที่เฟร็ต 4 แล้วจับรูปคอร์ดแบบ C-Em7-Fmaj#11-G เสียงคอร์ดที่เราจะได้ก็คือ E-G#m7-Amaj7#11-B โดยที่เราจะได้เสียงคอร์ดเหล่านี้โดยจับคอร์ดแบบเบสิก ปัญหาก็คือถ้าหากเราคิดแผลงๆ เช่น เรา Capo ที่เฟร็ต 3 แต่เราอยากจับรูปคอร์ดเหมือนที่เราเล่น ตอนที่เราคาด Capo ที่เฟร็ต 4 ล่ะ ใช่คุณสามารถทดลองได้ แต่ซาวด์ที่ออกมา อาจจะไม่ดีก็เป็นได้ ดังนั้น นอกจากคาด Capo แล้ว เราต้องหาคีย์ที่เหมาะสมกับการคาด Capo ด้วยครับ ในตัวอย่างนี้ เราคาดที่เฟร็ต 3 ในเฟร็ต 3 จะมีโน้ตอย่าง Bb กลายเป็นสายเปิดสาย 3 ดังนั้นโน้ตตัวนี้อาจจะไม่เหมาะกับคีย์ทาง # หรือคีย์ที่ไม่มีโน้ตตัวนี้ เช่นเดียวกัน เมื่อคาด Capo ที่เฟร็ต 4 จะมีโน้ตอย่าง D# ที่สาย 2 ถ้าคอร์ดชุดที่เราจะเล่น ไม่มีโน้ตนี้ ก็จะทำให้เสียงแปร่งๆ ได้ ถ้าจะใช้ Capo ให้คุ้ม อยากให้ลองศึกษาเรื่องโน้ตในคีย์ สักหน่อยก็จะดีครับ
- ขยายขอบเขตแห่งการเกา
เอาล่ะ นอกจากจะทำให้เราเล่นคอร์ดต่างๆ ได้ง่ายมากขึ้นแล้ว เสียงของคอร์ดดูกว้างขึ้นเราสามารถเล่นคอร์ดสายเปิดได้ การขยายขอบเขตในการเล่นก็ทำได้ง่ายโดยเฉพาะการเพิ่มมิติให้กับเสียงที่เล่นออกไป ในตัวอย่างที่คลาสสิคที่สุดก็คือเพลงอมตะที่ชื่อ Hotel California ที่ตอนแต่งมาตอนแรกเป็นรูปคอร์ดในคีย์ E minor แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้ต้องคาด Capo แล้วเล่นในคีย์ B minor และด้วยความที่ Eagles มีมือกีตาร์หลายคน ทำให้บางครั้งก็สามารถเล่นคอร์ดใน Position ปกติ ประสานไปกับเสียงกีตาร์ที่คาด Capo ได้ ทำให้ได้เสียงประสานของกีตาร์ที่ฟังดูเท่มาก นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ของการขยายความคอร์ด ด้วยการเล่น Picking และ Capo ในตัวอย่างเป็นคอร์ดที่ใช้ในเพลง Hotel California เอามาปรับนิดหน่อย ลองเล่นเทียบกับรูปคอร์ดที่ใช้ Capo คาดดู
- ทดลองอะไรแปลกๆ
ยุคนี้เป็นยุคที่เราทดลองอะไรแปลกๆ เพื่อที่จะเป็นสไตล์ส่วนตัว Capo ก็เช่นกัน เราสามารถคาด Capo สองถึง 3 ตัวได้ อาจจะตั้งสายแปลกๆ หรือคาด Capo ไว้ที่เฟร็ตลึกๆ ซึ่งบางครั้งอาจจะทำให้คุณเล่นแค่นิ้วเดียว ได้เสียงคอร์ดแปลกๆ มากมาย ต้องลองทดลองดู