Smooth And Smile
บ้านเรามีศิลปินมากมาย และการที่จะเป็นหนึ่งในศิลปินมากมายนั้น หลายๆ ครั้งพวกเราก็มักจะไปดิ้นรนอยู่ที่ทางออกเดียวกันเสมอ ต้องมีเพลงดัง ต้องมีค่ายใหญ่โต ต้องดูกระแสโลก นั่นคือสายธารแห่งธุรกิจดนตรี มันเป็นเรื่องดีหรือเปล่าที่เราจะว่ายไปตามกระแสนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็ทำกันครับ แต่ในอีกมุมหนึ่งเรามีศิลปินบางคน เขาไม่ใช่เน็ตไอดอล ไม่ใช่สตาร์ที่หล่อขาวตี๋ มีหัวสีทองหรือหัวสีเขียว สิ่งที่เขาทำคือความสุขที่ได้เล่นกีตาร์ ความสุขที่ได้ร้องเพลงในแบบที่เขาชอบ โดยไม่ต้องไปซีเรียส กังวลว่ากระแสน้ำแห่งดนตรีจะไปทิศทางใดจะว่ายทวนหรือว่ายตาม เขาก็แค่ว่ายไปในแบบที่ตนเองอยากจะว่าย แค่ทำในสิ่งที่อยากจะทำ แต่พอมันเป็นสิ่งที่ชัดเจน นั่นก็ทำให้คำว่าประสบความสำเร็จ ใช้ได้กับชีวิตทางดนตรีของบุคลากรดนตรีคนนี้ เอกลักษณ์ของน้ำเสียง เสียงกีตาร์ แนวคิดที่เข้าใจแล้วต่อโลก คนดนตรีที่ชัดเจนที่สุดคนหนึ่งในบ้านเรากับพี่โอ๋ “ธีร์ ไชยเดช”
ผลงานล่าสุดของพี่โอ๋เป็นยังไงบ้างครับ
พี่โอ๋ : ก็มีอัลบั้มชุด Robin ซึ่งผมตกใจนะเพราะมันขายดีมาก ดีกว่าตอนที่ผมออกซีดีแรกๆ ซะอีก (หัวเราะ) ซึ่งน่าแปลกใจมากในยุค Digital แบบนี้ อาจจะเป็นเพราะผมไม่ได้ออกผลงานมาระยะใหญ่ๆ แล้ว ประกอบเราก็ยังมั่นคงในวิธีคิดและในการนำเสนอ เราไม่ได้ทำให้มันเสร็จๆ ไปตามวาระ เราเคารพในงานของเราก็อาจจะเป็นเพราะเหตุนี้ทำให้แฟนๆ ยังไม่หนีไปไหน
ถ้าถามว่าพี่โอ๋จับกีตาร์ ร้องเพลงเพราะอะไรครับ
พี่โอ๋ : จริงๆ กีตาร์มันแขวนอยู่ที่บ้านไม่มีคนเล่น เราก็หยิบมาเล่น เล่นไปเรื่อยๆ ตั้งสายก็ไม่เป็น จนมาเจอหนังสือโฟล์ค หนังสือ I.S.Song Hits ก็จะมีเนื้อเพลงคอร์ดกำกับ หนังสือโฟลค์ก็จะมีตั้งสายยังไง ปิ๊คกิ้งยังไง นั่นคือเบสิกที่เริ่มต้น เล่นไปเรื่อยๆ อาศัยเล่นเยอะๆ บ่อยๆ จนกระทั่งเราเริ่มรู้ว่าคอร์ดนี้ไปนี่ได้ เริ่มรู้รายละเอียดในเพลง ฟังเพลงเยอะๆ คือบ้านผมก็ไม่ได้มีคนเล่นดนตรี จะมีแต่ลุงที่ซื้อกีตาร์มาแขวนให้พี่ๆ ผมเล่นนั่นแหละ แต่แกก็เล่นไวโอลินนะ ไม่ใช่กีตาร์
ช่วงนั้นพี่โอ๋ฟังเพลงของใครครับ
พี่โอ๋ : ถ้ายุคผมถ้าเอาแบบที่ชาวบ้านเขาฟังกันก็จะมีอย่าง Peter Paul & Mary, Lobo, Don Mclean เป็นโฟลค์แบบนี้ครับ คือโชคดีที่พี่ผมไปเรียนต่างประเทศ ผมเลยได้ฟังเพลงแบบที่ชาวบ้านไม่ฟังกัน พวกพี่ๆ เขาจะให้ฟัง Santana ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่ได้ฮิตมาก แล้วก็เขยิบไปเป็นโฟลค์ร็อค อย่าง Crosby Still Nash & Young หรือ ไป Allman Brothers บางเพลงเราเล่นไม่ได้นะ แต่สิ่งที่รู้สึกอย่างนึงก็คือเราชอบฟังดนตรี เราชอบหารายละเอียดที่มันลึกๆ ในแต่ละเพลง แล้วก็จะฟังเพลงเยอะมาก แต่แนวที่ผมฟัง คนฟังในไทยเป็นกลุ่มน้อยนะ
จนไปเล่นเป็นอาชีพช่วงไหนครับ
พี่โอ๋ : น่าจะเป็นปี 77-78 โชคดีที่ร้านที่เล่น ให้เราเป็นตัวเอง ไม่อยากให้เราเล่นเพลงที่มันตลาดมากนัก เพราะเจ้าของเล่นดนตรี แล้วที่ผมได้เล่นคือไม่ได้ไปออดิชั่นอะไรนะ ผมไปวันเกิดเพื่อนแล้วเห็นกีตาร์วางอยู่เลยหยิบมาเล่น แล้วบังเอิญผมเล่นเพลง Can’t Fly My Way Home ของ Steve Winwood ซึ่งเจ้าของเป็นคนมาเลย์ เขาตกใจว่าไม่ค่อยเห็นใครเล่นเพลงนี้ เลยถามว่าเราจะมาเล่นมั้ย เราก็งงๆ เพราะเราไม่ได้มาสมัครเป็นนักดนตรี แต่ก็เออออไปนะ จนได้มาเล่น คราวนี้ยิ่งถลำลึกเพราะร้านก็ให้เราเป็นตัวเองอีก อย่างเวลาเล่นเพลงของ James Taylor หรือ Cat Stevens คนเขาก็จะมารอเพลงอย่าง Morning Has Broken, You‘ve Got A Friend แต่ผมจะเล่นพวก Moonshadow, The Wind ลูกค้าก็ถามว่าทำไมไม่เล่น Cat Stevens ล่ะ ผมก็ตอบผมเล่นไปแล้วตั้งสองเพลง แต่พี่ไม่รู้เอง (หัวเราะ) คือเรามักจะเลือกเพลงแบบที่ไม่ใช่เพลงฮิตมาเล่น
พี่โอ๋อยากจะฉีกเหรอครับ
พี่โอ๋ : ไม่นะ คือทุกวันนี้ ผมจะจัดงานเล็กๆ ชื่อว่า PSS ย่อมาจาก Play Sing And Song กับธีร์ ไชยเดช เวลาเล่นผมก็มักจะพูดคุยเรื่องเพลงที่ผมเล่นว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร อย่างเช่นเพลง Morning Has Broken เขาพูดถึงอะไร แต่คราวนี้เรามีข้อมูลเยอะ เราก็แค่อยากนำเสนอให้คนฟังได้ฟัง ได้เห็นในมุมที่ไม่ค่อยได้ยิน หรือเพลงที่ไม่ค่อยได้ฟังกัน อย่างเช่น Stevie Wonder มีเพลงดังอย่าง I Just Called To Say I Love You แต่เพลงอย่าง Ebony And Ivory ก็เป็นเพลงที่สุดยอด ฟังแล้ว โอโห ขนลุกได้เลย เราก็แค่อยากเสนอว่ามีเพลงแบบนี้อยู่ ไม่ใช่ว่าฉีกหรือต่อต้านอะไรหรอกครับ
แล้วไปจ๊ะเอ๋กับพวก Alternate Tuning อย่าง D-A-D-G-A-D ได้ยังไงครับ
พี่โอ๋ : ตอนแรกผมไม่ได้เล่น D-A-D-G-A-D นะ ผมเล่นเป็น Open D นี่แหละ คือมันเริ่มมาจากผมแกะเพลง ฟังแล้วรู้สึกว่าเพลงนี้มันคีย์ D แต่ทำไมเสียงสายเบสมันต่ำ ใหญ่จัง ผมใช้เวลาเป็นค่อนวัน หมุนไป หมุนมาจนเจอ อย่าลืมนะครับสมัยก่อนไม่มีเทคโนโลยีอะไรเหมือนยุคนี้ จนกระทั่งเรารู้ว่ามันมีการจูนสายแบบนี้ ซึ่งพอมันมีการจูนสายแบบ Open D มันก็ต้องมีคอร์ดอื่น จนเราคุ้ยเจอว่ามันมี D-A-D-G-A-D มีอะไรอย่างอื่นอีก แต่ผมชอบ Open D มากที่สุดเพราะรู้สึกว่ามันกลมกลืนกับเรา เราไปกับมันได้โดยไม่เคอะเขิน แต่แน่นอนสิ่งที่ยากคือการเปลี่ยน Position ของการจับคอร์ด ก็ยากช่วงต้นๆ มีบางครั้งจูน Open D แล้วอีกเพลงต้องเล่นจูนสายปกติ ลืมตั้งสายคืน เล่นไป Mute ไป แทบแย่เหมือนกัน (หัวเราะ)
มาถึงวันที่พี่ได้ออกผลงานของตัวเอง โดยที่ไม่ได้เล่นเพลงคนอื่นแล้ว เป็นยังไงบ้างครับ
พี่โอ๋ : จริงๆ ไม่ใช่ว่าเราเดินไปหาใครแล้วขอเขาเซ็นสัญญาออกผลงานนะ คือจะมีคนมาแนะนำเราว่า โอ๋ ไปเซ็นต์ค่ายนั้นสิ ไปเซ็นต์ค่ายนู้นสิ เราก็ไป ซึ่งระหว่างรอจะออกเราก็ทำหน้าที่ของเรา แต่ด้วยกลไกการตลาด หรือเขาอาจจะคิดว่ากูไม่น่าเรียกมันมาเซ็นเลย (หัวเราะ) ก็ไม่ได้ออก เขาคงรู้แล้วแหละว่าเราไม่ใช่ชนิดที่เขาจะเอาไปเพาะพันธุ์ต่อได้ (หัวเราะ) ก็โละสัญญาทิ้ง ผมโดนแบบนี้มา 3-4 ครั้ง แล้วครั้งสุดท้าย ผมทำเป็นมาสเตอร์เสร็จแล้วก็ยังเกิดปัญหานี้อีก ผมก็เลยบอกว่าต่อไปคงไม่ทำอะไรแผลงๆ แบบนี้อีก (หัวเราะ) ก็ให้โละสัญญาผมทิ้งไม่ต้องเอาโซ่มาผูกคอผมในนามของบริษัทอะไร ก็เก็บมาสเตอร์โยนเข้าลิ้นชัก และตัดสินใจเลิกทำเพลงแล้วเพราะเราก็คงไม่เหมาะ ก็หยุดไป จนพราย ปฐมพร บอกผมว่าพี่โอ๋ ตอนนี้พี่เอื้อง สาลินี ปัญยารชุน เขาทำค่ายเบเกอรี่กับ บอย โกสิยพงษ์ กับสุกี้ อยู่ลองเอาไปคุยสิ แล้วผมก็ไม่ได้รู้จักใครนอกจากเอื้อง ผมก็เอามาสเตอร์ไปให้เอื้อง แล้วเขาก็เอาไปให้สุกี้ฟัง ผมเลยได้คุยกับสุกี้ ซึ่งสั้นมาก สุกี้ถามผมว่า พี่โอ๋อยากได้อะไรจากงานชุดนี้ ผมบอกว่าอะไรก็ได้ที่คุณไม่ต้องเสียเงินแม้แต่บาทเดียว ถ้าจะขายร่วมกันก็ทำ คืออะไรก็ได้ที่ทำแล้วไม่เจ็บตัว เพราะผมประมาณตัวเองอยู่แล้ว ว่ามันไม่ใช่ของขาย ซึ่งผมก็คาดหวังแค่นั้น จนมันสามารถออกมาได้ ประกอบกับในยุคนั้น มีเรื่องของดนตรีอินดี้ และมีความเป็นเบเกอรี่คอยโอบอุ้ม เพลงของผมเลยมีกลุ่มของมัน ซึ่งผมจะพูดเสมอว่าเบเกอรี่เปิดประตูให้ผม และประตูบานนั้นไม่เคยปิดเลย
ถือว่าชีวิตเปลี่ยนไหมครับเพราะมีคนรู้จักเยอะขึ้น ตื่นเต้นมั้ย
พี่โอ๋ : ปกติครับ เพราะผมไม่ได้มาสายดนตรีอย่างเดียว ผมทำงานประจำด้วย ก็จะมี 2 อย่างนี้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต ผมเลิกเล่นกลางคืนตอนคุณพ่อเสีย ซึ่งช่วงนั้นก็หนักเหมือนกัน แต่ก็เลยกลายเป็นเราว่าง มาทำงานดนตรี ชีวิตเลยไม่ได้หนักหน่วงอะไร พอออกอัลบั้มครั้งแรก พอเราได้ฟังเพลงผ่านวิทยุ มันก็ตื่นเต้นมาก ก็มันเป็นความฝันของเด็กๆ ทุกคนล่ะนะ ได้มีอัลบั้มเป็นของตัวเอง ซึ่งตอนนั้น ก็มีจดหมายมาถึงผมเยอะเหมือนกัน เราก็ได้เช็กว่าเขาพูดยังไงกับเรา ซึ่งเราก็ตอบจดหมายเขาทุกฉบับนะ เพราะเราก็รู้ตัวว่าเราไม่ใช่สตาร์ แล้วเมื่อมีคนซัพพอร์ตเรา เราเป็นใครถึงจะไม่ตอบเขาล่ะ ผมก็ยังติดดินเหมือนเดิม
อะไรทำให้พี่โอ๋หายไปจากวงการดนตรี
พี่โอ๋ : ใช่ครับตั้งแต่ปี 2002 ที่หายไป คือผมเล่นดนตรีเรื่อยๆ แต่ไม่มีผลงาน ซึ่งมันก็มีหลายเรื่อง ส่วนตัวก็โจ้ พอส เสียก็รู้สึกแย่แล้ว พอแม่ผมมาป่วย แล้วก็เสียก็เป็นอีกเรื่องสำคัญในชีวิต แต่ที่สำคัญที่สุดคือธุรกิจดนตรีมันเปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้ทำให้ใครจะทำอะไรต้องใจเย็นๆ ซึ่งเราก็รอ รอว่าจะมีทิศทางอะไรที่ทำให้เราโผล่ออกมาได้ เหมือนรอให้น้ำลด คล้ายๆ แบบนั้น พอมันถึงเวลาที่เหมาะสม เราก็ค่อยออกมา ก็ต้องใช้สื่อโซเชี่ยลต่างๆ กระแส แรงบันดาลใจ แรงผลักดัน ที่เราต้องไปรื้อดู ต้องไปดูว่าเรายังมีความสำคัญกับเขาอยู่มั้ย หรือเขาแค่คิดว่ามันตายหรือยังวะ (หัวเราะ) เราก็ต้องดูว่าเขารอหรือเปล่า เพราะการที่เราจะทำงานออกมาชิ้นนึงเราตั้งใจ ผมถ่ายรูป เลือกรูป ทำงานกับกราฟฟิกดีไซน์ เลือกตัวอักษร ผมอยากจะให้คนที่ซื้อไปรู้ถึงความตั้งใจที่เรามีให้ เราทำเต็มที่เราประณีตกับงานของเรา
การเปลี่ยนเป็นโลกโซเชี่ยลทำให้พี่โอ๋งงไหมครับ
พี่โอ๋ : งงครับ ก็ได้หลายๆ คนมาบอกว่าบางอย่างมันก็มีประโยชน์นะ เราต้องเอาตัวเองไปอยู่กับอะไรบ้าง คือก่อนที่ผมจะรู้เรื่องพวกนี้มีแฟนเพลงบางคนรวมกลุ่มตั้งเป็น แฟนเพลงธีร์ ไชยเดชกันเถอะ พวกเค้าไปใช้ชื่อผมใน Facebook เต็มเลย ซึ่งผมไม่รู้เรื่องด้วยนะ คราวนี้พอคนมาถามมากๆ ก็ตอบลำบาก เพราะไม่ใช่ตัวผมไง ผมเลยคิดว่างั้นก็เปิดเป็นของตัวเองเลย แต่จะใช้ชื่อตัวเองก็มีคนใช้แล้ว ใช้ชื่อ ธีร์ ไชยเดช แฟนคลับก็มีคนใช้แล้ว (หัวเราะ) สุดท้ายก็มาลงตัวที่ Thee Chaiyadej Main Fanpage ก็ใช้เวลาพอสมควรครับ (หัวเราะ)
ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมามีคนตามหาพี่โอ๋ไป Feat เยอะมากรู้สึกยังไงบ้างครับ
พี่โอ๋ : เป็นคำถามที่ดี (หัวเราะ) ต้องกลับไปถามเขาว่าอยากได้ผมเพราะอะไร ผมเคารพในทุกผลงาน แต่ว่างานอะไรที่เรามีความรู้สึกว่าเราเข้าพวก บางคนบอกว่าผมตั้งใจมากอยากให้พี่โอ๋มาร่วมด้วย แต่ความตั้งใจมันไม่ใช่อย่างเดียว ผมเปรียบเทียบให้ฟัง อย่างบางคนบอกว่าทำกับข้าวมาให้ผมสุดฝีมือ สุดชีวิตเลย พอเราถามว่าเป็นอะไร หมูอบน้ำผึ้ง (พี่โอ๋เป็นอิสลาม) (หัวเราะ) คือพอจะเห็นภาพไหมครับ บางทีเราไม่สามารถทำตรงนั้นได้ โอเค ถ้าสมมติเค้าอยากจะทำจริงๆ เราก็ต้องขออณุญาตเขาก่อนเลยว่าตรงนี้พี่ขอดัดแปลงจากเดโม่นะ แล้วอีกอย่างนึงคือจุดประสงค์เพื่ออะไร
เซอร์ไพรส์ไหมครับว่าศิลปินเหล่านี้เคยฟังเพลงของพี่โอ๋ด้วย
พี่โอ๋ : รู้สึกดีใจมากกว่า ต้องขอบคุณที่ว่าเขาเห็นสิ่งที่เราเดินทางมาตลอดเกือบ 20 ปี แล้วเราก็สามารถอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนอะไรแบบสุดโต่ง และตามกระแสมากมายนัก ผมเป็นในสิ่งที่ผมเป็นนั่นแหละ แต่ผมเคารพในการดำเนินชีวิต ผมไม่เคยเอาของบาทนึงมาขายสองร้อย
5 เพลงที่เปลี่ยนชีวิตพี่โอ๋
พี่โอ๋ : จริงๆ ผมขอขอบคุณ คนๆ นึงมาตลอด นั่นคือคุณบอย โกสิยพงษ์ ที่มีส่วนในหลายๆ เพลงให้ผมได้มีโอกาสทั้งแต่ง ทั้ง Home ทั้ง ลมหายใจ ก้อนหินละเมอ หรือเพลงของผมอย่างฝันไป หรือเพลงรักก็ตาม และก็มีอีกเยอะ บางเพลงก็ไม่ใช่เพลงของผมเอง แต่เพลงเหล่านี้เปลี่ยนชีวิตผม
มุมมองในวงการดนตรีของพี่โอ๋
พี่โอ๋ : นักดนตรีหรือศิลปิน มีอย่างเดียวที่เขาจะอยู่ได้คือ Live คือการ Perform มันไม่มีวิธีอื่น ในการขายในยุคนี้ รายได้ที่นักดนตรีอยากได้ในยุคนี้ก็คือการมีโชว์ บางทีแผ่นขายดีมาก แต่ไม่มีคนซื้อโชว์ก็ต้องเลิก เพราะฉะนั้นทุกคนฝากความหวังไว้ที่ตรงนี้ แล้วยิ่งศิลปินที่เพลงไม่ได้ป็อปมากก็ยิ่งมีโอกาสสั้นลง แคบลงอีก ปัญหาคือเราอยากจะยึดอาชีพนี้จริงหรือเปล่า ถ้าเราจะยืนในสายนี้เราต้องรู้ว่าจะหารายได้จากมันได้แค่ไหน แล้วก็ต้องถามตัวเองว่าต้องการทำดนตรีแบบไหนที่สามารถทำให้เราหารายได้จากการ Live Perform ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเองนะ ถ้าทำไม่ได้อย่าไปฝืน ไม่มีประโยชน์
ให้พี่โอ๋ฝากถึงนักดนตรีใหม่ๆ สักหน่อยครับ
พี่โอ๋ : ขอยกตัวอย่างว่า ผมอยากเห็นใครสักคนที่ทำงาน สมมติว่าเหมือนไอ้ธีร์ ไชยเดชมาก แต่ไม่ใช่การก๊อปมา ตรงนี้เราจะทำให้คนมีตัวเลือกในการเสพเพลงมากขึ้น มันจะทำให้เรามีความรู้สึกว่ามีความหลากหลายในสังคมไทย ไม่ใช่มีแต่อะไรที่ตะบี้ตะบันใส่หูเราทุกๆ วัน คราวนี้บุคคลเหล่านั้นจะมีความกล้า และพร้อมแค่ไหน การแข่งขันในโลกโซเชี่ยลมันสูง ผมรู้ตรงนี้ดี ใครสักคนที่จะเปรี้ยงขึ้นมามันไม่ง่าย แต่อย่าท้อ อย่าทำอะไรที่เหมือนกัน ไม่งั้นคุณจะถูกหารความสนใจออกไป เพราะฉะนั้นจะทำยังไง จะให้ต่างอย่างสวยงาม ต่างอย่างมีเหตุผล ผมรอคนนั้นอยู่