BEAT เล่นเบสให้โยน
ในบรรดาพื้นฐานการเรียนดนตรี เรามักได้รับรู้กันบ่อยๆ ว่าจังหวะในดนตรีสากล นับอย่างไร และเรียกว่าอะไรบ้าง มีสัดส่วนของค่าตัวโน้ตอย่างไร ประเด็นต่อมาคือแล้วสิ่งที่เราเรียนรู้มา จะเอามาพัฒนาและฝึกฝนให้กับตนเองอย่างไรในการเล่นดนตรี ให้เป็นดนตรีที่ไม่ใช่มีเพียงเสียงของตัวโน้ตโดดๆ เท่านั้น
ปกติแล้ว เรามักจะคุ้นเคยกันในเรื่องราวของจังหวะการนับที่ประกอบกันเป็นจังหวะของเพลงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นท่วงทำนองของเมโลดี้ หรือแม้แต่การรักษาจังหวะและอารมณ์ของเบสที่ใช้เล่นในเพลงนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่นในเพลงที่มีค่าจังหวะเป็น 4/4 (หมายถึงมีค่าโน้ต ¼ หรือโน้ตตัวดำ เป็นจำนวน 4 ตัว นับเป็นหนึ่งห้องดนตรี) ซึ่งเราก็นับ 1 2 3 4 แต่ด้วยการมีการเน้นจังหวะ เราจะเรียกจังหวะที่ 1 ของแต่ละห้องว่า “Downbeat“ (ใช้หมายเลข 1 เป็นตัวใหญ่ ซึ่งหมายถึงเป็นจังหวะที่มีการเน้นที่แข็งแรงที่สุดในห้องนั้นๆ) เวลาที่เราต้องการฝึกสิ่งนี้ เราก็นับเลข 1–4 ไปอย่างธรรมดาๆ อาจเปิด Metronome ไปด้วยก็ได้ แล้วฝึกลงน้ำหนักโน้ตตัวแรกของห้อง ซึ่งก็คือตัวที่เรานับหนึ่งนั่นเอง พยายามเล่นเน้นวิธีการลงน้ำหนักโดยให้รู้สึกว่าแตกต่าง แต่ไม่ได้หมายความให้ดีดแบบกระชากอารมณ์ หรือดีดแรงๆ เข้าว่า ลองสังเกตการณ์ลงน้ำหนักของเสียงโน้ตที่ออกมา ว่าเรารู้สึกถึงการลงน้ำหนักที่โน้ตตัวแรกนี้หรือไม่ อาจนับตามไปด้วยก็ได้ครับ แต่ให้ออกเสียงคำว่า
“หนึ่ง“ ให้เน้นหนักกว่าคำนับอื่นๆ (เทคนิคนี้ บ่อยครั้งที่ผมจะนับคำว่า “หนึ่ง“ ให้สั้นและห้วนกว่าคำว่าสอง…สาม…สี่…) ส่วน Metronome ลองเริ่มต้นฝึกที่ความเร็ว 80bpm ก็น่าจะพอเหมาะพอเจาะกับโน้ตตัวดำครับ
ส่วนคำที่ตรงกันข้ามกับ Downbeat ซึ่งก็คือ Upbeat ก็ใช้กันในหลายความหมาย ถ้าตรงตัวก็คือหมายถึงจังหวะยกช่วงสุดท้ายของห้อง ก่อนที่จะเข้าสู่ห้องใหม่ ซึ่งวาทยากรหรือผู้คุมวงจะใช้สัญลักษณ์การยกมือขึ้นเพื่อให้คนในวงรู้ว่าเรากำลังจะเข้าสู่ห้องใหม่ต่อไปแล้ว ในอีกความหมายหนึ่ง ก็คือกลุ่มโน้ตที่ถูกเล่นก่อนที่จังหวะ 1 ของห้องต่อไปนั่นเอง (ซึ่งอันนี้ ผู้บรรเลงเป็นผู้รับผิดชอบในการเล่น ส่วนความหมายแรกเป็นหน้าที่ของผู้คุมวงจะส่งสัญญาณให้) เวลาผมกำลังบันทึกเสียงกันในสตูดิโอนั้น บ่อยๆ ที่พวกเราจะใช้คำว่าลองล้วงลูกเบสสักหนึ่งชุดเข้ามาก่อน เป็นที่รู้กันว่าเรากำลังจะเล่น Upbeat เพื่อส่งเข้าหา Downbeat ในห้องต่อไป
คำต่อไปที่เราควรรู้จักไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อเสริมความเข้าใจในการฝึกฝนเรื่องสำเนียงการเล่นก็คือ On-Beat จริงๆ แล้วก็หมายถึงการเน้นจังหวะโดยรวมทั้งห้องดนตรีนั้นๆ เพราะเราไม่เพียงเน้นที่จังหวะที่ 1 เท่านั้น แต่ยังเน้นจังหวะที่ 3 อีกด้วย อันนี้แหละครับ ที่เราเรียกรวมว่า On-Beat เวลาฝึกเบสเราก็เน้นที่ 1 และ 3 แบบนี้ครับ
1 2 3 4 ซึ่งก็เป็นจังหวะที่เน้นตามปกติ ไม่ว่าเป็นเรื่องของท่วงทำนองก็ได้ เรื่องของจังหวะการเปลี่ยนคอร์ดของเพลงตามปกติ (ซึ่งก็สามารถพลิกแพลงได้อีก เช่นการเปลี่ยนคอร์ดที่จังหวะยกก็ได้)
คำตรงกันข้ามกับ On-Beat ก็คือคำว่า Off-Beat ซึ่งหมายถึงจังหวะที่เป็นเลขคู่ของห้องดนตรี โดยปกติของท่วงทำนอง จะไม่ถูกเน้นน้ำหนัก เราจะพบบ่อยๆ ว่าเจ้าตัว Downbeat บางทีจะถูกแทนที่ด้วยตัวหยุด หรือสัญลักษณ์โยงเสียงมาจากห้องก่อนหน้า เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้า Off- Beat ได้ทำงาน ทำให้เกิดอารมณ์ใหม่ๆ ของตัวเพลงเกิดขึ้น ซึ่งมันจะเป็นที่มาของเจ้าตัวที่ชาวเบสที่ต้องการเล่นในแบบที่เรียกว่าโยน ต้องเรียนรู้และฝึกจนช่ำชอง จึงจะเล่นได้เกิดอาการที่เรียกว่าโยนได้ตามใจต้องการ ที่พวกเราเรียกกันติดปากว่า Backbeat นั่นแหละครับ
1 2 3 4 ซึ่งถ้าเรียกว่า Backbeat เมื่อไหร่ ก็จะเป็นการเน้นจังหวะของ Off-Beat นั่นเอง
เวลาฝึกก็นับจังหวะปกติ แต่เน้นในจังหวะที่ปกติจะต้องไม่เน้น ซึ่งมันตรงกันข้ามกับ On-Beat ทันที ซึ่งชาวเบสเราต้องทำความเข้าใจให้ดีพอสมควร เพราะเพลงบางประเภท เบสเราไม่จำเป็นต้องไปยุ่งกับ Back Beat ก็มี หรือบางประเภท ต้องเข้าไปชุลมุนกับ Backbeat เพื่อความโยนของจังหวะ อย่าง Rock ‘N Roll, Blues, Reggae, Jazz ก็จะเห็นว่ามันก็เยอะพอสมควร และคุ้มกับที่เราควรเรียนรู้ นอกเหนือจากเทคนิคต่างๆ ที่หลายๆ คนคงฝึกจนช่ำชองแล้ว มีคำนึงที่ตอนแรกฟังแล้วก็เกิดอาการ “งง” คือคำว่า Delayed Backbeat ว่ามันคืออะไรอีกกันแน่ ซึ่งพอฟังไปเรื่อยๆ มันก็คือยังอยู่ในส่วนของจังหวะเลขคู่ หรือ Backbeat นั่นเอง เช่นแทนที่เราจะเล่นเน้นแต่จังหวะที่ 2 และ 4 เราอาจจะเปลี่ยนตัวเน้นที่จังหวะที่ 4 ไปเล่นให้ช้ากว่าเดิม ในที่นี่ก็คือจังหวะที่ 4 ยก 1 2 3 4 1 2 3 _& แบบนี้ก็ได้ครับ
ลองฝึกในลักษณะนี้ แล้วถ้าเราจับจุดได้ จะเข้าใจถึงการเล่นเบสในหน้าที่ Support ให้มีจังหวะที่เรียกว่าเล่นเบสได้โยนขึ้นได้ แต่ต้องใจเย็นๆ ค่อยๆ ทำความเข้าใจ ขอให้สนุกกับการเล่นเบสให้โยนนะครับ สวัสดีครับ