น้อยนิดมหาศาล
คำถามของคนที่หัดเล่นกีตาร์ใหม่เมื่อเล่นไปสักพักแบบพอจับคอร์ดได้บ้างจะเริ่มมีคำถามว่าทำอย่างไรถึงจะเก่ง คำตอบในเรื่องนี้ก็คือซ้อมเยอะๆ นี่คือคำตอบที่ดูง่าย ง่ายซะจนบางครั้งก็ไม่ค่อยเกิดประโยชน์ มันเหมือนกับเราถามว่า พี่! ผมจะขับรถไปเชียงใหม่ยังไง แล้วได้รับคำตอบว่าขับขึ้นไปทางเหนือ มันฟังดูกำปั้นทุบดินมากๆ ใช่ไหมครับ การจะตอบคำถามเหล่านี้บางครั้งรายละเอียดปลีกย่อยก็เป็นเรื่องสำคัญ การบอกให้ชัดว่าต้องทำอะไรดูจะเป็นเรื่องที่จำเป็นอยู่ การเล่นกีตาร์ก็เช่นกัน นอกจากการพร่ำบอกว่าต้องซ้อม ซ้อม และซ้อม แต่ว่าซ้อมอะไรล่ะ การทำความเข้าใจในสิ่งที่มากกว่าการซ้อมก็เป็นเบสิกสำคัญที่แม้แต่อาจารย์สอนดนตรีตามสถาบันต่างๆ มองข้ามไป วันนี้จะมาแนะนำรายละเอียดบางอย่าง ที่น่าจะเป็นทิศทางในการเล่นกีตาร์ เป็นรายละเอียดที่บางครั้งเรามองข้าม ดังนั้นเราจะมาลองดูตัวอย่างเหล่านี้กันครับ
การฝึก
ถึงจะบอกอย่างนั้นก็ตาม การฝึกซ้อมสำหรับการเล่นดนตรีก็เป็นสิ่งสำคัญอยู่ดี แต่คราวนี้เราจะมาพูดถึงการแยกฝึกให้เป็นเรื่องเป็นราว โดยเฉพาะทางด้านกายภาพ ความแข็งแรงของมือซ้ายมือขวา และความสัมพันธ์ของทั้งสองมือในการแยกประสาท เป็นสิ่งจำเป็นลำดับต้นๆ ในการเล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้ แนวทางการฝึกในเบื้องต้นที่จะแนะนำก็คือ
Ex.1 การฝึกมือขวา มือขวาก็คือมือข้างที่ส่วนใหญ่เราจะใช้ในการดีด กีตาร์นั่นเอง ไม่ว่าเราจะใช้นิ้วหรือปิ๊คเล่น แบบฝึกหัดสำคัญของตรงนี้ก็คือการดีดที่ต่อเนื่องด้วยน้ำหนักที่คงที่ วิธีง่ายๆ เราลองดีดโน้ตสักหนึ่งตัว เป็นเขบ็ตสองชั้น เราจะต้องดีดทั้งหมด 4 ครั้ง ต่อ 1 ชุด ถ้าลองดีดด้วยปิ๊ค เราจะต้องดีดสลับขึ้นลง ถ้าเราดีดด้วยนิ้ว เราจะต้องใส่ใจเรื่องการสลับนิ้วที่ดีด เช่นถ้าดีดด้วยนิ้วชี้ กับ กลาง เราจะต้องแบ่งชุดโน้ตที่ดีดให้ดี ลองสังเกตว่านิ้วที่เราดีดเรียงลำดับถูกหรือเปล่า หรืออาจจะใช้นิ้วโป้งดีดนิ้วเดียวก็ได้ จากนั้นลองเน้นที่ตัวแรกของชุด ดีดให้แรงกว่า 4 ตัวที่เหลือเราจะได้ฝึกความต่อเนื่อง การเน้น และน้ำหนักการดีดไปในตัว ด้วยวิธีง่ายๆ
Ex.2 การฝึกมือซ้าย นั่นคือมือข้างที่จับเฟร็ต ในส่วนนี้สิ่งสำคัญคือความแข็งแรง ของกล้ามเนื้อ การเสริมสร้างความแข็งแรงในจุดนี้ วิธีการคือการเล่นพวก Hammer On, Pull Off ก็คือการดีดทีเดียวแล้วเล่นโน้ตหลายๆ ตัว ซึ่งมันเป็นแบบฝึกหัดที่อาจจะน่าเบื่อเล็กๆ แต่มันคือการวิ่งจ๊อกกิ้งเพื่อสร้างความแข็งแรง ถ้าคุณมีตรงจุดนี้จะทำให้เล่นกีตาร์ได้ง่ายมากขึ้น วิธีฝึกคือกดโน้ตหนึ่งตัวด้วยนิ้วชี้เป็นหลักไว้ก่อน คราวนี้ดีดโน้ตหนึ่งครั้ง แล้วก็ใช้นิ้วที่เหลือเล่นเป็นคู่กัน เช่น นิ้วชี้กับนิ้วกลาง ก็เล่นโน้ตที่ติดกัน โดยนิ้วกลางไม่ต้องดีด แต่ใช้การ “เคาะ” ลงไปบนเฟร็ต นิ้วชี้กับนิ้วนาง ก็เล่นโน้ตที่ห่างกันหนึ่งเฟร็ต นิ้วชี้กับนิ้วก้อยเล่นโน้ตที่ห่างกันสองเฟร็ต แล้วในทางกลับกันลองเริ่มที่นิ้วอื่นเช่น กดโน้ตด้วยนิ้วก้อย ดีดแล้ว “เกี่ยว” กลับไปเล่นเป็นคู่กับนิ้วนาง กลาง หรือ นิ้วชี้
Ex.3 การฝึกแบบตีกลอง ก็คือการฝึก Rhythm นั่นเอง เอาแบบไม่ต้องทฤษฎีมาก เราลองตีคอร์ดให้ได้แบบเสียงกลอง เช่น เสียงกลอง เป็น ตึก โป๊ะ ตึก ตึก โป๊ะ ตึก ตึก ลองตีคอร์ดให้ได้เสียงแบบนั้น จะพบว่าเราจะต้องเน้นตรงเสียง โป๊ะที่เป็นเสียงสแนร์ของกลอง เราจะต้องดีดลงหนักกว่าปกติโดยธรรมชาติ ลองฝึกตีคอร์ดด้วย Rhythm แบบเสียงกลองดู
ความเหมาะสมและอุปกรณ์ที่ใช้
ในที่นี้เราจะหมายถึงกีตาร์ที่คุณใช้กับอุปกรณ์ จิปาถะ นี่เป็นอีกจุดนึงที่คนเล่นกีตาร์ใหม่ๆ อาจจะต้องลองทำความเข้าใจ ปัญหามันอยู่ที่ว่า คุณเล่นดนตรีทำไมก่อน แล้วต้องการระดับไหน มืออาชีพ เล่นเพื่อผ่อนคลาย เพราะมันจะมีผลต่อการทำความเข้าใจเรื่องอุปกรณ์ และการเลือกซื้อเพื่อให้คุ้มทุนกับเงินในกระเป๋าของท่าน เอาเป็นว่าจะขอแนะนำแบบคร่าวๆ ในกรณีที่ท่านมีกีตาร์โปร่งหรือไฟฟ้า
Ex.4 ในกรณีกีตาร์โปร่ง ความตั้งใจของคนมีกีตาร์โปร่งก็คือเอามาตีคอร์ด ร้องเพลง เล่นสันทนาการ ถ้าเป็นเช่นนั้น การเลือกกีตาร์โปร่งก็ไม่ยาก เลือกกีตาร์โปร่งที่สายไม่ได้สูงจนเกินไป ลองจับคอร์ดดู ดีดแล้วไม่ปวดมือก็เป็นอันใช้ได้ คราวนี้พวกปิ๊คกีตาร์ในกรณีที่เล่นกับกีตาร์โปร่งปิ๊คขนาดบางๆ จะเหมาะกับการตีคอร์ดมากกว่า เสริมนิดหน่อย ถ้าคุณเป็นพวกที่ชอบท่องเที่ยวด้วยพวกกีตาร์ไซส์มินิ ในปัจจุบัน ก็เหมาะกับการใช้งานเป็นอย่างมาก
Ex.5 กรณีกีตาร์ไฟฟ้า ถ้าจะเลิกเล่นกีตาร์ไฟฟ้า อันนี้อาจจะต้องมีความรู้เบื้องต้นเยอะหน่อยเช่น คันโยกมีแบบ Tremolo Bar ธรรมดากับ Floyd Rose ก็ต่างกัน Pickup ที่เป็น Humbucker กับ Single Coil ก็ต่างกัน เนื้อไม้ต่างๆ รวมถึงสำคัญที่สุด ความชอบในสไตล์ดนตรีที่เล่น อันนี้ต้องตอบตัวเองได้ว่าชอบเพลงแบบไหน แล้วจะเล่นไปถึงขนาดไหน เพราะหลังจากนี้มันจะมีเรื่องของการเลือกตู้แอมป์และเอฟเฟ็กต์เข้ามาอีก กีตาร์ไฟฟ้ามีรายละเอียดที่ค่อนข้างเยอะ ดังนั้นคำถามแรกที่จะต้องตอบตัวเองให้ได้คือจะเล่นแนวเพลงแบบไหน และจะไปถึงขั้นไหน
การฟังเพลง
และนี่คือจุดมุ่งหมายของบทความครั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดของการเล่นดนตรีคือการสร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเอง และสำหรับดนตรีแล้วหัวใจที่สำคัญที่สุดก็คือการฟังเพลงนี่แหละ การฟังเพลงมันก็มีหลายแบบ การหาตัวเองให้เจอเป็นสิ่งสำคัญ นี่คือคำแนะนำของเรา สำหรับในเรื่องการฟังเพลง
Ex.6 ฟังเพื่อผ่อนคลาย ง่ายที่สุดก็คือเลือกฟังตามอารมณ์ เนื้อเพลง ภาพลักษณ์ หรือจะฟังตามกระแสได้ทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องผิดเรื่องถูก เอาอารมณ์เข้าว่าเลยนี่เป็นพื้นฐานเบื้องต้น ถ้าคุณยังรู้สึกว่าการฟังเพลงมันผ่อนคลายคุณไม่ได้ นั่นก็อาจจะแปลว่าคุณไม่ได้ชอบดนตรีก็ได้นะ และจะมีผลต่อการเล่นกีตาร์ด้วย เพราะลึกๆ แล้วคุณอาจจะไม่ได้ชอบการเล่นดนตรี
Ex.7 ฟังเพลงเสร็จติดตามที่มาที่ไป ถ้าคุณรู้สึกว่าอยากจะรู้ว่าก่อนหน้าเพลงที่คุณกำลังอยู่ มีอะไรมาก่อน คุณเป็นคนโชคดีมาก แสดงว่าคุณค่อนข้างมีความสนใจดนตรีจริงๆ เช่นสมมติคุณฟังบอดี้สแลม แล้วคุณก็ไปหาข้อมูลว่าพี่ตูนทำเพลงนี้เพราะอะไร ที่มา ที่ไป บทสัมภาษณ์ หรือหาว่าพี่ตูนชอบเพลงของใคร สมมติพี่ตูนบอกชอบ U2 แล้วคุณก็ลองไปหา U2 ฟัง สิ่งนี้จะทำให้เกิดรสนิยมทางดนตรีขึ้นมา ยิ่งในยุคนี้ยิ่งแตกต่อยอดได้ง่าย ข้อควรระวังก็คือ พอเริ่มมีรสนิยมด้านดนตรี อีโก้ของคุณก็อาจจะเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว
Ex.8 ฟังแล้วอยากเล่นตาม นั่นก็คือสิ่งที่จะการันตีว่าคุณกำลังจะจริงจังกับดนตรี เพราะคุณจะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้เล่นเพลงที่ชอบให้ได้ทั้งฝึกฝน หาข้อมูล อุปกรณ์ นั่งเสียเวลาฝึกจนคุณเล่นมันได้ แล้วเมื่อทำได้ มันจะมีเพลงที่ 2 เพลงที่ 3 ตามมา ถึงตอนนั้นคุณก็กลายเป็นนักดนตรีไปแล้ว ขอต้อนรับศิลปินไส้แห้งคนใหม่ด้วยความคารวะ