รวมกันเราอยู่
พวกพื้นฐานเบสิกไม่ว่าจะยุคสมัยไหน ก็มักจะมีคนถามเข้ามาอยู่เรื่อยๆ ว่าไอ้นี่มันเรียกว่าอะไร ตรงนี้มันคืออะไร พออธิบายอาจจะดูเหมือนเป็นจุดเล็กๆ น้อยๆ แต่บางครั้งมันก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก สามารถต่อยอดในการใช้งาน ในการเล่นดนตรีนั้นแน่นอนกายภาพเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไอเดียก็เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจด้วย วันนี้มีไอเดียของการเล่นดนตรีโดยการอิงทฤษฎีมาประกอบ เป็นเรื่องที่แฟน The Guitar Mag คนนึงโทรฯ มาขอไว้ ซึ่งก็เล็งๆ ว่าจะเขียนถึงนานแล้วครับ มาถึงอันนี้ก็คงจะเลื่อนไปอีกไม่น่าจะดี เดี๋ยวเสียศรัทธา ดังนั้นเขียนมาดีกว่านั่นคือการเล่นดนตรีโดยใช้สิ่งที่เรียกว่า Common Tone นั่นเอง พอเขียนเป็นภาษาอังกฤษ อาจจะถูกมองว่า โอ้ว มันจะต้องเป็นอะไรที่ยากแน่ๆ เลย จริงๆ เลยของ Common Tone ไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าทำความเข้าใจแล้วจะทำให้คุณสามารถคิดงานดนตรีแบบง่ายๆ ได้ อย่างง่ายดาย แล้วมันคืออะไรล่ะ
Common Tone แปลง่ายๆ ว่าโน้ตร่วม เราเคยทราบกันไปแล้วว่าโน้ตที่จะสร้างให้เป็นคอร์ดจะต้องประกอบด้วยอย่างต่ำ 3 ตัวที่เรียกว่า Triad ยกตัวอย่างเช่น C ประกอบด้วยโน้ต C-E-G คอร์ด F ประกอบด้วยโน้ต F-A-C ไอ้ตัวที่เป็น Common Tone ก็คือโน้ตที่เหมือนกันใน 2 คอร์ดนี้ ใช่แล้วครับตัว C นั่นแหละ Common Tone ง่ายๆ แบบนั้นเลย ก็คือโน้ตที่มีอยู่ด้วยกันในคอร์ดที่เกิน 2 คอร์ดขึ้นไป ซึ่งมันมีประโยชน์อะไรล่ะ เวลาที่โน้ตตัวนี้อยู่ในคอร์ดที่เปลี่ยนไปอารมณ์ก็จะเปลี่ยน ซึ่งทำให้เราไม่ต้องหาเมโลดี้หรือเปลี่ยนคอร์ดให้วุ่นวาย เราสามารถหาชุดคอร์ดดีๆ ไว้แต่งเพลง หรือสร้างโซโล่แบบง่ายๆ ได้เลย เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจอะไรสักนิดหน่อยเท่านั้น เอาแบบคร่าวๆ ดีกว่าว่า Common Tone จะทำอะไรได้บ้าง
คำเตือน ปัญหาที่เราจะต้องตีโจทย์ให้แตกก่อนที่จะเริ่มต้น Common Tone นั่นก็คือตำแหน่งของโน้ตบนคอกีตาร์ ตัว Triad ของแต่ละคอร์ด และคีย์เพลง อาจจะต้องเข้าใจในของ 2-3 อย่างนี้กันซะก่อน ถ้าไม่งั้นอาจจะงง แต่ถ้าพอได้แล้วก็ตามมาเลย
เริ่มต้น
อย่างแรกสุดเราจะถือว่า ทุกๆ ท่าน พอจะรู้ตำแหน่งโน้ตบนคอกีตาร์อย่างคร่าวๆ แล้วนะครับ เราจะเข้าเรื่องของ Common Tone กันล่ะ
Ex.1 ตัวอย่างแรก เราจะเห็นว่ามีคอร์ดทั้งหมด 4 คอร์ด นั่นก็คือ C-F-Am-Dm ลองแยก Triad ออกมา (ลองหาตัวอย่างการแยก Triad ดู สำหรับคนที่มาใหม่นะครับ) ถ้ายังไม่ได้ เราจะแยกให้ดู คอร์ด C มี C-E-G คอร์ด F มี F-A-C คอร์ด Am มี A-C-E คอร์ด Dm มี D-F-A ลองเล่นเกมส์จับผิดกันดู เห็นไหมว่าคอร์ดไหนมีโน้ตที่เหมือนกันบ้าง โน้ตที่เหมือนกันนั่นแหละครับคือ Common Tone คราวนี้มันจะมีประโยชน์อะไร ง่ายๆ เลย ถ้ามีโน้ตร่วมกัน เราสามารถคิดได้แบบง่ายๆ ว่าเวลาเล่นคอร์ด หรือ แกะเพลง ยังไงก็ต้องมีคอร์ดกลุ่มนี้อยู่แน่ๆ
Ex.2 แน่นอนว่าไม่จำเป็นจะต้องเป็นโน้ตตัวเดียวกันตลอดเวลาก็ได้ เช่นคอร์ด C กับ Am ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องมองว่า Common Tone เป็นโน้ต C อย่างเดียว อาจจะเป็นโน้ตอื่นได้เช่น โน้ต E หรือในคอร์ด C กับ Am หรือ F ในคอร์ด Dm กับ F ก็คือ Common Tone เช่นเดียวกัน
Ex.3 ดังนั้นปัญหาก็คือคุณจะรู้จักตำแหน่งของโน้ตบนคอกีตาร์และ Triad ขนาดไหน ถ้าคุณสามารถแม่นพวก Triad ได้ คุณจะได้รูปแบบคอร์ด ชุดคอร์ดต่างๆ ได้มากมาย ในตัวอย่างเราสามารถคิดจากโน้ต E ตัวเดียวแล้วหาว่าจะเอาคอร์ดอะไรใส่ได้บ้าง เราจะได้ Voicing Chord เท่ๆ ได้มากมาย แล้วมันก็ฟังดูเข้าท่าไม่กัดหูด้วย
เริ่มใช้งาน
เอาล่ะคราวนี้เราจะมาใช้งาน Common Tone ให้เห็นคร่าวๆ กันแล้วคราวนี้มาลองใช้ดูกันสักหน่อยดีกว่า
Ex.4 ลองยกตัวอย่างดูสัก 2 คอร์ด เป็นคอร์ด Cmaj7 กับ G/B ทั้ง 2 คอร์ดมีโน้ตร่วมหลักๆ ที่เหมือนกันก็คือตัว B เราเอาโน้ตตัว B นั้นมาเล่นผสมกับการเล่น Picking โดยเราจะเกาคอร์ดแล้วเล่นเมโลดี้ที่วนๆ อยู่กับ โน้ต B เวลาเล่นทั้ง 2 คอร์ดโดยเล่นส่วนโน้ตคล้ายๆ กัน ลองสังเกตดูเสียงที่ได้
Ex.5 คราวนี้เราจะลองคิดจากให้ C เป็น โน้ตที่อยู่เป็นเมโลดี้สูงสุด แล้วใช้วิธีเปลี่ยนคอร์ดดู แน่นอนวิธีนี้จะต้องรู้จักคอร์ดในคีย์ก่อน เราใช้คอร์ดในคีย์ C แล้วลองใส่โน้ตร่วม C ลงไปทุกคอร์ด เราจะได้พวก Chord Voicing หรือคอร์ดแปลกๆ ได้แบบง่ายๆ เช่นในบางคอร์ดอย่างคอร์ด G ที่จะไม่มีโน้ต C หรือ E เลยใน Triad พอเราใส่โน้ตร่วมเข้าไป จะทำให้คอร์ดนั้นดูน่าสนใจขึ้นอีกมา ดูในคอร์ด G ได้เลย
ใช้งานล่ะ
แน่นอนว่าการเล่น Common Tone เราสามารถดัดแปลงมาเล่นเดี่ยวๆ ได้ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเล่นผสมกับคอร์ดเสมอไป เราสามารถเอาหลักการนี้ไปเล่นให้เป็นเมโลดี้หรือโซโล่ต่างๆ ได้ เช่นใน 3 ตัวอย่างนี้
Ex.6 อันนี้จะเป็นการใช้เทคนิคที่เรียกว่า Octave กับโน้ต C ซึ่งดูคอร์ดที่รองรับจะเห็นว่าจะเป็นชุดคอร์ดที่ส่วนใหญ่มีโน้ต C ประกอบอยู่ เราเล่นโน้ตแค่ตัวเดียวเราก็สามารถสร้างเมโลดี้ได้แล้ว
Ex.7 หรือจะใช้เป็นเกาแบบเป็นโน้ตหรือสองโน้ตก็ได้ อย่างในตัวอย่างเราเล่นโน้ตตัว C ที่เป็นโน้ตร่วมในเกือบทุกคอร์ด แล้วเราก็เปลี่ยนเมโลดี้ตัวสูงเป็นอย่างอื่นบ้าง เราก็จะได้เมโลดี้ เอาไว้ประกอบท่อนต่างๆ ในเพลงแล้ว
Ex.8 เป็นตัวอย่างของการใช้โน้ตร่วมเป็นตัวเริ่มของเมโลดี้ในการโซโล่ อันนี้คุณต้องไล่สเกลได้คล่องในระดับนึงแล้ว ก็คือให้สังเกตว่าเราจะเล่นกลุ่มโน้ตที่เหมือนกัน โดยที่ตัวแรกที่เป็นจังหวะตกจะเป็นโน้ตร่วมกับคอร์ดส่วนใหญ่ในชุดนี้ ซึ่งสามารถทำให้เราเล่นโซโล่อย่างง่ายๆ ได้