แกะเพลงกันต่อ
เล่มที่แล้วเราได้อธิบายลักษณะของคอร์ด ตำแหน่งของคอร์ดในคีย์ต่างๆ การฟังเสียงในโซนเบส และเมโลดี้ ถ้าคุณสามารถเริ่มฟังและแยกแยะเสียงสูงต่ำ ประเภทของคอร์ดได้แล้ว จะทำให้บทเรียนต่อจากนี้ง่ายยิ่งขึ้น คราวนี้เราจะเริ่มลงมือแกะเพลงกันแล้ว ก่อนที่จะไปถึงขั้นแอ๊ดวานซ์ เราต้องแกะคอร์ดในเพลงให้ได้ซะก่อน คอร์ดเพลงจะเป็นหลักในการหารายละเอียดเพิ่มเติมในการสร้างสีสันต่าง เปรียบได้เหมือนโครงบ้าน ก่อนที่เราจะตกแต่งใส่เฟอร์นิเจอร์ เราต้องแบ่งให้เป็นห้องต่างๆ ก่อน มีห้องนอน ห้องน้ำ เราต้องเข้าใจก่อนว่าแต่ละห้องมีลักษณะอย่างไร เราจะต้องรู้ว่าบ้านเราจะมีกี่ห้องนอน กี่ห้องน้ำ เรื่องของคอร์ดก็คล้ายๆ แบบนั้นเราต้องรู้ก่อนว่าเราจะใช้คอร์ดอะไรในตัวเพลง ซึ่งการจะศึกษา เข้าใจก็ต้องลองแกะเพลงดู ซึ่งถ้าหัดสังเกต เราจะเห็นการเคลื่อนที่ของคอร์ด และเมโลดี้ ทิศทางของเสียงภายในคอร์ดต่างๆ ของพวกนี้จะช่วยในเรื่องการต่อยอดในอนาคต แต่ในตอนนี้เรามาลองแกะคอร์ดแล้วทำความเข้าใจก่อนจะดีกว่า
คำเตือน ในขั้นตอนที่จะฝึกต่อไปนี้ คุณอาจจะต้องลองหาบทความครั้งที่แล้วมาประกอบไปด้วยกัน หรือไม่อย่างนั้น คุณก็ต้องฟังเสียงคอร์ด Major และ minor ให้ได้ก่อนในเบื้องต้นอย่างน้อยในการมั่วหาคอร์ด อย่างน้อยจะได้หาได้ง่ายและไม่ท้อไปซะก่อน
เริ่มต้น
จากนี้จะเป็นการเริ่มต้นแกะคอร์ดในแบบเบสิก ในทุกๆ ตัวอย่าง เราจะยกตัวอย่างง่ายๆ ในชุดคอร์ด 4 คอร์ด ใน 4 คอร์ดนี้จะอยู่ในคีย์ C Major ซึ่งเริ่มต้นเราจะให้เป็นตัวอย่างส่วนใหญ่ในแบบฝึกหัดทั้งหมดในตอนนี้ นั่นก็คือคอร์ด C-Am-Dm-G ใช่ครับถ้าเขียนเฉลยมันก็จะง่ายๆ แบบนี้แหละ แต่ถ้าเราลงมือแกะคอร์ดล่ะ เราจะต้องทำยังไงเพื่อผลลัพธ์ของคอร์ดเหล่านี้ มาเริ่มดูกัน
Ex.1 ลำดับแรกให้ฟังก่อนว่าตัวที่เป็นเสียงเบสเป็นโน้ตอะไรบ้าง ในตัวอย่างจะเป็นโน้ต C-A-D-G เวลาแกะเพลงให้ลองฟังเสียงที่เป็นเสียงเบสต่ำ อันนี้ต้องใช้สมาธิในการฟังพอสมควรนะครับ ตั้งใจฟังและจับเสียงของโน้ตย่านต่ำเหล่านั้นให้ได้ พอเราได้ก็ดูว่ามันเป็นตัวอะไรบ้าง
Ex.2 พอเราได้โน้ตเสียงต่ำแล้ว (ในตัวอย่างที่ให้เป็นโน้ต C-A-D-G) ให้สังเกตตัวแรก ตัวแรก 90 เปอร์เซ็นต์จะเป็นตัวเริ่มต้นที่จะบอกว่าคอร์ดชุดนั้นอยู่ในคีย์อะไร ในตัวอย่างนี้โน้ตตัวแรกเป็น C เราสามารถเดาได้เลาๆ ว่าเป็นคีย์ C แน่นอน แต่คราวนี้ต้องมาดูว่าเป็น C อะไรจากเสียงคอร์ดตัวแรก สมมติว่าได้คอร์ด C Major จากนั้นเราลองมาเทียบดูว่าในคีย์ C Major มีคอร์ดอะไรบ้าง ในทั้ง 7 ตำแหน่ง ซึ่งในตัวอย่างนี้เราจะได้คอร์ด C-Am-Dm-G ซึ่งเป็นคอร์ดตำแหน่งที่ 1-6-2-5 ในคีย์ C Major
Ex.3 จากนั้นเราลองมาดูว่าคอร์ด 4 เสียงในคีย์ C Major มีอะไรได้บ้าง ในตัวอย่างนี้เราจะได้ Cmaj7, Am7, Dm7, G7 ตรงนี้ให้ลองเล่นแล้วทำความคุ้นเคยกับเสียงคอร์ด 4 เสียงดู รวมถึงวิธีจับคอร์ดดู เอาล่ะลองทบทวน ตั้ง 1-3 ใหม่นะครับ ฟังเบส –หาตัวแรก-ตำแหน่งของคอร์ดในคีย์-ใส่คอร์ด 4 เสียงลงไป ทำตามนี้ก่อน
ฟังและวิเคราะห์
จากขั้นตอนเริ่มต้นแล้วคราวนี้เราจะเพิ่มความยากมากขึ้นอีกเล็กน้อย เพราะในการแกะเพลงจริงๆ มันจะไม่ได้ตายตัวขนาดนิ้ การเล่นคอร์ดนั้นจะไม่ได้เล่นแค่คอร์ดในรูปพื้นฐานอีกต่อไป มาลองดูกันครับ
Ex.4 ในตัวอย่างนี้โน้ตในวงเล็บจะเป็นเสียงเบส สมมติว่าเราแกะโน้ตเบสออกมาได้เป็นแบบนี้ คราวนี้รูปแบบของการจับคอร์ดในบางครั้ง จะไม่ใช่แบบเบสิกทุกครั้ง บางทีมือเบสอาจจะเล่นโน้ตที่เป็นตัวเบสเหล่านั้นแต่รูปคอร์ดอาจจะอยู่ในเฟร็ตลึกๆ จับอยู่ 3 ตัวโน้ตในสายเสียงสูงๆ ซึ่งถ้าแกะโดยฟังแต่เสียงกีตาร์อย่างเดียวอาจจะแกะคอร์ดตรงจุดนี้ไม่ได้ เพราะเสียงจะค่อนข้างฟังยาก
Ex.5 คราวนี้จะเป็นการพลิกแพลงของคอร์ดที่เล่น สมมติว่าเราสามารถหาโน้ตเบส 4 ตัวออกมาได้ แล้วใส่คอร์ดในตำแหน่ง ตามคีย์ที่เราบอกว่าให้อิงจากคอร์ดแรกได้แล้ว แต่ปรากฏว่าบางคอร์ดมันไม่ได้อยู่ในคีย์เช่นตัวอย่างนี้จะมีคอร์ด D ซึ่งในตัวอย่างที่ผ่านมาจะเป็นคอร์ด Dm ซึ่งพอเป็นคอร์ดแบบนี้แล้วสิ่งที่เราสามารถจะคิดได้ก็คือ 1 คอร์ดนี้เป็นคอร์ดที่อยู่นอกคีย์ ซึ่งกรณีนี้ถ้าคอร์ดหลักๆ ยังอยู่ใน C Major ก็ไม่มีปัญหา แต่บางครั้ง เราอาจจะต้องมองในกรณีที่ 2 คือคอร์ดชุดนี้อาจจะไม่ได้อยู่ในคีย์ C ซึ่งเราสามารถมองได้ว่าคอร์ดชุดนี้อยู่ในคีย์ G Major แต่เริ่มต้นด้วยคอร์ด C ก็ได้ ดังนั้นต้องทำความเข้าใจเรื่องคีย์ด้วย
Ex.6 อันนี้จะยากสักหน่อย ตรงนี้เราจะต้องทำความเข้าใจถึงโน้ตในคอร์ดพวก Triad เช่นคอร์ด C มีโน้ต C-E-G ซึ่งในตัวอย่างนี้จะมีอย่างคอร์ดสุดท้ายที่เป็นคอร์ด C/G ดังนั้นตรงจุดนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า อย่ายึดว่าโน้ตแรกจะเป็นคอร์ดนั้นๆ เสมอไป นอกจากใช้หลักการแล้ว ลองใช้หูฟังให้ดีด้วย เพราะบางทีมันอาจจะไม่ใช่อย่างที่เราคิด
เริ่มเข้าใจ
ถ้าเริ่มที่จะคุ้นเคยแล้วเข้าใจแล้ว จงจำไว้ว่าหลักการใช้เป็นไกด์ไลน์ในการแกะเพลง การหาคอร์ดให้เร็วขึ้น แต่ต้องใช้หูฟัง และพิสูจน์ว่ามันถูกต้องมากที่สุดใช่หรือไม่เพราะการแต่งเพลงสามารถพลิกแพลงได้เสมอ
Ex.7 ในตัวอย่างนี้จะเห็นว่าตัวเบสจะเล่นไปเรื่อยๆ แต่ว่าการเล่นคอร์ดบางครั้งฟอร์มของมันจะอยู่กับที่ไม่ได้เคลื่อนไปไหน ซึ่งตรงนี้ทำให้เราพูดได้อย่างเต็มปากว่าไม่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนคอร์ดตามเบสเสมอไป
Ex.8 ในตัวอย่างสุดท้ายจะเป็นการเล่นเมโลดี้ โดยที่ไม่ได้จับคอร์ดเลยซึ่งบ่อยครั้งเพลงหลายๆ เพลงโดยเฉพาะในยุคนี้จะเล่นโน้ตแค่ตัวเดียวแต่ว่าเสียงเบสจะไหลคอร์ดเป็นไกด์โทนไปเรื่อยๆ ซึ่งการจะหาคอร์ดรองรับอาจจะยากสักหน่อย ในจุดนี้เราจะต้องรู้ว่าโน้ตเบสมีตัวไหนบ้าง-สามารถใส่คอร์ดอะไรลงไปได้บ้าง-และโน้ตในคอร์ดเหล่านั้นมีอะไรบ้าง ซึ่งนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการแกะโซโล่ในอนาคต