ก่อนแกะเพลง
สำหรับคอลัมน์ของเราในวันนี้ เป็นจุดที่เชื่อว่ามือกีตาร์ทุกคนจะต้องผ่าน จะต้องถาม และเราก็จะต้องมีหน้าที่อธิบายกันต่อไปจนกว่าหนังสือเล่มนี้จะหายไปจากประเทศไทย คำถามที่ว่า “พี่ครับเราจะมีวิธีแกะเพลงอย่างไร” แม้จะมีคนตอบไปร้อยครั้ง ก็ยังมีคนถามอยู่ดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แสดงว่ายังมีคนสนใจดนตรีอยู่ ในยุคปัจจุบันอาจจะดูว่าคำถามนี้น้อยลง เพราะว่าถ้าเราสงสัยว่าเพลงนี้เล่นอย่างไร เราก็สามารถดูใน YouTube ได้ ซึ่งข้อดีก็คือเราก็จะสามารถเล่นเพลงนั้นได้ แต่ข้อเสียก็คือเราจะเล่นได้แต่ไม่เข้าใจ คล้ายๆ นกแก้ว นกขุนทอง แล้วพอมันติดตัวคุณไปการมานั่งทำความเข้าใจในตอนที่โตมันก็ยากแล้ว ทุกวันนี้คนสนใจในการดูมากกว่าฟัง พอเราดูมากกว่าฟัง ทำให้ความสามารถในการฝึกคิดน้อยลง ความสามารถในการฝึกฟังน้อยลง (ซึ่งสิ่งนี้เป็นสกิลสำคัญในการเล่นดนตรี) ถึงแม้ว่ามันเหมาะกับยุคฉาบฉวยก็เถอะ แต่การจะกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ข้างในกลวง มันก็คงต้องล้มลงสักวัน มันมีผลต่อการพัฒนาวงการดนตรี พอสมควร ดังนั้นการเรียนรู้หลักการในการเล่นดนตรีโดยเฉพาะในการแกะเพลงเป็นสิ่งสำคัญมาก ดังนั้นเราจะมาแนะนำให้ทราบกัน ว่าการแกะเพลงควรจะต้องเข้าใจสิ่งใดบ้าง
คำเตือน ทุกวันนี้การแกะเพลงง่ายกว่าสมัยก่อนเยอะ โปรแกรมฟังเพลงหลายๆ โปรแกรมมีการลดสปีดลงทำให้แกะได้ง่ายขึ้นเยอะ แถมเรายังสามารถดูทางนิ้วได้จากคนที่เคยเล่นไว้แล้วใน YouTube แต่โปรดใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ การดู YouTube ขอให้ใช้เป็นแค่ไกด์ไลน์เท่านั้น การฟังแล้วแกะ ทำความเข้าใจเองสำคัญกว่ามาก แน่นอนสิ่งที่จะต้องย้ำก็คือฟังเพลงให้เยอะ และละเอียดกว่าที่คนปกติฟัง
ขั้นที่ 1 เปิดโสต
ขั้นแรกของการฝึกแกะเพลงก็ต้องฝึกฟังเพื่อแยกแยะ เสียงก่อนครับ เพลงหนึ่งเพลงนั้นจะมีเสียงต่างๆ ซ้อนๆ กันเป็นชั้นๆ จากหลายๆ เครื่องดนตรี แต่อย่างไรซะ สิ่งที่ยังไงก็ต้องต่างกันก็คือพวกเรื่องย่านเสียงต่างๆ เสียงของกีตาร์จะเป็นย่านเสียงที่อยู่ตรงกลางค่อนไปทางแหลม ทำให้เวลาเราฟังเพลงเวลามีเสียงกีตาร์เราจะได้ยินมันพุ่งเด่นออกมามากกว่าเสียงร้อง แต่ว่าในการแกะเพลง แกะคอร์ดไม่ใช่แค่ว่าคุณตั้งใจฟังแต่กีตาร์แล้วมันจะแกะออกมาได้ โดยเฉพาะเพลงในปัจจุบันที่กีตาร์บางทีก็เล่นแค่โน้ตสองโน้ต ดังนั้นการจะแกะคอร์ดโดยรวม อาจจะต้องฟังพวกเบส ที่เป็นย่านต่ำ หรือแม้แต่พวกไลน์เมโลดี้ของพวกเครื่องสาย เครื่องเป่าที่เป็นเสียงแหลม ประกอบการตัดสินใจด้วย อย่างไรก็ดีบทความตอนนี้เราจะโฟกัสที่การแกะกีตาร์ในเพลงดังนั้นสิ่งที่ควรจะรู้ก็คือ
Ex.1 ความแตกต่างของลักษณะเสียงคอร์ด ถ้าเราพูดแบบไม่ต้องอิงทฤษฎีเลย แม้จะมีคอร์ดมากมาย แต่ทุกอย่างมีจุดเริ่มมาจากคอร์ดประเภท Major, minor, Dominant 7 คอร์ดทั้ง 3 คอร์ด จะถูกเขียนโดยเป็นตัวอักษรแบบนี้ ถ้าเป็น Major จะเป็นอักษรแบบนี้ A ถ้าเป็น minor จะเป็น Am ถ้าเป็น Dominant 7 ก็จะเขียนว่า A7 ทีนี้เราควรจะทำอย่างไร การฝึกในขั้นแรกลองเปิดดูในหนังสือคอร์ด ลองหาฟอร์มคอร์ดที่ชื่อข้างหลังเขียนเหมือนทั้ง 3 คอร์ดข้างต้นแล้วเปลี่ยนตัวโน้ตข้างต้นดูเช่น หาฟอร์มคอร์ดของ C, Cm, C7 ลองจับเล่นแล้วฟังเพื่อแยกความแตกต่างก่อนในขั้นแรกๆ อันนี้เป็นการฝึกฟังพื้นฐาน เราจะต้องฟังจนแยกประเภทของเสียงในแต่ละคอร์ดให้ได้ ไม่อย่างนั้นเราคงจะไปต่อลำบากแน่นอนEx.2 แยกโซนเป็น 2 โซน เราจะขอเรียกว่าโซนเบสกับเมโลดี้ ในกีตาร์นั้นมี 6 สาย โซนเบสจะอยู่ในสาย 6-5-4 โซนเมโลดี้จะอยู่ในสาย 3-2-1 ซึ่งสำคัญที่เราจะต้องเรียนรู้ก็คือโน้ตในแต่ละเฟร็ตของสาย 6-5-4 เพราะโน้ตในสายเบสจะมีความสำคัญในการบอกชื่อคอร์ด ซึ่งตรงนี้อาจจะต้องเรียนรู้โดยการทำความเข้าใจกับ สเกลต่างๆ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาสักนิด ลองไล่สเกลตัวสเกลต่างๆ ในสายเดียว โดยเฉพาะสาย 6-5-4 ก่อน แล้วพยายามจำให้ได้ และอย่าใจร้อนคุณไม่สามารถจำได้ทั้งหมดในหนึ่งวัน พยายามฝึกบ่อย แล้วจะคุ้นเอง
Ex.3 เมื่อเราเรียนรู้สเกลบนสายที่เป็นโซนเบสแล้ว เราจะเรียกสิ่งนี้ว่าโน้ตที่พร้อมจะเป็น Root หรือตัวเริ่มของคอร์ด สิ่งที่เราจะต้องทราบต่อไปก็คือกลุ่มโน้ตที่จะเป็นเมโลดี้ในสามสายล่าง ที่จะเป็นกลุ่มโน้ต 2-3 ตัวที่เรียกว่า Interval และ Triad ตามลำดับ ในความเป็นจริงกลุ่มโน้ต 3 ตัวที่ประกอบกันเป็นคอร์ดเราจะเรียกว่า Triad เวลาที่เราจับ 3 โน้ตพร้อมกัน โดยที่โน้ตแต่ละตัวอยู่คนละสายกันก็จะเป็นคอร์ดแล้ว ดังนั้นเราสามารถแยกออกได้ว่าถ้าโน้ตใน โซนเบส สาย 6-5-4 หนึ่งหรือสองตัว บวกกับโซนเมโลดี้สาย 3-2-1 อีกหนึ่งตัว หรือกลับกัน เป็นโน้ตโซนเบสหนึ่งตัว กับโซนเมโลดี้สองตัวก็ประกอบกันเป็นคอร์ดได้เช่นเดียวกัน หรือลองเอาคอร์ดที่อยู่ในเน็ตหรือหนังสือเพลง มาลองดูว่าตัวไหนเป็น Triad ก็ได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อมาถึงจุดนี้คุณพยายามฟังเสียงระหว่างโซนเบสกับโซนเมโลดี้ให้ออก ลองหลับตาเล่นแล้วฟังดู
ขั้นที่ 2 คอร์ดที่มากขึ้น
เมื่อทำตามขั้นที่ 1 ได้เริ่มคล่องแคล่ว ถึงเวลาที่เราจะต้องมาเรียนรู้ขั้นต่อไป นั่นก็คือลองทำความรู้จักกับคอร์ดให้มากขึ้นโดยอ้างอิงจากหลักการ Triad และการแยกโน้ตเป็นโซนเบสและโซนเมโลดี้ โดยในการทำความรู้จักกับคอร์ดเหล่านี้นอกจากตัวทฤษฎีแล้ว ที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องเสียงของคอร์ดเหล่านี้ ตรงนี้จะเป็นกุญแจสำคัญมากๆ ในการแกะเพลง รวมถึงโซโล่ในอนาคต นี่คือสิ่งที่เราต้องเรียนรู้
Ex.4 ทำความเข้าใจกับสิ่งที่เรียกว่าหลักการของคอร์ด 4 เสียง คอร์ด 4 เสียงก็คือคอร์ดที่มีโน้ตเพิ่มมาจาก Triad จากโน้ต 3 ตัวคราวนี้ก็จะมีโน้ตเพิ่มขึ้นเป็น 4 ตัวและสามารถเป็น 4 ตัวขึ้นไปที่เรียกว่าคอร์ดแบบ Tension และ Extension ซึ่งจะได้กล่าวในโอกาสถัดไป คราวนี้คอร์ด 4 เสียง ก็คือโน้ตที่เพิ่มขึ้นมาจากคอร์ด 3 เสียง จากคอร์ดประเภท Major และ minor (คอร์ด Dominant 7 เป็นคอร์ด 4 เสียงอยู่แล้ว) หลักๆ จะเป็นการเพิ่มตัวที่ 7 ขึ้นมา (จาก Triad ที่มีโน้ต 1-3-5 ก็จะกลายเป็น 1-3-5-7) ถ้าเราคิดจากเบสิกคอร์ด เราจะได้เป็น Major 7th (Cmaj7), minor 7th (Cm7) และ Dominant 7 (C7) การเพิ่มโน้ตเข้ามาทำให้การจับคอร์ดยากขึ้น คอร์ด 4 เสียงนั้นมีโน้ตอยู่ 4 ตัวตามกายภาพของมนุษย์ การจับคอร์ดแบบ 4 เสียงจะค่อนข้างลำบาก ดังนั้นวิธีนึงก็คือการตัดโน้ตที่ไม่จำเป็นออก (โดยส่วนใหญ่จะเป็นตัวที่ 5) และจะเหลือตัวที่จำเป็นไว้ เข่น เหลือตัว Root กับตัวที่ 3 กับ 7 ไว้ ลองจำเสียงของคอร์ดทั้ง 3 ประเภทไว้ให้ดี
Ex.5 คอร์ดลำดับถัดไปเป็นคอร์ดที่เรียกว่าคอร์ด Diminish, Augmented, minor7b5 คอร์ดเหล่านี้มีเสียงค่อนข้างเฉพาะตัวและมีที่มาซับซ้อน ถ้าเขียนในนี้อาจจะดูไม่เป็นก้าวแรกเท่าไร เอาเป็นว่าลองฝึกจับทั้ง 3 คอร์ดนี้ดู แล้วฟังเสียงดู โชคดีที่ทั้ง 3 คอร์ด มีวิธีจับคล้ายๆ กันหมด โดยสามารถเปลี่ยนแค่ตัว Root เท่านั้น
Ex.6 คอร์ดที่สำคัญมากๆ อีกแบบก็คือคอร์ดที่เรียกว่า Inversion Chord หรือคอร์ดพลิกกลับ โดยจะมีหลักการง่ายๆ ก็คือเราจะเอาโน้ตใน Triad หรือคอร์ด 4 เสียง มาเรียงใหม่โดยเปลี่ยน Root เช่นคอร์ด C มีโน้ต C, E, G ปกติเราจับคอร์ดนี้ที่โซนเบสสาย 6-5-4 เราจะโน้ต C เป็น Root แต่ถ้าเป็นคอร์ดแบบพลิกกลับ เราอาจจะจับโน้ตตัว Root เป็น ตัวอื่น เช่น E แล้ว ตัวที่เหลือเป็นโน้ตในคอร์ด ปกติ เราจะได้เป็นคอร์ด ลักษณะนี้ C/E ซึ่งคอร์ดลักษณะนี้ต้องฟังให้ดี เพราะบางครั้งจะใกล้เคียงกับคอร์ด 4 เสียงบางคอร์ด
วิธีที่ 3 ลำดับที่ของคอร์ด
ที่กล่าวมาทั้ง 2 วิธี จุดหลักๆ ประเด็นสำคัญก็คือให้ได้ยินเสียงคอร์ด รู้จักการจับคอร์ดกันก่อน คราวนี้เราจะมีไกด์ไลน์บางอย่าง ที่จะต้องแนะนำ ก่อนที่ในตอนต่อไป เราจะเข้าเรื่องแกะเพลงแบบจริงๆ จังๆ ในเล่มนี้จะเน้นไปที่การฟังคอร์ดก่อนครับ
Ex.7 ในหนึ่งสเกลจะมีโน้ตอยู่ 7 ตัว ถ้าคิดแบบสูตรสำเร็จ ตัวที่ 1, 4, 5 ของแต่ละสเกลถ้าคิดแบบ Triad จะเป็นคอร์ด Major (ถ้าคิดแบบคอร์ด 4 เสียงคอร์ดที่ 5 จะเป็น Dominant 7th) ตัวที่ 2-3-6 จะเป็นคอร์ด minor และตัวที่ 7 จะเป็นคอร์ด minor7b5 ลองเล่นตามลำดับแล้วฟังเสียงการเคลื่อนที่ของเสียงในแต่ละคอร์ด
Ex.8 คราวนี้ลองสลับตำแหน่งโดยเลือกขึ้นมา 4 คอร์ด ให้คอร์ดสุดท้ายลงท้ายด้วยคอร์ด Dominant 7th ลองฟังว่าเสียงจะออกมาเป็นอย่างไร