Band Conduct
เปียโน คีย์บอร์ด เครื่องดนตรีที่มีความสำคัญมากๆ ในวงดนตรี และสามารถสร้างความได้เปรียบมากมายเวลาคิดงาน เราสามารถหาเสียงประหลาดๆ ยันเสียงเพราะๆ บาดจิตใจได้จากเครื่องนี้ แต่บ้านเรากลับกลายเป็นว่ามีบุคลากรด้านนี้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ในวงการเพลง ถ้าเราจะหามือเปียโน คีย์บอร์ด ที่เด่นๆ ออกมา อาจจะมีชื่อเพียงไม่กี่ชื่อ ที่สำคัญก็เป็นชื่อซ้ำๆ ถ้าให้เจาะกันลงไปอีก ยิ่งน่าแปลกใจที่ว่าลองหามือคีย์บอร์ด เปียโน แนวป็อปร็อคสักคน เราแทบจะนึกชื่อกันไม่ออกเลยด้วยซ้ำ น้อยกว่าสาย Jazz หรือ Classic ซะอีก ดังนั้นเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนดนตรีสายนี้ที่กำลังเริ่มต้น เราจึงมาพูดคุยกับพี่ปอ อนุกานต์ จันทร์อุไร มือคีย์บอร์ดมาดเท่จาก Instinct ในเรื่องของแนวคิดต่างๆ รวมถึงวิธีการทำงาน โดยการใช้เปียโน และคีย์บอร์ด ใครที่อยากได้คำแนะนำดีๆ ลองอ่านกันได้เลย
ตั้งแต่แรก ทำไมถึงเลือกเล่นเปียโน คีย์บอร์ด
ปอ : จริงๆ ที่ผมเล่นตอนแรกคือกลอง แต่พวกเปียโน คีย์บอร์ดมาเล่นทีหลัง ที่บ้านผมจะมีพวกนี้อยู่ คือพี่ชายเล่น มีซินธ์ฯ อยู่ แต่ก็ไม่ได้จริงจัง จนกระทั่งผมมาเข้าชมรมดนตรีที่หอการค้า แล้วมันไม่มีใครเล่น ผมก็เคยจับๆ มาบ้างก็เลยมาเล่น เพราะว่าเราเข้ามาชมรมดนตรีแล้วก็ต้องหาอะไรทำ (หัวเราะ) ก่อนหน้านั้นผมแทบไม่ได้เล่นดนตรีจริงจังเลยตั้งแต่เด็กๆ ดังนั้นถ้าจะให้พูดตรงๆ ก็คือผมมาเริ่มเล่นดนตรี เริ่มเล่นคีย์บอร์ดก็ช่วงปีหนึ่ง ซึ่งถือว่าช้าเอามากๆ โชคดีที่บ้านผมชอบฟังเพลง แล้วฟังค่อนข้างหลากหลายก็เลยได้ฟังผ่านๆ หู ทั้งเพลงไทยและสากล เอาจริงๆ ที่บ้านผมไม่ได้อยากให้เป็นนักดนตรีเลยนะ แต่ตอนนี้ไม่ค่อยบ่นแล้ว (ยิ้ม)
ช่วงแรกๆ มีวิธีการทำความเข้าใจยังไง
ปอ : ผมต้องบอกว่าผมฝึกค่อนข้างข้ามขั้น แล้วก็ไม่ได้ถูกต้องตามเบสิกสักเท่าไหร่ ผมจะเรียนรู้วิธีการวางนิ้วต่างๆ จากรุ่นพี่อีกคนที่เขาเรียนคลาสสิคมา กับอีกอย่างนึงก็คือตอนนั้นวงดนตรีเขานิยมประกวดกัน ชมรมที่หอการค้าก็ประกวด ซึ่งเพลงประกวดยุคนั้นก็พวก Dream Theater ช่วงชุด Image And Words ผมก็จะฝึกกับพวกหนังสือ Score ซึ่งตอนนั้นมันมีขายไงเราก็เรียนรู้จากตรงนั้น พูดได้ว่าครูคนแรกของผมก็คือ Kevin Moore มือคีย์บอร์ด Dream Theater นี่ล่ะ จากตรงนี้ทำให้ผมได้อะไรเยอะ จริงๆ ตอนนั้นพวกหนังสือคอร์ดกีตาร์ก็ช่วยได้เยอะ เราก็มาดูไอ้พวกจุดๆ ในหนังสือคอร์ดว่ามีโน้ตอะไรแล้วก็มาฝึก พวกนี้ก็ช่วยได้
มีไอดอลในการเล่นมั้ยครับ
ปอ : อย่างที่บอกก็ Kevin Moore ครับ แล้วช่วงหลังๆ ผมก็เริ่มไปทาง Jazz มากขึ้น Classic มากขึ้น อย่างพวก Chick Corea แล้วก็ที่ผมชอบมากๆ ตอนนี้ก็ Stevie Wonder แต่พอเรามาทำ Instinct เราก็ต้องเริ่มมาคิดว่าอะไรที่มันดูเหมาะกับเรา ผมก็จะดูพวกวง Keane หรือ Ben Fold Five อะไรพวกนี้
พวกคีย์บอร์ด เปียโน มีเพลงครูมั้ยครับเหมือนพวกกีตาร์ อะไรแบบนี้
ปอ : สมัยผมก็มี Night Birds ของ Shakatak นะ อันนี้ มือเปียโน คีย์บอร์ดต้องผ่านเลย เหมือนไม่เหมือนไม่รู้ แต่ต้องเล่น (หัวเราะ) แต่พูดจริงๆ นะ ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยแกะเพลง ก็จะเล่นแบบคล้ายๆ มากกว่า พวกท่อน Intro หรือ Solo อะไรแบบเนี้ย ผมจะเล่นไมเหมือน แต่อาศัยเอาใกล้เคียง ในพวกคีย์บอร์ดมันทำได้ ไม่น่าเกลียดมาก แค่เลือกคอร์ดให้ตรง แล้วก็เมโลดี้ใกล้เคียงหน่อย เพราะฉะนั้นถ้าสมมติว่า มีคนมาให้ผมเล่น X Japan อะไรแบบนี้ ผมก็จะเล่นไม่ได้ หรือได้ก็ไม่เหมือน แต่จากตรงนี้มันก็ทำให้ผมได้ฝึกคิดงาน สมมติเล่นคอร์ดนี้ แล้วมันควรจะไปไหนต่อ เราจะเล่น Voicing แบบไหนดี อันนี้พอได้ แต่ให้แบบเล่นเหมือน ก็จะไม่ค่อยได้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าถูกต้องหรือเปล่านะ (หัวเราะ)
แล้วมาเข้าที่เข้าทางแบบเล่นแล้วเข้าใจจริงๆ ช่วงไหน
ปอ : โห…ก็ต้องมาช่วงที่ทำวง Girl อัลบั้มสองนั่นแหละ นอกจากเรื่องเล่นก็เป็นเรื่องในห้องอัดด้วยนะ การจัดการกับเพลง รายละเอียดการทำเพลง คือเริ่มเรียนรู้ระบบในการทำดนตรีมากขึ้นนอกจากแค่เล่นคีย์บอร์ดแล้ว
งั้นขอถามถึงวิธีการทำงานในวง Instinct
ปอ : มันก็แล้วแต่นะ อย่างบางทีผมก็ทำเมโลดี้ อะเร้นจ์คร่าวๆ ให้ปาล์มเขียนบางทีปาล์มก็ทำแบบดิบๆ มาเลย แล้วผมมาทำคร่าวๆ ก็จะ 2 แบบนี้ครับ แต่จะไม่ค่อยแบบแจมกัน เพราะมันไม่มีวง (หัวเราะ) ส่วนแชมป์ (กีตาร์) ก็มาช่วย เพิ่มสีสันในแบบที่เราไม่เคยมี
ปัญหาในการเล่นคีย์บอร์ดรวมกับแบนด์ มีจุดไหนบ้างครับ
ปอ : เสียงไม่โผล่เวลาเล่นกับวง ต้องพูดตรงๆ ว่าพวกเปียโน คีย์บอร์ด โอเคล่ะ ถ้าเอามาเล่นคนเดียวมันก็ได้ แต่ถ้าต้องออกงานจริงๆ ก็ต้องใช้ของแพงหน่อย (หัวเราะ) เพราะเนื้อเสียงมันจะสู้ไม่ได้ การจะให้ได้ซาวด์คมๆ แบบฝรั่งมันยาก ตรงนั้นเขาผ่านขั้นตอนอะไรมามากมาย กับสอง จะเล่นยังไงไม่ให้ไปกวนไลน์อื่น หรือเราจะซัพพอร์ตไลน์อื่นยังไง เช่นกีตาร์เล่น Picking แล้วเราก็เล่นไหลๆ ไปมันอาจจะทับไลน์กันบ้าง หรือบางทีถ้าเราต้องเล่นรองรับเบส ก็ต้องมาดูว่าย่านเสียงเรามันจมไปมั้ย ต้องเพิ่มอะไรมั้ย โชคดีที่งานที่เราทำเป็นของเราเอง ดังนั้นเราก็จะสามารถดีไซน์ให้มันต่างกันได้
วิธีการปรับซาวด์คีย์บอร์ดในการเล่นสด มีหลักยังไงครับ
ปอ : ตอนนี้ผมใช้มอนิเตอร์เป็นหลัก มีพาวเวอร์แอมป์ มีซับมิกซ์ก็จะปรับง่ายหน่อย บ้านเราน่าสงสาร พวกตู้แอมป์คีย์บอร์ดไม่ได้รับการใส่ใจเท่าไหร่นัก ไปทุกที่เราจะเจอพวก Peavey KB 100, KB 300 ซึ่งแบบเราคาดหวังเสียงไม่ได้เลย (หัวเราะ) มันเป็นตู้ซ้อม แต่เอามาใช้กับคอนเสิร์ต สิ่งที่เราทำได้ก็คือถ้าเรามีเปียโนไฟฟ้ามาตรฐาน อย่าง Roland RD700 ที่ผมใช้อยู่แล้วเจอตู้ที่ส่วนใหญ่จะเป็นเสียงกลางกับเบสเยอะๆ ก็ให้เติมแหลมนิดนึง แล้วลดเสียงกลางกับเบสลงหน่อย ส่วนตัวผมจะเน้นพวกเสียงแหลมกับเบส เพราะว่าการเล่นเปียโนลิ่มสูงๆ เวลามันลงคอร์ด เสียงมันต้องใสไปเลย ดังนั้นก็จะเพิ่มแหลมนิดนึง ย่านกลางนี่ผมจะไม่ค่อยชอบ มันทำให้เสียงเปียโนมันด้านก็เลยจะไม่ค่อยปรับ แต่อย่างที่บอกครับถ้าลงทุนได้ก็ต้องลงทุนพวกอุปกรณ์ต่างๆ จะดีกว่า
อุปกรณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้
ปอ : Interface ครับ (หัวเราะ) ถ้าไม่ใช่เปียโนนะ ยุคนี้มันจำเป็นต้องใช้พวกซาวด์ที่เราไม่สามารถเล่นได้ทั้งหมด ก็ต้องมีเอาไว้ครับ
การอัดไลน์อย่างสตริง เวลาจับกับเมโทรนอม มันจะต้องเหลื่อมใช่มั้ยครับ มีวิธีแก้ยังไง
ปอ : ก็เขียนเอาสิครับ (หัวเราะ) เดี๋ยวนี้ซาวด์ที่อยู่ใน Soft Synth มันก็มีหลากหลาย แล้วก็ดีขึ้นมากแล้วครับ มันก็จะมีให้เลือกแบบทั้งที่กดแล้วมาเลย หรือจะให้ Delay ก็ได้ ถ้ามันจะเหลื่อมแล้วมันยังอยู่ในลักษณะการ Lay Back ผมจะไม่ซีเรียสนะ เพราะว่าความเป็นจริง สมมติเราอัดไลน์เครื่องสายเป็นออเครสตร้า เสน่ห์ของมันคือการที่มันจะไม่เท่ากันหมด ซึ่งทำให้เกิดไดนามิก ตรงนี้คนทำเพลงบางทีใช้ตาทำมากกว่าใช้หูฟัง เอาจริงๆ ถ้าไม่ตรงก็เลื่อนเอาก็ได้ครับ แต่ถ้าเล่นสด ผมก็จะไม่เล่นไลน์สตริงเลยนะซาวด์จากซินธ์ฯ มันหลอกหู ผมจะเลือกใช้ การเปิด Data เลยดีกว่า เอาล่ะแต่ถ้าใครอยากจะเล่นไลน์สตริงบนคีย์บอร์ดแล้วก็ไม่เข้ากับกลอง กลัวเหลื่อมเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมันไปไกลมากแล้ว ความไวของเสียงมีเยอะ มีให้เลือก Fast String หรือ Slow String ก็ได้
ในแง่ของลุควงในเมืองไทยมือคีย์บอร์ดมักจะกลายเป็นส่วนเกิน มองจุดนี้ยังไงครับ
ปอ : สมัยก่อนตอนผมวัยรุ่นไปเล่นกลางคืนก็เจอครับ น้องวงไม่เอาคีย์บอร์ดได้มั้ย คือแค่ตู้แอมป์ยังไม่ซัพพอร์ตเลย ดังนั้นเรื่องถ่ายรูปก็ลืมไปได้เลย (หัวเราะ) แต่เดี๋ยวนี้ก็ดีขึ้นแหละ
คิดว่าในตำแหน่งนี้มีหน้าที่ซัพพอร์ตหรือโซโล่มากกว่ากัน
ปอ : ซัพพอร์ต แต่ถามว่าโซโล่มั้ย บังเอิญที่วง Instinct เราเป็นคนทำเพลง ดังนั้นพวกเสียงเปียโนที่ซัพพอร์ต มันเลยเด่นออกมาเหมือนวงที่โซโล่ จริงๆ หน้าที่ก็คืออุ้มวงนั่นแหละ ด้วยการที่วงเราเลือกที่จะมีเสียงเปียโนอยู่ด้วย มันทำให้ถึงจะอุ้มวง แต่มันก็เห็นไลน์เปียโนโดดเด่นออกมา แต่เครื่องนี้มันก็สามารถทำได้ทั้งสองอย่าง อยู่ที่วงครับอย่างพวก Dream Theater พวกนั้นเขาโซโล่แบบ โอ้โห (หัวเราะ) มันอยู่ที่ว่าเวลาซัพพอร์ต เลือกที่จะใช้วิธีไหนให้มันดูเด่นออกมา โดยที่ไม่ใช่พยายามจะเด่น การเลือกว๊อยซ์ซิ่ง โน้ตคอร์ดในจังหวะที่ใช่ การเลือกซาวด์ อะไรพวกนี้ก็ทำให้เราดูดีได้ ผมยกตัวอย่างวง Keane มือเปียโนเขาก็เล่นซัพพอร์ตเป็นคอร์ดธรรมดา วิธีเล่นก็ง่ายๆ แต่ทำไมมันถึงดูเด่นล่ะ มันไม่มีผิดมีถูกครับอยู่ที่รูปแบบของวงมากกว่า
จำเป็นหรือไม่ที่มือเปียโน คีย์บอร์ดต้องเรียน Jazz และ Classic
ปอ : รู้ไว้ก็ดีครับ มันนำมาปรับใช้ได้ อย่างพวกทาง Classic เราก็จะได้พวกวิธีการไล่นิ้ว Arpeggio ต่างๆ หรืออย่าง Jazz ซึ่งถามผมว่าเล่นเป็นไหม ผมเล่นไม่เป็นแต่ผมชอบพวกเรื่องคอร์ด อารมณ์ในคอร์ดแบบนั้น ก็จะนำมาใช้กับ Instinct วงเราก็จะไม่ได้เล่นคอร์ดตรงๆ อะไรแบบนี้ครับ ถามว่าถ้าไม่รู้เลยได้มั้ย มันก็ได้ครับ อยู่ที่สไตล์ว่าเราจะเอาไปทำแบบไหน เอาง่ายๆ อย่างลูกทุ่ง เราก็คงไม่ต้องใช้ Tension คอร์ดมากมายถูกมั้ย…
ในบ้านเราตามร้านที่เล่นต่างๆ จะไม่ค่อยซัพพอร์ตกับวงดนตรีที่มีเปียโนไฟฟ้า หรือคีย์บอร์ด คิดว่าเราจะแก้ปัญหายังไงดีครับ
ปอ : ต้องเอาไปเองไม่มีทางเลือกอื่น (หัวเราะ) ถ้าเรามีงบประมาณและเงินทุน รวมถึงกำลังที่จะต้องแบกด้วยนะ (หัวเราะ) ก็ต้องยอมแลก สมมติเราอาจจะทดลองเอาเอฟเฟ็กต์กีตาร์ Boss มาเล่นผ่านคีย์บอร์ด จนได้ซาวด์ของเรา แต่พอไปเล่นไปเจออุปกรณ์ที่ไม่ซัพพอร์ต มันก็ไม่สามารถจะให้อารมณ์การเล่นที่เต็มที่ได้ ดังนั้นการเซ็ตอัพแล้วยกไปเองดีที่สุด แต่ผมเข้าใจ สำหรับนักดนตรีกลางคืนทั่วไปจะทำแบบนี้มันยาก โชคดีที่สมัยนี้มันมีทางเลือก เราอาจจะลงทุนคอมฯ สักเครื่อง Interface เล็กๆ สักอัน แล้วเอาซาวด์ซอฟต์ซินธ์ฯ จากพวกโปรแกรมหามีดี้คอนโทรลที่เป็นคีย์บอร์ดใบ้สักตัว นี่ก็จะพอช่วยได้ในระดับนึง แต่โอเคล่ะก็คงต้องใช้เงินเยอะแน่ๆ (หัวเราะ) มันเป็นปัญหาของบ้านเราจริงๆ นะ สำหรับเครื่องนี้เลย อ่อ แล้วอีกอย่างลงทุนซื้อ UBS สำรองไฟกันไว้ก็ดีนะครับ ผมเคยเจอมาแล้วงานเครื่องปั่นไฟ ไฟกระชาก Interface ผมกลับบ้านเก่าเลยจ๊ะ (หัวเราะ) ถ้าเล่นในเมืองไทยยังไงก็ต้องมีครับ สำคัญมากเครื่องไม่กี่พัน
อย่างงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่ Instinct เช่นเพลงละคร วิธีการทำงานจะต่างกันมั้ยครับ
ปอ : นิดหน่อย แต่เวลาเรารับงาน เราจะขออะเร้นจ์เอง ต้องดีลก่อนเลยว่าผมไม่ทำงานตามออเดอร์นะ ปรับได้ แต่เอาแบบเรฟเฟอเรนซ์เพลงนั้น เพลงนี้ เอาเหมือนเป๊ะๆ ถ้าแบบนั้นผมก็ไม่ทำ ขอให้เป็นแบบ Instinct นำเสนอดีกว่า เราก็จะทำให้เต็มที่ ไม่ใช่แบบ เฮ้ย! เพลงละครโว้ย หวานหมู ไม่ใช่ เราทำเต็มที่ในแบบของเรา ซึ่งโชคดีที่ผู้ใหญ่ก็เข้าใจ ซึ่งเราก็ไม่ใช่พวกหัวแข็งขนาดที่ไม่ปรับเลย มีปรับบ้างครับ
เครื่องดนตรีนี้ทำให้เราได้เปรียบในการทำงานมั้ยครับ
ปอ : ได้เปรียบเพราะว่าเราจะได้เห็นโน้ตทั้งหมดอยู่หน้าเรา แล้วมันเห็นเต็มพื้นที่ 3-4 อ๊อคเตฟ มันก็เลยทำให้ง่ายในการเลือกโน้ต ลองผิดลองถูก แล้วก็เราสามารถเล่น Comp มือซ้ายให้เป็นจังหวะกับเล่นเบสไลน์ได้ คีย์บอร์ดยุคใหม่ๆ มันก็มีเสียงเบส เสียงกลองให้ เราก็สามารถสร้างเดโมที่มีจังหวะกลอง เมโลดี้ ไลน์เบสง่ายๆ ได้แล้ว เราสามารถเห็นภาพรวมได้ง่ายกว่า
คิดว่าไอดอลเปียโน คีย์บอร์ด ของเราน้อยไปหรือเปล่าครับ
ปอ : ผมเห็นปัญหานึงของแวดวงนี้นะ คนเก่งๆ บ้านเราเยอะ แต่คนสร้างงานน้อย คนเก่งเทพๆ เยอะ อันนี้ไม่ได้ว่านะ บ้านเราการทำเพลงต้องอิงธุรกิจ คนที่เล่นเปียโน คีย์บอร์ดแล้วมาสร้างงานที่เป็นทั้งศิลป์และธุรกิจเนี่ย ไม่มี ไม่มีใครอยากโดดลงมายุ่ง ส่วนใหญ่ก็ไปทางสายลึกๆ ไปเป็นอาจารย์ หรืออาจจะมีบางคนไปเล่นคลาสสิคเมืองนอก แต่คนที่จะสร้างงาน แล้วเป็นแบบอย่างให้คนอื่นได้ ทำให้เห็นว่าเปียโน คีย์บอร์ด ก็ทำแบบนี้ได้ บุคลากรตรงนี้ไม่ค่อยมี น้อยมาก ให้เห็นภาพเลย เราไม่มีพี่เสก โลโซที่เล่นเปียโน (หัวเราะ) ฝรั่งเราจะเห็นอย่าง Elton John หรือคนที่เล่นเปียโน Country บ้านเราจะไม่ค่อยมีคนสร้างงานลักษณะนี้ เปียโนกลายเป็นของที่วางไว้เป็นของหรูๆ หรือเรื่องของคนรวย เปียโนต้องผู้ดีซึ่งมันไม่ใช่ไง เป็นชาวร็อคเถื่อนๆ ก็เล่นเปียโนได้ (หัวเราะ) ให้ผมคิดตอนนี้ก็มีแค่ป้อม ออโต้บาห์น กับโต๋ ศักด์สิทธิ์ นอกนั้นคิดไม่ออก (หัวเราะ)
มีสิ่งที่อยากเรียนรู้เพิ่มเติมมั้ยครับ
ปอ : ผมไม่ได้อยากเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม แต่ผมอยากรู้ว่าเมื่อไหร่คนจะหันมาฟังเพลงกันเยอะๆ เหมือนเดิม (หัวเราะ) คือผมไม่ใช่นักธุรกิจ แต่ผมรู้สึกว่าทำไมโปรดักชั่นดนตรีถึงถูกมองในแง่ศิลปะน้อยลง การลงทุนในการซัพพอร์ตให้นักดนตรีทำงานคุณภาพลดลง ผมอยากเห็นวันที่คนฟังเพลงเคารพในความคิดที่ศิลปินทุ่มแรงคิดมา เหมือนร้านกาแฟ กาแฟแก้วละ 90 เครื่องชงเป็นแสน แต่เวลาจ่ายเงินเราก็จ่ายกันได้ไม่สงสัย แต่กับดนตรีทำไมต่อรองเยอะจัง (หัวเราะ)
ฝากถึงนักดนตรีที่อยากเล่นเปียโน คีย์บอร์ด ในอนาคตครับ
ปอ : มีอย่างนึงคือผมไม่อยากให้น้องๆ ไปโฟกัสเรื่องอุปกรณ์มาก ทุกวันนี้ผมยังใช้ Roland RD700 SX อยู่เลย แต่น้องบางๆ คน จะแบบ เฮ้ย! ไม่ได้ต้องไม่เหมือนใคร ผมเคยเห็นเวลาประกวด คีย์บอร์ดตัวเป็นแสน แต่น้องๆ จิ้มอยู่ 2-3 โน้ต คือมีของแพงน่ะได้ครับ แต่อยากให้ใช้ให้เต็มประสิทธิภาพมันด้วย อย่าใช้เป็นแฟชั่น แล้วสำหรับคนที่สร้างงานพยายามหาสไตล์ตัวเองให้เจอ แต่อย่ามั่ว ให้มันอยู่บนพื้นฐานของความเป็นดนตรีด้วย