วงร็อคเจ้าของยอดขายระดับมัลติแพลทินัมและเจ้าของรางวัลแกรมมี่ (Grammy Award) อิมเมจิ้น ดรากอนส์ (Imagine Dragons) เตรียมกลับมาเยือนกรุงเทพอีกครั้ง พร้อมคอนเสิร์ตครั้งยิ่งใหญ่ สิงห์ มิวสิค พรีเซ้นท์ส อิมเมจิ้น ดรากอนส์ อีโวล์ฟ เวิลด์ ทัวร์ ไลฟ์ อิน แบงค็อก ที่โอเอซิส อารีน่า (Oasis Arena) โชว์ ดีซี (SHOW DC) ในวันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม 2561 บัตรเข้าชมเริ่มต้นที่ 2,500 บาท เริ่มจำหน่ายบัตรแล้ววันนี้ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ทุกสาขาและที่เว็บไซต์ www.thaiticketmajor.com
ศิลปินเจ้าของรางวัลแกรมมี่ จากสาขาการแสดงเพลงร็อคยอดเยี่ยม (Best Rock Performance) ปี 2557 และเจ้าของเพลงฮิตติดหูมากมาย อย่างเช่น It’s Time, Radioactive, Demons, Believer และ Thunder เคยเดินทางมาเปิดคอนเสิร์ต ครั้งแรกที่กรุงเทพเมื่อปี 2558 กับเวิลด์ทัวร์ Smoke+Mirrors Tour ซึ่งบัตรเข้าชมขายหมดเกลี้ยง การกลับมาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของเวิลด์ทัวร์ล่าสุด และเพื่อโปรโมตผลงานเพลงอัลบั้มที่ 3 อีโวล์ฟ (Evolve) ที่เปิดตัวอย่างสวยงามมีเพลงฮิตติดทอปชาร์ตเพลงทั่วโลก
นับตั้งแต่ออกอัลบั้มเต็มอัลบั้มแรกในชื่อ Night Visions ในปี พ.ศ.2555วงอิมเมจิ้น ดรากอนส์ ก็ได้รับความนิยมไปทั่วโลกด้วยเพลงแนวอัลเทอร์เนทีฟร็อคที่ปลุกเร้าอารมณ์แต่ก็หม่นเศร้าไปพร้อมกัน สำหรับอัลบั้มที่สามที่ชื่อว่าอีโวล์ฟ วงดนตรีเจ้าของรางวัลแกรมมี่ อวอร์ด ได้เปลี่ยนมุมมองใหม่และใช้มุมมองทางอารมณ์ที่สดใสขึ้นแต่ก็ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นด้วย “ปีที่แล้วเป็นปีที่ดีที่สุดในชีวิตของผมและผมคิดว่ามันสะท้อนอยู่ในดนตรีอย่างมาก” นักร้องนำ แดน เรย์โนลด์ส (Dan Reynolds) กล่าว เพื่อนร่วมวงของเขาประกอบด้วย เวย์น เซอร์มอน (Wayne Sermon) มือกีตาร์, เบน แม็คคี (Ben McKee) มือเบส และแดเนียล แพลตซ์แมน (Daniel Platzman) มือกลอง “แน่นอนว่ามีช่วงเวลาแห่งความเศร้าอยู่ในอัลบั้มนี้แต่ก็มีเวลาแห่งการเฉลิมฉลองอยู่ด้วย”
ในเพลงเปิดตัวอย่าง บีลีฟเวอร์ อิมเมจิ้น ดรากอนส์ ได้แสดงพลังขับเคลื่อนทางอารมณ์ที่เป็นใจกลาง ของอัลบั้ม อีโวล์ฟ ด้วยเสียงร้องแบบเพอร์คัสซีฟ (Percussive) ที่ชัดเจนและจังหวะที่ได้แรงบันดาลใจจากแนวเพลงฮิปฮอป เพลงบีลีฟเวอร์แสดงให้เห็นข้อพิสูจน์ในการแข็งแกร่งขึ้นโดยการผ่านความทุกข์ยาก “ตลอด แปดปีที่ผ่านมาเราเจอช่วงเวลาร้ายๆ แต่ช่วงเวลาเหล่านั้นเป็นช่วงเวลาที่ช่วยให้เราพัฒนาไปได้เกือบทุกครั้ง” เซอร์มอน สมาชิกวงอิมเมจิ้น ดรากอนส์ วงดนตรีซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองลาสเวกัสกล่าว “เราไม่ได้อยากจะโตอยู่ตลอดเวลาและความเจ็บปวดคือประตูไปสู่ความเติบโตนั้น”
ในการทำเพลงบีลีฟเวอร์นั้น อิมเมจิ้น ดรากอนส์ ร่วมงานกับคู่หูโปรดิวเซอร์ชาวสวีเดน แมตต์แมน แอนด์ โรบิน (Mattman& Robin) และได้ซาวนด์ที่สะอาดกว่าทุกเพลงที่พวกเขาเคยทำมาก่อน “แต่ละเพลงในอัลบั้มนี้ เราตั้งใจคัดเลือกเครื่องดนตรีให้น้อยที่สุด เอาเท่าที่จำเป็นในการถ่ายทอดอารมณ์ที่เราพยายามจะจับออกมา” เรย์โนลด์ส เล่าจากไนต์ วิชั่นส์ อัลบั้มที่โปรดิวซ์กันเองเป็นส่วนใหญ่ และอัลบั้มสโมก แอนด์ มิเรอร์ส ที่ตามมาในปี 2558 ในอัลบั้มอีโวล์ฟนี้ ทางวงได้หันมาทำงานอย่างใกล้ชิดกับแมตต์แมน แอนด์ โรบิน และโปรดิวเซอร์คนอื่นๆ เช่น โจเอล ลิตเติล (Joel Little) ที่เป็นที่รู้จักดีจากการควบคุมการผลิตอัลบั้ม Pure Heroine ของ Lorde “เราตั้งใจตามหาโปรดิวเซอร์ที่ถือปรัชญาแบบน้อยแต่มาก พวกเขาช่วยเราสร้างซาวด์ใหญ่ๆ แบบอิมเมจิ้น ดรากอนส์ด้วยส่วนผสมที่เรียบง่ายกว่ามาก” เซอร์มอนเล่า
แม้จะใช้วิธีแบบมินิมอลในการทำอัลบั้มอีโวล์ฟ แต่อิมเมจิ้น ดรากอนส์ ก็สร้างความสลับซับซ้อนอันลุ่มลึกได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการได้ออกไปพักผ่อนเพื่อเติมพลังของพวกเขา หลังการค้นหาทางจิตวิญญาณระหว่างพักการทัวร์คอนเสิร์ตเป็นเวลาหนึ่งปี อิมเมจิ้น ดรากอนส์ เกิดกระบวนการคิดแบบใหม่และนำเอาความเปิดกว้างมาสู่ดนตรีของพวกเขาในที่สุด “อัลบั้ม สโมก แอนด์ มิเรอร์ส เป็นช่วงเวลาแห่งการสำรวจตัวตนของวงจริงๆ เป็นตอนที่เราตั้งคำถามกับเรื่องทางจิตวิญญาณและความหมายของมันในชีวิตของเรา” เรย์โนลด์สกล่าว เซอร์มอนเล่าต่อว่า “ในอัลบั้มนั้นเราพยายามที่จะหาคำตอบ ส่วนอัลบั้มนี้เราพอใจที่ไม่ต้องมีคำตอบอะไรเลย”
อิมเมจิ้น ดรากอนส์ พบความรุ่งโรจน์อันไม่น่าเป็นไปได้ในการครุ่นคิดพิจารณาตนเองอย่างเข้มข้นผ่านอัลบั้ม อีโวล์ฟ ในเพลง Whatever It Takes อิมเมจิ้น ดรากอนส์ ได้เปลี่ยนความสงสัยในตัวเองให้กลายเป็นมหากาพย์ที่พุ่งทะยานและเปล่งประกายด้วยจังหวะหนักๆ และการร้องอันรวดเร็วของเรย์โนลด์ส เพลง Thunder ก็เป็นอีกห้วงเวลาแห่งการใคร่ครวญ เพลงนี้นำเอาการร้องประสานเสียงและเอฟเฟ็กต์เสียงร้องที่แปลกแปร่งมาถ่ายทอดการคิดทบทวนถึงการเดินทาง ในชีวิตที่ผ่านมาของเรย์โนลด์ส “เพลงนี้คือตัวผมที่มองย้อนกลับไปตอนที่ผมรู้สึกเป็นคนแปลกแยกและการทำเพลงเป็นหนทางหลบหนีเพียงทางเดียวของผม ถึงแม้ว่าผมจะอายเกินกว่าจะให้คนอื่นฟังก็ตาม” เขาเล่า “มันคือการเล่าว่าช่วงเวลานั้นเปรียบเสมือนฟ้าผ่าก่อนที่ฟ้าจะร้องยังไงและตอนนี้ผมอยู่ในจุดที่ได้ทำสิ่งที่รักและได้เดินทางไปทั่วโลกเพื่อเล่นดนตรีให้ผู้คนฟังได้ยังไง”
นอกจากนี้ อัลบั้มอีโวล์ฟยังมีเพลงรักอยู่ด้วยซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักกับอิมเมจิ้น ดรากอนส์ด้วยโทนกีตาร์ที่อ่อนโยนและเสียงร้องอันนุ่มนวล เพลง Walking the Wire เล่าถึงสิ่งที่เรย์โนลด์สอธิบายว่าเป็น “ความสัมพันธ์อันโกลาหลที่เหมือนกับว่ามันจะพังทลายได้ทุกเมื่อ แต่สิ่งนี้เองที่ทำให้ความสัมพันธ์นี้น่าตื่นเต้น” เพลง ไอ ดอนต์ โนว์ วาย (I Don’t Know Why) เป็นมุมกลับที่แจ่มชัดกว่าของเพลงก่อนหน้า เพลงนี้ผสมผสานซินธีไซเซอร์อันเย็นเยียบเข้ากับจังหวะตุบๆ “เพลงไอ ดอนต์ โนว์ วายเริ่มด้วยจังหวะนั้น” เรย์โนลด์สกล่าว “มันให้ความรู้สึกเหมือนกับเวลาคุณขับรถด้วยความเร็ว 90 ไมล์ต่อชั่วโมง โฉบไปมาระหว่างรถแต่ละคันและคุณกำลังจะชน ความอันตรายมากับความโรแมนซ์ในเพลงนี้ มันน่าตื่นเต้นแต่ก็มุ่งไปสู่โศกนาฏกรรม” หนึ่งในเพลงที่ใกล้เคียงกับเพลงบัลลาดมากที่สุดของอัลบั้มอีโวล์ฟอย่างเพลง I’ll Make It Up to You เผยให้เห็นการบรรเลงกีตาร์อันเปล่งประกายและเนื้อเพลงที่ถูกถ่ายทอดอย่างอบอุ่นเกี่ยวกับ “ช่วงเวลาแห่งแรงปรารถนาที่ให้อภัยได้กับทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณได้ทำผิดไป” เรย์โนลด์สกล่าวไว้เช่นนั้น
สำหรับ อิมเมจิ้น ดรากอนส์ แล้ว หนึ่งในสิ่งที่เป็นความสำเร็จสูงสุดของอัลบั้มอีโวล์ฟคือความซื่อสัตย์อย่างไม่มีข้อจำกัดของอัลบั้มนี้ “แทนที่จะหลบซ่อนอยู่เบื้องหลังการเปรียบเปรย ผมสามารถเขียนเนื้อเพลงอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น” เรย์โนลด์ส กล่าว “ผมมุ่งเน้นการค้นหาที่ลึกลงไปเพื่อคุณค่าด้านเนื้อเพลง” ไม่เพียงมอบความลึกซึ้งในด้านอารมณ์ที่ไม่เคยถูกพูดถึงให้กับอัลบั้มนี้เท่านั้น ความซื่อสัตย์นี้ ยังฝ่าผ่านความวุ่นวายในแต่ละวันเพื่อเปิดเผยความจริงอันเปล่งประกายอีกด้วย “โลกทุกวันนี้ดูเหมือนเป็นที่ที่มืดหม่นและน่าพรั่นพรึง” เรย์โนลด์สกล่าว “เราอยากสร้างบางสิ่งบางอย่างที่เหมือนกับแผ่นเสียงเก่าๆ ที่เราโตมากับมัน ที่ที่รู้สึกเหมือนได้หลบหนีเข้าไปในโลกอีกใบที่สดใสกว่ามาก ความหวังของพวกเราคืออัลบั้มนี้จะช่วยให้ผู้คนมุ่งความสนใจไปที่ความงามของแต่ละช่วงเวลาและมองเห็นความสดใส และสีสันของชีวิต”