สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในระลอกที่ 3 ทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ฉบับที่ ๑๙) ณ วันที่ 9 เมษายน 2564 โดยระบุหัวข้อหลัก 3 ข้อว่าด้วยการกำหนดให้มีการปิดสถานบริการ หรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค, การพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการและการตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการการป้องกันโรคและการจัดระเบียบ จากคำสั่งดังกล่าวได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงทั้งหมด ซึ่งไม่ได้มีแต่เจ้าของธุรกิจ หรือผู้ประกอบการแต่รวมไปถึงลูกจ้างทุกประเภททั้งที่เข้าระบบประกันสังคม และกลุ่มอาชีพอิสระที่รับค่าจ้างแบบรายวัน เช่น นักดนตรี, พนักงานเสิร์ฟ, บาร์เทนเดอร์, พนักงานเชียร์สินค้า, พนักงานโบกรถ, พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของในตลาดกลางคืน ร้านอาหารข้างทางต่างๆ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมายังมีผู้ได้รับผลกระทบและไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาจากภาครัฐได้อย่างครบถ้วน โดยทางสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทยได้มีการยื่นหนังสือไปทั้งหมด 4 ครั้ง ต่อ 4 หน่วยงานและผู้รับผิดชอบ
ทางสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง จึงขอยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อทวงถาม หารือ และพิจารณาร่วมกันหาทางออก ต่อจดหมายเปิดผนึกและข้อเรียกร้องที่ทางสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย ได้เคยยื่นไปแล้วให้กับหน่วยงานและผู้รับผิดชอบต่างๆดังนี้ :
ครั้งที่ 1 วันที่ 11 มิถุนายน 2564 : เข้าพบและยื่นหนังสือให้แก่ พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ/ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ณ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล
ครั้งที่ 2 วันที่ 15 มิถุนายน 2564 : เข้าพบและยื่นหนังสือให้แก่ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ณ กระทรวงสาธารณสุข
ครั้งที่ 3 วันที่ 17 มิถุนายน 2564 : เข้าพบและยื่นหนังสือให้แก่ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน จากพรรคเพื่อไทย และ ยื่นหนังสือถึง นายชวน หลีกภัย ประธานสภา โดย นายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา เป็นตัวแทนรับหนังสือ
และล่าสุด ครั้งที่ 4 วันที่ 29 มิถุนายน 2564 : ยื่นหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษก ประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. เป็นตัวแทนรับหนังสือ
โดยทางสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย ได้มีข้อสรุปและยืนยันในข้อเรียกร้อง
“แนวทางการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง” ทั้งหมดตามรายละเอียดดังนี้
1. ยกเลิกคำสั่งปิดสถานบันเทิงแบบเหมารวม
2. ขอให้มีคำสั่งปลดล็อคเพื่อให้ธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงได้กลับมาเปิดบริการ และสามารถจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้ภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่งของ ศบค. เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค *เสนอและเรียกร้องให้พิจารณาเป็นวันที่ 1 สิงหาคม 2564 และ/หรือกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการอนุญาตให้กลับมาประกอบกิจการและอาชีพได้อีกครั้ง
3. ผ่อนปรนให้สามารถขายแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านค้าได้
4. ผ่อนปรนให้มีการจัดงานมหรสพโดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่งของ ศบค. เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค
5. พิจารณาการจัดสรรฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ และ/หรือ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานประกอบการธุรกิจกลางคืน และธุรกิจบันเทิงโดยเร็วที่สุด
6. พิจารณาให้มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการเยียวยา การพักชำระหนี้ และ/หรือ การกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ ต่อผู้เดือดร้อนตั้งแต่การออกคำสั่งครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563
7. เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน และ/หรือ ประชาชนในกลุ่มภาคธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อน เข้าร่วมรับฟัง, เสนอแนะ, พูดคุย ในกระบวนการการออกมาตราการและนโยบายต่างๆ
8. เปิดช่องทางสื่อสาร เพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนที่เดือดร้อน