เราเคยได้เขียนถึงทิศทางวงการเพลงไทยโดยรวมไปแล้วครั้งนึง มาครั้งนี้เราจะให้ทุกคนได้เห็นภาพชัดขึ้น โดยการวิเคราะห์ “ค่ายเพลง” ที่ศิลปินสังกัดนั่นเอง ถ้าเราคิดว่าวงการดนตรีเป็นวงการฟุตบอล ค่ายเพลงก็เปรียบเป็นสโมสรที่แข่งในลีคนั้นๆ ทุกค่ายต้องมีดาวเด่น ซูเปอร์สตาร์ และพยายามหาดาวรุ่งเข้ามาเสริมทัพอยู่ตลอด จะประสบความสำเร็จขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับระบบการบริหารในค่าย ศิลปินในค่ายก็ต้องสร้างผลงาน หรือมีค่ายย่อยก็ต้องกำหนดทิศทาง การจัดการทั้งเรื่องผลงานและเรื่องส่วนตัวให้กับแต่ละศิลปิน ในปัจจุบัน “สโมสรดนตรี” เหล่านี้มีการพัฒนามากขึ้น ดังนั้นเราจะลองทำการวิเคราะห์ ค่ายเพลง มาดูกันว่าแต่ละค่ายมีการขยับ ปรับทัพ เพื่อรองรับการแข่งขันในฤดูกาล 2021 นี้ยังไงบ้าง
Grammy กาลาติกอสแห่งวงการเพลงไทย
ค่ายเพลงใหญ่ที่สุดของวงการเพลง พันธกิจที่ต้องสร้างซูเปอร์สตาร์ขึ้นมาในทุกยุค ต้องเป็นแชมป์แห่งวงการเพลงให้ได้ ในช่วง 4-5 ปี ก่อนหน้านี้หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าใน Grammy มีการปรับทัพ เสริมทีมงาน และพยายามสร้างซูเปอร์สตาร์ใหม่ๆ ขึ้นมา Grammy เองเจอปัญหาใหญ่อย่างนึงก่อนหน้านี้ก็คือการปั้นดาวรุ่งขึ้นมาทดแทนซีเนียร์ไม่ทัน เลยต้องทำการ “การปรับเปลี่ยนผู้จัดการทีมและผู้ฝึกสอน” การเข้ามาดูแลภาพรวมของ “ภาวิต จิตรกร” และ “ฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม” การดันศิลปินรุ่นใหญ่ให้กลายเป็นผู้บริหาร ได้ผลตอบรับที่ยอดเยี่ยม ทำให้ Grammy ยังคงอยู่ในเส้นทางของการล่าแชมป์ในสายดนตรีอยู่
ดาวเด่น-ดาวรุ่ง : ไฮไลท์อยู่ที่ Gene Lab ของโอม Cocktail 3 ประสานในแดนหน้า Three Man Down, Tilly Birds และไททศมิตร เป็นการเซ็นสัญญาที่ยอดเยี่ยมในขณะที่ The Darkest Romance เองก็ทำให้คนที่ชื่นชอบในดนตรีเฉพาะทางอย่างร็อค เมทัล รู้จัก Gene Lab ไปด้วย ซึ่ง Nadao Music ของ เบล สุพล ที่ใช้กลยุทธเปลี่ยนนักแสดง ควบกับศิลปิน “เล่น 2 ตำแหน่ง” ด้วยเช่นกัน ไอซ์ พาริส, เจเจ, บิวกิ้น ซึ่งผลตอบรับก็ดีทีเดียว
ตัวหลัก : genie records กับตัวหลักอย่าง Bodyslam, Potato, Big Ass, ปาล์มมี่, หนุ่ม กะลา, Labanoon, Klear, Paradox ยังคงทำผลงานได้ตามมาตรฐาน แต่ด้วยอายุของวง ทำให้ต้องปรับหน้าที่เป็น “ผู้เล่นและโค้ช” โดยเฉพาะ Big Ass ที่อ๊อฟ-กบ Big Ass ต้องมีหน้าที่นี้ควบไปด้วย ซึ่งน่าจะมีผลกระทบอยู่บ้างในการทำงานเพลงของตัวเอง ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงของ 25 hours, Retrospect ซี่งมีฐานะ “ผู้เล่นบาดเจ็บ” 25 hours รูดม่านไปเรียบร้อย ส่วน Retrospect ก็ต้องผ่าตัดใหญ่ ยังไม่รู้ว่าจะกลับมาเมื่อไหร่ ส่วน Sweet Mullet, The Mousses, Paper Planes, The Yers, Lomosonic รวมถึงศิลปินใหม่อย่าง Wolf Tone ก็อาจจะจำเป็นต้องเร่งพัฒนาฟอร์มขึ้นมา
White Music ก็อาจจะมีปัญหาเล็กๆ แม้ “เป๊ก ผลิตโชค” ที่ฟอร์มยังดีต่อเนื่อง “อะตอม” ยังรักษามาตรฐานได้ดี รุ่นใหญ่ อย่าง “ป๊อป ปองกูล”, “ลุลา” เริ่มอยู่ในสถานะผู้เล่น-โค้ช ปั้นเด็กยุคใหม่ Jetset‘er ที่ต้องปรับสไตล์นิดหน่อยจากการเปลี่ยนรูปแบบวง แต่ก็เสียกำลังหลักอย่าง โอ๊ต ปราโมทย์ และซิน ที่ออกไปทำเอง ส่วนการปั้นดาวรุ่งก็ยังไม่ตามเป้ามากนัก White Fox ที่เพิ่งเริ่มตั้งไข่แล้วโดนถล่มไปจากจีนี่จ๋า 2021 อาจจะทำให้ต้องเรียกความเชื่อมั่นกันใหม่สักพัก
โดยรวม : ก็ต้องบอกว่าถ้าเรามองในกลุ่มแฟนวัยรุ่น Grammy เองก็เริ่มกลับมาเข้าสู่เส้นทางอีกครั้ง หลังจากหลุดๆ ไปหน่อย ตัวหลัก ซูเปอร์สตาร์ อาจจะอยู่ในช่วงผลัดใบ ในภาพรวม ค่ายเพลงกาลาติกอสค่ายนี้ก็ยังรักษามาตรฐานได้เช่นเดิม
What The Duck จอมปั้นดาวรุ่ง
นี่เป็นหนึ่งในค่ายเพลงที่เขย่าวงการได้อย่างไม่น่าเชื่อ เป็นค่ายเพลงที่เขย่าฐานวัยรุ่นได้อย่างน่าสนใจ จากการใช้เวลาสร้างฐาน ทดลองสิ่งต่างๆ มาสักพัก ก่อนที่จะสามารถสร้างซูเปอร์สตาร์ขึ้นมาประดับวงการดนตรีได้ สิ่งที่โดดเด่นที่สุดก็คือทีมงานแมวมอง โดยเฉพาะ บอล แห่งวง Scrubb ที่มักจะสามารถเฟ้นหา “ศิลปินนอกลีค” และขัดเกลาศักยภาพสู่ศิลปินซุปเปอร์สตาร์ นอกจากนั้นการบริหารของ มอย สามขวัญ ตันสมพงษ์ และออน ชิชญาสุ์ กรรณสูต ในแง่ของงาน “นอกสนาม” ก็ทำได้ดีเยี่ยมมาก
ดาวเด่น-ดาวรุ่ง : ณ ปัจจุบัน What The Duck ทำการตั้งแพล็ตฟอร์มที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นศูนย์บัญชาการในการหาดาวรุ่งอย่าง Milk ที่มีวงหน้าใหม่และบางวงเริ่มแสดงศักยภาพแล้วเช่น Loserpop, Varis, Quicksand Bed รวมถึงก่อนหน้านี้กับศิลปินในสไตล์ดูโอ้ตั้งแต่ Whal & Dolph ไล่มาจนถึง Landokmai, mints และการได้วง Mirrr เข้ามาเสริมทัพ ทำให้ What The Duck ยังคงน่ากลัวเสมอ และพร้อมมีศิลปินสายเลือดใหม่ทดแทนอยู่เรื่อยๆ
ตัวหลัก : การเซ็นสัญญา “เมซซี่แห่งวงการดนตรีไทย” อย่าง The Toys เป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของค่ายทีเดียว ในขณะที่ศิลปินหญิงที่มีความคล้ายๆ กันอย่าง Bowkylion ก็พุ่งแรงขึ้นมาอีกคน กอล์ฟ F.Hero แม้จะเป็นการทำสัญญาระยะสั้นเหมือนการยืมตัว แต่ก็เป็นอิมแพคครั้งใหญ่ สร้างผลงานมาสเตอร์พีซในสนามดนตรีอย่าง Into The New Era ฝากไว้ที่นี่ การเปลี่ยนสไตล์ของ “มอร์ วสุ” กลายเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ WTD ในผู้เล่นคุณภาพเพิ่มเข้ามา ในขณะที่ “เป้ อารักษ์” ยังเดินในแนวทางเฉพาะตัว เช่นเดียวกับ ชาติ สุชาติ, Hers, สิงโต นำโชค และในอีกไม่นานแอบได้ยินมาว่าพวกเขากำลังจะได้ผู้เล่นฝีมือดีบางตำแหน่งเข้ามา ต้องรอติดตาม
โดยรวม : WTD จะยังคงเป็นทีมดนตรีที่น่ากลัวอยู่เสมอ การปั้นดาวรุ่งจากอะคาเดมี่ในแบบของตัวเอง การให้โอกาสผู้เล่นใหม่ๆ ลงสนามดนตรี แล้วยิ่งประกอบกับการหายจากอาการบาดเจ็บ (ติดเกม) กลับมาของ The Toys ความขยันทำเพลงของ Bowkylion ระบบ “New Genre Pressing” ของ WTD ยังคงจะสร้างความตื่นเต้นให้แฟนๆ แน่นอน
LOVEiS Entertainment เจ้าบุญทุ่มแห่งวงการเพลง
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลวงของ LOVEiS Entertainment ก็คือการเปลี่ยนประธานสโมสร จากเจ้าของทีมเดิมอย่าง บอย โกสิยพงษ์ เป็น จี๊บ เทพอาจ กวินอนันต์ ซึ่งมีผลต่อค่ายเพลงนี้ ต้องเรียกว่าเป็นการรีแบรนด์ รื้อระบบครั้งใหญ่ทีเดียว ตั้งแต่การย้าย “สนามเหย้า” ของ LOVEiS จากทองหล่อ มาอยู่ซอยอารีย์ สร้างห้องอัด ห้องซ้อม ห้องไลฟ์ ห้องเอ็นเตอร์เทน เรียกว่าปรับปรุงภายในจนครบเครื่อง การเฟ้นหาศิลปิน จนตอนนี้เรียกว่ากำลังผลิดอกออกผลเช่นกัน การให้โอกาสเปิดค่ายย่อยๆ ต่างๆ ซึ่งต้องบอกว่าตอนนี้กำลังไปได้สวย
ดาวเด่น-ดาวรุ่ง : ดาวรุ่งที่มาแรงสุดๆ อย่าง เฟิร์ส อนุวัฒน์ ที่เพลงของเขาโด่งดังตั้งแต่เพลงแรก และตามติดมาเรื่อยๆ อย่างไม่แผ่ว ไม่พัก เพลงของเฟิร์สติดชาร์ตถล่มทลาย ในขณะที่ล่าสุด LOVEiS ก็ได้เซ็นสัญญากับ ดาวรุ่งบิ๊กเนมอีกคนอย่าง นนท์ ธนนท์ และวงดาวรุ่งอย่าง Slapkiss เข้ามาด้วย นอกจากนั้นยังมีการเปิดค่ายเพลงย่อยให้ศิลปินรับผิดชอบดูแล เช่น Labo กับทีมงาน Welfare6 ที่มีปันปัน ยีย์ยีย์ , Mamakiss, Ben Ma More ที่หาจุดลงตัวอยู่ Lit Entertainment ค่ายไอดอลของ โดม จารุวัฒน์ที่ปล่อยศิลปินออกมาอย่าง PiXXiE รวมถึง Hip Hop อย่างพร้อมบวก ทีมงาน เพลงแบบ LOVEiS Original อย่าง Yolker ที่มีศิลปินอย่าง ว่าน วันว่าน กับคนดนตรีอย่าง บิลลี่ ที่ทำเพลงแบบ Soul ความยิ่งใหญ่ของ LOVEiS ยุคใหม่อาจจะกำลังเริ่มต้นขึ้น
ตัวหลัก : จุดเปลี่ยนสำคัญก็คือวง Mean ที่เป็นการเซ็นสัญญาในยุคเปลี่ยนผ่านและมาท็อปฟอร์มในยุคนี้พอดี ทั้งผลงานของพวกเขาเอง การมีส่วนร่วมในผลงานของ เฟิร์ส, นินิว, เอ๋ยเอ้ย ในนามค่าย marr ในความโชคร้ายที่พบกับความโชคดี การยุติบทบาทของ Room39 ที่ต้องบอกว่าเหมือนสูญเสียสตาร์ แต่กลับเป็นว่างานเพลงของแว่นใหญ่ ที่ร่วมงานกับมน และทีมงาน Holy Fox กลับพุ่งทะลุทะลวงอย่างยอดเยี่ยม การเซ็นสัญญาวงอย่าง Crescendo การได้โน่ ดนัย ธงสินธุศักดิ์ มาเพื่อประคองศิลปิน ผสมกับความเก๋าเกมของรุ่นใหญ่อย่าง ไก่ สุธี แสงเสรีชน และอีกหลายคน นี่เป็นอีกค่ายที่น่าจับตามองมากๆ
โดยรวม : สิ่งที่อาจจะดูเป็นปัญหาหน่อยก็คือภายในค่ายที่ยังมีคน 2 รุ่น จากทีมบอย โกสิยพงษ์ ที่สร้างรากฐานแบบแน่นหนา กับทีมงานยุคใหม่ในยุคจี๊บ เทพอาจ อาจจะต้องมีการเซ็ตระบบกันอีกสักนิด ทั้งผสมผสานและปรับรูปแบบ การบาลานซ์จิตวิญญาณเดิมกับสไตล์ใหม่ๆ คงต้องใช้เวลา แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าลงตัวเมื่อไหร่ ติดปีกแน่นอนๆ
Muzik Move ความลงตัวของระบบทีม
หนึ่งในค่ายเพลงที่ต้องเรียกว่าลงตัวทั้งระบบ ทีมงานเพลง เจ้าของทีม ที่แบ่งหน้าที่กันอย่างลงตัวสุดๆ และใช้เวลาในการเดินทางอย่างมั่นคง ในระยะแรกๆ อาจจะมีความติดขัดอยู่บ้าง แต่พอถึงจุดลงตัว การแบ่งหน้าที่ต่างๆ เราอาจจะต้องบอกว่านี่เป็นค่ายเพลงที่ระบบทีมเป๊ะ ชัดเจนทั้งดาวรุ่ง ดาวเด่น และผู้เล่นมากประสบการณ์ที่ลงตัวมาก
ดาวเด่น-ดาวรุ่ง : ในส่วนนี้คนหลักๆ ที่ต้องชื่นชมเราคงต้องบอกว่าแนวทาง “แท็คติกการทำทีม” ดนตรีของ พล Clash กับ Boxx Music ที่ในที่สุดก็สามารถสร้าง อิ้งค์ วรันธร ให้มีภาพ เสียงชัดเจน ติดลมไปได้ รวมถึงศิลปินใหม่ๆ อย่างเช่น Copter, Serious Bacon, บีน นภสร, One One ศิลปินที่มีฝีมือและชัดเจนในแนวทางอย่าง โอ ปวีร์, ปอย Portrait ที่หลายครั้งก็ทำหน้าที่เป็นทีมงาน คอยประคองน้องๆ ด้วย Boxx Music จึงเป็นค่ายดนตรีที่โดดเด่นและมีสไตล์มากทีเดียว ในขณะที่ช่องทางโปรโมทศิลปินใหม่ๆ ของ Spacebar Music Hub ก็พร้อมตอบรับเสมอ
ตัวหลัก : ในขณะที่รุ่นเก๋าๆ อย่างสายวงดนตรีหัวหอกแห่งยุคร็อคอย่าง Silly Fools, Zeal, แด๊กซ์ Rock Rider, Pause, เอ๊ะ จิรากร, Ghost, Season Five โดยการควบคุมของ ฟองเบียร์ ปฏิเวธ ในชื่อของ Me Records ในขณะที่อีกฝั่งที่เป็นป็อปในชื่อของ Muzik Move Records ที่มีโอ๊ป เพิ่มศักดิ์ พิสิษฐ์สังฆการ คอยดูแลทั้ง เอิ๊ต ภัทรวี, ETC., Indigo, แหนม รณเดช, Aliz เรียกว่าทั้งรุกและรับ ระบบในนอกสนามสมดุลลงตัวมากจริงๆ และล่าสุดกับค่ายเพลงแจ๊ซ Melodic Corner รวมถึงกำลังปั้นค่ายอย่าง Home Run Music ของ ติ๊ก Playground และ Baked Brownie กับ Crazy Moon อีกด้วย
โดยรวม : แม้จะดูไม่หวือวา แต่ความแน่นอน แบบไม่ค่อยมีผิดพลาด ทีมเวิร์คในทุกส่วนเป็นหัวใจหลัก ทำให้ทีมนี้ขับเคลื่อนด้วยความเร็วที่แน่นอน แบบไม่หยุดจริงๆ
Spicy Disc ประคับประคองในช่วงเปลี่ยนถ่าย
Spicy Disc เป็นค่ายเพลงอีกค่ายที่เรียกว่าอยู่มาอย่างยาวนาน มีวงดนตรีที่มีแนวทางเฉพาะตัวเป็นที่นิยม มีคนชื่นชอบในสไตล์อยู่มาก เรื่องของทิศทางการทำเพลง และทีมงานเพลง Spicy Disc ไม่เป็นรองใคร เป็นค่ายเพลงที่มักจะมีเพลงแบบคุณภาพมาให้เราได้ฟังอยู่เสมอๆ แต่ในช่วงที่ผ่านมาพวกเขาก็เกิด “ปัญหาในการทำทีม” อยู่บ้าง เรามาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ดาวเด่น-ดาวรุ่ง : ปัญหาของ Spicy Disc อยู่ที่การปั้นดาวรุ่งมาทดแทน แม้ล่าสุดจะได้ศิลปินอย่าง p n v. เข้ามาเป็นน้องใหม่ ในขณะที่วงดนตรีที่เคยเป็นดาวรุ่งในยุคนึง ตอนนี้กลายเป็นดาวเด่นให้กับค่ายอย่าง The Parkinson, ส้ม มารี กับการแจ้งเกิดอีกครั้งในฐานะศิลปินกับ Spicy Disc และประสบความสำเร็จสูง วง Rooftop กับทิศทางที่เริ่มลงตัวขึ้น ส่วน The Rube ที่ช่วงนี้เหมือนจะมีอาการบาดเจ็บเล็กน้อย เลยไม่มีเพลงใหม่ๆ ในช่วงนี้, เทป ที่รอโอกาส, Nap A Lean ที่รักษามาตรฐานในผลงานในขณะเดียวกันก็เป็นพี่เลี้ยงให้วงอื่นๆ คู่กันไป ล่าสุดคือการเซ็นสัญญากับ ฟาง แห่งเฟย์ฟางแก้ว นี่เป็นผู้เล่นของ Spicy Disc ในช่วงนี้ ยังอยู่ในมาตรฐาน แต่ยังไม่หวือหวา สำหรับดาวเด่นและดาวรุ่ง
ตัวหลัก : ว่าน ธนกฤต กลายเป็นหัวหอก ศูนย์หน้ายืนหนึ่งของ Spicy Disc ไปแล้ว ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ที่ยังคงรักษามาตรฐานระดับสูงไว้ได้ แต่ปัญหาจริงๆ ของ Spicy Disc คือการรูดม่านของวง Mild การเสียกำลังสำคัญไปมีผลต่อ Spicy Disc มากทีเดียว เป้ MVL กับทิศทางใหม่ที่อาจจะต้องใช้เวลาสักระยะ สำหรับ Spicy Disc อาจจะต้องเซ็ตระบบทีมงานต่างๆ ขึ้นมาใหม่อีกสักรอบนึงก่อน
โดยรวม : พื้นฐานเรื่องการทำดนตรีของ Spicy Disc นั้นแน่นอยู่แล้ว เพราะมี ก้อ ณฐพล ศรีจอมขวัญ ที่เป็นผู้จัดการสโมสรคอยดูภาพรวมอยู่ แต่อาจจะต้องให้เวลาทำงานกับทีมงาน ศิลปินใหม่ๆ รวมถึงอาจจะต้องเสริมทัพศิลปินหน้าใหม่มากกว่านี้
Smallroom การเปลี่ยนถ่ายดาวรุ่งอย่างแท้จริง
ค่ายเพลงที่มีแนวทางการทีมเพลง การทำงาน ชัดเจน ในทิศทางของผู้จัดการทีมอมตะอย่าง รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ ที่แนวทางของเขาคือการปั้นผู้เล่นรุ่นใหม่ และไม่ใช้ซูเปอร์สตาร์อยู่แล้ว แต่ในวันที่ศิลปินมีทางเลือกมากขึ้น ทำให้ Smallroom กับศิลปินใหม่ๆ อาจจะต้องใช้เวลาบ่มเพาะชื่อเสียง แนวทางของ Smallroom ที่ปล่อยอิสระ และวัดผลศิลปินตั้งแต่นอกลีค จนยืนหยัดเองได้ มักจะได้ผล แต่ต้องรอเวลาให้ศิลปินเหล่านั้นเติบโตด้วย
ดาวเด่น-ดาวรุ่ง : ดาวรุ่งของ Smallroom ที่น่าสนใจอย่าง Dept ที่เริ่มมีคนติดตามมากขึ้น Daynim ที่มีรูปแบบน่าสนใจ ในขณะที่ อิมเมจ ก็มีผลงานและแฟนบอยที่เหนียวแน่น วง Postbox ยอดฝีมืออีกวงที่รอวันเฉิดฉาย ผู้เล่นหน้าใหม่ของ Smallroom ยังมีสีสันที่สะดุดตาเช่นเดิม
ตัวหลัก : สุดยอดดาวรุ่งในวันที่ผ่านมาที่กลายเป็นรุ่นใหญ่ขึ้นอย่าง Tattoo Colour, Polycat, The Richman Toy, Slur ไอดอลสายเฉพาะทางอย่าง เล็ก Greasy Café และ จีน กษิดิศ วงสุดแสนซ่าส์ทั้งสมเกียรติ และ The Jukk ต้องบอกว่าศิลปินของ Smallroom เติบโตขึ้นมาในเวลาที่ใกล้เคียงกัน เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนถ่ายยุค เราก็เลยเห็นความเปลี่ยนแปลงของค่ายนี้อย่างเด่นชัด
โดยรวม : ก็ต้องบอกว่า Smallroom เองถึงเวลาที่ต้องมีศิลปินใหม่ๆ เข้ามาในสโมสรบ้างแล้ว ถ้าเราจะเปรียบเทียบความสำเร็จกับวงอย่าง Tattoo Colour, Polycat ก็ต้องคงต้องให้เวลากับหน้าใหม่ๆ ของ Smallroom พอสมควรทีเดียว
Tero Music เริ่มสร้างระบบใหม่
ค่ายเพลงอีกค่ายที่ยึดโยงอยู่กับหลายๆ ฝ่าย ผลงานศิลปินในค่าย Tero Music ก็คงต้องบอกว่า “ทรงๆ” ศิลปินเบอร์ใหญ่ของพวกเค้ามีแฟนประจำกันอยู่แล้ว แต่กับวงดนตรีใหม่ๆ ดูเหมือนทางค่ายต้องใช้เวลา และตอนนี้ก็ต้องให้เหล่าดาวเด่นหรือตัวหลักๆ ต้องเริ่มเปลี่ยนสถานะ
ดาวเด่น-ดาวรุ่ง : อันนี้น่ากังวลเล็กน้อย เมื่ออะคาเดมี่ของค่ายอย่าง Macrowave ปั้นศิลปินขึ้นมายังไม่ทัน ประกอบกับหลายๆ วงก็โยกย้ายออกมาทำงานของตัวเอง ทำให้ในจุดนี้ต้องรอดูกันต่อไป ซึ่งทาง Tero Music เองก็มอบหมาย ให้ศิลปินตัวหลักๆ ในค่ายช่วยในเรื่องนี้บ้าง โดยการทำค่ายเพลงที่มีศิลปินอย่างแม่น Bedroom Audio, แก๊ก Slot Machine และ ฟุ้ง Better Weather มาดูแล
ตัวหลัก : ยังโชคดีที่ศิลปินหลักๆ ของที่นี่ยังคงรักษามาตรฐานการทำดนตรีและแฟนเพลงค่อนข้างเหนียวแน่นอย่าง Slot Machine, Bedroom Audio, โต๋ ศักดิ์สิทธิ์ ที่มีแฟนประจำกันในขณะที่ตัวหลักรุ่นใหม่ 2 คู่หู Fellow Fellow และ 1 หนุ่ม 1 สาว Chilling Sunday ที่พัฒนาชัดเจนขึ้น หรือวงอย่าง Electric Neon Lamp ก็ตาม แต่ก็ต้องเสีย Scrubb ที่ย้ายทีมออกไป สำหรับ Tero Music อาจจะต้องหาแนวทางใหม่ๆ อีกสักระยะ
โดยรวม : คงต้องพูดว่า อาจจะต้องใช้เวลาเซ็ตระบบของทั้งตัวศิลปินและทีมงานพอสมควร ก็ต้องดูว่า Tero Music จะวางแนวทางยังไงในอนาคตอันใกล้นี้
Warner Music ยกเครื่องดาวรุ่ง
เป็นอีกค่ายนึงที่น่าสนใจมาก แน่นอน Warner Music เป็นชื่อแบรนด์ใหญ่สำหรับดนตรีโลกอยู่แล้ว แต่กับเพลงไทยสายวัยรุ่น จนถึงตอนนี้ต้องบอกว่า Warner ยังเจาะตลาดวัยรุ่นไทยไม่ค่อยเข้าเป้านัก ที่ผ่านมาในส่วนของเพลงไทยวัยรุ่นทาง Warner Music ต้องเจอปัญหา ปวดหัวพอสมควร
ดาวเด่น-ดาวรุ่ง : ปัญหาหลักก็คือผู้เล่นใหม่ไม่ต่อสัญญา ในตอนที่ Wayfer Records ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นอะคาเดมี่ดาวรุ่ง เพลงไทยของค่ายที่นำโดย โน่ ดนัย ในฐานะ “ผู้จัดการทีม” ในยุคนั้นมีศิลปินมากมายตบเท้าเข้ามาเป็นดาวรุ่งที่มีความน่าสนใจมากๆ แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ภาพที่เราได้เห็นก็คือการปล่อย Wonderframe การลาออกของตัวโน่ ดนัยเอง ซึ่งน่าจะมีผลกับศิลปินในค่ายนี้แน่ๆ เพราะทั้ง Annalynn และ Bomb At Track ก็ออกมาลุยงานกันเอง แต่ถึงอย่างไรก็ดี Warner ก็เริ่มมี D.U.M.B. Recordings กับแพทริค อนันดา และศิลปินใหม่ๆ อย่าง Tarsinj, Niio ก็คงต้องพูดว่าอาจจะต้องมาตั้งลำกันใหม่หนักหน่อย รวมถึง “ปอนด์ กฤษฎา วดีศิริศักดิ์” ที่เข้าแทน “โน่ ดนัย” ก็ต้องดูกันว่าในปีนี้จะเป็นอย่างไร
ตัวหลัก : เราไม่ขอนับคาราบาว กับ ปู พงษ์สิทธิ์ เพราะน่าจะอยู่นอกเหนือตรงนี้ไปแล้ว ตัวหลักของ Warner ดูจะค่อนข้างเฉพาะทางมากๆ อย่าง D Gerrard, Telex Telexs, แปม อัญญ์ชิสา แม้จะเป็นที่รู้จัก แต่ค่อนข้างจะเป็นในแนวทางก็ยังมีความเฉพาะทางอยู่ อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักพักใหญ่ๆ ในการเซ็ตระบบ และหาคนมาช่วยประสานในจุดนี้ ที่สำคัญอีกจุดก็คือการรักษาศิลปินในค่ายนั่นเอง
โดยรวม : Warner Music สำหรับวงการเพลงไทย ในตลาดวัยรุ่น อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะใหญ่ๆ ที่จะตั้งตัวได้ อย่างไรก็ตาม Warner Music ก็เป็นค่ายที่เน้นแนวทางอินเตอร์ และถ้าหากเจาะฐานในไทยได้ ยังไงชื่อนี้ก็เป็นแบรนด์ระดับโลกอยู่ดี อาจจะก้าวไกล แล้วบินยาวๆ ได้เลย