เวลาเราไปดูคอนเสิร์ตส่วนใหญ่สิ่งที่เราต้องการคงหนีไม่พ้นความสนุกการได้มีประสบการณ์ร่วมกับศิลปินที่เรารักไม่ว่าจะเป็นงานเล็กใหญ่ขนาดไหน ทุกคนต้องการดู “โชว์ที่ดี” แต่องค์ประกอบของโชว์ที่ดีไม่ใช่แค่คนสนุก หรือศิลปินเล่นดี องค์ประกอบมากมายทั้งแสง สี เสียง หรือไล่ไปตั้งแต่การหาพื้นที่ในการสร้างเวที ทุกอย่างการประสานงานให้ราบรื่นกับในทุกส่วนไม่ใช่งานง่ายๆ “ป็อป ศักดิ์สกุล แก้วมาตย์” (ผู้อำนวยการฝ่าย-ควบคุมการผลิต Showbiz) นี่คือชื่อของคนที่ทำงานในธุรกิจ Showbiz มาอย่างโชกโชนทั้งคอนเสิร์ตใหญ่เทศกาลดนตรีต่างๆ ถ้าไม่เค้าคนนี้ เราอาจจะไม่ได้ดูงานเจ๋งๆ มากมายก็ได้ นี่คือบุคลากรที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในอุตสาหกรรมเพลงไทย เรามาทำความรู้จักเขากันดีกว่า
พี่ป็อปในวัยเรียน
ป็อป : ก็ต้องเริ่มจากช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ป็อปเรียนนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ ก็ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับพวกสื่อ นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์นู่นนี่นั่น แล้วเราก็ต้องไปฝึกงาน ซึ่งที่ฝึกงานครั้งแรกก็ไปฝึกที่เทศบาลสาธารณสุข ราชบุรี (ยิ้ม) พอปี 2 เข้ากรุงเทพฯ ก็มาฝึกที่ทีวีพูล ก็เริ่มได้สัมภาษณ์ดาราเขียนคอลัมน์ ปี 3 ฝึกงานที่ Thai Sky นานมากกกก แต่ตอนนั้นเป็นเคเบิ้ลที่ใหญ่มากนะ (หัวเราะ) คราวนี้เราก็ฝึกมาหมดแล้ว พอปี 4 เราก็ยังไม่รู้นะว่าอยากทำอะไร แต่เพื่อนชวนไปทำที่ Bakery Music ก็เลยได้ไปฝึกงานกับพี่กรอบแก้ว ปันยารชุน ก็เลยได้เข้าวงการเพลง คือตอนที่ยังไม่ได้เข้าวงการเราก็ชอบฟังเพลง เราเป็นคนต่างจังหวัด พวกเพลงสากลเราก็จะไม่ได้ฟัง พ่อก็จะฟังเพื่อชีวิตอะไรแบบนี้ Bakery นี่ไม่รู้จักเลย เพิ่งมาฟังตอนปี 2 เราก็ชอบฟังเพลงแบบคนทั่วไปแหละ ก็ไม่คิดนะว่าจะได้มาอยู่ในวงการดนตรีเพราะเอาจริงๆ ก็ค่อนข้างไกลตัวเราเหมือนกัน
ตอนนั้นเป็นยุคไหนของ Bakery ครับ
ป็อป : ช่วงต้นๆ เลย ตอนนั้นมี Sepia จำได้เลยว่าหน้าปกเป็นคาร่า พลสิทธิ์ ถือไข่สองใบ (หัวเราะ) แล้วก็จะมี Pause, โยคีเพลย์บอย, โจอี้ บอย ช่วงแรกๆ เลย จริงๆ ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ตัวนะว่าตัวเองชอบอะไร มันก็ชอบหมดที่ฝึกงานมา พอตอนมาอยู่ Bakery เราทำงานในฐานะ AR พาศิลปินไปโชว์ มันมีจุดนึงที่เรารู้สึกไม่มั่นใจ คือไม่ค่อยชอบเสียงตัวเอง ก็จะไม่ชอบการสัมภาษณ์แต่การเป็น AR มันไม่ต้องใช้เสียง ก็เริ่มสนุก งานแรกๆ ก็พาวงแบบโยคี เพลย์บอย, Pause ไปเล่นนี่แหละ ที่ประทับใจมากๆ ก็จะตอนที่พา Pause, Silly Fools, Wizard, Audy ไปทัวร์ต่างจังหวัด นั่งรถบัสกันไปหมด มันตื่นเต้นนะสนุกดี เราก็ดูพวกข้าวปลาอาหาร ตอนนั้นจำได้ว่าโดนด่าร้องไห้ เพราะมีศิลปินไปฟ้องคนดูแลว่าได้กินแต่กะเพราะหมูสับ ซึ่งเราเองยังเบื่อเลย กินแต่กะเพราหมูสับ ไม่ได้เป็นคนซื้อด้วย แต่ก็โดนด่า ร้องไห้เลย เพราะตอนนั้นยังเด็กมาก แต่ถ้ามาตอนนี้คงด่ากลับไป “อยากกินอะไรซื้อเองสิวะ” (หัวเราะ) ตอนนั้นเซ็งมาก ใครแอบไปฟ้องก็ไม่รู้ …แสบจริงๆ (หัวเราะ)
ความรู้สึกตอนที่ได้ทำงานกับศิลปินใหม่
ป็อป : ตื่นเต้นมาก แต่โชคดีที่ตอน Bakery ยังไม่ได้ใหญ่มากศิลปินก็จะมาแฮงค์เอาท์กันที่ค่ายจนสนิทกัน โอเคก็จะมีอย่างพี่บอย, พี่โอ๋ Sepia, พี่ป๊อด จะเกร็งๆ หน่อย แต่อย่าง Pause พวกนี้จะคุยง่ายเพราะเป็นรุ่นเดียวกัน พี่โป้ก็จะคุยง่ายไม่เกร็ง คราวนี้พอเราอยู่ที่นี่มา 5 ปี ก็เจอปัญหาเศรษฐกิจ ฟองสบู่แตก ก็ต้องลดคน ตอนนั้น เราทำงานดูและสื่อทีวี วิทยุ ก็เลยรู้จักคนเยอะ คราวนี้ เอไทม์ก็สนใจ เพราะเขาเห็นเราว่าทำงานตรงนี้น่าจะเข้ากับศิลปินง่าย เลยได้มาทำงานที่เอไทม์ ได้ทำเกี่ยวกับกิจกรรมของคลื่น คราวนี้พอพี่ฉอด (สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา) มาทำ Green Concert พี่ฉอดเห็นเราทำพวก Activity ได้ เลยดึงมาทำในส่วนของ Showbiz เบอร์แรกที่ทำก็เจอวง “ไมโคร” เลย พอทำไมโครแล้วสำเร็จ ก็มาเรื่อยๆ Big Body, Dare To Dance (ใหม่ คริสติน่า โดม เจ), ไล่มาเรื่อยๆ
ทำงานแรกก็เจอพี่ๆ ไมโคร ซึ่งถือว่ารุ่นใหญ่มาก
ป็อป : โชคดีที่ในด้านดูแลศิลปิน พี่ฉอดจะเป็นคนดู เราจะมาอยู่ในส่วนโปรดิวซ์ทำซีนต่างๆ มากกว่า เลยไม่ค่อยได้ทำงานกับพวกพี่ๆ มากนัก แต่ก็มีอย่าง ป็อปคิดจะขายพวก Merchandise จะทำเสื้อก็ไปปรึกษาพี่หนุ่ย พึ่หนุ่ยก็บอกว่าต้องเป็นของ Levi’s เท่านั้น เราก็ต้องติดต่อไปขอเสื้อมาปักชื่อวง รัน Serial Number แต่ก็แฮปปี้นะ สนุก สิ่งที่ประทับใจอย่างนึง เราได้เห็นความตั้งใจเวลาซ้อมดนตรีของพี่ๆ มาก ถึงมากที่สุด พี่ๆ จะบอกว่าเขาไม่อยากโกหกคนดูการเล่นให้ออกมาดีที่สุด คือเรื่องที่ดีที่สุดที่พวกเขาทำได้ บางเพลงก็ซ้อมกัน 3-4 ชั่วโมงก็มี
ทำงานกับศิลปินค่อนข้างหลากหลาย ความยากง่ายต่างกันยังไงครับ
ป็อป : มันแล้วแต่งานนะ อย่างถ้าเป็นศิลปินที่ดูและเรื่องเพลงเองได้ก็จะไม่ยาก อย่างไมโคร, Big Body เราก็จะไม่ยุ่งเรื่องเพลง การเรียงเพลงเลย เราก็ทำโปรดักชั่นด้านอื่นไป แล้วค่อยเอามาดูกันว่าเข้ากันหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นโชว์ที่เป็นดารา เป็นไอดอลหน่อย เราก็ต้องคิดเรื่องเพลง เรื่องโชว์ให้เขาเป็นพาร์ทๆ ทั้งหมด แต่ก็ให้เขามีส่วนร่วมด้วยนะ ก็จะเป็นลักษณะการทำงานแบบนี้
การทำงานเกี่ยวกับโชว์แบบนี้ มีคนที่เกี่ยวข้องหลายส่วนและค่อนข้าง “ติสต์” รับมือตรงนี้ยังไง
ป็อป : บอกตรงๆ ว่าช่วงแรกเราเองก็เอาไม่อยู่ รับมือไม่ได้ พูดเลย!! ช่วงที่เรามาทำ Showbiz แรกๆ เราถือว่ามาเริ่มใหม่ ซึ่งก็จะมีคนที่ทำงานตรงนี้ก่อนหน้าเรา เวลาเราเสนอไอเดีย เขาก็จะไม่เอา เราก็ต้องแก้ปัญหาโดยก็ต้องพรีเซนต์พี่ฉอดในภาพรวม แล้วให้พี่ฉอดตัดสินใจว่าอยากได้แบบไหน พอระยะหลังพอพี่ฉอดไว้ใจเรามากขึ้น เราก็ได้ทำงานด้านครีเอทีฟ เรารู้หน้าที่ที่เราต้องทำแล้ว ก็เหมือนมีดาบเราก็ต้องฟาดฟันบ้าง ซึ่งจะไม่ฟาดก็ไม่ได้ เพราะมันก็เหมือนเราไม่รับผิดชอบงาน มันก็คือการมาโยนไอเดียกัน แล้วเอาสิ่งที่ดีที่สุดไปทำ คือเมื่อก่อนเรายอมนะ แต่ตอนนี้มันไม่ได้ เพราะมันต้องเอาสิ่งที่ดีที่สุดจริงๆ ในแต่ละงาน เราให้คนเก่งแต่ละด้านเสนอสิ่งที่ดีที่สุดมาแล้วมาเลือกกัน คนดูก็จะได้ดูโชว์ที่ดีที่สุด
อุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ที่จำฝังใจ
ป็อป : (หัวเราะ) ตั้งแต่ทำมา เรากล้าพูดว่าไม่มีคอนเสิร์ตไหนที่สมบูรณ์ มันต้องมีปัญหาให้แก้ตลอด มันมีสิ่งทั้งสิ่งที่เราคุมได้และไม่ได้ ที่เราคุมไม่ได้ก็พวกฟ้าฝนอันนี้คุมไม่ได้แน่นอน แต่ไอ้ที่คุมได้ ซ้อมแล้วซ้อมอีก แล้วผิดเนี่ยมันเจ็บ!! (หัวเราะ) มีงานนึงที่เราเจ็บมากคาใจจนวันนี้ คือตอนคอนเสิร์ต Potato Live มันมีซีนนึงที่คิดขึ้นมา ถ้าจำได้โปสเตอร์มันจะเป็นควันๆ เราอยากให้ปั๊ปเดือดๆ งานนี้ต้องทำให้คนรู้สึกว่าปั๊ปเป็นผู้นำ เราก็วางซีนเลยให้ปั๊ปออกมา แล้วก็จะมีควัน มีพลังพวยพุ่ง แล้วเราก็จะยิงโปรเจกเตอร์ออกมา แก้ VTR ซ้อมคิวอย่างดี ซ้อมแล้วซ้อมอีก วันจริงโปรเจกเตอร์พัง!! แล้วพอมันไม่มีโปรเจกเตอร์มันก็จะเหมือนมีผ้าอะไรไม่รู้มากั้นตรงนั้น แล้วเวลาโปรเจกเตอร์ สแตนด์บายมันจะเป็นช่องสี่เหลี่ยมขึ้นมา ซึ่งมันจะตลกมาก คือเราสติหลุดไป 3 เพลงเลย เสียใจมาก ซ้อมมาอย่างดี ซึ่งมันติดในใจเราเลยว่าโปรเกคเตอร์ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ค่อยอยากใช้ หรือมีอีกอันนึงเป็นคอนเสิร์ตพี่ใหม่ เจริญปุระ เป็นการกลับมาของพี่ใหม่ แล้วก็เป็นการกลับมาของ Green Concert เราก็คิดซีนแบบทุบกระจก ก็สั่งกระจกที่เป็นแบบที่ใช้เป็นเอฟเฟ็กต์ถ่ายหนัง เวลาแตกมันจะร่วงลงมาไม่อันตราย ก็สั่งมา บานละแสนหรือสองแสนนี่ล่ะ สั่งมา 2 บาน ก็ซ้อมกันอย่างดี เพราะทางร้านเขาให้มาทดลองบานนึง ซ้อมก็แตกดี แต่พอถึงวันจริง กระจกแตกบานเดียว อีกบานไม่แตก!! (หัวเราะ) มันก็อยู่ตรงนั้นน่ะ ทำอะไรไม่ได้ ก็จะมีอยู่ 2 งานนี้แหละที่ฝังใจเลย (ยิ้ม)
พอเจอปัญหามีวิธีแก้ไขยังไงครับ
ป็อป : คือถ้าไม่ใช่ซีนเปิด เป็นระหว่างโชว์ก็จะปล่อยเลย เพราะมันเป็นแสดงสด เอาจริงๆ ศิลปินเองก็อาจต้องช่วยเราเหมือนกัน อย่างตอนที่เราทำ “นิว จิ๋ว อ๊อฟ ปองศักดิ์” ตอนเปิด Data เสียงมันซ้อน ซึ่งเราก็คิดว่าฉิบหายแล้วเสียงซ้อน นักร้องจะทำยังไงมันไม่มีทางร้องได้เลย อ๊อฟสั่งเบรกร้องใหม่ คือคนดูรู้นะว่าผิดพลาดแต่ก็กลายเป็นตลกไปเลย เนี่ยแบบนี้คือนักร้องช่วยเรา แต่ถ้าชั่วโมงบินไม่สูงบางทีก็ต้องปล่อยเลย คือหลังๆ จากที่ได้ประสบการณ์แล้วบางงานเราสั่งเบรก แล้วมาตั้งสติก่อนแล้วเริ่มใหม่ดีกว่า ถ้าเป็นซีนเปิดเพราะปล่อยแล้วมันออกมาไม่ดีแน่นอน แต่ถ้าเป็นซีนไม่สำคัญก็จะปล่อยเลย ไม่งั้นคนดูอาจจะงงได้
การทำงานกับซูเปอร์สตาร์
ป็อป : มีนะ อย่างพี่เบิร์ด ธงไชย หรือพี่ๆ หลายๆ คน พี่ตู่ นันทิดา, พี่ใหม่, พี่คริสติน่า ซึ่งทำให้เราได้เห็นว่ายิ่งเป็นศิลปินรุ่นเก่าเขามีวินัยมากๆ อย่าง พี่ติ๊นา ก่อนคอนเสิร์ตแกจะเป็นยังไงไม่รู้ แต่พอจะมีคอนเสิร์ตเราให้แกลดน้ำหนัก แกลดแบบสั่งได้เลย หรืออย่างช่วงปีหลังๆ ที่ได้ทำงานกับพี่เบิร์ด เราก็ได้เห็นว่าพี่เบิร์ดซ้อมหนักขนาดไหน มีวินัยมาก อย่างเวลาแกซ้อมเพลง แกจะเปิดเพลงไปด้วยแล้วเดินบนสายพานลู่วิ่ง สมมติเป็นเพลงเร็ว แกก็จะวิ่ง เพลงช้าก็เดินเพื่อให้ร่างกายชิน เราก็เห็นอะไรแบบนี้ก็รู้สึกว่าน่าประทับใจ หรือศิลปินใหม่ๆ อย่าง getsunova, อะตอมก็ดีนะ ตอนคอนเสิร์ตใหญ่เขา เนมตั้งใจมาก วงซ้อมรันทรูสคริปต์เป็นชั่วโมงๆ หลายๆ รอบ เป็นวันเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี
G Junior งานที่ดูจะไกลตัว เพราะเป็นการทำศิลปิน ค่ายเพลง
ป็อป : มันเป็นช่วงที่เราออกจากเอไทม์แล้วกลับมาแกรมมี่รอบที่ 2 ตอนนั้น เคเบิ้ลทีวีมันมา แล้วแกรมมี่ก็ทำเคเบิ้ลเลยต้องการคอนเทนต์ ก็เลยคิดโปรเจ็กต์นี้ขึ้นมา คือเราเคยมี G Junior รุ่นแรกเป็น “กอล์ฟ ไมค์” อะไรแบบนี้แล้วก็หายไป ประกอบกับเขาอยากได้ทั้งคอนเทนต์และศิลปินใหม่ ก็เลยได้มาทำตรงนี้ ตอนแรกมาในฐานะคอมเมนเตเตอร์ แต่พอได้เด็กๆ มา แล้วไม่มีใครทำต่อ เราก็เลยได้รับมอบหมายให้ทำตรงนี้ไปเลย เป็นค่ายเพลงเลย ซึ่งถามว่าเราอยากทำมั้ย เราก็อยากทำนะ แต่ปัญหามันเยอะมาก การทำงานกับวัยรุ่นที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด กระแสอินเตอร์เน็ตที่เข้ามา หรือน้องๆ บางคนก็อาจจะรอไม่ไหว ก็ออกไปทำอย่างอื่น อย่าง ซีดี กันต์ธีร์, หรือนุ่น ภานิศา ก็ไปอยู่กับ Gaia ไปอยู่เวิร์คพอยท์ ซึ่งอันนี้เราใม่ได้ว่ากันนะ เพราะแต่ละคนก็สามารถทำได้ พอเราทำไปแล้วรู้สึกว่า มันค่อนข้างยากจริงๆ ประกอบกับตอนนั้นทางแกรมมี่ก็มีค่ายเล็กค่ายน้อยเพิ่มขึ้นอีกเยอะ มีการเปลี่ยนระบบภายใน เราก็เลยมาจับงานทาง Showbiz เต็มตัวดีกว่า ก็เลยได้มาอยู่ที่ Idea Fact ตอนแรกที่มาอยู่จะมีน้องคนนึงที่เขาอยู่ก่อนเราอยู่แล้ว คราวนี้พอเขาย้ายเปลี่ยนไปทำงานด้านอื่น เราก็เลยมารับผิดชอบตรงนี้แทน
Idea Fact ก็จะรับผิดชอบงานด้านคอนเสิร์ต เทศกาลดนตรีต่างๆ มากมาย หนึ่งในงานที่น่าสนใจคือนั่งเล่น Music Festival
ป็อป : นั่งเล่น เนี่ยต้องเท้าความก่อนว่าเกิดจากตอนที่พี่เต็ด ยุทธนา บุญอ้อม ทำกับทีมเกเร เริ่มจากงาน “Bodyslam นั่งเล่น” ก่อน จริงๆ ตอนนั้น นั่งเล่นมีแผนจะทำเป็นรายการทีวีชื่อเดียวกัน ก็คือมีไอเดียว่าจะทำทั้ง Festival และรายการทีวี ให้ศิลปินมา Cover เพลงชิลๆ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ทำรายการทีวี คราวนี้นั่งเล่นครั้งแรกจัดที่ สวนผึ้ง ราชบุรี ครั้งที่ 2 ก็เป็นที่เขาใหญ่ พอจบครั้งที่ 2 พี่เต็ดก็ลาออกจากแกรมมี่ไป พอถึงครั้งที่ 3 ทาง Idea Fact ก็เลยต้องรับหน้าที่มาทำ คือพอเรามาวิเคราะห์จาก 2 ครั้งแรก เราก็เลยรู้สึกอยากจะปรับเปลี่ยนโดยนำความเป็น Art นำสิ่งจุกจิกต่างๆ ให้มันเป็น Festival ที่มันไม่ใช่แค่ดนตรี ให้มีมุมเก๋ๆ ถ่ายรูป ชิลๆ พอเราไปลองดูข้อมูลปรากฏว่าคนมางานแบบนี้ไม่ได้มาดูแค่ดนตรีอย่างเดียว บางคนมาแฮงค์เอาท์ มารับบรรยากาศไปกับเพื่อน ถ่ายรูป เช็คอิน แชร์ พอปีที่ 3 เรื่องแชร์อะไรแบบนี้มันเยอะขึ้นเราก็เลยจับเทรนด์ตรงนี้ว่างั้นเราให้คนมาทั้งได้ดูดนตรี ได้ถ่ายรูป ได้แชร์ออกไป เลยเอางาน Art แบบอื่นๆ เข้ามา ซึ่งมันประสบความสำเร็จ เราเลยเปลี่ยนรูปแบบใหม่ ปีที่ 4 ก็มีพวกซีนศิลปิน ดีไซน์ อย่างเสลดทอย, Ano เนะ, กะปิ มาร่วมงาน พอปีถัดมา เราก็เริ่มทำเอง ใช้เป็นธีมมีบอลลูนลอยฟ้า ที่ใช้ถ่ายรูปได้ คราวนี้งานนั่งเล่น ก็กลายเป็นอะไรที่มากกว่า Music Festival กลายเป็นห้องนั่งเล่น ที่เราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในแต่ละปี เราก็เหมือนเปลี่ยนการตกแต่งห้องนั่งเล่นในแต่ละปี เพราะฉะนั้นเวลาที่คนมาดูก็จะเจออะไรที่เปลี่ยนไปในแต่ละครั้ง
“นั่งเล่น” มีแนวทางในการเลือกศิลปินมาโชว์ยังไง
ป็อป : ก็อย่างแรกคงต้องเป็นศิลปินที่ฮิต เพราะคนไปงานนั่งเล่นเป็น Music Lover ก็คงต้องการฟังเพลงฮิตแน่ๆ ทุกๆ ปี เราต้องหาข้อมูลศิลปินว่าคนดูอยากดูใคร แล้วก็มาดูว่าศิลปินคนนั้นเหมาะกับธีมของเราหรือเปล่า คือถ้าสังเกตจะเห็นว่าศิลปินเราจะไม่ได้เน้นไปทางป็อปหรือว่าร็อค จะเป็นทางวาไรตี้มากกว่า เราจะเห็นอย่าง 4 โพธิ์ดำ, แสตมป์, โปเตโต้, ปาล์มมี่ จะเป็นสไตล์แบบนี้โดยส่วนใหญ่ คือนั่งเล่นจะเป็นวาไรตี้ แต่เราก็จะจัดกรุ๊ปปิ้งของคน ของความสนุกเป็นช่วงๆ
กลุ่มแฟนๆ คอนเสิร์ตนั่งเล่น เป็นกลุ่มไหน
ป็อป : เป็นกลุ่มคนทำงาน เป็น First Jobber ส่วนใหญ่เป็นคนจากกรุงเทพฯ ไป แต่ก็มีคนพื้นที่แล้วก็จังหวัดใกล้เคียงด้วย
อุปสรรคเมื่อจัดเฟสติวัลต่างจังหวัด
ป็อป : ต้องบอกแบบนี้ บ้านเราไม่ได้มีพื้นที่จัดคอนเสิร์ต Festival ที่เยอะและดี จะไม่เหมือนต่างประเทศที่เขาจะมีสวน มีอะไรที่ปล่อยให้คนมาจัดงานได้ เพราะฉะนั้นวิธีการหาพื้นที่ในงานนั่งเล่นของเรา เราจะมีพื้นที่หลักอยู่หนึ่งที่ ส่วนที่เหลือเราจะเช่าชาวบ้านที่เขาเพาะปลูก เอามาทำเป็นพื้นที่ อย่างเอามาทำเป็นที่จอดรถ เพราะงานเราต้องมีที่จอดรถอย่างต่ำ 4-5 พันคัน ก็ต้องใช้พื้นที่หลายสิบไร่มาก มันก็จะเป็นปัญหานึง เพราะบางทีเราไปได้ที่ที่เขาเพิ่งเพาะปลูกเสร็จ มันก็จะมีฝุ่น ควัน ที่ยังไม่ได้บดถม ซึ่งเราก็จะโดนต่อว่าทุกครั้งว่าเจอฝุ่นเยอะ เราก็จะพยายามทำตรงนี้ให้ดีที่สุด แล้วพวกห้องน้ำ หรือจราจร เราต้องวางแผนตลอด พวกนี้เราก็พัฒนาขึ้นทุกปี คือเราพยายามพัฒนาคอนเซ็ปต์เรื่องความสบาย เราก็ต้องพยายามให้คนดูเหมือนมาอยู่ในห้องนั่งเล่นจริงๆ เราก็ต้องตอบโจทย์ด้านความสบายให้เขามากที่สุด ทั้งที่จอดรถ ห้องน้ำคำนวณเลยว่า 1 ตู้ต่อกี่คนถึงจะโอเคที่สุด เราดูเลยว่าคนซื้อบัตรกี่ใบเราก็คำนวณเลยว่าต้องใช้ห้องน้ำกี่ตู้ ทางเข้าเราทำเหมือน Big Mountain คือ 20 เลน Big Mountain คนดูหกเจ็ดหมื่น เรามีหมื่นกว่าแต่เราทำทางเข้าให้ใหญ่เท่ากับเขา เพื่อให้คนออกงาน เข้างานเร็วที่สุด เป็นความสบายขั้นแรกของคนดู เราก็อยากให้คนนั่งเล่นมาแล้วได้ประสบการณ์ที่ดีจากงานเรา
กับงานนั่งเล่น Music Festival ที่กำลังจะเกิดขึ้น
ป็อป : เราจะจัดที่ไร่ทองสมบูรณ์ โคราช ซึ่งสวยมาก ถ้าเราอยู่จุด Center ของงานเราจะมองเห็นภูเขาสวยๆ เลย แล้วเชื่อว่าปีนี้หนาวแน่นอน เพราะขนาดเราไปเซอร์เวย์ขนาดแดดออก ยังมีลมเย็นๆ เพราะมันเป็นช่องลมพอดี แล้วที่ตรงนี้มันจะเป็น Slope ก็จะเป็นแบบ Panorama View จะเป็นแบบ Amphitheater มองไล่ลงไปข้างล่างได้ พื้นที่จะเป็นแนวตรง ไม่มีอะไรมากั้น เหมือนดูในฮอลล์คอนเสิร์ต ก็ค่อนข้างสวย คอนเซ็ปต์ปีนี้คือ Concert In The Jungle เพราะฉะนั้นเวทีเราจะกว้าง 70 เมตร จอ Panorama คนดูจะได้ซึมซับบรรยากาศแบบสุดๆ และถ้าอากาศหนาวนะ…สุดยอด (ยิ้ม)
ไลน์อัพศิลปินในงาน จะมีใครบ้างครับ
ป็อป : ปีนี้เราได้ศิลปินไลน์อัพดีมาก โปเตโต้, ปาล์มมี่, เดอะ ทอยส์, หนุ่ม กะลา, ทรีแมนดาวน์, ทิลลี่ เบิร์ดส์, นนท์ ธนนท์, มิว ศุภศิษฏ์, ป๊อบ+ว่าน, โบกี้ไลอ้อน และคล็อกเวิร์ค โมชั่นเลส คือมันมีความวาไรตี้มากๆ ก็จะมีทั้งวาไรตี้กับเพลงเพราะผสมกัน ส่วนกิจกรรมในงานก็มีบอลลูนชมวิวเหมือนเดิม มีขึ้นชิงช้าสวรรค์ และปีนี้ก็มีอะไรจุ๊กจิ๊กเหมือนเดิม ให้คนมาดูได้ถ่าย ได้แชร์กัน เราก็อยากให้คนดูมีความสุข เพราะมันต้นปีด้วยเราก็อยากให้คนดูเบิกบาน ซึ่งการแชร์ประสบการณ์ดีๆ เป็นเอกลักษณ์ของงานเราไปแล้ว
จัดคอนเสิร์ตมาทุกรูปแบบ มีความยากง่ายต่างกันยังไงครับ
ป็อป : มันมีทุกคาแร็กเตอร์เลย จริงๆ ไม่มีสูตรตายตัว แต่ที่เป็นคาแร็กเตอร์ของ Festival ศิลปินจะเหนื่อยมาก คนดูเดินเข้าออกได้ตลอดเวลา ศิลปินก็จะเสียเซลฟ์ได้ง่าย มันมีผล เพราะฉะนั้นศิลปินต้องทำการบ้านหนักมากว่า 1 ชั่วโมงที่เขาเล่นเขาจะเอาคนดูให้อยู่ได้ยังไง แล้ว Festival มันใช้เวลาเยอะ คนดูจะมีความเนือย เพราะฉะนั้นเบอร์หลังๆ ก็จะเหนื่อยมากขึ้นเพราะคนดูจะไม่ไหว แล้วก็จะมีศิลปินบางคนที่ไม่เล่นเที่ยงคืนก็มี แต่สรุปก็คือ Festival จะเป็นเรื่องของบรรยากาศ การแฮงค์เอาท์กับเพื่อน นอนดูก็ได้ อย่างนั่งเล่น Music Festival เราจะแย่งเป็น 3 โซน คือนั่งพื้นเอาเสื่อมาปู นั่งเก้าอี้ แล้วก็โซนนอนซึ่งมีเมื่อปีที่แล้วก็นอนแล้วดูจอเลยก็ได้ฟิลอีกแบบ ส่วนงานในฮอลล์คอนเสิร์ตก็เหนื่อยอีกแบบ งานในฮอลล์เฉลี่ยก็จะมีเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง คนดูเขาจะตั้งใจมาดู มันก็เหมือนจะโดนจับผิดกลายๆ ว่าจะร้องดีไหม เต้นเป๊ะไหม ก็จะอีกแบบนึง
รูปแบบคอนเสิร์ตในฝัน
ป็อป : อยากจัดคอนเสิร์ตที่ให้มีต่างชาติมาดู เราเคยได้มีโอกาสไปคุยกับเจ้าของคอนเสิร์ต Tomorrow Land เขามีไอเดียที่ดี เขามีทั้ง Passion แล้วก็คิดถึงเรื่อง Economy System ด้วย คืองานนี้จัดที่เมืองบูม ที่อยู่นอกเมืองของเบลเยี่ยม ปีแรกคนดูมีอยู่แค่หลักพัน ซึ่งก็ไม่ได้สำเร็จอะไรมาก แต่พอเริ่มดังไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่ามันสามารถทำให้เศรษฐกิจของเบลเยี่ยมดีขึ้นได้ด้วย คนทั่วโลกบินมา มีสายการบิน ที่พัก อาหาร กลายเป็นโปรโมทประเทศไปในตัว เราก็ฝันอยากจะทำ Festival ที่คนต่างชาติ มาสนุกกับเรา มันยังไม่มี Festival ขนาดนั้นที่เมืองไทย คือทุกประเทศจะมีงานหลักๆ ของเค้า ซึ่งมันไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมเพลง แต่เป็นเรื่องเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องกัน ก็อยากทำคอนเสิร์ตให้ได้แบบนั้น
ปัจจุบันมีหลายคนอยากเป็นผู้จัดคอนเสิร์ต มีอะไรอยากจะแนะนำบ้างครับ
ป็อป : จริงๆ แล้วการจัดงานมันง่ายมาก แค่มีเงินจ้างศิลปินมามันก็จบ เพียงแต่ว่าจะทำยังไงให้เขามาซ้ำและไม่ให้ขาดทุน อย่างเราเคยไปบางงานมีคนดูหมื่นคนแต่มีห้องน้ำ 40 ห้อง อะไรแบบนี้ คือถ้าคนเขาไปแล้วรู้สึกไม่ดี เขาก็ไม่กล้าจะไปอีก ต้องให้ความสำคัญกับคนดูว่าอย่างน้อยที่สุดให้มันคุ้มค่า และได้ประสบการณ์ที่ดีเพื่อจะได้ไปบอกต่อ
ฝากติดตามคอนเสิร์ตนั่งเล่น Music Festival หน่อยครับ
ป็อป : ก็อยากให้มากันเยอะๆ รับรองว่าสนุกกว่า มันกว่า ดีกว่า เดิมแน่นอน กับ Chang Music Connection Presents “นั่งเล่น Music Festival 6” โดยจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 23 มกราคม 2564 ณ ทองสมบูรณ์คลับ จ.นครราชสีมา เปิดจำหน่ายบัตร EARLY BIRD ถูกที่สุด 1,500 บาท (ราคาปกติ 2,500 บาท) ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ เพียงวันเดียวเท่านั้น!!! ซื้อบัตรได้ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส ออลล์ ทิคเก็ต ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ทั่วประเทศ หรือ www.allticket.com และ www.gmmlive.com สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ FB : NanglenMusicFestival และ www.nanglenmusicfestival.com แล้วเจอกันนะครับ
ขอขอบคุณ : คุณดาว, คุณดี, คุณบอย, คุณโด่ง ทีม PR GMM Grammy ที่อำนวยความสะดวกในการสัมภาษณ์ครับ