เพลงที่เรียกว่าจังหวะ 6/8, 12/8 หรือถ้าเรียกเป็นภาษาทฤษฏีจะเรียกว่า Compound Time เป็นลักษณะจังหวะที่อยู่กับวงการดนตรีมาช้านาน ถ้าสมมติคุณไม่เคยรู้หรือเรียนดนตรีเลย คุณจะเคยเจอเพลงบางเพลงที่รู้สึกว่า เอ๊ะ เพลงมันจังหวะ โยนๆ แล้วเวลาเราปรบมือทำไมมันไม่เข้าจังหวะ ซึ่งถ้าจะให้เข้าก็ต้องนับจังหวะเป็น “หนึ่ง และ และ” เป็นชุดๆ ไป ในดนตรีสากลดนตรีที่เป็นพื้นฐานคลาสสิค หรือบลูส์ แจ๊ซ จะได้ยินจังหวะเหล่านี้ แต่กับเพลงไทยเรา จะไม่ค่อยมีรากฐานตรงนี้ชัดเจนสักเท่าไร เราอาจจะคุ้นๆ กับเพลงสากลมากกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเพลงไทยจะไม่มีเพลงลักษณะแบบนี้ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีเพลงมากมายที่ใช้ลักษณะจังหวะ 6/8, 12/8 มาใส่ในเพลงและทำให้เพลงน่าจดจำ เราเลยจะขอนำเสนอ เพลงป็อป-ร็อคไทย จากอดีต ถึงปัจจุบันที่มีการใช้จังหวะแบบนี้และเพลงเหล่านั้นได้แก่
ก็เคยสัญญา : อัสนี วสันต์
ต้นตำรับแห่งเพลงไทยสากล ก็ต้องพี่ป้อม พี่โต๊ะ หนึ่งในเพลงดังของทั้งคู่ เพลงนี้ได้รับอิทธิพลจากบลูส์ร็อคมาแบบเต็มๆ คอร์ดง่ายๆ ในจังหวะ 6/8, 12/8 กับลูกกีตาร์โซโล่ที่ทุกคนจำได้ เป็นเพลงร็อคไทยในยุคแรกๆ ที่ใช้จังหวะลักษณะนี้มาผสมจนลงตัว ลองฟังแล้วนับจังหวะเป็น 1 และ และ 2 และ และ คราวนี้ลงกับเพลงแน่นอน
เห็นใจกันหน่อย : The Innocent
ฝีมือการเล่นกีตาร์โดย พี่โอม ชาตรี คงสุวรรณ สมัยนั้นเวลาเล่น Picking หรือโซโล่ถ้าไม่เคยได้ยินจังหวะแบบนี้จะนับผิดลงผิดกันหมด ซึ่งเพลงนี้เป็นเพลงที่ใส่ความซับซ้อน รายละเอียด ในการเล่นกีตาร์ลงไปมากขึ้นอีกด้วย รวมถึงจังหวะที่มีความโยนมากขึ้น
หนึ่งเดียวคนนี้ : อัญชลี จงคดีกิจ
อันนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าเพลงจังหวะแบบนี้ก็กลายเป็น Signature ได้ เพลงของพี่ปุ๊ อัญชลี ที่เอา บลูส์มาแบบเต็มๆ ก็ต้องบอกว่าเป็นครั้งนึงที่บ้านเรามีเพลงบลูส์เป็นเพลงฮิตได้เหมือนเกิน
ลืมไปไม่รักกัน : นูโว
อีกครั้งที่จังหวะแบบนี้ก็สามารถสร้างเพลงฮิตได้ คราวนี้เป็นการผสมทางคอร์ดแบบ ทู ไฟว์ วัน แบบ และเทนชั่นคอร์ดแจ๊ซนิดๆ จังหวะ 6/8 บวกกับกีตาร์โซโล่ที่ดีที่สุดท่อนนึงของวงการดนตรีไทย จึงกลายเป็นเพลงฮิตเพลงนี้
ชู้รัก : Y Not 7
คราวนี้มาที่ร็อคแบบจริงๆ กันบ้างเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน จังหวะแบบ นี้ไม่ต้องเป็นบลูส์เสมอไป เพลงนี้ของ Y Not 7 เล่นด้วยเพาเวอร์คอร์ดกับเสียงแตก ไดนามิกที่หนักแน่นมากขึ้น จังหวะแบบนี้ก็เป็นร็อคหนักแน่นได้เช่นเดียวกัน
เหตุผล : แมว จิรศักดิ์
เมื่อจังหวะแบบนี้ถูกเพิ่มสีสันมากขึ้นด้วยการเพิ่ม Feel แบบสวิง ลงไปในช่องว่างจังหวะต่างๆ พร้อมทั้งกีตาร์ที่มีสีสันของความเป็นฟิวชั่นลงไปด้วย เพลงนี้จึงเป็นตัวอย่างของเพลงที่เล่นจังหวะแบบนี้โดยใส่ทฤษฏีเข้มๆ ให้ฟังง่ายมากขึ้น
เพียงรัก : Silly Fools
เมื่อจังหวะ 6/8 กับคอร์ดสไตล์เพลงป็อปเก่าๆ มาใส่ความหนักแน่นของซาวด์ดนตรี กีตาร์ เบส กลอง และเสียงร้องในสไตล์ Silly Fools ทำให้เพลงนี้กลายเป็น 6/8 ที่เรียบง่าย หนักแน่น มีโซโล่เฟี้ยวๆ เป็นของแถมอีกด้วย
ด้วยความคิดถึง : Drama Stream
และนี่ก็เป็นการต่อยอดแรงบันดาลใจจาก Silly Fools เป็นหนึ่งในเพลงดังที่มีความคล้ายเพลงของ Silly Fools ในแง่ของการส่งต่อแรงบันดาลใจ น่าจะชัดเจนที่สุดกับเพลงๆ นี้ และเป็นเพลงที่ดังมากๆ ของ Drama Stream
รักเองช้ำเอง : Clash
Clash เป็นวงร็อคที่ใช้จังหวะแบบนี้อยู่หลายเพลง โดยผสมซาวด์ดนตรีที่หนักหน่วง กับการดีไซน์ทั้งกีตาร์ การร้อง อย่างในเพลง รักเอง ช้ำเอง กับไลน์กีตาร์แน่นๆ เสียงเมโลดี้ร้องของแบงค์ เพลงนี้เป็นอีกเพลงที่มีทั้งความไพเราะ ความหนักแน่น โดยมีพื้นฐานจังหวะแบบ 6/8
ดีแต่ปาก : Big Ass
6/8 ถูกเพิ่มดีกรีให้หนักหน่วงมากขึ้น ด้วย ริฟฟ์ และซาวด์แบบเมทัลใน Big Ass สร้างเพลงที่ฟังดู เรียบง่าย แต่หนักหน่วงด้วยเสียงกีตาร์แบบ High Gain และจังหวะโยนๆ นี่เป็นอีกเพลงของ Big Ass ที่คนชอบมากที่สุดเพลงนึง
หลับข้ามวัน : Sweet Mullet
การเพิ่มลูกล่อ ลูกชนลงในเพลงร็อคหนักๆ ในจังหวะแบบ 6/8 ทั้งการเพิ่มคอร์ดสวยๆ จังหวะยูนิซันของทุกชิ้นๆ ความหลากหลายในแต่ละท่อน ช่วยยกระดับเพลงเพราะๆ เพลงนึง ให้ดูมีชีวิตมากขึ้น เพลงของ Sweet Mullet เพลงนี้ก็ต้องบอกว่าทำได้ยอดเยี่ยมเช่นกัน
คืนแห่งความเหงา : Retrospect
แล้วถ้าเป็นเมทัลหนักๆ ล่ะ จังหวะแบบ 6/8 อาจจะทำให้เพลงโยนมากขึ้น แต่กลับกันมันก็มีช่องว่างให้ ไลน์ดนตรีต่างๆ เพิ่มไดนามิกในการทำลายล้างในแต่ละบีทมากขึ้น เบส กลองในเพลงนี้ย้ำส่วนที่เป็น 6/8 อย่างหนักหน่วง ได้อารมณ์สุดๆ
งานเต้นรำในคืนพระจันทร์เต็มดวง : Cocktail
เมื่อเพลงจังหวะแบบนี้เพื่อไลน์ดนตรีอย่างเครื่องสาย เปียโน เข้ามานอกจากความหนักแน่น ยังทำให้เพลงดูมีความพลิ้วไหว ช่วยทำให้เพลงดูกว้าง ดูใหญ่มากขึ้น และเป็นหนึ่งในเพลงที่ Cocktail ทำได้ยอดเยี่ยมมาก
ปลายสายรุ้ง : Paradox
ความเรียบง่ายในการใช้กีตาร์โปร่งและไลน์เครื่องสาย ต่างๆ มักจะทำให้ เพลงที่ใช้จังหวะแบบนี้ฟังดูน่าสนใจมากขึ้น บิ้วท์อารมณ์ได้มากขึ้น นี่อาจจะเป็นหัวใจจริงๆ ของจังหวะแบบนี้ก็ได้ ซึ่งเพลง ปลายสายรุ้งของ Paradox ก็พิสูจน์เรื่องนี้ให้เราได้เห็น
นาฬิกาตาย : Bodyslam
ยิ่งถ้าได้คนที่มีความสามารถในการถ่ายทอดอารมณ์เพลงได้ดีสุดๆ อย่าง ตูน Bodyslam ล่ะก็ ถ้าหาคอร์ดสวยๆ เมโลดี้ดนตรีดีๆ จังหวะแบบนี้มีช่องว่างในการใส่อารมณ์เพลงให้มากขึ้นได้ดีทีเดียว เพลงนาฬิกาตายก็เป็นตัวอย่างนั้น
ใจกลางความเจ็บปวด : Crescendo
เอาล่ะถ้าไม่ได้มีไลน์เครื่องสายมากมายนัก การที่เราเลือกจะเล่นกับเครื่องดนตรีดิบๆ การเว้นจังหวะให้ตัวบีทมันทำหน้าที่ของมันเอง ก็เป็นการปูอารมณ์ได้ดีเหมือนกัน เพลงของ Crescendo เพลงนี้ก็จะปู อารมณ์จากบีทว่างๆ จนไปพีคมากขึ้น โดยเฉพาะท่อนก่อนเข้าโซโล่แล้วพอเข้าโซโล่เพลงนี้ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมาก
ทิศทาง : Greasy Café
ถ้าเป็นเรื่องของการใช้ซาวด์ดีไซน์ ของเครื่องดนตรี หรือเอฟเฟ็กต์กีตาร์ กับจังหวะแบบนี้ บางทีก็ได้ผลเหมือนกัน เพลงทิศทาวของ Greasy Café สามารถสร้างบรรยากาศอันหลากหลายได้ โดยผ่านซาวด์และจังหวะแบบ 6/8
ช่วงเวลา : Zweed n’ Roll
เสียงร้องแบบลอยๆ การลดไดนามิกรวมๆ ของดนตรี ให้แกนเป็นเสียงกลอง ให้บีททำหน้าที่โดยให้เครื่องดนตรีเกาะตามจังหวะไว้ รอบเสียงหลักๆ ก็เป็นอีกวิธีที่ทำให้เพลงจังหวะแบบนี้น่าสนใจ ซึ่งวง Zweed n’ Roll สามารถส่งเพลงนี้ให้โด่งดังขึ้นมาได้
ยังไม่ถึงเวลา : Lomosonic
Lomosonic ในเพลงนี้ใช้เสียงกีตาร์กับเอฟเฟ็กต์ให้เสียงกีตาร์ลอยๆ ก่อนเริ่มโหมในท่อน ฮุค และปล่อยให้อารมณ์ไหลในตอนท้าย เป็นการดีไซน์เรื่องของการเล่นในจังหวะแบบ 6/8 เป็นอีกเพลงที่ใช้จังหวะแบบนี้แล้วได้ผลออกมาดี