แนวดนตรีที่เป็นป็อปยุคใหม่ ที่เรียกว่า “ซินธ์ฯ ป็อป” มีอิทธิพลอย่างมากในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา มีศิลปินมากมายที่มีแนวทางดนตรีลักษณะนี้ แต่มีวงดนตรีที่เป็นคู่หูดูโอ้อยู่วงนึงที่ชื่อว่า Lipta วงดนตรีวงนี้ทำดนตรีในลักษณะนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น เชื่อว่าทุกคนก็คงคุ้นเคยกับหนุ่มใส่แว่นสุดฮาอย่างคัตโตะเป็นอย่างดี กับอีกหนึ่งคู่หูของเขา แทน (ธารณ ลิปตพัลลภ) ซึ่งเป็นคนที่มีอิทธิพลในการทำเพลงของวง และด้วยความที่แทนเป็นคนทำเพลงในสายซินธ์ฯ มานาน จึงทำให้ในปัจจุบันงานที่เป็นซินธ์ฯ ป็อป ที่มีเสียงซินธ์ฯ เป็นฐาน “แทน” จึงมีส่วนร่วมอย่างมาก นี่เป็นครั้งแรกๆ ที่เราได้พูดคุยกับคนดนตรีคุณภาพผู้นี้ ต้องขอบคุณแทนที่เปิดบ้าน เปิดสตูดิโอต้อนรับพวกเรา
แทนกับความสนใจในดนตรี
แทน : ผมโดนจับเรียนพวกเปียโนตั้งแต่เด็กๆ ตามสยามกลการอะไรแบบนี้ เรียนไป 5-6 ปี แล้วไม่ชอบ ก็ตามสูตรเลยครับ (หัวเราะ) ตอนนั้นคือสอบแบบทรินิตี้ผมก็คิดว่าทำไมเราต้องซ้อมเป็นปีๆ เพื่อรอให้ฝรั่งมาตรวจ ผมเลยเลิกเรียน ช่วงนั้นอายุสัก 10 กว่าปี ตอนนั้นเพลงร็อคก็เยอะนะ แต่ผมจะติดฟังเพลงตามแม่ ก็จะเพลงของพวกพี่ บอย โกสิยพงษ์ เบเกอรี่มิวสิค จะต่างจากวัยรุ่นคนอื่นสักหน่อย เอาง่ายๆ ผมจะเป็นคนฟังเพลงสายป็อปมากๆ แต่ที่ชอบพี่บอยมากๆ เพราะผมเห็นพี่บอยมีผลงานอัลบั้ม แต่ไม่ได้ร้องเพลงเอง ซึ่งเข้าทางผมเลย (หัวเราะ) ถ้ามองย้อนไปตอนนั้นอัลบั้มที่มาจากนักแต่งเพลงเลยมันไม่มี แล้วผมรู้สึกว่าถ้าผมจะทำงานเกี่ยวกับดนตรี ผมก็ทำแบบพี่ บอย ก็ได้เลยเป็นแรงบันดาลใจมาตั้งแต่ตอนนั้น
ได้รวมวงกับเพื่อนๆ ไปประกวด หรืออะไรบ้างหรือเปล่า
แทน : ไม่เลย คือผมจะไม่ได้มีชีวิตช่วงนี้เท่าไหร่ก็เล่นเองมาเรื่อยๆ พอผมเรียนมาถึงเกรด 11 เทียบๆ ก็ประมาณ ม 4 แม่ผมเขาก็อยากให้เรียนอะไรสักอย่าง แต่ผมก็ไม่ได้มีอะไรที่ดูโดดเด่น ก็มีดนตรีที่เราพอจะทำได้อยู่บ้าง ก็เลยส่งผมไปเรียน SAE (สถาบันสอนเกี่ยวกับซาวด์เอ็นจิเนียร์) ตอนนั้น SAE เพิ่งเข้ามาแรกๆ เลย ผมเป็นนักเรียนรุ่น 2 ซึ่งรุ่นผมจะมีพี่โอ เจ็ตเซ็ตเตอร์, แม่น Bedroom Audio รุ่นนี้จะมีแต่คนแปลกๆ (หัวเราะ) ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนมีสังคมดนตรีตอนอายุ 16
SAE เรียนเกี่ยวกับซาวด์เอ็นฯ ตอนนั้นแทนสนใจเรื่องพวกนี้ไหม
แทน : ไม่รู้เรื่องเลยสักนิด (หัวเราะ) แม่บอกเราไป เราก็ไป คือ SAE เนี่ยเรียน 2 ปี จะได้ใบปริญญา ก็ขอให้ได้มาก่อน ส่วนใบปริญญาเป็นแบบไหนก็ไม่เป็นไร ต้องบอกพี่ ป้าน้าอาได้ (หัวเราะ) พอเรียน เราก็ไม่ชอบ คือเรียนรู้เรื่องนะครับ แต่ไม่ได้ชอบ ทำให้ระหว่างที่เราเรียนเราก็เริ่มหัดเขียนเพลง มันก็มีจุดเปลี่ยนในชีวิตผมขึ้นมา ของ SAE ตอนสอบจบเขาจะให้เราทดลองใช้ห้องอัดว่าเราทำได้ไหม คือจะคัฟเว่อร์เพลงหรืออะไรก็ได้ แต่ต้องมาลองทำงานกับเครื่อง ผมก็เลยคิดว่างั้นก็เอาเพลงแต่งเรามาใช้ดีกว่า ก็ปรึกษากับพี่โอ เจ็ตฯ ว่าอยากหาคนมาช่วย พี่โอก็เลยแนะนำนักร้องวงเค้า ตอนนั้นวงเขาชื่อ Funk Theory ร้องเสียงแบบสไตล์พี่นภได้ ชื่อไอ้คัต (หัวเราะ) เขาก็แนะนำมา ซึ่งก่อนหน้านี้ผมก็เคยถามพี่โอว่า วงพี่โอก็เก่ง ทำไมไม่ออกผลงาน พี่โอบอกนักร้องแกไม่หล่อ (หัวเราะ) ก็เลยได้คัตโตะมาร้องให้ตอนนั้น ก็คือเพลงเธอเคยบ้างไหม ซึ่ง 3 ปีต่อมา เพลงนี้ก็เป็นแทร็คแรกในอัลบั้มแรกของ Lipta
เจอคัตโตะครั้งแรกรู้สึกยังไงบ้าง
แทน : ก็เฉยๆ นะครับ ตอนนั้นคัตเรียนประมาณ ปี2- ปี3 ก็ไม่ได้คิดอะไร แต่เขาร้องเพลงแล้วผมรู้สึกว่าผมชอบ ผมชอบคนร้องเพลงเทคนิคไม่ต้องเยอะ แต่ฟิลลิ่งได้ เนื้อเสียงได้ แต่หลังจากวันนั้นก็หายไปเลยนะ ไม่ได้แลกเบอร์ ต่างคนต่างแยกย้าย จนมาถึงจุดเปลี่ยนที่สองคือพี่บอย โกสิยพงษ์ แกมาพูดเหมือนเวิร์คชอป เราก็ด้วยความติ่งพี่บอยอยู่แล้ว (หัวเราะ) ก็เลยขออาจารย์เข้าไปฟังด้วย ก็พยายามเลือกแผ่นซีดีที่หายากกะเอาไปให้พี่บอยเซ็น จะได้คุยกับเราด้วย (หัวเราะ) คราวนี้พอเราเจอพี่บอย ก็เอาแผ่นไปให้เซ็นแกก็คุยกับเราเหมือนในหนังน่ะ ชอบเขียนเพลงเหรอครับ เขียนเพลงนี่ต้องฝึกต่อเนื่องทุกวันเหมือนเล่นกีฬา อะไรทำนองนี้ เราก็ไฟมาเลย ฮีโร่เราให้พรมาแบบนี้ (หัวเราะ) นอกจากให้แผ่นแกเซ็นแล้ว เราก็ยื่นเดโม่เพลงของเราให้แกด้วย คราวนี้ตัดภาพเดินหน้ามาอย่างไว เราก็ได้ทำงานกับพี่บอย (หัวเราะ) แต่ตอนนั้นพี่บอยบอกว่า ถ้าเราอยากจะทำผลงาน ต้องหานักร้องจริงๆ ไว้สักคน เราก็คิดอยู่นานว่ารู้จักใครบ้าง…ปิ๊งป่อง (หัวเราะ) ภาพคัตโตะก็ขึ้นมาในหัวเลย แต่เราไม่รู้ว่าจะติดต่อเขาได้ยังไง ทีนี้เมื่อก่อน ก่อนมี YouTube จะมีเว็บไซต์ที่ชื่อ Cool Voice พี่โอ เจ็ตฯ ตอนนั้นแกใช้ชื่อวงว่า Oreo ร้องเอง ก็เอาเพลงไปลงไว้ แล้วมันมีคอมเมนต์นึง ชื่อคัตแล้วลง Email เอาไว้ ผมก็เอ๊ะ! คุ้นๆ ผมเอาอีเมลล์ไปแอดใน MSN ตึ๊ง!ดึ่ง! (หัวเราะ) ก็ขึ้นเป็นคัตโตะ เลยได้คุยกัน ซึ่งตอนคุยก็แค่ลองชวนว่ามาลองทำเพลงกันมั้ย เลยได้ทำด้วยกัน ก็จากตอนนั้นเป็นต้นมาถึงตอนนี้ก็ 15 ปี แล้ว (หัวเราะ)
แต่ตอนนั้นทำเพลงกันยังไง เพราะมันไม่ได้ง่ายแบบยุคนี้
แทน : ตอนนั้นเป็นยุคแรกๆ ของ Cakewalk, Fruity Loop เลยนะ ตอนนั้นผมโชคดีที่ญาติผม เจพี (เจรามายห์ ลิปพัภลภ) ทำงานแกรมมี่ เขาทำเพลงให้ คริสทีน จิระวงศ์วิโรจน์ (2 Become 1) บ้านผมกับเจพีอยู่ตรงข้ามกันเราก็จะไปหมกอยู่บ้านเขา ผมเล่นเปียโนได้ แต่จะไม่รู้อะไรอย่างอื่นเลย ก็ไปศึกษาแล้วก็ได้เขียนเพลงแรกในชีวิตในอัลบั้มของคริสทีน อัลบั้มแรกชื่อเพลงว่า “อยากเจอคนดีๆ สักคน” ผมอายุ 17 ตอนได้เช็คค่าแต่งเพลงมาความรู้สึกแบบแม่งโคตรเจ๋งมาก (หัวเราะ) ความโชคดีก็คือพวกเครื่องของเจพี เราเข้าใจว่ามันเรียกว่าอะไร อย่างที่บอกผมเรียน SAE ผมอาจจะไม่ได้ชอบ แต่ผมก็เข้าใจว่าพวกศัพท์เทคนิคต่างๆ ว่ามันเรียกว่าอะไร มีหน้าที่อะไร เลยสื่อสารง่ายเข้าใจได้ง่าย เวลาผมคุยกับพวกซาวด์เอ็นฯ ก็จะบอกศัพท์เทคนิคเขาได้ประมาณนึง
ตอนเพลงอย่าง “ฝืน” ดังขึ้นมารู้สึกยังไงบ้าง
แทน : เพลงดัง แต่คนไม่รู้จักเราเลยนะ โซเชียลยังไม่บูม ผมเคยนั่งในรถ เพลงเราเปิดวิทยุติดกัน 5 คลื่น ตอนนั้นผมก็คิดว่า เราแม่งโคตรดัง (หัวเราะ) แต่พอไปที่ไหนก็ไม่มีใครรู้จักหน้าตาพวกเราเลย ซึ่งผมมองว่าเราโชคดีที่มีเพลงนี้นะ เพราะถ้าไม่มี เราก็อาจจะแย่เหมือนกัน เช่นเดียวกับที่เราไปโชว์เราโชคดีที่พี่ๆ ที่มาเล่นให้ค่อนข้างเก่ง แล้วอีกอย่างเราก็เล่นเพลงเราเองดังนั้น เราจะใส่อะไรก็ได้ (หัวเราะ) ก็คงเหมือนทุกวงครับช่วงแรกมีสะดุดบ้างแต่พอมาเรื่อยๆ ก็เข้าที่
จุดไหนที่ทำให้แทนเข้าสู่งานเบื้องหลังเต็มตัว
แทน : พอหลังจากทำ Lipta สักพัก ก็เลยมีคนที่ชอบเพลงสไตล์ของเราอยากให้เราทำเพลงให้ เพลงที่ผมเป็นโปรดิวเซอร์เต็มๆ แล้วค่อนข้างโอเคก็จะเป็นเพลง “ตอบยังไง” ของป็อป ปองกูล ตอนนั้นยังโปรดิวซ์เป็นเพลงๆ อยู่ แล้วเราก็ทำงานของ Lipta มาก็รู้สึกว่าเราทำเป็น เราคิดว่าทำงานได้ แต่จริงๆ พอมามองย้อนกลับไป ก็ค่อนข้างเด็กน้อยพอสมควรนะ (หัวเราะ) ที่บอกแบบนี้เพราะตอนนั้น เขามาคุยงานกับเรานานมาก อยากได้ตรงนั้น ตรงนี้ ส่งหนังมาให้ดูเป็นเรฟเฟอเรนซ์ คุยกันเป็นชั่วโมง ปรากฏเราเอากลับมาเขียน เขียนไม่ได้ ก็เลยเขียนเรื่องตัวเองลงไป (หัวเราะ) ตอนนั้นอัลบั้มเดี่ยวอัลบั้มแรกของเขาเลย เขารอเพลงเราอยู่เพลงเดียว (หัวเราะ) จากนั้นก็เริ่มมีงานมาเรื่อยๆ ประปราย จนมาถึงวง 38 Years Ago ที่เราได้มาดูแลทุกอย่างเต็มที่ทั้งอัลบั้ม ก็ตื่นเต้นดีครับ แล้วหลังจากนั้นก็มาเป็นโปรดิวซ์ฯ ให้ Chilling Sunday ยังทำอยู่ถึงทุกวันนี้
จุดเปลี่ยนสำคัญ อีกครั้งกับงานของ อิ้งค์ วรันธร
แทน : ก็เริ่มเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว พี่ปอย Portrait โทรมาบอกว่ามีศิลปินให้ช่วยทำเพลง เป็นน้องคนนึงที่ชื่ออิ้งค์ ก่อนหน้านี้ผมเคยปฏิเสธงานพี่ปอยไป 2 เพลงแล้ว คือผมจะมีเกณฑ์ในการทำเพลงว่า ถ้าผมมีผลงานอยู่ใน Playlist เพลงของผม ถึงจะตกลงทำให้ซึ่งก็มีเพลง “ฉันต้องคิดถึงเธอแบบไหน” อยู่ เราก็โอเค เลยลองคุยดู เอาจริงๆ ผมเองตอนทำเพลงก็ไม่ได้คิดว่าจะมาได้ขนาดนี้ คงจะทรงๆ เดิม เพราะเพลงที่ผมทำก็ไม่แมสมากอยู่แล้ว ก็คิดง่ายๆ แค่ว่า ผมชอบ นักร้องชอบ พี่พลชอบก็พอแล้ว
การทำงานร่วมกับพี่พล Clash เป็นยังไงบ้าง
แทน : พี่พลเป็นคนนึงที่ผมทำงานด้วยแล้วรู้สึกว่าแกเข้าใจตัวเรา แต่ช่วงแรกๆ ก็แก้กันเยอะครับ พี่พลตัวติดผมเลย เพราะนี่เป็นศิลปินแรกๆ ของค่ายแก แล้วก็ค่อนข้างหวังพอสมควร เลยแก้งานกันอยู่ แต่พอหลังจากเริ่มเข้าที่ ไม่ค่อยแก้แล้ว แกก็บอกว่า เดี๋ยวกูไปทำ Clash ก่อนนะ (หัวเราะ) คือแกวางโครง วางกรอบแข็งแรงมากๆ วางมาเลยว่าในเพลงของ อิ้งค์ ต้องมี 3-4 อย่างนี้
ดีใจด้วยนะ เป็นเพลงที่สร้างชื่อให้อิงค์ ในฐานะคนทำงาน มองเพลงนี้ยังไง
แทน : เพลงนี้ถูกเขียนไว้ก่อนปีนึงก่อนที่จะปล่อย ผมจำได้ว่าจะมี 3 เพลง เป็นเปียโนกับร้องไกด์ ความลับมีในโลก, รอหรือพอ แล้วก็เพลงนี้ เอาไปเปิดให้ทีม ให้พี่พลฟังเปิด รอหรือพอ พี่พลหันมายิ้ม ผมก็โล่งใจแล้ว (หัวเราะ) คราวนี้พอถึงเวลาโหวต ทุกคนก็บอกว่าเอาความลับมีในโลกปล่อยออกไปก่อน เพราะเพลงนี้เป็นเพลงมีจังหวะ แล้วจะตามด้วย ดีใจด้วยนะ เพลงนี้ก็อย่างที่อิ้งค์เคยเล่าว่ามันเป็นเรื่องจริงของอิ้งค์เอง ก็โทรมาเล่าไป ร้องไห้ไป ทุกฉากในเพลงก็เป็นเรื่องจริงๆ ที่อิ้งค์เจอ ผมก็เอาเพลงนี้มาเขียนกับ “ข้าว Fellow Fellow” ก็เสริมท่อนแบบถ้าเธอมูฟออนได้แล้วก็ดีใจ แต่ถ้าวันไหนเราทำได้บ้าง ก็ดีใจกับเราด้วยนะ ผมจำได้เพลงนี้เสร็จประโยคแรกที่ผมบอกอิ้งค์คือเสียงสูงด้วยนะ ร้องไหวไหม (หัวเราะ) ร้องขึ้นก็สูงแล้ว พอไปอีกท่อนก็สูงอีก เพลงนี้อิ้งค์ต้องไปเรียนร้องเพลงเพิ่ม เพื่อให้ร้องได้ไม่อึดอัด จนก่อนที่เริ่มก่อนจะปล่อยเพลง อิ้งค์ ทวีต คำว่าดีใจด้วยนะ แล้วมันติดเทรนด์ดิ้ง เราก็เลยรู้สึกตะหงิดๆ แล้ว พอเพลงมันทำงาน มันก็พุ่งเลย โอเค ยอดวิวมันไม่ได้มากแต่เข้าถึงคนได้เยอะ มันพลิกเลย เราได้เห็นเลยว่าคำว่าเกมเปลี่ยนมันเป็นยังไง แล้วในฐานะที่เราทำงานเบื้องหลังเราก็ดีใจด้วยนะ
ยุคนี้เราเห็นคนทำเพลงที่ใช้ซินธ์ฯ เยอะมาก ทำให้การทำผลงานให้มันเกิดขึ้นมายากขึ้นมั้ย
แทน : สมัยนี้ทุกอย่างมันง่ายขึ้น ทำให้ทุกคนสามารถทำแบบนี้ได้หมด อย่างที่เราเห็นในตลาดเพลงว่าวันนึงปล่อยไม่รู้กี่เพลง เราจะทำยังไงให้เราโผล่ขึ้นมาอันนั้นคือสิ่งที่ยาก มันไม่ใช่แค่เรื่องซาวด์อย่างเดียวมันเป็นหลายๆ เรื่องผสมกัน แล้วต้องมองกันยาวๆ ไม่ใช่มองแค่ว่ามีเพลง One Hit Wonder เป็นกระแส คนแชร์วันนึงก็หายไปเลย
แล้วกับผลงานของ Lipta ล่ะ มีความยากง่ายในการทำงานยังไง
แทน : ต้องบอกว่าวงผมมันมีความโชคดี อย่างผมทำงานกับหลากหลายค่าย เราก็วิชา การวิเคราะห์ ข้อดีข้อเสียต่างๆ มาใช้กับวงเราได้ หรืออย่างคัตโตะเองก็มีพื้นที่ในออนไลน์ค่อนข้างเยอะอยู่ทำให้เรายังมีคนเห็นในยุคนี้ แล้วผมกับคัตโตะเองก็มีเป้าหมายที่ค่อนข้างตรงกันในหลายๆ เรื่องเราคุยกันรู้เรื่อง มันก็เลยทำให้ปัญหาน้อย
ถ้ามีศิลปินสักคนอยากทำงานกับแทน จะเริ่มจากจุดไหนก่อน
แทน : คำถามแรกสุดคือ จุดมุ่งหมายของคุณคืออะไร อยากทำเพลงที่อยากทำ, อยากมีงาน 10 งานต่อเดือน วิธีทำเพลงก็ไม่เหมือนกัน อยากมีงาน 10 งาน 10 งานนี้งานอะไรบ้าง อยากเล่นอีเวนท์พารากอน อยากเล่นงานแคท พอได้เป้าหมายก็มาดูที่ตัวเพลง เพลงก็ต้องเข้ากับนักร้อง ดูที่ค่าย ผมจะวิเคราะห์ประมาณ 4-5 จุดนี้ แล้วก็เดี๋ยวนี้มันคือการวางกรอบ อันนี้ผมได้ไอเดียจากพี่พลมา ศิลปิน 1 คนต้องนำเสนออะไรสักอย่างที่ชัด อย่างเพลงอิ้งค์ทำไมขึ้นอินโทรมา คนที่ฟัง 80% จะรู้ว่าเป็นเพลงอิ้งค์ มันจะมีองค์ประกอบ 3-4 อย่างซึ่งอันนี้ในฐานะคนทำงานผมว่าประสบความสำเร็จนะ มันต้องแบบ พอพูดถึงแสตมป์, ตู่ ภพธร ภาพจำแรกคืออะไรเราต้องตีตรงนี้ให้ได้ก่อน ใช่ ตัวเพลงสำคัญ แต่ภาพจำแรกก็สำคัญเช่นกัน มันสำคัญเรื่องการขายงานด้วย
ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับทางเทคนิคล่ะจะเริ่มจากจุดไหนก่อน
แทน : ก็ต้องมาดูว่านักร้อง ศิลปินคนนั้นทำอะไรได้ก่อน อย่างอิ้งค์เขียนเพลงไม่ได้ แต่ก็ให้ไอเดียเราได้ว่าจะพูดอะไร ผมก็จะใช้วิธีแบบให้พูดอะไรมาก็ได้ แล้วเราก็จับประเด็นมาทำเป็นเพลง หรืออย่าง นนท์ ธนนท์ ก็ให้ร้องฮัมอะไรมาก่อนเลย คือสิ่งที่ผมจะทำเราต้องให้ศิลปินคนนั้นมีส่วนร่วมกับเรามากที่สุดไม่ด้านใดก็ด้านนึง ผมจะไม่อยากทำแบบเพลงเสร็จแล้วนะ ไปฝึกร้องมา ศิลปินต้องมีส่วนร่วมไม่ทางใดก็ทางนึง
กับสถานะในวงการดนตรี พอใจในระดับไหน
แทน : จริงในฐานะศิลปินกับโปรดิวเซอร์ผมค่อนข้างพอใจแล้วนะ แต่สเตปสุดท้ายที่ผมคิดไว้ก็คืออยากมีพื้นที่ของตัวเอง นั่นก็คือผมอยากทำค่ายเพลงของตัวเอง มันเป็น สเตปนึงที่อยากไปให้ถึงในเวลาที่อันควร เพราะผมได้ลองศึกษาการทำงานกับทุกค่ายมาแล้ว ค่ายนี้คิดแบบนี้ มีเอกสารแบบไหน สัญญาแบบไหน คือเราอยากทำให้มันแฟร์กับทุกคน แล้วก็อยากให้มาทำงานกับเรา ซึ่งผมคิดตรงนี้เยอะมาก เลยไม่ได้ทำสักที (หัวเราะ) แต่ทำมาขนาดนี้แล้ว ผมว่านี่เป็นจุดหมายที่ใหญ่ขึ้น แต่อยากให้ระบบมันเอื้อกับทุกคนด้วย
กับเรื่องการเขียนเนื้อเพลงบ้าง มีความคิดเห็นในการเขียนเนื้อเพลงสมัยนี้อย่างไร
แทน : เรื่องเพลงมันเป็นรสนิยมบางครั้งเราไปตัดสินผิดถูกไม่ได้เลย มันคือเรื่องแค่ว่าเด็กสมัยนี้มันฟังเพลงแบบนี้ มันก็เพลงยุคนี้ จริงๆ เรามองย้อนกลับไป เพลงพี่เบิร์ด ก็อาจจะฟังแปลกในสมัยนั้นก็ได้ แล้วผู้ใหญ่สมัยนั้นอาจจะฟังแล้วมันแปลก เพราะฉะนั้นเด็กสมัยนี้เขาฟังแบบนี้เพราะฉะนั้นมันก็ไม่มีผิดไม่มีถูก สำหรับคำหยาบ ตัวผมเองก็ฟังเพลงอย่างฮิปฮอปมาก็เยอะ เราก็รู้ว่ามันมีคำพวกนี้ แต่ส่วนตัวผมจะมีขีดมาตรฐานไว้ประมาณนึงว่าไม่ให้มันมากไป
มีศิลปินคนไหนหรือแนวเพลงอะไรที่อยากทำอีกบ้าง
แทน : ก็มีหลายคน คนนึงที่อยากทำงานด้วยคือโบกี้ไลอ้อน แต่กลัว เพราะน้องเค้าเก่งมาก ก็อยากลองทำงานด้วย ส่วนที่อยากทำงานด้วยสูงสุดคือพี่เบิร์ด ธงไชย ก็คลาดกันหลายรอบ กับงาน Lipta ก็มีบางแนวที่อยากทำนะ อย่างลูกทุ่ง ลูกกรุง จริงๆ เคยแอบหยอดๆ ความเป็นลูกกรุงไว้ในงานเพลงของเราเหมือนกัน แล้วก็ไม่แน่ว่าอาจจะทำ 3 ช่า ผมว่า Lipta น่าจะลงล็อคนี้ได้ แต่รอจังหวะเหมาะๆ
มีคำแนะนำน้องๆ ที่อยากเป็นศิลปินในยุคนี้มั้ยครับ
แทน : อยากให้ทุกคนตั้งเป้าหมายให้กว้างๆ คือไม่ใช่แค่ทำเพลงแล้วคิดแต่แค่ว่า ทำไมเพลงไม่ดังสักที ไม่มาสักที สมมติเราอยากจะให้วิวเยอะก็ต้องดูคนที่เป็นแบบนั้น เหมือนเราทำอาหารให้คนหมู่มากกิน ทำไมทำอาหารแบบนี้คนหมู่มากถึงทานได้ อยากให้วิเคราะห์ตรงจุดนี้ แล้วก็อยากทำเพลงให้จรรโลงใจหน่อย โอเค ถึงผมจะบอกว่าเพลงมันไม่มีผิดมีถูก เป็นเรื่องรสนิยม แต่ในระดับเวลา เราทำเพลงอะไรแล้วมันมีผลกระทบเราอาจจะต้องมีความรับผิดชอบในระดับนึง อยากให้ดูกันตรงนั้นด้วย ส่วนเรื่องเทคนิคต่างๆ ผมว่ายุคนี้แค่ซาวด์ที่แถมมากับโปรแกรมดนตรีมันก็ดีแล้ว ผมว่าเด็กยุคนี้เรื่องซาวด์อะไรดีกว่ายุคก่อนแน่ๆ เพียงแต่อยากให้ดูเรื่ององค์ประกอบภายนอกในเรื่องอื่นๆ กันเพิ่มเติมสักนิดนึง