ถ้ามีใครสังเกตดีๆ จะเห็นว่าสิ่งที่วงการดนตรีวันนี้เปลี่ยนไป ก็คือการขยายของธุรกิจคอนเสิร์ตโดยเฉพาะ งานที่เรียกว่า Festival การมีวงดนตรีมากมายในงานเดียวกัน มีกิจกรรมต่างๆ นี่เป็นโมเดลของธุรกิจดนตรีที่สำคัญมากในปัจจุบัน แน่นอนว่าเจ้าใหญ่ของวงการดนตรีไทยก็คือ Grammy ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในสายงานดนตรีมาเนิ่นนาน จนถึงวันที่แม้แต่พวกเขาเองก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน รวมถึงบุคลากรด้วย โชคดีที่ตอนนี้ในแง่ของธุรกิจดนตรี Grammy มี CEO ผู้มีความสามารถรอบด้านอย่างพี่เจ๋อ ภาวิต จิตรกร คราวนี้พี่เจ๋อมาพร้อมกับแม่ทัพข้างกายอย่าง พี่กบ Big Ass (ขจรเดช พรมรักษา) ที่พวกเรารู้จักกันดีอยู่แล้ว และอีกคนแม่ทัพเงาพี่สงวน เมธีธารา ผู้ที่สร้างความอลังการ ยิ่งใหญ่ในงาน Big Mountain มากว่า 10 ปี ในฐานะหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ ทั้งเวที จนถึงทุกอย่าง นี่คือ 3 แม่ทัพใหญ่แห่งงาน genie fest 2020 ตอน Rock Mountain ซึ่งงานก็ออกมายิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เราเลยนำทุกท่านมาดูว่าเบื้องหลังกว่าจะเป็นงานใหญ่แบบนี้ พวกเขาวางแผนกันขนาดไหน
หลังจากงาน Chang Music Connection Presents “genie fest 2020 ตอน Rock Mountain” ฟีดแบค ข้อดี ข้อเสีย หลังงานเป็นอย่างไรบ้าง
พี่กบ : มันเป็นครั้งแรกที่ Grammy กับ genie ไปจัดงานในสถานที่ไกลๆ แบบนี้ แล้วก็เป็นการท้าทายตัวเองว่า ถ้าเราไปสถานที่ไกลๆ แบบนั้น คนจะไปกันหรือเปล่า แล้วก็ทำให้เราได้เห็นว่าแบรนด์ของ genie หรือ Grammy เอง สามารถดึงดูดคนได้ ทั้งที่มันลำบากมากมันไกลมาก สิ่งที่สำคัญมากก็คือค่าใช้จ่ายต่อคนมันค่อนข้างสูง มีตั๋วแล้ว ต้องมีที่พักอีก ค่ากิน ค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งทำให้เรารู้ว่าถ้าเราจัดงานที่น่าสนใจมากพอ คนก็จะตามเราไป แต่เอาจริงๆ ให้ผมหลับตานึก ผมก็นึกได้แต่ข้อเสีย (หัวเราะ) มันมีแต่คำว่า “รู้งี้”, “แม่งเอ๋ย” อยู่ตลอดเวลา (หัวเราะ) ผมบอกทุกคนว่าถ้าได้โอกาสไปทำงานที่นั่นอีก จะมี 2 สิ่งที่ผมจะไปตามหา อย่างแรก ผมจะกลับไปหาความสุข การทำงานอยู่ที่นั่นคือการทำงานท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ดี สวยงาม อยู่ท่ามกลางผู้คนที่เรารัก เป็นเหตุผลแรกที่ผมอยากกลับไป อยากกลับไปหาความสุข ส่วนเหตุผลที่ 2 คือ อยากกลับไปล้างแค้น (หัวเราะ) ผมคิดว่าทำไมไม่เชื่อตัวเองให้มากกว่านี้ แบบประมาณว่า กูว่าแล้ว อะไรที่คิดว่ามันได้ มันได้จริงๆ อะไรที่มันไม่ได้ มันก็แบบ กูว่าแล้ว (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นผมจะกลับไปหา 2 สิ่งนี้หาความสุข และกลับไปล้างแค้น (หัวเราะ)
พี่เจ๋อ : สำหรับผมแรกสุดผมต้องขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วมทั้งศิลปิน พี่น้องชาว genie ทีมงาน อีกมากมาย ที่ทำให้เกิดงานนี้ รวมถึงเจ้าของสถานที่ Jolly Land ด้วย ในมุมผม ผมว่าข้อดีที่สุดมันคือการปักธงของการสร้าง Brand และ แลนด์มาร์คใหม่ ในมุมยุทธศาสตร์ สิ่งที่เป็นข้อดีมากๆ คือ การทำให้คนเห็นภาพว่า genie fest เป็น Brand จัดคอนเสิร์ตที่แข็งแรงมาก Rock Mountain เป็น Sub Brand ทำให้คนนึกภาพออกว่าความรู้สึกนี้คืออะไร ถ้ามันไม่ใช่ที่นี่ มันจะไม่เป็นแบบนี้ และ มันจะไม่ถูกเรียกว่า Rock Mountain จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ผมบอกได้เลยว่าเราจะกลับไปจัดอีก เพราะเราคิดว่างานนี้มันจะเป็นงานที่จะจัดระยะยาว ข้อดีอีกข้อคือเราได้เห็นความสุขของทั้งคนดูและศิลปิน เราได้เห็นคนดูที่มาเยอะมากๆ เยอะจนผมตกใจ เอาจริงๆ ช่วงนั้นเริ่มเกิดสถานการณ์ Covid-19 แล้ว ซึ่งในมุมของผู้จัดงานผมเป็นห่วงหลายเรื่องมาก คือสุขภาพและความปลอดภัยของคนดู และศิลปินเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งพอคนมาเยอะเกินกว่าที่คาด ไม่มีเคสผู้ป่วย คนมีความสุขเกินกว่าที่คาด อันนี้เลยเป็นข้อดี ที่รู้สึกโล่งอก
แล้วในส่วนที่คิดว่าต้องปรับปรุงล่ะครับ
พี่เจ๋อ : มันมีหลายส่วนนะ แล้วก็อย่างที่พี่กบบอกว่ามันมีรายละเอียดเยอะ เอาเป็นว่าผมเรียนอย่างนี้ว่าฟีดแบคทั้งหมดที่คนช่วย Inbox เข้ามา คอมเมนต์เข้ามาผมและทีมงานอ่านหมดครบทุกคอมเมนต์เลย แล้วก็อยากจะกลับไปทำให้มันดียิ่งขึ้น อยากให้ประสบการณ์ที่ทุกๆ คนมามีความสุขมากขึ้นเรื่อยๆ ผมจะยังไม่เจาะจงจุดต่างๆ เพราะมันต้องมีปัญหาที่เราต้องพัฒนาต่อเนื่องจากการจัดครั้งแรกอยู่แล้ว
ในเรื่องของผู้ชม เป็นคนในพื้นที่ หรือ คนกรุงเทพมาดูมากกว่ากัน
พี่เจ๋อ : อันนี้ต้องเริ่มพูดที่เจตนาก่อน ทางเราต้อนรับแฟนคลับจากทุกที่อยู่แล้ว ความตั้งใจจริงๆ เวลาที่เราจัด Festival ใดๆ ก็ตาม ก็อยากไปมอบความสุขให้พื้นที่เหล่านั้น พื้นที่ในเขาค้อ เพชรบูรณ์หรือ รอบๆ ข้างเนี่ยผมอยากให้พวกเค้ามามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ปัจจุบัน สถิติคนที่มาเป็นคนจากอำเภอ หรือจังหวัดใกล้เคียง อยู่ประมาณ 55-60 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนกรุงเทพฯ สัก 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็อยากให้มีคนพื้นที่มามากกว่านี้ เพราะผมก็มีของพร้อมเสิร์ฟพื้นที่อื่นๆ อีกเยอะ ซึ่งในเรื่องคนของดูผมว่าสถิติค่อนข้างดีเลย
การจัดการเรื่องรายละเอียดต่างๆ เป็นยังไงบ้าง อย่างถนนหนทาง การเดินทางต่างๆ
พี่สงวน : อย่างที่บอกว่า เป็นครั้งแรกของทีมงานเราที่ได้ไปจัดที่เขาค้อ โดยปกติทีมของเราจะจัดที่ Big Mountain หรืองานอื่นๆ ทุกครั้งที่ขึ้นงานใหม่เราจะต้องรู้จักทุกอย่างของพื้นที่ เราก็จะส่งทีมไปสำรวจตั้งแต่ถนนที่วิ่งเข้ามา เข้าออกยังไง จะแบ่งเส้นทางกันแบบไหนระหว่างกลุ่มผู้ชม กลุ่มทีมงาน เวลาวางแผนเราต้องวางแผนทั้งผู้ชม ทีมงาน ศิลปิน ก็ต้องวางแผนกับทุกกลุ่ม เอาจริงๆ ถนนใน เขาค้อก็ไม่ได้ทำมาเพื่อซัพพอร์ตการจัดงานสำหรับคนมาพร้อมกันหลักหลายหมื่นคน อันที่จริงจากที่เราจัดมาก็คล้ายๆ กันทุกที่ เพียงแต่โจทย์ของเราคือจะทำยังไงให้คนที่พึ่งเคยมาเข้าใจได้ง่ายที่สุด สะดวก หาที่จอดรถง่ายๆ
ข้อจำกัดที่เห็นตั้งแต่ครั้งแรกเลยมีอะไรบ้าง
พี่สงวน : ก็เพราะเราจัดที่นี่เป็นครั้งแรกก็ต้องไปทำความรู้จักทุกอย่างใหม่หมด ทั้งส่วนราชการและชาวบ้านโดยรอบ อย่างเราส่งทีมงานไปคุยกับชาวบ้านโดยรอบว่าจะเกิดงานนี้ขึ้น ไปสื่อสารกับทุกคนว่าในงานจะต้องเกิดอะไรขึ้นบ้าง อาจจะรถติดบ้าง แต่เป้าหมายแรกของเราก็คือดึงการท่องเที่ยวมาที่นี่ เราอยากให้คนที่อยู่ในพื้นที่ได้ด้วย อย่างเช่นการจ้างงานในพื้นที่ ดังนั้นเราต้องไปสำรวจ ต้องละเอียดกับมัน อันที่สองที่เราต้องแก้ไขก็คือระยะทางจากกรุงเทพไปเขาค้อ ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง ดังนั้นมันจะมีเรื่องของการคุมค่าใช้จ่าย เราเลยวางแผนเป็น 2 ลักษณะ แบบที่ 1 เราใช้ Supplier ของเราเอง กับ หาจากบริเวณจังหวัดใกล้เคียง เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ว่ามีเจ้าไหนที่ใช้ได้ ก็ทำให้ทีมงานเราต้องค้นหาข้อมูลเยอะ กับอีกเรื่องที่เรารู้อยู่แล้วว่าต้องเจอคือ ระบบ สุขาภิบาล ห้องน้ำ อันนี้เป็นปัจจัยที่คนดูอยากให้ผู้จัดงานอำนวยความสะดวก เราพยายามพัฒนามาตั้งแต่ Big Mountain เรียกว่าตั้งหน่วยศึกษากันจริงจังเลย (หัวเราะ) เรานำภูมิความรู้ที่มีในการจัดงาน Music Fest เอามาใช้กับการจัดงานที่นี่ แต่ด้วยพื้นที่ทำให้เราไม่สามารถลงจำนวนตู้ห้องน้ำได้เท่าที่เราต้องการ ไม่ได้ตรงตามจุดที่เราวางกันไว้แต่แรก ซึ่งเรารู้ปัญหา เราก็เริ่มวางแผนใหม่ว่าจะเสิร์ฟอย่างไรให้มันเพียงพอ นี่เป็นปัญหาที่เรารู้ตั้งแต่ตอนต้น รอให้ถึงวันงาน แล้วเตรียมพร้อมแก้ไข
เวทีปราสาท สุดอลังการ
พี่กบ : พอเราได้เริ่มโปรเจ็กต์นี้ ผมเลยตั้งโจทย์คร่าวๆ ว่า เราอยากเห็นอะไรกับมันบ้าง ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานหรือคนดูเองมันก็มีอยู่ 4-5 ข้อ ที่เป็นคาถาในใจที่ผมให้กับทุกคน คือ คุ้มค่า แตกต่าง สร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ แล้วก็กลับไปบอกต่อ 4-5 ข้อนี้มันจะคลุมวิธีคิดทั้งหมด คุ้มค่า คือ ค่าใช้จ่ายต่อคนมี 4,000-5,000 บาทแน่ เพราะยังไงต้องทำให้เขารู้สึกคุ้มค่า ซึ่งคำว่าคุ้มค่า มันก็จะพาไปหาสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน แล้วผมตั้งโจทย์ไว้ว่าพอเห็นเวที แล้วต้องอุทานคำว่าอะไรออกไป ผมท้าทายดีไซน์เนอร์ ทีมงานทุกคน ผมอยากให้ทุกคนเดินเข้างานแล้วอุทานว่า ….เข้ …..โด้ (หัวเราะ) อยากให้อุทานคำนี้ออกมา พอน้องดีไซน์เนอร์ ดีไซน์เสร็จผมก็เอามาพรีเซ็นต์ให้พี่ เจ๋อ ดู พี่เจ๋อ อุทานเลย..ชี้ยยย (หัวเราะ) CEO ผมอุทานคำนี้ออกมา คนดูก็น่าจะอุทานคำนี้ออกมา แล้วด้วยความที่ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด ผมก็ท้าทายตัวเองให้มีความรู้สึกว่าไอ้สิ่งนี้มันมาอยู่กลางป่า กลางเขาได้ยังไง จริงๆ ก็มีทดลองทำหลายรูปแบบโจทย์นึงก็คือทำให้อยู่กับธรรมชาติให้ได้ จะเอาความยิ่งใหญ่ขนาดไหนมาก็ฆ่าธรรมชาติไม่ได้ ซึ่งตอนแรกผมยังไม่อุทานออกมา ก็เลยกลับไปขุดว่า DNA ลึกๆ ของ genie คืออะไร สำหรับผมมองว่า วันที่ผมอยู่ข้างนอก ยังไม่เข้ามาใน genie ยังไม่เข้ามาใน Grammy ผมมองว่าที่นี่เป็น สถาบันลึกลับ สถาบันบ่มเพาะยอดฝีมือทั้งนั้นเลย ทำไมเพลงของที่นี่ถึงทำออกมาแล้วไปไกลมาก คือไม่ใช่เฉพาะศิลปิน รวมถึงคนทำงานด้วย ผมเลยเอาโจทย์นี้ไปบอกทุกคนว่าผมอยากได้ปราสาท มันคือตัวแทนสถาบันบ่มเพาะวิชาเพลงร็อค ผมก็ตั้งเป็นประโยคขึ้นมาว่าสถานที่กลางป่าลึกสถานที่บ่มเพาะวิชาเพลงร็อค ทุกคนก็เก็ทกับมัน แต่ว่าเอาจริงๆ ผมก็ไม่คิดว่ามันจะใหญ่ขนาดนี้ (หัวเราะ) คือสุดท้ายผมก็แค่คิดว่ามันต้องตอบโจทย์คำว่าคุ้มค่าให้ได้ แล้วก็แตกต่าง ในฐานะที่เป็นศิลปินและไปเล่นงาน Festival มาเกือบทั้งหมดมาแล้ว ผมก็จะกลับมาประมวลว่าประเทศไทยยังไม่ทำอะไรบ้าง แล้วก็คิดได้ว่าเรายังไม่มีเวทีแบบนี้ ก็เลยพยายามผลักดันให้ออกมา และด้วยความเป็นนักดนตรีของตัวเอง สังเกตว่าบนเวทีวันนั้นไม่มีอุปกรณ์วาง ไม่มีมอนิเตอร์วางเลย ก็ต้องไปสู้รบมากมายกับทีมงานทั้งหมด เพราะข้อเสียของเวทีแบบนี้คือมันต้องมูฟตลอดเวลา มันต้องใช้ทีมงานที่แข็งแรงมาก แล้วต้องคุยกับเขาให้มากพอว่าเราต้องการแบบนี้ ผมรู้ว่าคนมางานประมาณ 2 หมื่นกว่า แต่คนที่ถ่ายรูปออกไปมันเป็นล้าน ซึ่งก็จะกลับมาตอบโจทย์ข้อสุดท้ายคือ ต้องกลับไปบอกต่อ จะด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ อย่างถ่ายรูปออกไปก็ต้องทำให้คนอุทานให้ได้ว่า …..เข้ ปีหน้ากูต้องไป (หัวเราะ) นั่นจึงเป็นที่มาของปราสาท แต่เราข้ามเรื่องเงินลงทุนไปนะ (หัวเราะ)
แล้วเรื่องเสียงเป็นยังไงบ้าง
พี่กบ : ผมแพ้ลม ผมสู้ลมไม่ได้ คือผมว่าผมก็เลือกสิ่งที่ดีที่สุดแล้วนะ ผมใช้องค์ความรู้ของ Jack Sound ซึ่งทำงานในจุดนี้มา 10 ปีแล้ว ผมออกแบบ ดีไซน์เวทีต่างๆ โดยถามซาวด์เอ็นจิเนียร์ทุกวง จนได้ระยะที่ทุกๆคนต้องการแม้ว่ามันจะดูไม่สวยก็ตาม แต่ผมเป็นนักดนตรี ผมคิดว่าเทศกาลดนตรี เรื่องเสียงต้องนำมาก่อนภาพ ซึ่งผมก็เลือกสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว แต่ผมก็แพ้ลมจนได้ แต่เราก็ได้ค้นพบอย่างนึงว่า สถานที่ตรงนี้ถูกสร้างเพื่อทำคอนเสิร์ตจริงๆ มันประหลาดมากจริงๆ อย่างที่ผมเคยบอกว่ามันเป็นอัฒจันทร์ธรรมชาติที่ถูกสร้างจากเนินดิน เสียงที่มันพุ่งออกไปมันไม่แข็ง มันโดนซับเสียงด้วยดินจริงๆ ซึ่งส่งผลไปที่คนเล่นด้วย คนมาเล่นที่นี่มักจะบอกว่ามีความสุขกับเสียงที่ออกไป
กับงานในด้านการสร้างเวที ยากง่ายขนาดไหน
พี่สงวน : ปกติเราสร้างเวทีเราจะใช้เวลาประมาณ 7-8 วัน แต่พอแบบมา เห็นครั้งแรก ผมก็อุทานเหมือนกัน (หัวเราะ) เราก็เริ่มเปิดโต๊ะด่วน เริ่มแรกก็คือ มากางดูของที่เราต้องมีก่อนเลย แค่โครงสร้าง พื้นกับโครงรับฉาก รถ 6 ล้อ กับรถ 10 ล้อ รวมทั้งหมด 30 คัน 3 เท่าถ้าเทียบกับงานอื่นที่เราเคยจัด นี่ยังไม่นับ ปราสาทที่เราเห็นบวกโครงสร้าง รวมตกแต่งอีก 10 คัน พอคำนวณของแล้วก็ต้องมานั่งไล่ไทม์ไลน์กันใหม่ เพราะมีหลายส่วนเกี่ยวข้องกัน แล้วปราสาทมันสูงมาก ประมาณ 27 เมตร พอทำงานที่สูงเราก็ต้องมานั่งไล่ระบบเซฟตี้กันอีก ต้องมานั่งไล่ไทม์ไลน์กับงานทุกส่วน เพราะบางส่วนต้องทำงานไปพร้อมกัน คือต้องทำให้เสร็จก่อนอย่างน้อยวันครึ่งเพื่อซ้อม เตรียมความพร้อมต่างๆ เราต้องแข่งกับเวลา พร้อมทั้งคุมค่าใช้จ่ายไปด้วย สุดท้ายก็ตกประมาณ 2 สัปดาห์ ในการสร้างปราสาทนี้ออกมา
พี่เจ๋อ : ก็หายจากออฟฟิศไปครึ่งเดือนน่ะ (หัวเราะ)
พี่กบ : แล้วตอนสร้างเนี่ยผมจะนอยตลอดเวลา ผมจะโรคจิตแบบ กูต้องปลอดภัย (หัวเราะ) คือถ้ามีอะไรเกิดขึ้น คนรับผิดชอบเป็นผม ซึ่งผมจะไม่ยอมให้มีอะไรแบบนั้นเกิดขึ้นแน่นอน เพราะเรามีวิศวกรโครงสร้างที่เก่งมาก ผมจะให้ความสำคัญของความปลอดภัยมากกว่าความสวยงาม คือถ้ามีอะไรเคลื่อนไหว นิดหน่อยผมจะเริ่มวิตกแล้ว น้องๆ ต้องมาบอกพี่อย่านอย ไม่ได้หรอกความปลอดภัยมันต้องมาก่อน (หัวเราะ)
ความรู้สึกตอนใกล้วันจริง
พี่สงวน : ผมจะแบ่งการทำงานเป็น 3 พาร์ท อันแรกเป็นโปรดักชั่นฝั่งของเวที พาร์ท 2 เป็นเรื่องของการตกแต่งโดยรอบ พาร์ท 3 คือ โอเปอเรชั่น พาร์ทสเตจเราต้องแข่งกับเวลา แล้วตอนทำงานที่ๆ เราจัด ตกดึกน้ำค้างจะเยอะ ฉะนั้นการทำงานที่สูงค่อนข้างยาก ด้วยความที่โครงสร้างเราเป็นโครงเหล็ก กลางวันก็จะร้อน ดังนั้นการวางแผนในการทำงานต้องมีปรับเปลี่ยนเป็นกะ แล้วพอถึงวันจริงเราก็มีการปรับเปลี่ยนแบบกันหน้างานเลย ซึ่งก็ออกมาดีกว่าที่คิด ส่วนอีกเรื่องที่ยากคือการทำเรื่องการเดินรถต่างๆ เราต้องให้พวกรถสิบล้อที่ทำเวทีออกหมดก่อน ถึงจะทำทางสำหรับการเข้าไปเซ็ตตกแต่งของทีมงาน รวมถึงศิลปิน ซึ่งมีเวลาแค่วันกว่าๆ ก็ต้องระดมคนไปทั้งหมด ลงไฟตามทางเพราะถ้าวิ่งไม่ดีก็อาจจะหลงทางไปเลย ซึ่งงานนี้เราก็ขอทางผู้บริหารเป็นพิเศษเลย ซึ่งเราก็ใส่ใจทั้งคนดูรวมถึงทีมงานจริงๆ
เป็นงานที่ลงทุนเต็มที่เลยนะครับ
พี่เจ๋อ : เราก็ตั้งใจลงทุนเต็มที่แหละครับ ผมเชื่อแบบนี้ จริงๆ ทุกคนมีความเชี่ยวชาญในแบบของตัวเอง แต่สิ่งสำคัญของงานที่จะสำเร็จมันต้องมีความเชื่อ คือในมุมของผมก็ผมไม่ได้ลงมือทำเอง ก็นั่งๆ ยิ้มๆ ดูเขาคิดมา เออ ออ ใช่ ไม่ใช่ แต่ทุกอย่างมันเริ่มจากจุดที่ว่ามันไม่ใช่แค่การอยากจะจัดทีเดียวแบบ Rock Mountain เป็น Brand เป็นแผนงานระยะยาว เรามีความเชื่อในสิ่งที่จะทำ ก็เลยไม่รู้สึกว่า มันจะเดือดร้อนเรื่องเงิน อันนี้ต้องให้เครดิตคน genie ที่ไม่เคยทำให้เราผิดหวัง ทั้งทีมงาน แฟนคลับ แล้วก็แบรนด์ดิ้ง ศิลปิน เพียงแต่การทำงานทุกอย่างต้องมีบาลานซ์ เราไม่อยากให้คนทำทุกอย่างแล้วรู้สึกล้มเหลว ได้ดั่งใจหมดแต่เจ๊ง ไม่มีทีมงานคนไหนแฮปปี้แน่นอน เรื่องนี้เป็นศิลปะของการบาลานซ์ระหว่างความรู้สึกและการลงทุน เอาจริงๆ โปรเจ็กต์นี้มันยาวนานมาก มันเริ่มมาปีนึงแล้วนะ มันเป็นการเดินทางที่ยาวนานมาก แต่เป็นการเดินทางที่ทุกคนแน่วแน่จริงๆ มันเจอการเปลี่ยนผ่านเยอะ แต่โปรเจ็กต์นี้มันไม่เคยล้มเลย เราไม่ได้หวังกำไรเยอะ แต่เราหวังให้ความเชื่อ ความฝันของทุกคน มันเกิดขึ้น แล้วก็ต้องให้เครดิต พี่นิค วิเชียร ฤกษ์ไพศาล ด้วย ที่อยู่ในจุดเริ่มต้นเพราะเขาเป็นผู้สร้าง Brand genie และมีฝันนี้ เราได้สานต่อได้ทำในสิ่งที่เขาพูดคุยกับพวกเราไว้ ก็อยากให้ประสบความสำเร็จให้ได้ครับ
เรื่องของการรักษ์โลก การเก็บขยะ เป็นไปตามเป้าไหมครับ
พี่กบ : นี่แหละสิ่งที่ผมจะกลับไปล้างแค้น (หัวเราะ) คืออันนี้ ผมทำไม่ได้ สิ่งนี้เป็นสิ่งแรกที่ผมขอล้างแค้นเลย จริงๆ มันเป็นสิ่งที่พวกเราทีมงานตั้งใจมาก ถึงขั้นต้องเถียงกันว่าเลิกงานเราแจกถุงพลาสติกคนละใบดีมั้ย สักพักสงวนเดินมา พี่เขากำลังรณรงค์เรื่องถุงพลาสติก ไปเช็คขนาดถังขยะ จนวางแม่งไปตามทางเดินเลยดูสิว่าจะทิ้งกันมั้ยสรุป มันก็ล้นอยู่ดี มันก็ไม่พอ แสดงว่าผมยังทำตรงนี้ไม่ดีมากพอ นี่คือโจทย์ที่ผมอยากจะกลับไปล้างแค้น มันอาจจะฟังเป็นอุดมคติหน่อยๆ แต่ผมจะทำให้มันเกิดขึ้นให้ได้ ผมขับรถมอเตอร์ไซค์มาเช็คตอนเช้าแล้วผมก็บอกกับตัวเองว่าจะไม่ให้เกิดภาพนี้อีก ผมไม่อยากได้ Festival ที่จบแบบนี้ ไม่รู้จะทำได้หรือเปล่า แต่เดี๋ยวผมจะกลับไปล้างแค้น (หัวเราะ)
พี่เจ๋อ : พี่กบก็จะเห็นใจทีมงาน Big Mountain มากขึ้น (หัวเราะ) คือเราพยายามแก้ตรงนี้มา 3-4 ปีแล้ว
พี่สงวน : แต่ผมกลับมองว่าเป็นการปักหมุดที่ดี ผมรู้อยู่แล้วว่ามันบังคับกันได้ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์หรอก แต่อย่างน้อยมันได้เรื่องจิตสำนึก นี่ผมไปยืนเฝ้าทุกถังขยะเลยนะ อย่างน้อยแน่ๆ คือ คนฉุกคิดในการทิ้ง ผมมั่นใจเรื่องนี้เลย คนดูเขาจะ ดูว่าถือขยะประเภทไหน แล้วในจุดรวมขยะใหญ่แม่บ้านแทบจะไม่ต้องแยกกระป๋องกับขวดพลาสติก คือคนทิ้งถูก ที่พี่กบเห็นว่ามันล้นคือถุงของทั่วไป แล้วเราก็ได้ทดลองเป็นอาสาสมัครเก็บขยะของคนในพื้นที่ ก็ได้ประมาณนึง แต่ก็อาจจะต้องใช้เวลาที่จะต้องเรียนรู้ร่วมกันอีกสักหน่อย แต่ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ดีที่เราเริ่ม
พี่กบ : ผมว่าขอให้เราตั้งใจครับ แล้วมันจะเกิดวันนี้หรือวันไหนก็ไม่เป็นไรอย่างน้อยเรามีทัศนคติที่ถูกต้อง เราอยากให้มันเกิดขึ้นให้ได้ เราเชื่อว่าถ้าคนไทยจริงๆ จะทำก็ทำได้ ผมมีความเชื่อว่าคนไม่อยากทิ้งขยะเรี่ยราด แต่เราซัพพอร์ตเขาไม่พอ ก็เดี๋ยวเจอกัน (หัวเราะ)
พี่เจ๋อ : แต่มีอีกอันที่ไม่น่าเชื่อนะ คือปัญหาการสูบบุหรี่ไม่เป็นที่ลดลง และต่ำกว่า Festival อื่นๆที่ผ่านมา ความคลาสสิคของงาน Festival คือขยะ กับการสูบบุหรี่ไม่เป็นที่ ซึ่งอันนี้พี่กบ ทำเต็มที่แล้วมันก็มีน้อยลงจริงๆ
ปัญหาที่คิดว่าต้องเจอ แล้วเจอจริงๆ กับการแก้ปัญหาต่างๆ
พี่กบ : โอโห มันมีตลอดทางเลยครับ แต่ทุกครั้งที่ทำงานผมจะคิดว่าผมมาโรงเรียนเสมอ คือพอพี่เจ๋อบอกว่าโปรเจ็กต์นี้มันถูกคิดมาปีนึงมันทำให้ผมนึกออกว่า จริงๆ มันเหมือนลอยอยู่กลางทะเล ตอนนั้น genie เกิดการเปลี่ยนผ่าน อ้าวแล้วตอนนี้โปรเจ็กต์มันไปอยู่ตรงไหนแล้ววะ ผมจะเช็คกับสงวนอยู่ตลอด งบอนุมัติหรือยัง (หัวเราะ) จำได้ว่าวันที่บอกว่าผู้ใหญ่อนุมัติแล้วผมดีใจมาก เพราะเห็นตัวเลขแล้วมันไม่ธรรมดา แล้วพวกพี่ๆ เขาใจถึงนะ เขาไว้ใจผมได้ยังไง ไม่เคยทำอะไรขนาดนี้มาก่อน มันเหมือนการปลดล็อคความฝัน ที่จะทำให้เริ่มเป็นจริงได้ คือถ้าถามว่าปัญหาคืออะไร ให้เล่าก็คงไม่จบ The Guitar Mag เล่มนึงไม่พอ (หัวเราะ) ทุกอย่างคือการเรียนรู้ ผมยังมีเรื่องที่อยากจะปรับปรุงมากมาย มันคือการเรียนรู้ไปด้วยกัน อย่างที่พี่เจ๋อบอกว่าเราจะไม่ได้จัดแค่ปีเดียว เราจะเรียนรู้ไปด้วยกัน
มาทางพี่เจ๋อ บ้าง จากที่เราได้เคยพูดคุยกับพี่เจ๋อ เรื่องที่จะลุยจัด Festival ในต่างจังหวัด หลังจากผ่าน Festival ใหญ่ๆ ที่เห็นๆ มา ทั้ง 2 งาน ทั้งเชียงใหญ่ เฟส และ Rock Mountain ในมุมมองของพี่เจ๋อ และทาง Grammy เป็นยังไงบ้างครับ
พี่เจ๋อ : ต้องใช้คำว่า ที่ไหนมีปลา ที่นั่นมีโอกาส สำหรับผมเองไม่ว่าจะเป็น genie หรือ Grammy เอง หรือแบรนด์ต่างๆ ที่เรามีอยู่ เราอยากจัดงานให้เยอะที่สุดอย่างมียุทธศาสตร์ พี่เล็ก บุษบา เคยบอกผมว่า “งานประจำของเรา อาจจะเป็นความฝันสูงสุดของใครบางคน” ผมมีเป้าหมายที่จะจัด Festival ให้ใหญ่กว่า Big Mountain เพราะฉะนั้นการทำ Festival ต้องมีนัยยะสำคัญ มียุทธศาสตร์ในการเดินงาน เราอยากเดินยุทธศาสตร์ทุกภาคทั่วไทย ตอนนี้เราเอียงไปทางโซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลางไปเหนือ เรามีหมดแล้ว ต่อไปก็ต้องขยายลงใต้ ออกไปตะวันออก ผมอยากให้มองว่า Festival จริงๆ มันเป็น แพลตฟอร์ม เป็นความคิดแบบ Infrastructure ผมอยู่ร่วมได้กับคนทุกคนนะอันนี้คือเจตนาจริงๆ ก็ผมสัมภาษณ์เรื่องนี้ทุกครั้งก็ขอให้เขาเชื่อกันสักที (หัวเราะ) แล้วอีกหนึ่งสถิติที่น่าสนใจอะไรก็ตามที่เป็นการจัด Festival จะเป็น 200 กิโลเมตรรอบกรุงเทพฯ เราจะพบว่าคนกรุงเทพฯ นี่แหละที่ยึดพื้นที่ในการไป สัก 50-60 เปอร์เซ็นต์ แต่กลับกันอย่างถ้าคนเชียงใหม่ จะมาพื้นที่งานก็จะมีประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ หรือ คนเขาค้อ ก็จะมาดู genie fest ในกรุงเทพฯ แต่เขามากันหมดไม่ได้ เราก็ควรจะเอาสิ่งที่เป็นความพิเศษ คืนสู่สังคมบ้าง แล้วก็ร่วมมือกับคนท้องถิ่น สำหรับผม มันเป็นการเติบโตร่วมกัน
พอใจกับภาพรวมของ Showbiz ในปีที่ผ่านมา มาก น้อยขนาดไหน
พี่เจ๋อ : ก็พอใจมากนะครับ ธุรกิจ Showbiz ในกลุ่ม Grammy Music โตขึ้นประมาณ 36 เปอร์เซ็นต์ รายได้ 530 ล้านบาท ในรอบ 3 ปี เราโตขึ้นมาประมาณ 5 เท่า ผมว่าสูงมากๆ ซึ่งในความเชื่อผม ผมว่ามันโตได้อีกเยอะ ทั้งที่จริงๆ มีอุปสรรคเยอะมาก แต่อย่างที่บอกเราไม่ได้อยากตะบี้ ตะบันจัดให้มันเยอะ เราอยากให้มันเป็นแพลตฟอร์มในทุกรูปแบบ มันจะแยกเป็น 4 Segment การขยายตัวของ Festival ยุทธศาสตร์จะอยู่ในเรื่องของภาค ที่เป็นยุทธศาสตร์ทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย อันที่ 2 ก็คือ โซโล่คอนเสิร์ต ก็จะไม่ได้มีแต่ศิลปินที่มีความพร้อม ผมจะโอกาสศิลปินหน้าใหม่ที่มีคอนเสิร์ต รวมถึงศิลปินที่เป็นกลุ่ม Retro ผมคิดว่ามีโอกาสอีกเยอะ แบบที่ 3 ก็คือ กลุ่มที่เป็น Theme คอนเสิร์ต เราเชื่อว่าถ้ารวมกันมันอาจจะเกิดพลังใหม่ขึ้นมา ก็จะเป็นอีกโอกาสที่จะเห็นแน่นอนในปีนี้ รวมถึงข้อ 4 ที่เราคงเดินไปสู่ international คือพูดมาถึงจุดนี้ ผมก็อยากปักธงอย่างนึงให้เป็นสัญญาใจกับพี่กบ กับพี่สงวน ก็คือเราจะกลับมาอีกเร็วๆ นี้แน่นอน เพื่อให้ทั้ง 2 คน ได้ล้างแค้น ซึ่งเอาจริงๆ ผมวางแผน Rock Mountain ไว้ 5 ปี ซึ่งหมายความว่าต้องมี 5 ครั้งแน่นอน ความฝันสูงสุดของผมก็คือทำให้ Rick Mountain เป็น International Rock Festival ซึ่งจะมีพี่กบอยู่ข้างๆ ผมแน่นอน คือเอาจุดยืนของ Rock Mountain ก่อน ตรงนี้ยังคงเป็นมนต์ขลังของ genie แล้ววันนี้เป็นแบรนด์ genie fest ซึ่งผมก็ไม่อยากให้ยึดติดว่าเป็น genie ทั้งหมด มันมีจิตวิญญาณของความเป็น genie อย่างที่พี่กบ บอกว่า มันเกิดจากความเป็นสถาบัน มันเกิดมาจากความเป็นโรงเรียน ผมต้องให้เครดิตพี่นิคว่า สปิริตที่พี่นิคสร้างไว้ 20 กว่าปีเนี่ย มันต้องถูกสืบทอดซึ่ง มันต้องอยู่ต่อไป ซึ่งพอ genie เดินออกจากกรุงเทพ ไปเป็น Rock Mountain Brandนี้จะไม่จัดที่อื่น แต่จะจัดที่เขาค้อเท่านั้น และผมยืนยันว่าจะจัดที่เดิม แต่ต้องมีการพัฒนาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นด้าน โลจิสติกส์ หรืออะไรก็ตาม แต่หลักๆ เลย genie : Rock Mountain มันต้องนำเสนอ ประสบการณ์ที่แตกต่าง ประสบการณ์พรีเมี่ยม ผมอยากทำให้คุ้มค่าเหมือนที่พี่กบบอก อยากให้ทุกคนที่มา มีความรู้สึกว่ามันเป็นประสบการณ์ที่พรีเมี่ยมมากขึ้น ผมจะไม่ได้มาบอกว่า เฮ้ย ปีนี้ได้คนสองหมื่นเยี่ยม ปีหน้าเอาสามหมื่น ปีต่อไปสี่หมื่น ไม่ ผมไม่ได้คิดแบบนั้น ผมอยากให้พัฒนาขึ้นในหลายๆ ด้าน เช่นด้านโลจิสติกส์ดีไซน์ ต้องให้การเดินทางสะดวกขึ้น เราก็ต้องร่วมมือกับเจ้าของพื้นที่ ทำให้พื้นที่ตรงนี้มีศักยภาพมากขึ้น ต่อไป genie fest อาจจะไม่ใช่งานที่จัดแค่ 1 วันเหมือนเดิม มันอาจจะกลายเป็น Festival ที่ทุกคนมาก่อนเหมือน เทศกาลแบบอินเตอร์เนชันแนลก็ได้ หลังจากนั้นเมื่อมันถึงเวลาที่เหมาะสมแล้วเราแก้พื้นที่ สร้างโอกาสเซอร์วิสให้คนรู้สึกพรีเมี่ยมมากขึ้น แน่นอนเมื่อผมปักหมุดว่าผมและทีมงานไม่มีวันยอมแพ้ เราต้องเดินทางไปสู่อินเตอร์เนชันแนลให้ได้ ซึ่งผมมองเป็นภาพใหญ่
แต่เห็นว่า Rock Mountain ในปีหน้าอาจจะไม่ได้จัด
พี่เจ๋อ : ตอนนี้ยังไม่สรุปครับ คือแบบนี้ ปกติเราจะทำงานล่วงหน้า 1 ปี การจะสรุปว่าจัดไม่จัด มันจะมีเรื่องการกำหนดแผนล่วงหน้าเข้ามาเกี่ยวข้อง ทีนี้การกำหนดแผนล่วงหน้า งานที่สำเร็จ ยุทธศาสตร์ ที่สำเร็จมันต้องคู่กับการเห็นภาพทั้งตลาด ซึ่งผมจะตัดสินใจทำอะไร ไม่ทำอะไร ผมต้องเอางานทั้งปีมาดู ตอนนี้ผมมีประมาณ 40 งาน ปีนึงมี 12 เดือนแปลว่าเดือนนึง ผมต้องมี 3 งานชนกัน ผมเลยอยากจะบอกว่า งานนี้ยังไงอยู่ในแผนแรกที่จัดแน่นอน ซึ่งถ้าจัดเมื่อไหร่ ผมจะจัดรวดเดียวเลย ซึ่งพี่กบ พี่สงวนได้ล้างแค้นแน่ๆ (หัวเราะ)
พี่กบ : ถ้าผมมีคาถาพิเศษได้เนี่ย ผมจะกลับไปจัดมันเดือนหน้าเลย (หัวเราะ) คือที่ผมทำคอนเสิร์ต 2 ปีที่ผ่านมา ก็เหมือนเราเรียนลัดมาก ผมรู้สึกว่ามีความสุขกับงาน Rock Mountain มาก เพราะมันอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่ผมชอบ อยู่ท่ามกลางคนที่ผมรัก ทีมงานที่สู้ไปด้วยกัน นี่คือความสุขของผม วันงานผมยังไม่มีความสุขเท่ากับวันทำงาน วันเตรียมงานเลย ผมชอบไปนั่งดู คนทำงานเขาเถียงกัน นั่งดูเขาปีน แล้วนึกในใจ ศิลปินจะรู้ไหมเขาลำบากกันเพื่อมึง เขาปีนกัน 27 เมตรเนี่ย (หัวเราะ) ผมชอบนะได้ขี่มอเตอร์ไซค์รอบงานตรวจความเรียบร้อย เจอป้ายเขียนว่า Prees มันคืออะไรวะ ผมก็โทรถามสงวน เฮ้ย หงวน นี่มันป้ายอะไรวะ หงวน ก็ตอบ เฮ้ย มันสะกดผิดว่ะพี่ ต้องเป็น Press ก็ต้องมานั่งแก้กัน คืออะไรแบบนี้ผมว่ามันสนุกนะ เพราะฉะนั้นถ้ามีคาถาวิเศษเดือนหน้าผมอยากกลับไปจัดเลย แต่อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างมันมีกลยุทธ์ ทุกอย่างมันมีสิ่งที่ต้องเดินไป ทุกอย่างต้องเกิดการวางแผน แล้วก็ล้างแค้น 10 ปี ยังไม่สาย (หัวเราะ) อย่างที่พี่เจ๋อบอก ความฝันเราเกิดขึ้นแล้ว เราจะต่อยอดมันยังไง ให้มันเป็นมากกว่าเทศกาลดนตรีของ genie
มาถามพี่สงวนบ้างครับ ในแง่ของการทำงานด้านโปรดักชั่นได้ ประสบการณ์อะไรใหม่ๆ กลับไปบ้าง
พี่สงวน : ผมได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างตัวเรามีประสบการณ์ทำโปรดักชั่นมา 10 ปี เวลาที่เราต้องไปเจอกับ Supplier ใหม่ที่เราไม่ไว้ใจ เราจะกังวลว่าจะได้อย่างใจไหม เซ็ตอัพโอเคไหม วัสดุดีหรือเปล่า ออกมาแล้วจะดูแย่ไหม จะโดนบ่นไหม พอยิ่งค้นไปมากขึ้นมันก็จะยิ่งมีความสนุก ความน่าสนใจ ซึ่งผลที่ออกมาสำหรับหลายๆ อย่างถือว่าแฮปปี้มาก แล้วก็ได้ความรู้ใหม่ๆ มากขึ้น
พี่กบ : ผมเสริมตรงนี้นิดนึง ที่พี่เจ๋อบอกว่า Grammy จะมีเทศกาลดนตรีของแต่ละภาคเนี่ย มันแฝงด้วยอะไรบางอย่าง ที่เราจะมองข้ามไปผมลองไปทำการสำรวจดูพื้นที่ ขี่มอเตอร์ไซค์ไปถามแม่ค้าข้างทาง ปีที่แล้วมีงานเกิดขึ้นแถวนี้ แม่ค้าเป็นยังไงบ้าง ทุกคนบอกว่าเอาเงินแทบไม่ทัน คือมันเป็นการกระจายรายได้ที่มันเห็นภาพจริงๆ ผมไม่รู้ว่าในภาคเศรษฐศาสตร์มันลงไปเท่าไหร่นะ แต่ที่เห็นก็คือรีสอร์ตเต็ม อาหารการกิน แม่ค้า มากกว่านั้นคือ เกิดการจ้างงาน เราคุยกันว่าเราไม่ขนทรัพยากรไปจากกรุงเทพ โอเคเรื่องค่าใช้จ่ายก็ด้วย แต่ถ้าเราไม่ไปค้นหาช้างเผือก ที่นู่นเราจะไม่เจอ เราไปแล้วเราได้เจอองค์ความรู้ใหม่ๆ เจอประสบการณ์ใหม่ๆ เราได้เกิดการเรียนรู้เกิดขึ้น ช่างต่างจังหวัดเจ๋งๆ ก็มี มันเกิดตัวเลขที่มันมองไม่เห็นเกิดขึ้นมากกว่า เทศกาลดนตรี ผมว่ามันคือการลงไปปลุกบางอย่างของเขาค้อ รอบๆ เขาค้อให้มีชีวิตชีวาครั้งนึง
พี่เจ๋อ : ผมลงไปถามกับแม่ค้าพ่อค้าที่นั่น เขาบอกว่าเขาค้อทั้งปีมีค้าขายแค่ 4 เดือน มีอยู่แค่นี้ พอการที่เรามา มันทำให้เกิดความสมบูรณ์ขึ้นเรา ก็อึ้งๆ ในความรู้สึกที่เขาพูด ว่ามันช่วยเขาได้ เหมือนร่วมเดินด้วยกัน ซึ่งเร็วๆ นี้อาจจะมีภาคใต้นะ แง้มๆ ไว้ คือมันมีสิ่งที่มีความสุขเยอะมาก หลายคนอาจจะมีความสุขหลายรูปแบบ ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่ได้ทำ
ในปี 2020 และต่อจากนี้ จะไปในทิศทางไหน และมีโปรเจ็กต์ใหม่ๆ ที่คิดไว้ว่าจะทำบ้าง
พี่เจ๋อ : จริงๆ ด้วยสถานการณ์ตอนนี้ ก็ต้องบอกว่าทุกคนก็ต้องเฝ้าระวังแหละ ก็ต้องรอติดตามไป ผมคาดหวังว่ามันน่าจะคลี่คลาย ก็เป็นช่วงพฤษภาคม ช่วงพีคสุด มีนา-เมษา น่าจะพีคสุดแล้ว ถึงพฤษภาคม ต้องขยับอะไรได้บ้าง ผมยังมองในแง่ดีแบบนี้ว่าครึ่งปีหลังจะดีขึ้น แล้วผมคิดว่าอุตสาหกรรม Show Biz และ Festival ยังจะเดินได้ ถามว่าทำไมถึงเชื่ออย่างนั้น คือมันเป็นเรื่องจิตสำนึก ที่ทุกคนต้องระวัง คือมันเป็นสิ่งที่เราต้องอยู่กับมัน ผมว่าถึงจุดนึงคนจะรับในสิ่งที่เป็นอยู่และหาวิธีบริหารจัดการตัวเอง เพราะฉะนั้นภาพรวมๆ ของวงการ Show Biz และ Festival ก็คงไม่ได้ขยายตัวเยอะ แต่สำหรับ Grammy เราก็ยังไม่น่าห่วงเท่าไร เพราะเรายังมี Segment อื่นอยู่ด้วย
ในฐานะที่พี่ สงวน อยู่กับวงการทำ Festival มานาน มองวงการตรงนี้ยังไงบ้าง
พี่สงวน : ก็มีทิศทางที่เยอะ และเติมโตขึ้นทั้งทางผู้จัด ผู้ทำ เนื้องานจริงๆ เริ่มมีรายละเอียดที่มากขึ้นกว่าเดิมเยอะ อย่างสมัยก่อนการเตรียมงาน Festival ทีนึงใช้เวลา 4-5 เดือน แต่ปัจจุบันต้องเตรียมกันข้ามปี อย่าง Rock Mountain เราใช้เวลาเตรียม 1 ปี ใช้เวลาลงงานแบบเข้มข้น 8 เดือน วิ่งไป วิ่งมาค้นคว้า วางแผน นั่นแสดงให้เห็นว่าคนจัดงานมีความซีเรียสในการเตรียมงานเยอะ เราเคยคุยกันเล่นๆ ว่าเราเตรียมงาน 1 ปี เพื่องาน วันเดียว เราจะมีความตื่นเต้นตั้งแต่เข้างาน คนเริ่มใช้สิ่งที่เราเตรียมไว้ให้ ห้องน้ำ ร้านอาหาร เรามอง 2 ด้าน ความสุขที่คนมาใช้ กับมันใช้แล้วลงตัว โอเคมั้ย ทุกครั้งหลังจบงานเราจะอ่านคอมเมนต์ทุกอันจริงๆ อ่านเพื่อพัฒนาให้มากขึ้น ซึ่งทางผู้จัดรายอื่นก็ตื่นตัว คล้ายๆ กัน แต่ด้วยความเป็น Grammy เราต้องตื่นตัวมากกว่าหลายๆ เท่า อย่างในงานนี้ก่อนงานเริ่มไม่กี่วันผู้บริหารทุกคนจะลงพื้นที่ แล้วยิงคำถามในสิ่งที่จะเกิดขึ้นว่าจะมีทางแก้ยังไง เรามีแผนรับมือถึง 4 แผนในแต่ละยูนิต ซึ่งผมมองว่าทุกๆ Festival เองก็มีการเตรียมการทุกอย่างมากขึ้นดีขึ้น
และในฐานะ Show Director ของพี่กบ
พี่กบ : ทุกวันมันคือตำราบทใหม่ทุกวัน เราจะมีคำถามตลอดว่าเออ มันมีอย่างนี้ด้วยเหรอวะ ถ้าเราตัดสินใจแล้วมันผิดล่ะ เออ ช่างมันโว้ยลองดู (หัวเราะ) คือมันจะมีอะไรแบบนี้อยู่ตลอด จริงๆ ก็ไม่คิดว่าจะได้มาทำตรงนี้หรอก มันเหมือน 2 ปี ที่เหมือนนั่งรถไฟเหาะตีลังกา ก็ได้แต่ขอบคุณโอกาสที่เข้ามาแล้วก็ สำหรับผม Festival มันไม่ใช่แค่เทศกาลดนตรี ความฝันผมมันคือการมาร่วมประสบการณ์ร่วมกัน โอเคในชีวิตจริงผมอาจจะไปเทศกาลดนตรีไม่ได้มากมายนัก แต่มันมีเทศกาลในฝันของผมคือ Fuji Rock ที่ญี่ปุ่น ผมอยากให้เมืองไทยมีแบบนี้ ภาพที่แม่เข็นรถ จูงลูกมาดู เดินผ่านไปดู Kid Zone ผมว่าเมืองไทยทำได้ ใครบอกคนไทยไม่มีระเบียบวินัยผมไม่เชื่อ ผมเชื่อเสมอว่าเราไม่ได้จัดเอาไว้ให้เขาต่างหาก พอมาเจอที่เขาค้อ ผมก็รู้สึกว่าสถานที่มันมีความคล้าย ถ้าเลือกได้ ใน 1 ปี ผมจะทำเฉพาะงานนี้ (หัวเราะ)
แล้ว Rock Mountain ปีๆ ต่อๆ ไปจะเป็นยังไงบ้าง จะเป็นปราสาทเหมือนเดิมไหม
พี่กบ : ยังไม่ได้นิมิต (หัวเราะ) แต่ความสนุกคือเราต้องท้าทายตัวเองตลอดครับว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น ความสนุกคือเราต้องตั้งโจทย์ใหม่ให้ชีวิตตลอด มันจะได้เจอสิ่งใหม่ ทำแบบเดิม มันจะได้คำตอบเดิม มันก็อาจจะไม่สนุก แต่ตอนนี้ยังคิดไม่ออก อาจจะอยู่ที่งบประมาณ
ฝากถึง แฟนๆ กับ งานดนตรี และ Festival ที่จะเกิดขึ้นจากนี้
พี่สงวน : จากที่คุยมาทั้งหมดผมอยากจะบอกว่าทีมงานทุกคนที่เกี่ยวข้องเนี่ย มีความตั้งใจอย่างมหาศาลมากในการทำงาน งานนึงขึ้นมา เราดูรายละเอียดในทุกระบบเพื่อให้คนดู เกิดประสบการณ์ ความประทับใจ เพราะทุกคนต้องการความประทับใจ ต้องการความสุข แล้วกลับมามีพลังในการใช้ชีวิต ผมว่าอยากให้คนที่ไม่เคยไป ไปสัมผัสไม่ว่าจะ Festival ไหน เพื่อให้ลองไปใช้ชีวิตให้ได้สิ่งใหม่ๆ บางคนดูแต่หน้าจอ ดูแต่คลิป ดูแต่ภาพ ผมเชื่อเสมอว่าการไปสัมผัสของจริงกับการดูแต่คลิปดูแต่ภาพ ไม่เหมือนกัน และเราอยากจะฝากว่าให้ซื้อบัตรแท้กันเพราะรายได้ จากตรงนี้เราจะนำไปพัฒนางาน พอเราพัฒนางานมันจะไม่ใช่แค่ของเรา มันจะพัฒนาไปที่ Music Festival อื่น มันจะได้ประโยชน์ทั้งคนดู และอาจจะพัฒนาไปถึงขั้นที่แม้แต่คนต่างชาติมาดูยังว้าว เราตั้งใจให้ถึงจุดๆ นั้น
พี่กบ : อย่างที่บอกไว้ตอนต้นว่าเทศกาลดนตรี ผมไม่อยากให้เป็นแค่มาเสพดนตรีกันอย่างเดียว ผมอยากให้ทุกคนที่มาได้มาใช้ชีวิตได้ประสบการณ์และได้เรียนรู้ร่วมกัน อย่างที่ผมบอกว่าผมอยากเห็นภาพของแม่จูงมือลูกเพื่อบอกว่านี่คืออะไร เขาใช้ชีวิตแบบไหน แล้วให้จำไปได้ตลอดชีวิตว่าครั้งนึงเขาเคยมาเทศกาลดนตรีแบบนี้ อยากให้เมืองไทยไปถึงตรงนั้น ยิ่งมีผู้จัดหลายๆ เจ้า ก็เป็นสิ่งดีที่ทำให้ผู้จัดคนอื่นพอมาดู ต้องบอกเฮ้ย ต้องสร้างสิ่งที่ดีกว่า ซึ่งทำให้วงการมันโตขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนมีแต่ได้กับได้จากสิ่งนี้ ตั้งใจ
พี่เจ๋อ : สำหรับผมก็ขอขอบคุณทีมงานทุกคนก่อน มีคนอีกมากมายที่มีความสามารถที่อยู่เบื้องหลังและไม่ได้มาสัมภาษณ์ในวันนี้ ไม่มีพวกเค้า เรา 3 คน คงไม่รอดขอบคุณทุกคนที่ซื้อบัตร และมาดู ขอบคุณเจ้าของสถานที่ขอบคุณจังหวัดเพชรบูรณ์และผมทิ้งท้ายว่า เราต้องเจอกันอีกแน่นอนเร็วๆ นี้ ติดตาม เพจ genie fest ดีๆ ครับ