ทุกวันนี้เรื่องของเครดิตคนทำงานเพลงเบื้องหลัง คงไม่ได้เห็นจากปกเทป ซีดี มากเท่าในสมัยอดีต แต่ถึงจะเป็นแบบนั้นเราก็ยังโชคดีที่ศิลปินเจ้าของผลงานหลายคนยังคงให้เกียรติคนทำงานด้านนี้โดยให้เครดิตในช่องทางอย่าง YouTube ซึ่งถ้าใครยังใส่ใจหรือชอบที่จะอ่านเครดิตคนทำงานสักเล็กน้อยจะเห็นรายชื่อของบุคลากรด้านนี้หลายคนที่เป็นชื่อใหม่ๆ ในงานเบื้องหลัง คนนึงที่เราไม่สามารถข้ามเค้าไปได้นั่นก็คือ “พีท ตันสกุล” คุณลองค้นใน YouTube ว่า Pete Tanskul แล้วชื่อเพลงที่เขามีส่วนร่วมก็จะขึ้นมาแล้วคุณจะตกใจว่า เฮ้ย! นี่มันเพลงยุคใหม่ๆ ไปซะครึ่งวงการ ใช่แล้วครับ ในฐานะมือ Mix Mastering นี่คือบุคลากรที่คนรู้จักไม่มาก แต่งานที่เขาทำมันมหาศาลมากๆ ศิลปินที่คุณรักทั้งหลาย แสตมป์, ตู่ ภพธร, อิ้งค์ วรันธร ไปจนถึงสาย Hip Hop รุ่นใหม่อย่าง LazyLoxy, OG-Anic หรือไปจนถึง BNK48, เบิร์ด ธงไชย เขาเคยผ่านงานมาหมดแล้ว ถ้าอย่างนั้นเราจะไม่รู้จักผู้ชายคนนี้ได้ยังไง กับเดอะมาสเตอร์ พีท ตันสกุล
“พีท” กับ “ดนตรี” เจอกันได้ยังไง
พีท : ถ้าเอาตั้งแต่เด็ก ผมเริ่มเล่นเปียโนก่อน แบบโดนส่งไปเรียนแต่ก็ไม่ได้ชอบเท่าไหร่ จนเริ่มโตผมก็เริ่มฟังเพลงมากขึ้น เริ่มชอบพวกเพลงที่มีกีตาร์จำได้ว่าตอนนั้น ชอบเพลง “เสี่ยวรำพึง” ของอัสนี-วสันต์มาก คือสงสัยว่ากีตาร์ทำอะไรขนาดนั้นได้ยังไง ก็เริ่มเล่นกีตาร์ เรียนรู้จาก The Guitar, IS Song Hits นี่แหละ (หัวเราะ) ตอนนั้นยังไม่มีสื่อ หาข้อมูลยากมาก พอเริ่มอยู่มัธยมเริ่มตั้งวงกับเพื่อน เริ่มบ้าพวกกีตาร์ ตอนนั้นชอบ Guns & Roses บ้า Slash เริ่มออกไปเล่น เริ่มแต่งเพลง คราวนี้พอแต่งเพลงเราก็เริ่มมีความสงสัยว่า เอ๊ะ แต่งเสร็จแล้วยังไงต่อ จะเอาไปอยู่ในเทป ซีดี ได้ยังไง ก็เริ่มหาข้อมูล ก็เริ่มจากเครื่องอัด 4 แทร็คเอามาลองใช้ดู ซึ่งมันก็สู้ของที่มืออาชีพทำไม่ได้
จุดเริ่มต้นในความชอบด้านการทำงานเสียง
พีท : จริงๆ เรามีความสนใจ แต่ยังไม่ได้มากขนาดนั้น เรื่องพวกนี้ยุคนั้นมันไกลตัวมากๆ ตอนนั้นแค่คิดว่าอยากเรียนดนตรี พอจบ ม.ปลาย ผมก็ลองไปเรียนบริหาร มันไม่ชอบ แต่ถ้าบอกที่บ้านว่าเรียนดนตรีคงไม่ได้ โชคดีที่ญาติผมเขาอยู่อเมริกา ผมก็เลยลองปรึกษาญาติว่าจะไปเรียนยังไงได้บ้าง ผมก็หลอกที่บ้านว่าเรียนวิศวกรรมหุ่นยนต์ (หัวเราะ) ก็ได้ไปเรียนที่ Berklee จนได้ (ยิ้ม) แรกๆ เขาก็จะให้เรียนพวกทฤษฎีดนตรี เรียนกีตาร์นี่แหล่ะ พอขึ้นปี 3 ปี4 เขาก็จะให้เลือกซึ่งตอนนั้นผมก็ชอบด้านพวกเครื่องไม้เครื่องมือห้องอัด โปรดักชั่นต่างๆ ประกอบกับกีตาร์ฮีโร่แบบ Slash ของผมก็ดูไม่น่าจะรุ่ง และขี้เกียจซ้อมด้วย (หัวเราะ) ก็เลยเบนมาทางนี้เต็มตัว เรียนแรกๆ ก็งงนะ แต่เขาก็ค่อยๆ สอนเรื่องพวก Signal Flow สอนว่าแต่ละเครื่องมันทำงานยังไง แล้วก็ช่วยปรับนิสัยผม เพราะห้องเรียนสตูดิโอมันมีจำกัด นักเรียนก็ต้องแย่งกันใช้ เพื่อจะให้ได้เล่นเครื่อง เชื่อมั้ยอยู่เมืองไทยผมไม่เคยตื่นเช้าเลยนะ แต่อยู่ที่นั่นตี 5-6 โมง ผมก็ตื่นแล้วไปต่อคิวเพื่อจะได้ใช้ห้อง สมัยนั้นคำว่า Home Studio หรือการ Mix In The Box มันไกลตัวมากๆ คอมฯ ยังเปิดได้ แค่ 4 แทร็คเลย (หัวเราะ)
กลับมาเมืองไทย ก็เลยมาทางสายนี้
พีท : ไม่เชิง ตอนนั้นผมอยากมาทำงานเป็นโปรดิวเซอร์แต่มีความรู้ด้านอัดเสียงเอาไว้บ้างมากกว่า ก็ยังอยากทำเพลงตัวเอง ก็ได้มาทำ Blissonic ซึ่งก็เป็นจุดเปลี่ยนเพราะเรารู้สึกว่าการทำงานผลงานเพลงไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ อันนี้คือส่วนตัวผม ด้วยตัวเพลงในยุคนั้นหรืออะไรก็ตาม ซึ่งช่วงนี้ผมก็เริ่มทำเกี่ยวกับการมิกซ์เสียงแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำเยอะ ทำอยู่กับเพื่อนๆ อย่างวง โซฟา, กรู๊ฟไรเดอร์ ทำอยู่ไม่กี่เพลง ตอนนั้นเพลงโฆษณาก็ทำ แต่ผมเริ่มรู้สึกตัวว่าเราไปทางด้านแต่งเพลงไม่ได้ แต่ถ้าเป็นอะไรที่เป็นทางเทคนิคเราจะไปได้เร็วกว่า
Blissonic กับ Slash มันดูสวนทางกันมากเลยนะครับ
พีท : (หัวเราะ) ใช่ครับ คือตอนนั้นผมไม่มีวงแล้ว ตอนอยู่อเมริกาผมก็เริ่มสนใจพวกเครื่อง Sequence เราอยากรู้ว่าเออ…ถ้าทำเพลงคนเดียวเนี่ยมันจะมีวิธีไหนได้บ้างวะ (หัวเราะ) ประกอบกับตอนอยู่อเมริกาเราก็ฟังเพลงเยอะขึ้น ก็ไปอินพวกเพลงอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งก็ตามมาด้วยของเล่นมากมาย (หัวเราะ) พวกซินธ์ฯ ต่างๆ เราก็ซื้อมือสองมา เพราะตอนนั้นไม่มี Plug In แล้วถ้าเอาจริงๆ จะบอกว่า Blissonic เป็นงานลองของเล่นก็ได้ (หัวเราะ) แล้วก็ใช้เป็นมุกหลอกจีบแฟนผมนี่แหละ ชวนมาทำเพลง (หัวเราะ) ตอนนั้นมันก็ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ผมเข้าใจได้ เพราะแฟนผมก็ไม่ใช่สายร้องพลังอะไรขนาดนั้น แล้วก็ตลาดเพลงตอนนั้นเวลาไปโชว์ก็ไม่มีคนเข้าใจแนวเราสักเท่าไหร่ เราก็เอนเตอร์เทนคนกันไม่เก่งด้วย
เฟลกับงานเบื้องหน้าหรือเปล่า
พีท : ไม่ครับ คือแม้มันจะไม่ได้ประสบความสำเร็จ แต่พองานผมจบมิกซ์ มาสเตอร์ผมก็ถือว่างานเสร็จแล้วผมโอเคแล้ว ผมรู้อยู่แล้วว่ามันไปวงกว้างไม่ได้ ถ้าทำก็ต้องเอาไว้สนุกกันเอง พอหลังจากงานนี้เราตอบโจทย์ตัวเองได้ว่าเราทำเพลงเบื้องหน้านี่ไม่น่าจะเลี้ยงชีพได้ด้วยงานเดี่ยวๆ แบบนี้ก็เลยเบนไปทางเบื้องหลัง แล้วก่อนจะไปทำงานเบื้องหลังผมก็ไปทำงานออฟฟิศด้วย แต่ก็แอบทำเพลงอยู่ดี จนมาถึงทางเลือกว่าจะเป็น “โปรดิวเซอร์” หรือ “เอ็นจิเนียร์” ดี เราก็สังเกตว่างานที่เราทำเอ็นจีเนียร์ลูกค้าขอบมากกว่า มีคนเข้ามาหามากกว่า ก็เลยเบนมาสายนี้เต็มตัว แม้ตอนหลังก็ยังแอบมาทำ Ghost Cat ก็เถอะ (หัวเราะ)
อุปกรณ์การมิกซ์ในยุคนั้นมีจำกัด ทำให้ทำงานยากขึ้นหรือเปล่า
พีท : ไม่นะ เพราะว่าด้วยอุปกรณ์มีจำกัดนี่แหละ มันก็ต้องแบบทำได้แค่นี้ก็เอาวะ (หัวเราะ) ก็ใช้อุปกรณ์ให้มันเต็มที่ คือตอนกลับมาใหม่ๆ ผมจะดื้อมากเลย ไม่ซื้ออะไรเท่าไหร่ ก็มีพี่ๆ เพื่อนๆ บอกให้ลงทุนเราก็กลัวใช้ของไม่คุ้ม แต่ตอนหลังเราก็เริ่มรู้ว่า เออ อุปกรณ์มันมีผลในการทำงาน ก็เลยเริ่มซื้อมากขึ้น เริ่มลงทุนมากขึ้น
งานชุกช่วงไหน
พีท : ก็รู้สึกจะเป็นช่วง แสตมป์ อัลบั้ม Sci- Fi ที่งานเริ่มเยอะ อืมม แต่ถ้าให้ผมเรียงไทม์ไลน์ผมก็จำไม่ค่อยได้ ผมจะได้งานจากพวกทางสาย Loveis, Spicy Disc ของ Grammy ก็มีนะอย่างพวก ลุลา, ป๊อป ปองกูล จริงๆ ก็มาจากคนที่เราคุ้นเคยนั่นแหละครับ จากกลุ่มคนดนตรีแถวๆ ป็อปนี่แหละ แล้วก็ชวนๆ กันมา
ดูเหมือนว่าศิลปินจะชอบลายเซ็นในผลงานที่ออกทางเพลงป๊อป หรือเพลงที่มี Layer เสียงเยอะๆ
พีท : เอาจริงๆ ผมอยากทำเพลงร็อค แต่ไม่มีคนจ้าง (หัวเราะ) ผมทำงานได้ทุกแนว อย่างล่าสุดเพลง “ให้นานกว่าที่เคย” ของ Klear กับไผ่ พงศธร ผมก็รู้สึกสนุก เพราะปกติก็ไม่ได้ทำแนวนี้สักเท่าไหร่ ก็ได้คุณโน่ ดนัย ธงสินธุศักดิ์ เอางานมาให้ ทำให้ผมได้ลองอะไรใหม่ๆ ตอนนี้ก็อยากทำร็อคหนักๆ มากซึ่งที่ผ่านมาผมก็ทำพวกร็อคแบบป็อป ร็อค อัลเทอร์เนทีฟสไตล์อังกฤษ คนก็นึกว่าผมฟังเพลงสไตล์นั้น แต่สมัยก่อนผมไม่ฟังอังกฤษเลย (หัวเราะ) สายกีตาร์ฮีโร่ล้วนๆ ตอน G3 ครั้งแรกที่อเมริกาผมยังไปดูเลย (หัวเราะ)
เอกลักษณ์ในการทำงานด้านมิกซ์ของ “พีท ตันสกุล”
พีท : คือพวกคนที่ทำงานกับผม จะบอกว่าผมมิกซ์แล้วมันมีมวล ผมก็ถามว่ามวลคืออะไร (หัวเราะ) เขาก็บอกไม่รู้มันเป็นก้อนๆ แน่นๆ ดี (หัวเราะ) ผมว่าก็คงจะเป็นพวกย่าน Low เพราะผมชอบที่จะปั้นเสียงในย่านนี้ค่อนข้างเยอะ ผมมองว่าถ้าย่าน Low มันฟังดูไม่แข็งแรง เพลงมันจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่
มีวิธีการจัดการกับ Source ที่มี Layer เยอะๆ ยังไง
พีท : อย่างแรกถ้าผมได้ไฟล์มา ข้อแรกผมจะจัดตำแหน่งจากซ้ายไปขวา คือบนลงล่าง แทร็คของผมทุกเพลงจะคล้ายๆ กันหมด ผมจะชอบ เบส กลอง กีตาร์ เพอร์คัสชั่น ซินธ์ฯ ก็ทำเป็นสีๆ ให้รู้ว่าอะไร คืออะไร ก็จะง่ายขึ้น จัดกลุ่มเรียงแทร็ค จากนั้นก็มาจัด ท่อนเพลงว่ามีท่อนอะไรบ้าง ต่อไปก็จัดพวกที่ย่านเสียงใกล้ๆ กัน ให้เป็นกรุ๊ปๆ
กับผลงานใหม่ๆ อย่างสาย Hip Hop หรือแม้แต่งานสายไอดอลอย่าง BNK48 ล่ะครับ
พีท : เออ ผมก็ยังงงตัวเองเลย (หัวเราะ) จริงๆ งาน BNK48 ผมอยู่ในขั้นสุดท้ายแล้วคือ Mastering ก็คือเหมือนคนทำ QC เราก็พยายามทำให้ซาวด์ที่มิกซ์มาก่อนหน้า เสียงไม่ห่างจาก AKB48 มากจนเกินไป ก็มีอีกหลายงานนะอย่าง SY51 หรือ Fever ก็ทำอยู่ ก็ท้าทายดี จริงๆ การหาวิธีการทำงานในแนวดนตรีต่างๆ ผมว่ามันเป็นเรื่องสนุกมาก
Analog กับ Digital ในปัจจุบันมองว่าความแตกต่างกันขนาดไหน
พีท : ผมให้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เดี๋ยวนี้ Digital Plug In หรือ Software ต่างๆ มันใกล้กันมากแล้ว แต่ในทางกลับกัน Plug In 10 ตัวก็อาจจะสู้ Compressor Out Board ตัวเดียวไม่ได้ แต่ราคามันก็สูงมาก ปัญหาก็คือคุณจะทุ่มเงินเพื่อ 10 เปอร์เซ็นต์นั้นมั้ย
ความแตกต่างในการทำงานของศิลปินยุคก่อนกับยุคนี้
พีท : ผมเริ่มมิกซ์ตั้งแต่ปี 2000 ตอนนี้ก็จะเข้า 20 ปีแล้ว ก็เห็นความแตกต่างเยอะ เทคโนโลยีเปลี่ยน วิธีการทำงานคนก็ต้องเปลี่ยนตาม เด็กๆ ยุคใหม่ เขาจะไม่เคยทำงานกับข้อจำกัดเยอะๆ สมัยก่อน Analog จริงๆ หรือ Digital ยุคเริ่มต้นมันก็มีข้อจำกัด อย่างมันมีมากสุด 48 แทร็ค คนทำงานสมัยก่อนก็จะคิดแล้วว่าอะไรมันสำคัญ ไม่สำคัญ ปัจจุบันนี้มันเท่าไหร่ก็ได้ จะ 200 แทร็คก็ได้ ถ้าคอมฯ วิ่งไหวก็เอา ยิ่งถ้าเป็นแบบ Analog แท้ๆ แบบสมัยก่อน มี 24 แทร็ค แต่ใช้จริงได้ 23 จะมาอัดมั่วซั่วก็ไม่ได้ แต่มันไม่ใช่อะไรดีหรือไม่ดี แค่วิธีการทำงานมันต่างกัน เพราะปลายทางมันคือสเตอริโอซ้ายขวาอยู่ดี ถึงจะทำมาเยอะแค่ไหนบางอย่างก็ไม่ได้ยินอยู่ดี
กังวลกับการที่เราทำงานเยอะๆ จนมีเอกลักษณ์จะทำให้ซาวด์ของเราไปเบียดกับตัวศิลปิน
พีท : คืออย่างนี้ครับ แรกๆ มีแบบนั้น สมัยก่อนผมอีโก้ แบบอย่ามาเถียงนะ แบบนี้ดีแล้ว แต่อันนี้เถียงในใจ (หัวเราะ) ช่วง 5 ปีแรกมันมี ผมโชคดีมากที่เราเคยเหยียบมาทั้ง 2 ฝั่ง จนเรารู้ว่าแต่ละฝั่งคิดแบบไหน ถ้าเรามีหน้าที่มิกซ์เราก็ต้องตัดตัวตนออกไป ต้องทำให้เพลงตอบโจทย์ศิลปิน โปรดิวเซอร์ให้มากที่สุด เอาจริงๆ มันก็ยังมีความเป็นตัวผมอยู่บ้าง แต่ว่าเราก็ต้องตามโปรดิวเซอร์ ซึ่งโชคดีว่าสิ่งที่เราเสนอมันตรงกับเขาพอดี แต่ถ้ามันไม่ตรงก็ปรับตามได้
คำถามนึงที่เป็นเรื่องคาใจคนฟังเพลง นักฟังเพลง ทำไมซาวด์ของไทยไม่ได้เท่าสากล
พีท : ผมว่าจริงๆ ตอนนี้ยังใกล้กันมากขึ้น จริงๆ อยากให้เรียกว่าแบบที่เราชอบกับไม่ชอบจะดีกว่า เพราะบางครั้งสิ่งที่เราไม่ชอบ คนอื่นก็มองว่าดีก็ได้ คราวนี้ถ้าเราพูดเรื่องคุณภาพการอัดเสียง คุณภาพของซาวด์ ถ้าเราเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว ผมว่าเราบี้เข้ามาใกล้แล้ว คือเด็กสมัยนี้รู้ว่าอะไรคือซาวด์ดี ไม่ดี แล้วไม่เหมือนสมัยก่อนที่เรายังไม่รู้กันเลยว่าซาวด์ดีคืออะไร มันมีสื่อการสอนมากขึ้น เรามี Plug In เหมือนๆ กัน หูคนก็พัฒนามากขึ้น ที่สมัยก่อนเราอาจจะมองว่าทำไมซาวด์มันต่างกัน โอเคเครื่องก็ส่วนนึง แต่การแสวงหาความรู้ตรงนี้สำคัญ ของเราจะเป็นแบบปากต่อปาก พี่คนนี้เขาบอกมาว่าต้องทำอย่างนี้ ก็ต้องทำตามเพราะอะไร ก็เราไม่รู้ว่าจะเอาอะไรมาพิสูจน์ เราหาความรู้กันยากมากไม่มี YouTube ให้ดู แล้วถ้าพี่คนนั้นทำผิด มันก็จะผิดต่อๆ กันมา มันเป็นเรื่องอะไรแบบนี้มากกว่าครับ แต่อย่างนึงที่ผมรู้สึกตั้งแต่ตอนผมไปเรียนคือโอเคเรื่องที่ได้ลองเครื่องเยอะก็ส่วนนึง แต่ฝรั่งมันจะไม่เชื่อง่าย แบบป้ายยายาก (หัวเราะ) จะไม่เหมือนบ้านเราที่แบบต้องใช้เครื่องนี้ ไปว่าก็ไม่ได้เดี๋ยวเราจะดูแย่ ฟังไม่เป็นอีก (หัวเราะ) ก็ที่ต่างกันอาจจะเป็นเรื่องนี้
พอมาถึงวันที่เราสามารถฟังเพลงถึงขนาดแยกความถี่แบบนี้ได้ การฟังวงเก่าๆ ที่เราชอบความรู้สึกต่างไปไหม
พีท : ก็ผมจะแบ่งเป็น 2 แบบ คือการฟังเพลงเพื่อบันเทิงกับการฟังเพลงเพื่อทำงานในเชิงวิเคราะห์ ซึ่งพวกวงเก่าๆ ที่ผมเคยชอบจะตกในตะกร้าแรกคือฟังเพื่อบันเทิงอย่างเดียว ไม่อย่างนั้นเราฟังไม่มีความสุข ยกตัวอย่าง Red Hot Chili Peppers ถ้าผมฟังแบบวิเคราะห์ ผมจะรู้ว่าคำไหนมันเพี้ยน ซึ่งความสุขมันจะหายไปแล้ว เลยต้องแยกกันครับ เคยมีคนเอา Nirvana ที่แบบทำซาวด์ Remaster ใหม่มาให้ผมฟังนะ ทำแบบซาวด์ใหม่เนียนๆ เลย สะอาด แต่ผมฟังแล้วก็ยังรู้สึก เออ มันก็ขาดเสน่ห์นะ ความดิบ ความไม่สมบูรณ์ของมันหายไป (หัวเราะ) ก็กลายเป็นฟังแล้วมันไม่กรั้นจ์ ไม่เหมาะกับตัวเพลงของมันไปเลยก็มี
ในฐานะคนมิกซ์เพลงที่ได้ยินรายละเอียดในการทำงาน อยากฝากอะไรถึงนักดนตรีบ้างครับ
พีท : ก็ในแง่การทำงานพยายามเป็นตัวของตัวเอง คิดเยอะๆ อย่าหยุดเรียนรู้ การฝึกเป็นสิ่งที่ดีครับ แต่อย่าฝึกโดยที่ไม่รู้ ฝึกโดยที่ตอบตัวเองให่ได้ว่ามันมีประโยชน์อะไรกับชีวิตเรา เราจะขโมยเขามาใช้ในงานสร้างสรรค์ของเราได้หรือเปล่า แล้วก็รักษาสุขภาพกันเยอะๆ พักผ่อนกันด้วยครับ