เชื่อว่าทุกคนน่าจะมีศิลปินหรือมือกีตาร์ที่ชอบแน่นอน เราได้เห็นพวกเขาเวลาที่พวกเขาได้โชว์ พวกเขาทั้งใส่อารมณ์เล่นกีตาร์อย่างลื่นไหล ใช่ ฝีมือและความพร้อมในการเล่นเป็นส่วนนึง แต่ว่ามีส่วนที่สำคัญอีกอย่างที่คนส่วนใหญ่มองข้าม กีตาร์ของ “พี่คนนั้น” กีตาร์ตัวสำคัญของศิลปินจะต้องถูกดูแลให้ดีที่สุด เพื่อให้งานที่ออกมานั้นราบรื่น งานละเอียด ที่อยู่บนเส้นด้ายของความรับผิดชอบ และระยะเวลา นอกจากจะต้องเสร็จให้ทัน แล้วมันต้องออกมาดีเรียบร้อยด้วย มีชายคนหนึ่ง ที่ทำงานด้านนี้จนเป็นที่เลื่องลือในวงการเซ็ตอัพกีตาร์ของศิลปิน หนุ่มใหญ่ลูกครึ่งคนนึงกับกระเป๋าทำงานของเขา นั่งเซ็ตอัพกีตาร์ให้ศิลปิน เกาะอยู่ตามคอนเสิร์ตเป็นอาทิตย์ เพื่อให้ได้งานที่ลงตัวที่สุด คนที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “กีตาร์เทคฯ” คนแรกของประเทศที่ออกมาทำงานนอกสถานที่ “พัตเตอร์ ปิยะพงษ์ โพธินิต” ชื่อของนายช่างคนนี้ที่ศิลปินอย่าง bodyslam, Zeal, Clash, getsunova, อพาร์ตเมนต์คุณป้า, Modern Dog ฯลฯ อีกมากที่ยังกล่าวชื่อไม่หมด หรือจะบอกว่าหายากมากที่กีตาร์ของศิลปินดังๆ จะไม่ผ่านมือของเขา วันนี้เราได้พูดคุยกับนายช่างใหญ่ ผู้ตรงไปตรงมาเหมือนคอกีตาร์ที่เขาเซ็ต คำเตือนนิดหน่อยว่าอาจจะมีบางคำที่ขัดใจบางคนบ้าง พัตเตอร์บอกว่า I Don’t Care แต่เขารับฟังเหตุผลแน่นอน เราไปพูดคุยกับเค้ากัน
เริ่มการทำงานในอาชีพนี้ได้อย่างไร
พัตเตอร์ : ผมเริ่มจากการที่ผมเดินผ่านร้านซ่อมกีตาร์ร้านนึงแถวลาดพร้าวซอย 9 ตอนประมาณ ม.3 ก็ชอบแวะเวียนไปนั่งคุย ก็เจอลุงจง แกอยู่ที่ร้าน Guitar Workshop ผมเลยถามแกว่ามีอะไรให้ทำบ้าง แกก็โยนกีตาร์ Hofner ให้ตัวนึง ให้ขัดไม้ ก็ขัดจนหลับ (หัวเราะ) ทำอยู่เป็นปี แล้วก็ค่อยเขยิบมาที่งานวงจร มางานเฟร็ต คือผมทำตั้งแต่ อายุ 15-37 เอาจริงๆ คือผมไม่ได้ถึงกับชอบนะ มันมีช่วงที่ผมเองก็เลิกงานนี้ไปทำพวกงานโปรดักชั่น ทำสตูดิโอถ่ายภาพ ไปเป็นทหารบ้าง คราวนี้มันเริ่มจากที่ผมรู้จัก พี่บอล อพาร์ตเมนต์คุณป้า ผมรู้จักแกตั้งแต่ยังไม่ไป Berklee พอแกไปเรียนกลับมา ก็ให้ผมมาดูกีตาร์ให้ แล้วก็เลยขยับมาเรื่อยๆ
แน่นอนสิ่งที่เราเห็นก็คือ “พัตเตอร์” ทำงานให้ศิลปินเยอะ ศิลปินเบอร์แรกที่ทำเป็นใคร
พัตเตอร์ : ผมเริ่มจากวง Modern Dog เป็นงานแรกที่ผมออกไปซ่อมนอกสถานที่ คือวงเค้าจะมีคอนเสิร์ต แล้วทุกอย่างต้องไปเตรียมตัวที่งาน ที่เค้ารันทรู ปัญหาคือมันจะยุ่งยากมากถ้าเกิดว่ากีตาร์มีปัญหาแล้วต้องขนย้ายไปมา เพื่อไปร้านซ่อมกีตาร์ ผมเลยคิดว่างั้นเราไปนั่งทำตรงนั้นเลย ข้างเวที คือระหว่างซ้อม ตัวไหนมีปัญหาเรานั่งแก้ข้างเวทีเลย ตอนนั้นผมอายุ 20 ซึ่งผมว่าผมเป็นคนแรกเลยที่ออกไปนั่งทำงานข้างนอกแบบนั้น ด้วยความคิดที่ว่าไม่ต้องเอามาฝากไว้ แล้วรอตามระบบ ผมไปนั่งทำงานตรงนั้นเลย
ปัญหาที่เจอ ณ ตอนนั้น
พัตเตอร์ : กีตาร์เพี้ยน คือผมมีความอยากรู้ว่าทำไมกีตาร์ถึงเพี้ยน ในสมัยนั้นจะมีความเชื่อว่าตั้งสายเปล่า กดเฟร็ต 12 ตั้งสายตรง ก็คือจบ คือที่สุดแล้ว นั่นก็คือที่สุดของผมเองเหมือนกัน แต่พอเราไปหน้างานจริงเราเจอปัญหาเช่น ตั้งตรงแล้ว แต่พอเล่นกับเครื่องอื่นทำไมฟังแล้วเพี้ยน มันต้องแก้ยังไง มันเป็นปัญหาที่ต้องแก้โดยการด้นสดไปเรื่อยๆ ถ้าหนังสือวิชาการมี 5 หน้า ผมต้องเริ่มด้วยหน้าที่ 6 มันหลุดจากหนังสือไปแล้ว คือเราลองทำตามหนังสือ แต่มันก็มีปัญหาดังนั้นงานแรกผมแทบไม่ได้ใช้ทฤษฎีเลย ต้องเจอปัญหาด้วยตัวเอง คราวนี้จากคำว่ากีตาร์เพี้ยน ก็เริ่มมีย่อยมาว่าเพี้ยนต่ำหรือเพี้ยนสูง ทำให้เราเจอปัญหามากมายเช่น แอ๊คชั่นต่ำ แอ๊คชั่นสูง ต้องชดเชยค่าการกดสายยังไง เพื่อให้ได้โน้ตที่ตรง คอตรงไป คอแอ่นนิดๆ ต้องตั้งแบบไหน แรงตึงของคอ ทำให้เราได้แก้ปัญหา ก็งานก็ออกมาน่าจะใช้ได้นะ เพราะก็อยู่กับ Modern Dog มาถึงทุกวันนี้ (หัวเราะ)
คิดว่าฝีมือเริ่มเข้าที่ช่วงไหน
พัตเตอร์ : น่าจะตอนผมอยู่ห้องอัด ทุกคนน่าจะทราบว่าห้องอัดมันเป็นคิว ต้องฟิกซ์เวลา เช่นวงนี้มีเวลาอัดเสียงสี่โมง บ่ายสองผมต้องทำกีตาร์เขาให้เสร็จ เพื่อจะเอาไปส่งให้ทันกับเวลา จากตรงนี้สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ก็คือการบริหารเวลา และสปีดในการทำ อย่างยกตัวอย่างสักเคสก็คือ อัด 4 โมง จะต้องใช้กีตาร์บ่าย 2 แต่ผมเพิ่งรู้ว่าจะต้องทำงานนี้ตอนเที่ยง (หัวเราะ) และในคำว่าเที่ยงก็ยังมีย่อยไปว่า ยังไม่ได้ซื้อสายว่ะ (หัวเราะ) ดังนั้นผมต้องจัดการทุกอย่างรวมถึงซื้อสายด้วย ให้ทันก่อนบ่ายสอง ผมดูแลเต็มที่ เพราะต้องบอกว่างานผมส่วนใหญ่เป็นศิลปิน เขาเลือกเรา แล้วมีเวลาจำกัด นั่นคือเหตุผลที่ผมใช้มอเตอร์ไซค์ด้วย ผมเคยวิ่งงาน 3 สตูดิโอตั้งแต่เช้าจนเย็น
งานที่ทำให้เหมือนมีคนรู้จักเป็นวงกว้าง
พัตเตอร์ : ต้องแบ่งเป็น 2 แบบครับ อย่างแรก งานจากพี่บอล อพาร์ตเมนท์ฯ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นงานสตูดิโอ คือผมเซ็ตให้พี่บอลอยู่แล้ว ทีนี้ก็มักจะมีคนที่แวะเวียนเข้ามาใช้บริการห้องอัดแก ซึ่งก็แก๊งๆ แกนั่นแหล่ะ คราวนี้คนเหล่านี้เวลาไปสตูดิโออื่น เขาก็จะเรียกเราไปทำ พอคนที่อีกสตูดิโอเห็นก็จะถามแบบ เฮ้ย!! มีแบบนี้ด้วยเหรอ ดังนั้นงานสตูดิโอผมจะเป็นปากต่อปาก คราวนี้ในส่วนของงานคอนเสิร์ต อย่างที่บอกว่าผมเริ่มจาก Modern Dog ซึ่งทุกคนจะรู้กันว่า Modern Dog งานต้องเนี๊ยบ ถ้าเล่นมีเพี้ยนๆ อาจจะหยุดเล่นได้ทันที คราวนี้พี่เมธีก็แนะนำให้ พี่ยอด bodyslam ใช้งานผม ตอนนั้นบอกตรงๆ ผมยังไม่รู้จักแกเลยนะ (หัวเราะ) คือผมไปที่คอนเสิร์ต ผมจำพี่ตูนได้ แต่คนอื่นไม่รู้ใครเป็นใครผมก็ไหว้หมดทุกคน (หัวเราะ) โอเค วกมาเรื่องกีตาร์ ตอนนั้นปัญหาที่พี่ยอดเจอคือ Musicman ตัวสีม่วง มันเพี้ยนสูง คือสายเปล่า E ตั้งดีดตรง แต่พอกดเฟร็ต 1 F มันจะเพี้ยนขึ้นมานิดนึง มันแก้ไม่ได้จนพี่ยอดกะว่าจะเลิกใช้ตัวนี้แล้ว ผมก็นั่งปล้ำอยู่ 1 วันเต็มๆ กีตาร์ตัวเดียว จนสามารถทำได้ ต้องบอกแบบนี้นะครับว่าไม่ได้หมายความว่า Musicman รุ่นนี้จะเป็นหมดนะครับ แต่งบังเอิญตัวนี้มันเป็น ผมก็เลยต้องซ่อม ก็เจอปัญหาและวิธีแก้ก็แก้ได้ ซึ่งถ้าผมเจอเคสแบบนี้ก็สบายล่ะ แต่ขอเก็บเป็นความลับก็แล้วกันนะ (หัวเราะ) จากงานนี้ก็เริ่มมีคนติดต่อมามากขึ้น มาเป็น Clash แล้วก็ Tattoo Color จริงๆ จะบอกว่า Smallroom ทั้งค่ายก็ได้นะ (หัวเราะ)
ถ้าเป็น Smallroom ด้วยรูปแบบของศิลปินแต่ละเบอร์ก็จะค่อนข้างแตกต่าง
พัตเตอร์ : ใช่ ผมจะเริ่มเจองานแปลกๆ บ้างแล้ว เป็นกีตาร์แปลกๆ คือพวก Strat, Gibson Standard นี่หลบไปเลย (หัวเราะ) ผมเจอปัญหาเช่นทำ Jazz Master ยังไงไม่ให้หย่องกระเด็น อะไรแบบนี้มันทำให้ผมได้ทำการบ้านมากขึ้น บางตัวก็ต้องมีมาทำที่บ้านผมเองบ้าง
ถ้าอย่างนั้น เราไม่ให้เทคนิคเชี่ยน ของมือกีตาร์นั้นๆ ทำ หรือประสานกันล่ะ
พัตเตอร์ : คือแบบนี้ ในยุคนั้นผมเข้าใจว่า กีตาร์เทคฯ เนี่ย เป็นคนที่อาจจะคอยเปลี่ยนสาย คอยส่งกีตาร์ คอยจัดการตรงนี้ให้ แต่ไม่ใช่ในเชิง “ซ่อมหรือเซ็ตอัพ” คือในรูปแบบของผม ผมไม่ใช่คนที่จะส่งกีตาร์ให้ หน้าที่ของผมคือมีโต๊ะในห้องแต่งตัว มันจะเป็นงานอีกแบบ อันนั้นจะเป็นงานของบุคลากรของเค้า เราต้องให้เกียรติ ผมมีหน้าที่แค่เซ็ตอัพเสร็จ เอาไปวางแล้วแจ้งทีมงานของเค้า ผมจะเขียนวันที่ทำเสร็จกับพวกรายละเอียด อย่างเบอร์สายไว้เลย เพราะกีตาร์เหล่านี้จะถูกคำนวณว่าจะต้องเอาไปเล่นตอนไหน เล่นกี่โมง ตัวไหนจะเป็นหลัก ตัวไหนจะเป็นตัวที่ต้องเปลี่ยนสายก่อนโชว์ทุกอย่างถูกคำนวณไว้หมดแล้ว
แล้วอย่างนี้ไม่ได้ทำงานให้กับคนทั่วไปเหรอ
พัตเตอร์ : ทำครับ แต่คือต้องบอกแบบนี้ งานของศิลปินที่ผมรับโดยส่วนใหญ่จะเป็นคอนเสิร์ต ซึ่งผมก็จะต้องอยู่ ณ วันที่เขาซ้อมบางครั้งก็เป็นอาทิตย์ เป็นเดือน คือบางคนจะบอกผมหยิ่งหรือเปล่ามีช่วงว่างๆ ก็น่าจะทำให้ได้ คือมันจะมีบางทีที่ผมทำให้ศิลปินสมมติวง A มีเวลา 4 วัน แต่ผมทำเสร็จก่อน ใช้เวลา 2 วันเสร็จ วันที่ 3 ผมจะไม่ไปนะ แล้ววันที่ 4 ก็จะค่อยโทรถามว่าจะเอาอะไรเพิ่มเติมไหมนิดๆ หน่อยๆ พูดง่ายๆ ก็คือผมต้องสแตนด์บายไว้ คราวนี้พองานวง A จบ คราวนี้คิวต่อไปใคร คุณมาก่อน หรือมีวง B มาก่อน ซึ่งผมจะรันตามคิวนะครับ ถ้าเกิดหลังจากนี้วง A มาผมก็จะไม่รับทำนะครับ โอเคถ้าสมมติหลังวง A แล้วไม่มีอะไรก็มาคุยกันได้ว่าต้องการอะไร อยากทำอะไร เพราะผมจะทำให้เต็มที่ทั้งหมดอยู่แล้ว
แล้วต้องคุยกับพวกทีมงานซาวด์เอ็นจิเนียร์ไหม สมมติมีกรณีกีตาร์ไม่แมตช์กับแอมป์ หรืออาจจะมีปัญหาอื่นๆ
พัตเตอร์ : มีครับ ผมเรียกว่าการทำการพิสูจน์ทราบ พิสูจน์หลักฐาน เช่นกีตาร์ตัวนึง เราลองกับแอมป์ก่อนขึ้นไม่มีปัญหา แต่พอเอาขึ้นไปเล่นแล้วมันมีปัญหาขึ้นมา เอาล่ะตรงนี้ก็ต้องมาดู สมมติเช็ก Pickup แล้วมีปัญหา ถอดเอฟเฟ็กต์ต่อตรง อ้าว ไม่มีปัญหา งั้นก็ต้องเช็กระบบเอฟเฟ็กต์ บางครั้งก็เป็นที่ DI หรืออะไรก็ตามถ้าไม่ใช่เกี่ยวกับกีตาร์ ผมก็จะถอยแล้ว ปล่อยให้คนมีหน้าที่ทำไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะไม่มีปัญหาเลย อย่างบางงานก็มีที่กีตาร์เรามีปัญหา ทุกคนบอกตรงกัน เราก็ต้องมาแก้ไข คือทุกอย่างมันเป็นการทำงานร่วมกันน่ะครับ
อีกกลุ่มนึงที่น่าจะทำให้พัตเตอร์ปวดหัวได้เหมือนกันก็คือสายนักสะสม ตรงนี้ทำงานยากไหมครับ
พัตเตอร์ : ต้องแยกเป็น 2 กลุ่มก่อนครับ กลุ่มแรกคือเก็บอย่างเดียว อีกกลุ่มคือซื้อมาขายไป ปัญหาต่างกัน กลุ่มแรกปัญหาคือเราต้องดูแลกีตาร์หลายๆ ตัวให้อยู่ในสภาพที่อยู่ได้ คือไม่ต้องถึงกับดีมาก แต่ไม่ให้เป็นสนิม ไม่ให้เป็นเชื้อรา ผมยกตัวอย่าง อย่างคุณโชค บูลกุล แกจะแขวนกีตาร์โชว์ไว้ ถ้าเคยเห็นในรายการ คราวนี้ถ้าดูในทีวีก็จะสวย แต่ว่าถ้าเอาลงมาบางตัวก็จะมีฝุ่นแดง มีสนิม ก็ต้องค่อยๆ ขัด ถอดเอาอะไหล่มาทำความสะอาด ตัวไหนเป็นทองก็เอาไปชุบทอง หรือไม่ก็ซื้อใหม่ใส่เข้าไป แล้วเราก็เรียนแกว่าบางตัวก็อาจจะต้องเก็บใส่กล่อง ซึ่งแกก็ทำนะ ก็จะเป็นรูปแบบนี้ สำหรับนักสะสมที่เก็บจริงๆ ส่วนอีกกลุ่มที่เป็นแบบ ซื้อมาขายไป ตรงนี้งานผมจะยากตรงที่ผมต้องมานั่งอธิบายว่ากีตาร์รายละเอียดเป็นยังไง ผมเป็นคนที่มีความเชื่อว่ากีตาร์ต่างๆ กว่าจะผลิตออกมาได้ แต่ละแบรนด์ต้องผ่านการคิด การจะขายกีตาร์ตัวละแสน สองแสน ไม่ใช่แค่นั่งกินข้าวแล้วเคาะออกมาแน่นอน คราวนี้บางทีผมเจอเคสแบบอาจจะเป็นนักสะสมที่มีอายุหน่อย ซึ่งเขาก็จะเพลงในยุคที่แบบเป็นเสียง Fender, Gibson พอไปซื้อกีตาร์สมมติ ยี่ห้อ A มาราคาเป็นแสน คุณภาพดี งานเนี๊ยบ แต่พอดีดแล้ว บอกเฮ้ย! ทำไมเสียงไม่ดีเลย ไม่เห็นเหมือน Fender อ้าวก็มันไม่ใช่ Fender นี่ครับ คือคนจะนึกว่าซื้อมาแพงๆ แล้วต้องทำได้ทุกอย่างมันก็ไม่ใช่นะครับ ผมจะใช้คำว่าตัวนี้ไม่ใช่ Fender Sound, Gibson Sound แต่จะเป็นซาวด์แบบแบรนด์เขานะ ชอบไหมไม่ชอบ ขาย สวย ดี เก็บ ก็จะมีปัญหาตรงนี้มากกว่า
เคยเจอเคสที่เป็นปัญหาหนักๆ บ้างไหม
พัตเตอร์ : มีครับ เป็นคอนเสิร์ตใหญ่ของ getsunova ปัญหาคือกีตาร์ของคุณนตไม่ดัง แล้วก็เป็นประเด็นดราม่าส่วนตัวของผมพอสมควร คือเรื่องมันมีอยู่ว่ากีตาร์ของนต ตัวนึง นั่นคือ PRS Silver Sky เนี่ย มันเกิดปัญหาคือเสียง Pickup Bridge มันเบามาก Output มันสู้กีตาร์ตัวอื่นไม่ได้ จนนตคิดว่าจะไม่เล่นตัวนี้ด้วยซ้ำ ผมเลยเปลี่ยน Pickup ตัว Bridge แล้วผมก็โพสต์ลงโซเชี่ยลว่าผมแก้ปัญหายังไง คือผมโพสต์ว่า “มันเบาจนใช้งานไม่ได้” ประเด็นคืออย่างนี้ PRS Silver Sky แน่นอนกีตาร์ตัวนี้มีแฟนๆ ของ John Mayer อยู่เยอะ พวกเขาเห็นผมโพสต์ก็บอกว่า ผมอคติกับกีตาร์รุ่นนี้ เสียงมันดีอยู่แล้ว เครื่องมีปัญหาหรือเปล่า บลา บลา กลายเป็นผมไปด่ากีตาร์รุ่นนี้ ซึ่งในความเป็นจริง มันเกิดปัญหาจริงๆ ผมไม่ได้บอกว่ากีตาร์รุ่นนี้ดีหรือไม่ดี แต่ “ณ เวลานั้น” คอนเสิร์ตอีกไม่กี่วันจะต้องเริ่ม สิ่งที่ผม “ต้องทำในเวลาจำกัด” คือแก้ไขปัญหาผมลองหมดทุกทาง แล้วพอผมแก้ปัญหาได้ด้วยวิธีนี้ ผมก็บอกต่อออกไป ผมเป็นคนระวังคำพูดอยู่แล้ว ผมไม่เคยพูดว่าร้ายว่ากีตาร์รุ่นนี้แย่ หรือเสียงไม่ดี ผมไม่เคยใช้คำแบบนั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ตอนนั้นเป็นแบบนี้ กลายเป็นว่าผมโดนถล่มเละเลย แต่ I Don’t Care ผมแค่เอาความจริงมาเล่า
มีหลักและวิธีการเลือกกีตาร์อย่างไร
พัตเตอร์ : หลักการเลือกซื้อกีตาร์ ผมมีหลักง่ายๆ ให้เลย ก็คือเลือกซื้อกีตาร์โดยให้คิดว่าช่างซ่อมกีตาร์ไม่มีอยู่ในโลก คุณลองคิดแค่ว่ามีแค่บ้านคุณกับร้านกีตาร์ ทำไมถึงคิดแบบนั้น ถ้าคุณเลือกกีตาร์โดยคิดว่า เฮ้ย! ตัวนี้แอ็คชั่นสูงไปว่ะ หรือกะว่าจะเปลี่ยนนู่นนี่นั่น แสดงว่าคุณไม่ได้เลือกตัวที่ดีที่สุดแล้ว คุณลองเลือกกีตาร์ 2 ตัว เอามาเทียบกันว่าอันไหนเข้ามือมากกว่า จากนั้นก็มาทดสอบดีดสาย ดูพวก Volume Tone ปิด เปิด ดู Selector ดูว่าการทำงานของวงจรเขาปกติมั้ย ถ้ากีตาร์ตัวนั้นวงจรปกติ แอ็คชั่นเล่นง่าย นั่นคือกีตาร์ที่เหมาะกับคุณ คุณอาจจะไม่ต้องเจอช่างซ่อมเลยก็ได้ แต่ถ้าคุณไปเลือกกีตาร์ปุ๊บดีดแล้ว หน้าช่างลอยมา คิดว่าเดี๋ยวต้องเปลี่ยนนู่นนี่นั่น ความบานปลายจะตามมา
ถามค่าแรงของพัตเตอร์ พัตเตอร์คิดยังไง
พัตเตอร์ : ผมใช้คำว่าสตาร์ทที่ 500 บาทก็แล้วกัน คือบางทีกีตาร์บางตัวก็ไม่ต้องทำอะไรมาก แต่บางตัวลูกค้าก็ต้องการให้ดูแลพิเศษหน่อยก็จะคิดเพิ่มแล้วแต่กรณี ผมจะไม่ใช่ช่างที่รับงานด่วน แบบมาตอนเช้าได้ตอนเย็น เวลาผมทำ ผมจะแกะทุกอย่าง เพื่อดูปัญหา ดูเช็กเป็นจุดๆ ผมจะใช้เวลาต่อ 1 ตัวคือ 2-3 ชั่วโมง ซึ่งบางคนก็มองว่านาน แต่อย่างที่บอกผมดูแลทุกตัวแบบเต็มที่ ซึ่งถ้าคุณไม่แฮปปี้กับราคานี้ก็ไม่เป็นไร ยังมีทางเลือกอื่นอีก อ้าวแล้วแบบนี้ทำไมกีตาร์ข้างเวทีทำไมทำเร็ว กีตาร์ข้างเวทีผมเคยทำและรู้จักอยู่แล้วดังนั้นปัญหาผมจะเข้าใจอยู่เป็นทุนเดิม เรารู้แล้วว่าต้องทำอะไรก็จะเร็ว ผมทำได้เร็วสุด 10 ตัวสำหรับกีตาร์ข้างเวที ซึ่งเสร็จแล้วผมก็คลานกลับบ้านได้เลย (หัวเราะ) ผมจะไม่กั๊กงานไว้กับตัวเอง บางครั้งเคยมีคนถามว่าพี่ครับผมอยู่ตรงนั้น ตรงนี้ผมไปหาใคร ผมจะแนะนำช่างที่ใกล้ๆ เขาให้ด้วยซ้ำ กีตาร์ในเมืองไทยมีมากมายครับ ไม่มีใครทำคนเดียวหรือกลุ่มเดียวได้ทั้งหมดหรอก
มีอะไรจะฝากถึงมือกีตาร์ชาวไทย จากใจของนายช่าง
พัตเตอร์ : คำถามที่ผมเจอบ่อยๆ อย่างเช่นสายกีตาร์ผมซื้อที่ไหนดีครับ ยี่ห้ออะไรดี ผมอยากบอกว่าสายอะไรก็ได้ ยี่ห้ออะไรก็ได้ ขอให้ซื้อของแท้ ซื้อผ่านตัวแทนที่ถูกต้องหรือผู้ค้าที่ซื้อจากตัวแทนจำหน่าย ยุคนี้ผมว่าเช็กไม่ยาก แล้วก็เรื่องของกีตาร์นิยม วัตถุนิยม แพงต้องดี จริงเหรอ? แพงน่ะดี ใช่ แต่ว่าเหมาะกับคุณไหมอีกเรื่อง มีหลายคนมากที่เล่นเพลงสไตล์นึง แต่เดินทางในวัตถุกีตาร์อีกแบบนึงซึ่งไม่ได้เข้ากัน มีคนทำอะไรแบบนี้เยอะ บางครั้งก็ยอมรับอะไรบางอย่างไม่ได้เป็นเรื่องเสียศักดิ์ศรี ไม่มีอะไรผิดถูก EMG ไม่ผิด Single Coil ไม่ผิด Kemper ก็ไม่ผิด ก้อนก็ไม่ผิด ทุกอย่างมีแนวทางเหมือนเพลง เพลงที่เล่นเสียงแตก เพลงที่เสียงคลีนก็ไม่ได้ผิด ดังนั้นเราอย่าไปแบ่งแยกกัน กีตาร์มันคือความสุขของคนที่นิยมไม่มีผิดไม่มีถูก เราชอบแบบนั้นก็เอาแบบนั้น เรามีเงินเลือกซื้อ เราก็ซื้อ เราไม่มีเงินก็พิจารณานานหน่อย ให้เวลา ดูข้อมูลให้เยอะ แล้วเอาข้อมูลหลายๆ ด้านมาเจอกันแล้วตัดสินใจครับ