ในตลาดเพลงไทย เราจะเห็นว่าช่วงนี้เพลงในลักษณะที่เป็น Black Music อย่างเช่น Hip Hop, Soul, R&B ถูกผสมเข้ามาในผลงานศิลปินบ้านเรามากมาย และที่น่าสนใจก็คือในมุมมองของกีตาร์ เชื่อว่าถ้าใครยังพอติดตามวงการกีตาร์อยู่คงเคยได้ยินคำว่า Neo Soul กันบ้างนี่เป็นการเล่นกีตาร์ในรูปแบบที่กำลังเป็นที่นิยมมากโดยเฉพาะสายมือกีตาร์สตูดิโอ เซสชั่น แบ๊คอัพ หรือแม้แต่ศิลปินบ้านเราก็ตาม แล้วสิ่งนี้มันคืออะไรยังไง คนนึงที่น่าจะให้คำตอบเราได้ดีก็คือชายคนนี้ มือกีตาร์ที่เรียกว่าเนื้อหอมที่สุดในช่วงเวลานี้เลย “ต๊ะ วรเศรษฐ์ อภิญญาวัชรกุล” ถ้าคุณดูเครดิตเพลงไทย คนเล่นกีตาร์ คุณจะเห็นชื่อนี้บ่อยถึงบ่อยมาก เขาเป็นใคร ทำไมถึงได้รับการไว้ใจจากศิลปินมากมาย แล้วเขาเกี่ยวข้องอะไรกับ Neo Soul เราจะมาทำความรู้จัก ที่มาที่ไปมือกีตาร์สุดฮอตผู้นี้กัน
กับการหลงใหลใน “ดนตรี”
ต๊ะ : ผมเริ่มรู้จักดนตรีเร็ว พ่อผมเป็นมือกีตาร์ แล้วก็มีเพื่อนพ่อเป็นมือกลอง เพื่อนพ่อเอา VDO Michael Jackson ให้ดู ผมเลยเริ่มรู้จักดนตรี เสร็จแล้วก็ไปเรียนพวกคีย์บอร์ด เปียโน จนอายุได้ 15 ผมได้ยินเพื่อนๆ วง Mild คือพวกนี้เรียนมาด้วยกันกับผมเลย เขาพูดถึง X Japan กัน พอผมเห็น Hide (ฮิเดะ) ผมก็เลยอยากเล่นกีตาร์บ้าง เลยเปลี่ยนไปเล่นกีตาร์ (หัวเราะ) พอขึ้น ม.ปลาย ผมก็เริ่มเปลี่ยนแนว เล่นพวกเพลงหนักๆ อย่างพวก Korn, Limp Bitzkit หลุดไป Death Metal ส่วนพวกวง Mild ไปทางเพลงแบบพี่บอย โกสิยพงษ์ (ยิ้ม)
กับการหยิบกีตาร์ฝึกอย่างจริงจัง
ต๊ะ : อันนี้ต้องขอบคุณเต่าวง Mild คือตอนนั้นเขาบอกผมว่า เขากำลังแกะพวก Steve Vai, Dream Theater อยู่ เขาบอกว่ามึงน่าจะเล่นไม่ได้หรอก (หัวเราะ) โดนขิง (แปลว่าเกทับ อวด ในปัจจุบัน) ใส่ (หัวเราะ) ทำให้ผมฮึดเลย มา!! เดี๋ยวมึงเจอกู (หัวเราะ) ก็เลยเริ่มเล่นจริงจัง
เกือบเป็น ต๊ะ วง MILD
ต๊ะ : ตอนนั้นผมเล่นกีตาร์ไม่เป็นครับ แล้ว Mild มีกีตาร์อยู่แล้ว 2 คน ผมก็เล่นคีย์บอร์ด เปียโน ซึ่งตอนนั้นคอร์ดอะไรผมก็จับไม่เป็น อ่านเป็นแต่โน้ตคลาสสิค เป็นเด็กทรงแบบนั้นเลย (หัวเราะ) พอหลังจากผมเริ่มเล่นพวกกีตาร์ฮีโร่กับเพลงหนักๆ ผมก็มีโอกาสได้ออกผลงานค่ายเดียวกับพี่ป๊อป วรวิทย์ ก็เคยไปแทนพี่ป๊อป ตอนแกทำ Rancorous แล้วก็มีวงของตัวเองชื่อ Dark Wing ผมอยู่สายพวก Death Metal เลย (ยิ้ม)
ตั้งแต่คุยมายังไม่เห็น Soul โผล่มาในชีวิตเลยนะ
ต๊ะ : (หัวเราะ) ใช่ครับ เอาจริงๆ ผมเล่น Soul ไม่นานเท่าไหร่ มันมีจุดพลิกผันตรงที่ผมไปเรียน MI (Musicians Institute) ช่วงนั้น ต้องเท้าความก่อนคือหลังจากช่วงที่ผมเล่น Metal หลังๆ ผมเริ่มหันไปหา Jazz ด้วยค่านิยมที่คนเขาบอกว่าต้องเล่น Jazz ถึงจะเก่ง ตอนนั้นผมก็ลุยศึกษาเลย George Benson, Larry Carlton ซึ่งพ่อเคยเอามาดูตอนเด็กๆ แต่ตอนนั้นก็ยัง Hide เก่งที่สุดในโลกอยู่ (หัวเราะ) พอเราเริ่มลึกไปในทาง Jazz ก็เริ่มอยากจะรู้ว่าพวกมือกีตาร์ที่เราชอบๆ เขามีวิธีคิดยังไง ก็เลยตัดสินใจไปเรียน MI ผมมีความสงสัยตรงที่ Jazz เป็นเรื่องการปลดปล่อยไปไอเดีย แต่ทำยังไงถึงจะให้คน เข้าใจ ณ วันนั้น เราอยากรู้วิธีคิดของไอดอลเราก็เลยตัดสินใจไปเรียน
MI ศูนย์กลางคนดนตรีระดับโลก
ต๊ะ : มันมีความผิดพลาดเกิดขึ้นตอนแรก ผมคิดว่าจะไปเรียนอย่างเดียว แต่ที่บ้านบอกว่ามันมีค่าใช้จ่ายเยอะ ผมเลยต้องทำงานไปด้วย เริ่มเล่นจากการเล่นดนตรีร้านไทย ผมก็เอาสิ่งที่อาจารย์สอนนั่นแหละยัดไปในเพลงตอนแรกก็พอได้ แต่พอนานๆ ไปฟังแล้วก็ชักไม่ค่อยเข้าสักเท่าไร คราวนี้ใน MI ก็จะมีอาจารย์ที่แบบติสต์ไปเลย กับแมสๆ หน่อย ซึ่งผมได้เรียนกับหลายคน มีคนนึงที่ชื่อว่า Vadim Zilbershtien เป็นคนรัสเซีย เขาเป็นมือกีตาร์ Earth Wind & Fire ช่วงปี 2005-2008 คนนี้ผมคิดว่าหลายคนเรียนกับเขานะ อย่าง Mateus Asato ก็น่าจะใช่ แล้วก็ Charles Altura ที่เล่นให้กับ Chick Corea ก็จะสไตล์อวกาศๆ หน่อย ผมได้เจออย่าง Joe Bonamassa ด้วย เอาจริงๆ ได้เจอคนเก่งๆ เยอะมากครับ
การทำงานดนตรีที่เมืองนอก
ต๊ะ : ต้องเริ่มจากตอนเรียน จาก Jazz ผมอยากเป็นมือกีตาร์ R&B แล้ว ผมได้เจอพวกสายที่เป็น Studio Session เยอะขึ้น แล้วอาจารย์ผมอย่าง Vadim เองก็มาทางสายนั้น เอาจริงๆ พวก Neo Soul ก็เริ่มมาแล้วนะ จากกลุ่มพวกอาจารย์นี่แหละ พอเราเรียนสักพัก เราก็เริ่มทำงาน เพราะเงินหมด (หัวเราะ) ผมทำตั้งแต่เป็นอาจารย์ผู้ช่วย ไปจนขับรถส่งอาหาร คราวนี้ด้วยความที่ผมอยากลองเล่นดนตรีพวก R&B ผมเลยไปลงประกาศหางานว่าอยากหาวงเล่นแนวนี้ ก็มีคนตอบตกลงมาซึ่งคนนั้นคือ Deputy ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ของ Rihanna ซึ่งเขาอยู่ค่าย Roc Nation ตอนนั้นเขาทำไซด์โปรเจ็กต์ให้กับศิลปินในค่าย เขาก็เรียกผมไป ทีนี้พอไปทำงานผมได้เจอกับพวกสาย Gospel ผมเลยขอร้องให้พวกนี้สอนผม เพราะผมอยากเรียนรู้ตรงนี้จริงๆ ผมก็เลยอยู่และทำงานกับนักดนตรีสายนี้ ซึ่งนักดนตรีสาย Gospel จะเป็น Backup ค่อนข้างเยอะมากที่นั่น
จนมาถึงเมืองไทย
ต๊ะ : ก็งานแรกจริงๆ คือพี่บุรินทร์นี่ล่ะครับ คือพี่บุรินทร์แกมาทัวร์ที่อเมริกา แล้วแกอยากหานักดนตรีฝรั่งมาเล่นทัวร์ด้วย แต่เหมือนว่าจะหาไม่ได้ คราวนี้พี่บอล อพาร์ตเมนต์ฯ แกก็แนะนำผม คือผมกับพี่บอลเป็นเพื่อนกันในโซเชียลเท่านั้นเลย (หัวเราะ) ผมไม่ได้รู้จักแบบส่วนตัวกับพี่บอลมาก่อน แล้วคราวนี้ผมก็เลยช่วยหานักดนตรีก็ได้อย่าง Isais Elpes ที่ตอนนี้เล่นให้ Lee Ritenour กับทีมเครื่องเป่าของ Justin Timberlake จากนั้นมาผมก็ได้มาเจอกับพี่หนึ่ง จักรวาล ที่ Namm Show ก็ได้พูดคุยกัน คือผมเห็นแกมาที่ Namm แหละ ผมแค่อยากไปพูดคุยขอความรู้อะไรแบบเนี้ย แกก็เลยชวนบอกว่าถ้ากลับไปเมืองไทยก็ลองไปเล่นๆ แจมๆ กัน พอกลับมาเมืองไทยก็ได้มาแจมกับพี่หนึ่ง พี่ดั๊ก ก็แบบโอโห (หัวเราะ) หลังจากนั้น พี่หนึ่งเลยชวนผมไปอัดกีตาร์ในรายการ The Mask Singer ใน Season แรก
งานชุก
ต๊ะ : อืม…ผมว่ามาเรื่อยๆ มากกว่า เพียงแต่มันอาจจะหลากหลายครับ อย่างถ้างานของทางฝรั่ง ผมก็จะทำงานให้กับ Herman Jackson ซึ่งเขาเป็นมือคีย์บอร์ดให้กับศิลปินดังๆ เบอร์ใหญ่ๆ หลายคนเช่น Stevie Wonder, Whitney Houston ก็อาจจะเป็นผลต่องานผมในไทยด้วยที่คนที่ตามสายนี้เขาเลยรู้จัก ก็จะเป็นอย่างแก๊งพี่บอล อพาร์ตเมนต์ฯ ที่ทำให้กับ White Music แล้วก็พวกเป๊ก ผลิตโชค, คชา รวมถึงอย่าง The Rapper 1 ผมก็มาอัดกีตาร์ นี่ยังค้างเพลงกับ NINO อยู่เลย (หัวเราะ) คือพอหลากหลายก็เลยกลายเป็นว่างานชุกล่ะครับ ร็อคๆ ก็มีนะครับ เมทัลก็ยังมีนะ (หัวเราะ)
เรื่องค่าแรงในงานดนตรีของเมืองไทยกับอเมริกาต่างกันไหม
ต๊ะ : ค่อนข้างต่างแต่ว่าพอรวมๆ แล้วมันมีได้มีเสียเกือบจะเท่าๆ กัน อย่างอเมริกาเวลาผมซ้อม ผมจะได้เงินค่ามาซ้อมอาจจะ 75-100 เหรียญ หรือถ้าบินข้ามรัฐผมจะได้ค่าเครืองบิน ค่าเดินทางค่าเสียเวลา ถ้าได้ทัวร์หรือโชว์ก็อาจจะได้งานละ 10,000 เหรียญ อย่างงานเล่นกลางคืนอย่างต่ำสุด เรทคือ 100 เหรียญ ซึ่งถ้ามองแล้วก็อาจจะรู้สึกว่า โอโหได้เยอะมาก แต่ว่าบางครั้งคุณอาจจะได้เล่นแค่ครั้งเดียวหรือ 2-3 ครั้ง แล้วเขาก็อาจจะเปลี่ยนคนเพราะการแข่งขันสูงมาก ซึ่งในไทยสมมติว่าผมได้งานโชว์ผมก็จะได้ยาวๆ 5-10 งานไปเลย แล้วก็สามารถรับงานนอกได้อีกนิดหน่อย สรุปง่ายๆ งานในประเทศไทยมันมีความเสถียรมากกว่า
จำเป็นไหม?? อยากจะเก่งต้องไปเรียนเมืองนอก
ต๊ะ : เอาจริงๆ นะครับคนไทยเก่งสกิลสู้ได้ เรื่องความรู้ ซาวด์ แต่ไม่เข้าใจตัวเพลง คือมีคนเข้าใจ แต่ไม่ใช่ทุกคน เวลาเราเอาศิลปินมาให้ความรู้ในบ้านเรา ส่วนใหญ่เราจะเสพกันแต่ผลงาน สมมติเรา เอา Steve Vai มาทำเวิรค์ชอปเราก็จะได้เรื่องของสกิล เรื่องอะไรกลับมา ซึ่งตรงนี้ผมว่าบ้านเรามีเยอะแล้ว แต่ว่าเราไม่เคยมีเวิร์คชอปจากพวกศิลปินที่เป็น Session เราไม่เคยรู้ว่าทำไมคอร์ดนี้ถึงต้องลงกับเมโลดี้นี้ ทำไมสแนร์ต้องลงตรงนี้ถึงจะเป็นกรู๊ฟ แล้วแต่ละโน้ตเวลาเราเล่นประกอบกันมันมีความหมายอะไร ให้ความหมายอะไร คือ ณ ตรงนี้ผมว่าเรายังมีน้อยเกินไป ทำไมถึงเป็นแบบนั้น เพราะเรามีไอดอลในทางดนตรีตรงส่วนนี้น้อยเกินไปด้วย การได้ยินอะไรต่างๆ ตั้งแต่เด็กมันสำคัญมากนะครับ ถ้าลองดู เกาหลี ญี่ปุ่น เราจะเห็นว่าเขามีคนที่ทำงานด้านนี้เข้าไปเยอะ ทำให้เขาได้ยินอะไรแบบนี้แล้วปลูกฝังกันมาตั้งแต่เด็กๆ เราจะเห็นว่าเกาหลีจะเล่น R&B ได้ค่อนข้างดี
เมื่อพูดถึงต๊ะ คำๆ นึงที่จะโผล่มาก็คือ Neo Soul การเล่นกีตาร์แบบ Neo Soul คืออะไร
ต๊ะ : เรื่องนี้ผมก็ยังคุยกับฝรั่งนะว่ามันคืออะไร เราอาจจะคิดว่ามันเป็นสไตล์เพลง แต่พอผมลงไปคุยกับคนผิวสีจริงๆ เขาก็ให้คำตอบไม่ได้ มันสามารถ Inspire ได้จากหลายทางมากบางคนก็บอกมันก็คือการเล่นแบบคีย์บอร์ดเอามาเล่นบนกีตาร์ หรือจะคิดว่ามาจาก Curtis Mayfield แล้วมาทำให้มันโมเดิร์นขึ้น หรือเพลงแบบ Sade ก็เป็น แต่ผมไปฟังก็ยังไม่ใช่ แล้วพอไปดูพวกสาย Smooth Jazz อย่าง George Benson ก็เล่นแบบนี้มาตั้งนานแล้ว เพราะฉะนั้นผมเลยอยากบอกว่าผมเองก็ไม่รู้และผมหลีกเลี่ยงที่จะบอกว่าตัวเองเป็นกีตาร์แนว Neo Soul ผมจะบอกว่าตัวเองเป็นมือกีตาร์สไตล์ R&B เพื่อที่จะได้เคลียร์ว่าเราจะเป็น R&B Guitar เลย
แต่เอาล่ะ ในเมื่อวันนี้มีมือกีตาร์ที่บอกว่าเล่น Neo Soul เยอะ คิดว่าจะทำยังไงให้มือกีตาร์สไตล์นี้ดูแตกต่างได้
ต๊ะ : ผมว่ามันเป็นเรื่องของโน้ตกับ Phasing ผมมองว่าถ้าสมมติเริ่มที่ Phasing นึง เราจะไปจบที่สตรองบีทไหน แล้วฟังดู Make Sense ด้วย ต้องฟังแล้วเข้าท่า ไม่ใช่ฟังแล้วอะไรวะ เอาจริงๆ ตอนนี้ผมว่าน้องๆ หลายคนมีความเข้าใจว่าพอเราเล่นกีตาร์แบบ Neo Soul ต้องแบบกรีดคอร์ด กรีดสาย คือบางคนเล่นแล้วมันไม่ได้รองรับกับคอร์ด รองรับกับบีท ถ้าจะให้ผมแนะนำคือต้องเล่นกับกลองเยอะๆ แล้วลองใช้ทางคอร์ดสักชุด แล้วลองหาเมโลดี้ให้มันติดหูที่สุดก่อน แล้วเล่นลงไป อย่างพึ่งไปเน้นกรีดสายเลย ให้ลองฝึกแบบนี้ดูก่อน
ทุกวันนี้มีแนวทางการฝึกกีตาร์ยังไง
ต๊ะ : ช่วงหลังๆ ผมทวนของเก่าที่รู้อยู่แล้ว กับซ้อมเพลง พวกลูกฝึกจะน้อยแล้ว ส่วนใหญ่ผมจะซ้อมหาเมโลดี้มากกว่า ซ้อมหาไอเดีย โชคดีที่สมัยก่อนผมฝึกพวกร็อค ฝีกเมทัล จริงๆ ส่วนตัวผมเอาสิ่งที่ผมเคยฝึกนี่แหละมาปรับใช้กับการเล่นในปัจจุบัน แล้วมันสร้างความแตกต่างได้ มันดูหวือหวามากขึ้น
เราเคยได้ยินคำพูดว่ากีตาร์กำลังจะตาย แต่ในขณะที่เราก็เห็นมือกีตาร์สาย Neo Soul งานชุกมาก
ต๊ะ : (หัวเราะ) ใช่ครับ ผมมองว่ามันยากมากที่กีตาร์จะตายเพราะอะไร เพราะว่ากีตาร์มันสามารถพกพาไปไหนก็ได้ ไปกับเราได้ทุกที่ อย่างที่ 2 มันสามารถเป็นเบสก็ได้ เป็นเปียโนก็ได้ มันอยู่ที่ความเข้าใจของเราที่จะเล่น หรือแม้แต่เป็นเครื่องเคาะก็ได้ ถ้าเราเล่นแบบนั้นได้ พกกีตาร์โปร่งไปตัวเดียวก็สบายแล้ว มันมีทั้ง Rhythm และ Harmony กีตาร์มันไม่ได้ตายนะครับ เพียงแต่มันอยู่ในส่วนอื่นของดนตรีมากกว่า อย่างศิลปินบางคนเขาอาจจะอยากได้ยินเสียงแค่คู่เสียงอย่างเดียว แล้วเอาไปใส่เอฟเฟ็กต์ เราก็ไม่รู้ว่ามันเป็นกีตาร์แล้ว หรือว่าบางคนก็ไม่มีกีตาร์เลยในเพลง แต่เวลาไลฟ์แล้วกีตาร์เพียบเลยก็มี
มือปืนรับจ้าง
ต๊ะ : อย่างแรกที่สุดแกะเพลงให้เหมือนที่สุด และพยายามเล่นพาร์ทที่สำคัญในเพลง ผมว่าทุกคนรู้ตรงนี้อยู่แล้ว แต่อีกอย่างคือตรงนี้ผมไม่มั่นใจนะว่าแต่ละงานจะเหมือนกันหรือเปล่า แต่สำหรับผมโชคดีว่าศิลปินที่เลือกผมเขาต้องการความเป็นตัวตนของผมเลยค่อนข้างปล่อย คือเราอาจจะต้องสร้างความเชื่อใจให้กับเจ้าของงานด้วย ทำให้เขาเชื่อว่าเราจะเพิ่มอะไรให้กับเพลงของเขาได้
ฝากข้อคิดให้กับนักดนตรีหรือมือกีตาร์สักหน่อย
ต๊ะ : ผมอยากจะบอกว่าเรื่องของจังหวะเป็นสิ่งสำคัญไม่ว่าจะเล่นแนวไหนก็ตาม สวิง ฟั้งกี้ เรานับที่หนึ่งเหมือนกัน ดังนั้นจงฝึก Rhythm ให้แข็งแรง อย่างที่สองเข้าใจ Harmony ว่าสิ่งที่เราเล่นความหมายของมันคืออะไร พยายามให้มันสื่อสารให้ได้ไม่ใช่เล่นด้วยการเอาลูก Lick มาต่อกัน ส่วนเรื่องการทำงานกับคนอื่น ผมขอบอกเรื่องเวลาผมขอให้ “มาก่อนเวลา” และพยายามรับผิดชอบพาร์ทการเล่นของตัวเองให้เรียบร้อย พาร์ทคุณคิดว่าเจ้าของงานคาดหวังที่จะได้ยิน พอมาเล่นจริงเดี๋ยวเจ้าของงานเขาอยากได้อะไรเพิ่มเขาจะบอกเราเอง และพยายามซ้อมสกิลให้ “เข้าใจ” ด้วย
ขอขอบคุณ : พี่หนุ่ม I GUITAR ที่ช่วยประสานงานในการสัมภาษณ์ให้ครับ