ในช่วงที่แนวเพลงฮิปฮอปกำลังไปได้สวยในตลาด แฟนเพลงจำนวนมากอาจพบว่าจู่ๆ ผลงานเพลงของศิลปินคนโปรด ได้เปลี่ยนจากแนวป็อปจ๋าไปเป็นอินดี้ป๊อป ที่มีจังหวะฮิปฮอปไปแล้ว ซึ่งไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ ในปี 2019 ที่ศิลปินจะเลือกเปลี่ยนแนวเพลงไปจนบางครั้งทำให้คนฟังอย่างเรางงไปได้เหมือนกัน มีศิลปินจำนวนมากที่เปลี่ยนแนวเพลงแล้วประสบความสำเร็จมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Taylor Swift ที่สลัดภาพสาวน้อยไร้เดียงสาดีดกีตาร์ในเพลงรักแนวคันทรี่หวานๆ ไปเป็นสาวแซ่บปากแดงที่ร้องเพลงป๊อปเกี่ยวกับประสบการณ์ความรัก หรือ Ed Sheeran เปลี่ยนลุคจากหนุ่มนักดนตรีขี้อายที่ร้องเพลงป็อปหวานปนเศร้า กลายเป็นศิลปินซูเปอร์สตาร์ที่พร้อมฟาดกีตาร์ด้วยความมั่นใจเบอร์ร้อย การเปลี่ยนแนวดนตรีของทั้งคู่ดึงดูดความสนใจของแฟนเพลงกลุ่มใหม่ได้มากมาย จนสามารถรับตำแหน่งศิลปินตัวท็อประดับโลกไปครอง แต่มันไม่เป็นอย่างนั้นกับทุกคน โดยเฉพาะสายวงดนตรีที่มีอิมเมจของ “นักดนตรี” แฟนเพลงบางส่วนคาดหวังให้พวกเขาสร้างสรรค์คอร์ดกีตาร์เจ๋งๆ ซาวด์เปรี้ยวเด็ดเข็ดฟันออกมาเสมอ พอพวกเขาสลัดอิมเมจที่ตัวเองมี เพื่อไปจับทางที่ป็อปขึ้น เข้าถึงคนได้มากขึ้น ก็มักจะโดนค่อนแขะว่าโดนลัทธิทุนนิยมซื้อไปแล้ว ไม่ว่าผลงานใหม่ของพวกเขาจะดังพลุแตกขนาดไหนก็ตาม
ครั้งนี้เราอยากจะเล่าถึงเคสของวงดนตรีร็อควงหนึ่ง พวกเขาได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก ในฐานะวงดนตรีที่ปลุกกระแสเพลงโฟล์คร็อค แฟนเพลงชื่นชอบซาวด์อะคูสติกแปลกใหม่ที่พวกเขาผสมผสานมาใน 2 อัลบั้มแรก แต่ตอนพวกเขาตัดสินใจจะเปลี่ยนแนวทางในอัลบั้มที่ 3 เสียงตอบรับที่ได้กลับกลายเป็นเชิงลบ ทั้งจากแฟนเพลง สื่อเพลงหัวใหญ่ๆ และนักวิจารณ์ดนตรี บ้างก็ว่านั่นคืออัลบั้ม ที่ธรรมดาและว่างเปล่าที่สุดที่พวกเขาเคยทำออกมา วงดนตรีที่ว่านั่นก็คือ Mumford & Sons นั่นเอง
จุดเปลี่ยน
Mumford & Sons ได้รับการตอบรับที่ดีจากแฟนเพลงในตอนที่พวกเขาปล่อยอัลบั้ม Sigh No More ในปี 2009 และอัลบั้ม Babel ในปี 2012 แฟนเพลงหลายคนติดใจในความแปลกใหม่ของแนวดนตรีโฟล์กร็อคที่ไร้ระเบียบ แต่เปี่ยมด้วยอารมณ์ความรู้สึก พวกเขาสร้างซาวด์ดนตรีที่โดดเด่นด้วยเสียงของแบนโจ และทำให้กระแสของดนตรีโฟล์กร็อกกลับมาอยู่ในสายตานักฟังเพลง Babel เปิดตัวที่อันดับ 1 บนชาร์ตของสหราชอาณาจักรและอเมริกา และกลายเป็นอัลบั้มขายดีแห่งปีของสหราชอาณาจักร โดยขายไปได้มากกว่าล้านชุดทั่วโลก นั่นทำให้ชื่อของ Mumford & Sons กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วสารทิศ และคว้ารางวัลจากเวทีใหญ่ๆ ไปมากมาย รวมถึงเวทีแกรมมี่
แต่พวกเขาก็ทำให้แฟนเพลงเลิกคิ้วในปี 2015 ตอนที่อัลบั้มชุดที่ 3 Wilder Mind ถูกปล่อยออกมา เพราะสิ่งที่หายไปจากอัลบั้มนี้คือเสียงที่หลายคนมองว่าเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ Mumford & Sons แตกต่างจากวงดนตรีอื่น อย่างเสียงของแบนโจนั่นเอง นั่นทำให้ปฏิกิริยาตอบรับที่ได้จากนักวิจารณ์ค่อนข้างผสมไปทั้งบวกและลบ
Billboard วิจารณ์ว่า “Wilder Mind แนะนำสมาชิกของวงอีกครั้งในฐานะเจ้าแห่งเพลงร็อค มันทำได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่แฟนเพลงชอบมากที่สุดเกี่ยวกับพวกเขา นั่นก็คือวิธีเขียนเพลง การสื่ออารมณ์ และความสนุกสนาน” แต่ในขณะเดียวกัน Pitchfork กลับวิจารณ์ว่าอัลบั้ม Wilder Mind “เป็นอัลบั้มร็อคที่ไม่มีความน่าสนใจแม้แต่น้อย เป็นงานลอกเลียนแบบทางดนตรีที่ธรรมดาที่สุด มันขาดความแปลกใหม่ และที่สำคัญที่สุดคือมันขาดแบนโจ สิ่งเดียวที่ทำให้พวกเขาแตกต่างจากวงร็อควงอื่น”
นอกจากความสับสนจากสื่อเพลงหลายเจ้าแล้ว อัลบั้มนี้ยังทำแฟนเพลงมึนตึ้บไปตามๆ กัน แฟนเพลงบางส่วนบอกว่าพวกเขาได้กลายเป็น แม่พิมพ์ตัดคุกกี้ (Cookie Cutter) ไปแล้ว ในเชิงว่าพวกเขาทำอะไรเหมือนๆ กับคนอื่น ไม่มีสไตล์ของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ยังมีแฟนเพลงอีกหลายคน ที่ไม่ติดใจและรู้สึกทึ่งในความกล้าที่จะเปลี่ยนแนวเพลงของ Mumford & Sons แต่แน่นอนว่าเรื่องดราม่าของอัลบั้มนี้ ทำเอาพวกเขาเสียสูญไปไม่น้อย
“หลายคนได้ยินเพลง Believe (ซิงเกิ้ลนำจากอัลบั้ม Wilder Mind) แล้วก็กดรีวิวให้เราแค่ 1 ดาวแล้ว ทั้งที่อัลบั้มเต็มยังไม่ทันได้ปล่อยออกมาด้วยซ้ำ ผมคิดว่ามันคงเป็นเรื่องยากสำหรับแฟนเพลงของเรา” มือเบสของวง Ted Dwane กล่าว
ให้ดนตรีพูดแทน
“ยิ่งเราให้สัมภาษณ์กับสื่อมากเท่าไหร่ อัลบั้มนี้ก็ยิ่งกลายเป็นถ้อยแถลงมากกว่าที่มันควรจะเป็น ผมคิดว่าเราควรให้ดนตรีพูดแทนสิ่งที่เราอยากจะบอกทุกคน”
Ben Lovett มือคีย์บอร์ดของวงเคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ NME ตอนถูกถามเรื่องความท้าทาย จากกระแสตอบรับของ Wilder Mind ในแง่หนึ่งนี่ก็เป็นอัลบั้มที่ท้าทายตัวตนและเอกลักษณ์ที่ทุกคนรู้จักของ Mumford & Sons พวกเขาเลือกที่จะสละซาวด์ที่แฟนเพลงจดจำได้ เพื่อเข้าไปแข่งกับวงอื่นๆ ในสนามดนตรีที่มีผู้แข่งขันหนาแน่นมากอยู่แล้ว
สิ่งที่น่าแปลกใจคือ แม้จะได้รับเสียงตอบรับจากแฟนเพลงไม่สู้ดีนัก แต่อัลบั้ม Wilder Mind กลับทะยานขึ้นไปครองอันดับ 1 บนชาร์ตเพลงหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร
“เวลาที่คุณเอาทุกองค์ประกอบที่คนจำได้ออกทั้งหมด คุณต้องถามตัวเองว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้เราเป็นเราอย่างแท้จริง”
Marcus Mumford มองเห็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างแฟนเพลงและดนตรีของพวกเขา “สำหรับพวกเราแล้ว สิ่งที่มาก่อนอื่นใดเลยคือดนตรี เรารับใช้ดนตรี และดนตรีก็รับใช้คนดูอีกทีหนึ่ง” Mumford & Sons ไม่ได้มองว่าเอกลักษณ์ของพวกเขาคือแบนโจหรือแนวดนตรีโฟล์ค แต่เป็นความคิดสร้างสรรค์และการเรียบเรียงเพลงที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบทุกกระเบียดนิ้ว ซึ่งสิ่งนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลย
Delta บทสรุปบนทางเดินใหม่
“ความกระหายที่จะสร้างสรรค์ซาวด์ดนตรีใหม่ๆ ของพวกเขานั้นน่านับถือ” – NME
ในปี 2018 Mumford & Sons ปล่อยอัลบั้มเต็มอัลบั้มที่ 4 ออกมา Delta กลายเป็นอัลบั้มที่ทำให้เราเห็นว่าวงดนตรีโฟล์คร็อคที่เรารู้จักยังสามารถสร้างตัวตนใหม่ออกมาได้อีกครั้ง จริงๆ แล้วเป็นเรื่องน่าประทับใจด้วยซ้ำ เพราะมันคงเป็นเรื่องยากมากสำหรับวงดนตรีที่มีอายุวงมากกว่า 30 ปี และสร้างชื่อให้ตัวเองในระดับโลกไปแล้ว จะกลับมาทดลองและเริ่มต้นใหม่กับแนวดนตรีที่คนไม่คุ้นเคย
Mumford & Sons เปลี่ยนซาวด์อิเล็กทรอนิกส์ใน Wilder Mind ให้เกิดใหม่ในสไตล์อินดี้ R&B ใน Delta นอกจากนั้นยังนำแบนโจกลับมาปัดฝุ่นเสียใหม่ แต่ปรับให้ดูเปลี่ยนจากเดิม อย่าง Woman จับซาวด์ของแบนโจมาวางซ้อนทับกันหลายชั้น จนได้เป็นเพลง R&B ชวนฝัน ครั้งนี้ Mumford & Sons สามารถหยิบองค์ประกอบเก่าๆ มาสร้างสิ่งใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
ถ้าพูดกันตรงๆ หากคนฟังอย่างเราพอโตขึ้นแล้วยังเปลี่ยนแนวเพลงที่ชอบฟังได้ แล้วนับประสาอะไรกับศิลปินที่อยากพัฒนาแนวทางดนตรีและทดลองแนวใหม่ๆ เสมออย่าง Mumford & Sons พวกเขาเริ่มต้นจากการเป็นวงร็อค แต่ดันชนะบิงโกสร้างชื่อขึ้นมาตอนทดลองผสมแนวเพลงโฟล์กเข้าไปในอัลบั้ม บางทีเราอาจจะไม่ชอบบางสไตล์ที่พวกเขาทำ แต่เชื่อเถอะว่า การให้ศิลปินมีอิสระ 100% ในการทำเพลงนั้นจะสร้างปาฏิหาริย์ต่อวงการเพลงได้เสมอ
และอีกไม่นานนี้ Mumford & Sons จะมาเปิดคอนเสิร์ตแรกที่ประเทศไทย โดยการแสดง จะมีขึ้นในคืนวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายนนี้ ที่จีเอ็มเอ็ม ไลฟ์ เฮาส์ ชั้น 8 เซ็นทรัลเวิลด์ แฟนเพลงไม่ควรพลาด Mumford & Sons Live in Bangkok ซื้อบัตรได้ที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ทุกสาขา หรือคลิก www.thaiticketmajor.com สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 0-2262-3838