JAM Fest เป็นเทศกาลดนตรีที่จัดขึ้นเป็นปีที่สองติดต่อกัน เมื่อปีที่แล้ว บัตรถูกจำหน่ายหมดอย่างรวดเร็ว ซึ่งคนที่มีโอกาสได้ไปน่าจะรับรู้ได้ถึงบรรยากาศที่เป็นกันเอง และวงดนตรีที่คิดถึง มาถึงปีนี้บัตรก็ใกล้จะหมดแล้วเช่นกัน ซึ่งไม่อยากให้พลาดเฟสติวัลที่อบอุ่นเป็นกันเองอีกหนึ่งงานของบ้านเรา 26 ตุลาคมนี้ ที่ Voice Space ปีนี้ยังคงเต็มไปด้วยไลน์อัพศิลปินที่น่าสนใจ รวม 24 วงดนตรี แต่รายละเอียดทั้งหมดจะมีอะไรบ้างนั้น เรามีโอกาสได้คุยกับ “มอย สามขวัญ ตันสมพงษ์” จาก What The Duck ในฐานะผู้จัดงาน และ “พล หุยประเสริฐ” จาก H.U.I.Production ที่ดูแลโปรดักชั่นงานทั้งหมดของ JAM Fest มาตั้งแต่ปีแรก ทั้งสองจะมาให้ข้อมูลกับเรา พร้อมแนวคิดที่น่าสนใจอีกมากมายในธุรกิจโชว์บิส ลองติดตามบทสัมภาษณ์นี้ไปพร้อมๆ กันครับ
แนวคิดกับ JAM FEST
พี่มอย : เมื่อปีที่แล้ว เราคุยกันว่า เราอยากจัดมิวสิคเฟสติวัล ซึ่งก็มามองดูว่าร่องไหนที่มันยังขาดอยู่ และยังพอมีทางที่จะพอขายได้ รวมถึงต้องเป็นเราอยากทำด้วย ก็ทำการบ้านกันหนักพอสมควร และคุยกันว่าเราอยากดูคอนเสิร์ตแบบไหน ไลน์อัพเป็นยังไง ก็ค่อยๆ ผุดไอเดียกันมา เอา Mood & Tone มิวสิคเฟสฯ ที่เราเคยไป มาดู มาศึกษา แล้วก็เอาไปปรึกษาพี่พล (พล หุยประเสริฐ) ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านการจัดคอนเสิร์ต
พี่พล : จริงๆ ปีที่แล้วคอนเสิร์ตก็ไม่ได้น้อยนะ มี Retro มี 90’s มีรุ่นเด็กๆ อะไรแบบนี้ ก็คุยกันว่าร่องไหนดีที่ยังไม่ค่อยมีคนทำและตลาดพอมีเงิน ก็นึกถึงคนกลุ่มเก่า คนกลุ่มพวกผมนี่แหละ ยุคเบเกอรี่มิวสิค คือต้องอธิบายก่อนว่า Music Business ของบ้านเรามันโตกลับไปกลับมาระหว่าง Main Stream กับ Music Lover ซึ่งมันจะมีอยู่เจเนเรชั่นนึงคือช่วงของ Fat Radio เก่า คือคนที่เป็น Music Lover จริงๆ เลยลงมาที่ช่องนี้ และเป็นที่พวกเราชอบอยู่แล้วด้วย
พี่มอย : ก็เลยคุยกันต่อว่าไลน์อัพพอจะมีใครได้บ้าง ซึ่งก็ถือว่าโชคดีที่ปีที่แล้วเราได้วงอย่าง Flure, Noi Pru, Monotone, 2 Days Ago Kids มาร่วม ซึ่งคนให้การต้อนรับที่ดี
พี่พล : และงาน JAM ก็จะมีการแจมกลุ่มเด็กเข้ามาด้วย เหมือนเป็นการรวม Music Lover ยุคเก่ากับยุคใหม่ ให้งานนี้ดูว่ามีเจเนเรชั่นต่อมาด้วย
พี่มอย : มันก็เหมือนว่าเราอยากจะนำเสนอด้วยล่ะครับ หมายถึงว่าเรามีวงพี่ๆ ที่เราคิดถึงแล้ว เราก็เชื่อว่าเราก็น่าจำเสนอวงน้องๆ ในยุคนี้ที่เราคิดว่าคนดูน่าจะชอบ แบบคนที่ชอบ 2 Days Ago Kids ก็น่าจะชอบ Whal & Dolph ได้ เราก็เลยสอดแทรกวงอินดี้ในยุคนี้แปะไปกับวงพี่ๆ เขาด้วย และด้วยความเป็นมิวสิคเฟสฯ มันต้องมีหลายเวที ก็เลยชวนพี่เมื่อย สครับบ์ คือเขามีโปรเจ็กต์ Dudd (ดูด) คือวงอินดี้ที่ยังไม่มีค่าย และน่าสนใจมาเล่นในอีเว้นท์ของเขาอยู่แล้ว
พี่พล : คือเมื่อยเขาเป็นผู้จัดที่หาศิลปินที่เป็น Music Lover เหมือนกัน เพราะสครับบ์ถือเป็นกลุ่มแฟตหนึ่ง และเป็น Music Lover อย่างแท้จริง คือเมื่อยเขาก็จะหาคนที่เป็นเมื่อยเมื่อสมัยเริ่มแรกๆ คือเป็นวงที่เราไม่รู้จักแต่ผลงานดี งานนี้เลยมี 3 Gen คือแฟตหนึ่ง, กลุ่มที่กำลังขึ้นมา และอีกกลุ่มคืออินดี้ไปเลย
JAM FEST ปีที่ 2
พี่พล : สำหรับผมปีนี้มันยากตรงที่ว่า Music Business มันใหญ่มันโตขึ้น คนลงมาทำตรงนี้เยอะมาก ปัญหาของเราก็คือพอมีมิวสิคเฟสฯ เยอะ เราไม่สามารถเลือกตัวที่เราต้องการมาได้ในความเป็นจริง ยกตัวอย่างนะ สมมุติเราอยากได้ Groove Riders ไลน์อัพจะสมบูรณ์มาก ตรงนี้ก็จะไม่ได้คิวเพราะจะมีคอนเสิร์ตบุรินทร์เดี่ยว คือคอนเสิร์ตมันเยอะจริงๆ
พี่มอย : คอนเสิร์ตปีที่แล้วว่าเยอะแล้ว ปีนี้เยอะกว่ามาก ค่ายเพลงก็ทำคอนเสิร์ต โปรโมเตอร์เยอะขึ้น จะเห็นว่าอาทิตย์นึงมีเยอะมาก จัดชนกันก็ไม่กลัวกันนะ (ยิ้ม) มันก็ดีในทางนึงที่ธุรกิจมันเติบโต คนออกมาดูคอนเสิร์ต ออกมาดูมิวสิคเฟสฯ เยอะ แต่อีกทางนึงเราก็ต้องมาคิดว่าจะทำยังไงให้ไม่เหมือนคนอื่น และคนมาดูเรา เพราะเอาจริงๆ ไลน์อัพ วงมันมีไม่กี่วงหรอก ก็ยอมรับเลยว่าปีนี้ไลน์อัพยากมากๆ แต่สิ่งที่เราเลือกมาสำหรับ JAM Fest ครั้งที่ 2 ไลน์อัพก็ยังแข็งแรงอยู่ ทั้ง P.O.P, อพาร์ทเม้นต์คุณป้า, ธีร์ ไชยเดช, ทีโบน, อาร์มแชร์ และเรายังนำเสนอวงยุคนี้อย่าง Safe Planet, Polycat มาเสริม ผมว่าปีนี้ส่วนผสมมันก็มีความลงตัวอยู่
พี่พล : กับสิ่งที่ JAM Fest มันเป็น มันน่าจะเป็นเรื่องของบรรยากาศด้วยนะ ความแข็งแรงของวงก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่เมื่อเราผ่านปีที่แล้วมา กลับมาครั้งนี้ก็ได้มาเจอความรู้สึกเดิมๆ ที่เราได้เจอในปีที่แล้ว ตรงนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ JAM Fest ยังคงน่าสนใจ
ไลน์อัพศิลปิน
พี่มอย : ปีนี้มี 24 ศิลปินครับ แบ่งเป็น 3 เวที เวทีละ 8 ศิลปิน จริงๆ แล้วไม่เยอะนะครับ JAM Fest จะวางศิลปินไว้ประมาณนี้ คือคุยกันว่าเอาไม่ต้อง “เยอะ” แต่เอาให้มัน “โดน” ให้มันเพียงพอ แต่ละวงจะได้มีเวลาเซ็ตอัพ ให้เขาพร้อมในการเล่น ไม่ใช่แบบให้รีบๆ แล้วก็เลทๆ กันไป ทำให้วงท้ายๆ โดนตัดเพลง เพราะสถานที่ต้องปิดตามเวลา คือเราให้เกียรติวงดนตรีทุกวงที่มา เราอยากให้พวกเขาเล่นกันเต็มที่ ทีนี้ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องทำทุกอย่างให้มันโอเคกับทุกๆ ฝ่าย ทั้งคนที่มางาน และวงดนตรี
พี่พล : จริงๆ ถ้าพูดเรื่องวงดนตรีของ JAM Fest เพราะ Business มันเป็น Lineup Bass คือในการคิดวงดนตรี เราต้องการแค่ 5-6 วงหลักๆ ก็เพียงพอต่อการทำมิวสิคเฟสฯ นี้แล้ว เพียงแต่ว่าเราอยากจะนำเสนอวงอื่นๆ ที่น่าสนใจ มันก็เลยมาเป็น 24 วง
What The Duck X H.U.I Production
พี่พล : ทางผมจะดูตั้งแต่แพลนนิ่งเลย เพราะ Voice Space ไม่เคยจัดมิวสิคเฟสฯ มาก่อน ซึ่งความยากของ JAM Fest มันยากตั้งแต่การทำโซนนิ่งว่าคนจะเดินยังไง เข้ามาตรงนี้ ไปตรงไหนได้ ส่วนเรื่องแสงสีก็จะลดหลั่นกันไป ฮอลล์ใหญ่ก็จะมีความแมสนิดนึง แสงสีเยอะ ส่วน Dudd ของพี่เมื่อยก็แล้วแต่เขาเลย ส่วน Outdoor ก็จะดูวอร์มๆ สบายๆ อันนี้คือของปีที่แล้ว ส่วนปีนี้ด้านโปรดักชั่นน่าจะใหญ่ขึ้นอีก เพราะรู้สึกว่า Outdoor มันต้องดีกว่าปีที่แล้ว
พี่มอย : คือต้องบอกว่าปีแล้วเวที Outdoor เราไม่ได้ตั้งใจให้เป็นเวทีขนาดนั้น เพราะเรามีตลาด มี Food Truck เราแค่อยากหาดนตรีอะคูสติกมาเสริมเท่านั้น แต่กลับเป็นว่าคนที่ออกมาซื้อของกิน เยอะมาก แล้วดูยาวๆ เลย ปีนี้เราเลยอยากทำให้มันเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น ปีนี้ก็เลยมี Outdoor Stage ขึ้นมา ทางพี่พลก็จะมาช่วยดูแลในส่วนของโปรดักชั่นทั้งหมดของงานนี้
JAM Fest ในปีต่อๆ ไป
พี่มอย : ผมแค่อยากจะทำให้ JAM Fest เป็นงานที่เราจะได้ทำกับมันทุกปี ให้มันมีงานใหญ่ประจำปีของค่ายเท่านั้น ไม่ถึงขั้นกับมองว่าปีที่แล้ว สามพันคน ปีต่อไปต้องห้าพัน เราขอรักษาและทำให้มันแข็งแรงมั่นคงก่อน ทีนี้มันจะพาเราไปไหนต่อก็ค่อยว่ากัน เอาจริงๆ ผมอยากให้สามพันคนปีที่แล้วมาปีนี้แล้วมีความสุข แล้วปีหน้าก็อยากจะมาอีก หรืออาจจะไปบอกเพื่อนๆ ว่า “มาสิงานนี้ เจอเพื่อนๆ เต็มไปหมด ไม่เบียดด้วย ห้องน้ำก็โอเค อาหารก็ดี” เท่านี้ผมก็แฮปปี้
พี่พล : เห็นด้วยกับมอย เพราะเราเริ่มต้นเราไม่ได้คิดจะไปแข่งอะไรกับใคร แล้วเราเริ่มเพราะเราอยากลองทำ และเห็นว่าตรงนี้มันไม่มีใครทำ น่าทำ อยากฟัง ก็เลยทำ และทำให้ดีที่สุดในพื้นที่ที่เราทำได้
ปีนี้ธุรกิจโชว์บิสดูคึกคัก คอนเสิร์ต/เฟสติวัลมากมาย ปีหน้าจะไปในทิศทางไหน
พี่พล : โอ้…เรื่องนี้ใหญ่มากครับ จะว่าไงดี อืม..ปีนี้จะเป็นเหมือนการ “เผาหลอก” คือจะมีคนเจ็บตัวจากการทำ Music Business เป็นจำนวนมาก จริงๆ ปีนี้มันชัดมากที่รายเล็กๆ ลงมาตรงนี้ เพราะมันคือธุรกิจปลายน้ำ หมายถึงธุรกิจที่ทำเงินได้ทันที และมันดูเหมือนทำได้ง่าย แต่ปีหน้าทุกคนก็ยังคงลงมาอีก ก็ยังจะเยอะอีก เพราะกว่าที่เราจะเข้าใจว่ามันเยอะเกินไป ต้องใช้เวลา แบบปีนี้เจ็บตัวไปบ้าง แต่ปีหน้ายังไม่เข็ด มันต้องสักสองหมัด (ยิ้ม) เพราะปัญหาใหญ่ของธุรกิจนี้มันไม่สำเร็จคือ “จำนวนศิลปินน้อยเกินไป” ศิลปินเดิมๆ จะถูกใช้วนไปหมด แต่ถ้าดูลงไปลึกๆ ในธุรกิจโชว์บิส มันยังมี Segment ที่มันกำลังโต และผมเชื่อว่ามันยังขายได้ เพียงแต่ตอนนี้คนยังมองมันเบลอมาก และเทไปอยู่ในที่ที่คนคิดว่ามีเงิน ทำแต่เดิมๆ ปีนี้ทำ ปีหน้าทำอีก คนมันก็เบื่อ ไม่ได้เริ่มสร้างอะไรใหม่ๆ ซึ่งจริงๆ ผมคิดว่ามันมีตลาดใหม่ที่น่าสนใจ คือพวก Music Lover กำลังกลับมา ที่บอกไปว่าปีหน้าจะมีคนเจ็บตัว แต่ในความเจ็บตัวนั้น มันจะมีดอกไม้ที่กำลังบานขึ้นมาใหม่ มันมีอะไรสดใสอยู่ แต่เราอาจจะต้องหาให้เจอ
พี่มอย : คือวงการตอนนี้มีศิลปินใหม่ๆ ที่สามารถมีคอนเสิร์ตตัวเองได้และบัตร Sold Out ได้ ไม่ใช่แค่ Whal & Dolph อย่างเดียว ยังมีน้องอิ้งค์, Safe Planet, Polycat ทุกคนสามารถมี Stand Alone คอนเสิร์ตของตัวเองได้ คือมันยังมีโอกาสแหละ แต่ผมว่าผู้จัดต้องแม่นในการที่จะเลือกไลน์อัพ และอย่างที่พี่พลบอก Music Lover กำลังกลับมา เพราะผมรู้สึกว่าวงการเพลงตอนนี้มันดีขึ้น ถ้าพูดในแง่ค่ายเพลงนะครับ ผมว่าทุกๆ ค่ายดีขึ้นด้วยเครื่องไม้เครื่องมือ เมื่อก่อนเราคุยกันเรื่องเทปผีซีดีเถื่อน แต่ทุกวันนี้เราไม่ถามกันแล้วว่าซีดีขายได้มั้ย มาคุยกันในเรื่องของรายได้ของสตรีมมิ่งคุณเป็นยังไง ผมว่าทุกค่ายมีรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำ จากยอดวิวในยูทูบ คุณได้เงินเป็นเรื่องเป็นราว โอเคว่ามันอาจจะไม่ได้ทดแทนยอดขายเทปซีดีสมัยก่อนได้ แต่เมื่อก่อนมันไม่มีเลย ตอนที่สร้างค่ายเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว มันไม่มีรายได้จากดิจิตอลเลย ตอนนี้มันมีขึ้นมา และดีวันดีคืน ผมว่าเป็นเรื่องที่ดี และสมัยนี้ Music Lover พร้อมจะสนับสนุนศิลปิน
พี่พล : อีกปัญหาผมคิดว่าผู้จัดยังมี Mindset เดิมๆ ว่าเข้า 123 นี้ขายได้ แต่จริงๆ มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น คือผมมองว่าที่ธุรกิจโชว์บิสมันมีปัญหาโอเว่อร์ซัพพลายเพราะมันไม่ได้มาแค่ฝั่งเดียว Segment เมืองนอกก็มา อินดี้เมืองนอกก็มา ซึ่งจริงๆ คนที่จะจ่ายกับคอนเสิร์ตมันเยอะขึ้นนะ แต่มันยังไม่พอกับโปรดักท์ที่ลงมา สมมุติกระเป๋าตังค์เรามีอยู่ 5,000 บาท มันโดนทอนไปด้วยสิ่งเหล่านี้ ฉะนั้นคนที่จะมีปัญหาคือผู้จัดเดิมๆ ที่เข้าใจ Mindset เดิมๆ ว่าทำแบบนั้นแบบนี้ขายได้ มันจะไม่เหมือนเดิม ผมมองว่าจริงๆ Music มันกำลังเปลี่ยน ทางของเพลงมันเปลี่ยน คือบอกก่อนว่าตัวผมทำให้ทุกค่ายนะ แกรมมี่, บีอีซี, วอทเดอะดัก, อาร์เอส, สไปรซี่ดิสก์, มิวซิกมูฟ เลยมองเห็นว่าธุรกิจในทุกๆ ช่อง ซึ่งกลุ่มเก่าที่มันเหมือนจะได้ แต่ตอนนี้ไม่ได้ละ แล้วเพลงตอนนี้เปลี่ยนไปมาก อย่างร็อคมันขยับตัวออก ความร็อคในวันนี้ มันไม่ใช่แบบที่เรานึกถึงแล้ว เมื่อทางเพลงเปลี่ยน คนฟังเพลงเปลี่ยน ทาร์เก็ตกรุ๊ปมันเริ่มเห็น เริ่มมองเห็นว่าคนฟังเพลงรุ่นใหม่หน้าตายังไง แล้ว Segment นี้มันดันกลายเป็น Segment ที่ขายได้ ซึ่งมันจะโตขึ้นๆ เพราะคอมมิวนิตี้ใหม่มันเริ่มชัด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ธุรกิจนี้มันก็พัวพันกับงานจ้างผับอีกมันลิงค์กันเป็นก้อน ก็ต้องบาลานซ์กันให้ดีๆ ด้วย
JAM Fest กับการจำหน่ายบัตร
พี่มอย : จริงๆ เราลองเปิดแบบเท่ๆ เก๋ๆ ไปแล้ว แบบลงแค่ชื่องานแต่ไม่ได้บอกชื่อศิลปินที่จะมาเลย กระแสจะเป็นยังไงบ้าง เราจะได้รับรู้ในเบื้องต้นว่าเราจะต้องเตรียมการอะไรบ้าง คือเราจะได้ลองวัดผลด้วยว่าถ้าเราไม่ได้บอกอะไรเลย ขายบรรยากาศอย่างเดียว ผลปรากฏก็ดีนะครับ บัตร Sold Out ไป
พี่พล : มันเป็นการวัด Core Target ที่พร้อมจะมา โดยที่ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย คือขายความเชื่อจากปีที่แล้ว ซึ่งผลกลับมามันโอเค
พี่มอย : และตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 5 กันยายน ก็จะเป็นช่วง Early Jam ราคา 800 บาท หลังจากนั้นก็ราคา 1,000 บาท ซื้อบัตรได้ที่ www.boringticket.com เป็นเว็บไซต์ขายบัตรอันใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางค่าย What The Duck ไปร่วมทำด้วย ซึ่งก็จะมีนอกเหนือจากบัตรคอนเสิร์ตด้วย แต่เอาไว้เดี๋ยวชัดๆ แล้วจะชวนมาคุยกันในเรื่องนี้อีกครั้งนึงนะครับ
ขอขอบคุณ : เฟิร์ส, วิ PR What The Duck ที่อำนวยความสะดวกในการสัมภาษณ์ครับ