นี่คือเทศกาลดนตรี (Music Festival) ที่เครมว่า “ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ” สำหรับ “เชียงใหญ่เฟส” การันตีความสนุกสุดมันส์โดย จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และ Zaap Party โดยจะจัดกันที่จังหวัดเชียงใหม่ มาพร้อมกับไลน์อัพศิลปินเบอร์ใหญ่ของประเทศกว่า 40 ศิลปินครบทุกแนวดนตรี นอกจากนี้ยังอัดแน่นด้วยประสบการณ์ความสนุกที่สุดและคุ้มที่สุด ตลอด 2 วัน โดยจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 23 และวันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2562 ณ ลานเนินนุ่ม จ.เชียงใหม่ ยิ่งไปกว่านั้นยังจัดเต็มด้วยโปรดักชั่นสุดอลังการ และยังได้อิ่มท้องไปกับร้านอาหารในเชียงใหม่ที่คัดสรรมาอย่างดีเอาไว้ให้คุณได้อร่อยกว่า 30 ร้าน แถมยังได้ร่วมสัมผัสความสนุกกับ 3 โซนกิจกรรมไลฟ์สไตล์โดนใจ …เรามีโอกาสได้คุยกับ “เจ๋อ ภาวิต จิตรกร” จากจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ และ “บาส เทพวรรณ คณินวรพันธุ์” จาก Zaap Party ทั้งสองคนนี้คือแกนนำคนสำคัญที่ก่อให้เกิดเทศกาลดนตรีในชื่อ “เชียงใหญ่เฟส”
ที่มาของงานคอนเสิร์ต Chang Music Connection Presents เชียงใหญ่เฟส
เจ๋อ : จริงๆ ตอนแรกผมแค่อยากหาเรื่องร่วมมือกับ “บาส” และ Zaap Party ครับ (หัวเราะ) เราแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เมื่อปีที่แล้ว บาสก็เสนอไอเดียมาหลายอย่างซึ่งมีเยอะมากแต่บางอันก็ยังไม่พร้อมสำหรับสถานการณ์ตอนนี้ คราวนี้จุดเริ่มต้นของเชียงใหญ่เฟสคืออะไร คือทาง Grammy เราเห็นว่าศิลปินของเรามีแฟนคลับทางภาคเหนือเยอะมากแต่ปัญหาที่เราเห็นคือการที่แฟนๆ มีส่วนร่วมกับ ShowBiz ของเรามีเพียง 1% นั่นหมายความว่าเขาไม่มาหาเรา เราก็ไม่ได้เป็นฝ่ายเข้าไปหาพวกเขา เพราะฉะนั้นจุดเริ่มเรื่องมันก็มีอยู่เท่านี้เองครับ เราเล็งเห็นว่าทางภาคเหนือ เรามีโอกาสที่จะสร้างแบรนด์ดิ้ง สร้างประสบการณ์ร่วมอีกมาก แล้วบาสก็ค่อนข้างเป็นคนที่เชี่ยวชาญทางตลาดภาคเหนือด้วย ก็เลยชวนเขามาอันนี้ก่อน ซึ่งเราก็เตรียมงานมาประมาณปีนึงพอดี แม้งานอาจจะหลังงานแต่งงานของบาส แต่เราก็คิดมาก่อนแล้ว (หัวเราะ)
บาส : โอโห พี่เจ๋อ ตัดขาผม (หัวเราะ) แต่เชียงใหม่สาวสวยเยอะนะครับ (หัวเราะ)
เจ๋อ : อันนี้ บาสพูดนะครับ ไม่ใช่ผมช่วยลงตัวใหญ่ๆ ด้วย (หัวเราะ)
บาส : จริงๆ ภาคเหนือ หรือถ้าเจาะเป็นเชียงใหม่ เราเคยจัดงานแล้วคนเยอะมาก เป็นรองแค่กรุงเทพฯ ระดับสเกลหลักหมื่นคนเนี่ยมันก็เคยมี ซึ่งก็ซัพพอร์ตกับไอเดียของทางพี่เจ๋อด้วย ก็เลยร่วมมือกัน
แล้วชื่อ “เชียงใหญ่เฟส” ล่ะครับ
เจ๋อ : ตอนแรกบาส เสนอจะใช้ชื่อว่า “ม่วนใจ๋” ซึ่งก็ไม่ได้เป็นชื่อที่ไม่ดีนะ แต่คราวนี้โปรเจ็กต์นี้มันมีคอนเซ็ปต์ 2 อย่างคือ 1 อยากให้ชื่อฟังดูสื่อถึงความเป็นภาคเหนือ 2 คือพูดแล้วให้ฟังดูง่าย คราวนี้ด้วยความที่เราอยากจะสร้างแบรนด์นี้ให้เป็นเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ มันต้องจับต้องได้ คนเหนือต้องการความชัดเจน บอกตรงๆ ไม่อ้อมค้อม และคนเหนือก็เป็นคนที่ร่วมสนุกด้วยไม่ยาก งานนี้คือเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดของเชียงใหม่ และของภาคเหนือ ก็เลยเอาคำว่า “ใหญ่” กับ “เชียงใหม่” มาผสมกันกลายเป็นเชียงใหญ่เฟส
บาส : จริงๆ ตอนแรกผมไปจดทะเบียน Facebook เป็นม่วนใจ๋แล้วนะ (หัวเราะ) คือเราก็คิดชื่อจากพวกเรามุมคนกรุงเทพฯ ซึ่งมีพี่เจ๋อคนเดียวที่แย้งอยู่คือแกไม่ได้ห้ามนะแต่บอกให้ไปทำ Research ก่อน อันนี้คือสิ่งใหม่ที่ผมไม่เคยทำกันมาก่อน ปกติทีมเราทำตามฟีล คิดอะไรก็อันนั้น แต่พอเรามาทำ Research แล้วตกผลึกเป็นชื่อเชียงใหญ่ มันทำให้เวลาเราไปอธิบายใครทุกคนก็เข้าใจง่ายไปหมด ซึ่งเป็นมุมใหม่ที่เราไม่เคยทำเลย พอชื่อมันเข้าใจง่าย การคิดรายละเอียดต่างๆ ของงานมันก็ง่ายขึ้นตามไปด้วย
เจ๋อ : มันเป็นการร่วมมือกันคิดครับ ต้องบอกว่า Grammy เราไม่มีวัฒนธรรมแบบกูใหญ่กูถูก มึงเด็กต้องฟัง ไม่ใช่ แต่บาสมีไอเดีย เรามีไอเดีย แล้วเอามาแชร์กัน บางอย่างเราอาจจะคิดแบบเก่าๆ หรือคิดเยอะไป บาสก็จะมีไอเดียของคนรุ่นใหม่มาแชร์ให้เรา
แล้วแบ่งงานกันยังไงบ้างครับระหว่างทาง Grammy กับ Zaap Party
บาส : ของ Zaap ก็จะเป็นการ ออร์แกไนซ์ฯ โปรดักชั่นต่างๆ ที่เราถนัด ก็จะรับผิดชอบส่วนนี้เป็นหลัก ส่วนที่เป็นจุดอ่อนของผมทั้งหมด ทางพี่เจ๋อก็จะช่วยเสริม
เจ๋อ : เรื่องจริงคือ บาส เขารวยเขาออกเงินทำ ผมรับจ้างเขามาอีกที (หัวเราะ)
บาส : ไม่ใช่แล้วพี่ (หัวเราะ)
เจ๋อ : คือต้องแยกกันเป็น 2 หมวก เพราะงานนี้เป็นการลงทุนร่วมกัน บาสก็จะทำฟังก์ชั่น ครีเอทีฟ โปรดักชั่น ทาง Grammy หลักๆ เลยก็คือทำเรื่องยุทธศาสตร์การขาย B2C และ B2B เรามีประสบการณ์ในเรื่องงานสเกลใหญ่ๆ การตลาด การโปรโมท ซึ่งตรงนี้เราจะมีหน้าที่รับผิดชอบ เรื่องศิลปิน เรื่องลิขสิทธิ์ ก็เป็นทางเราดูแลอยู่แล้ว
ทุกคนน่าจะรู้จัก Grammy อยู่แล้ว แต่กับ Zaap Party มีจุดเริ่มต้นยังไงครับ
บาส : เอาจริงๆ ผมเริ่มจากงานที่เล็กมากๆ และไม่ได้ตั้งใจจะทำงานใหญ่ขนาดนี้เลย คือผมเริ่มจากตอนเรียนธรรมศาสตร์เริ่มทำพวก Charity Concert ซึ่งสวนทางกับหน้าตาผมมาก (หัวเราะ) จัดงานแรกเจ๊ง (หัวเราะ) คือเราไม่มีความรู้อะไรเลย แล้วก็คิดว่าเออ เพื่อนเราเป็นสายปาร์ตี้มันก็ต้องซื้อบัตรกูมั่งวะ ปรากฏว่าไม่มีเลย (หัวเราะ) Zaap Charity Concert ก็พังตั้งแต่แรกเลย (หัวเราะ) คราวนี้เพื่อนๆ ก็บอกว่าผมว่าทำไมไม่ลองจัดเป็นปาร์ตี้ไปก่อนล่ะ ก็เลยลองไปเช้าผับจัดสเกลเล็กๆ แล้วก็ต่อยอดมาเรื่อยๆ
เจ๋อ : ลองไปถามสาวๆ 10 คนในภาคเหนือถามว่ารู้จัก Zaap ไหม เขาก็บอกรู้จัก Zaap ทั้งนั้น บาสบอกผู้หญิง 9 ใน 10 รู้จักหมด(หัวเราะ)
บาส : เนี่ยพี่เจ๋อสร้างงานให้ผมอีกแล้ว บ้านผมสั่นคลอนเลย (หัวเราะ) คือพอเราจัดมาเรื่อยๆ ก็โชคดีที่เราได้โอกาสทำงาน G19 ได้โอกาสทำ Operation ด้านนอกทั้งหมดให้กับ Bodyslam Fest
เจ๋อ : ซึ่งเรามีการวัดผลนะครับ เราไม่ได้มาเข้าข้างกันนะ การจัดคอนเสิร์ตมันไม่ได้เริ่มต้นและจบลงที่ขายบัตร มันเริ่มต้นและจบลงที่ความรู้สึกสุดท้ายของคนเขาให้เรา 5 ดาวหรือเปล่า หรือเขาเข้ามาตอนแรกมีความสุขแต่พอมาในงานแล้วเจอประสบการณ์ไม่ดี ของกินไม่ดี ห้องน้ำไม่มี เดินทางลำบาก ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องเบสิกที่ถ้าเราจะทำเฟสติวัลใหญ่เราต้องกังวลในเรื่องนี้อยู่แล้วบวกกับเป็นที่ใหม่ด้วย แต่พอบาสและ Zaap Party พิสูจน์มาแล้วก็เลยค่อนข้างไว้ใจ
กลับมาที่งานเชียงใหญ่เฟสทาร์เก็ตของงานเราต้องการกลุ่มแฟนกลุ่มไหน
เจ๋อ : เรามองแบบนี้กลุ่มเป้าหมาย ด้วยความเป็นที่ใหม่ มันต้องเริ่มจากแฟนคลับศิลปินก่อน พอเราลองจัดศิลปินให้เยอะที่สุด ใหญ่ที่สุดที่ทำมาในภาคเหนือ ศิลปินก็มีทุกแนว ป๊อป ร็อค อินดี้ ฮิปฮอป มันครอบคลุมหมดผมว่าก็มีตั้งแต่วัยรุ่นไปยันคนทำงาน มันเป็นเทศกาลที่ส่งมอบความสุขปลายปีให้กับคนเชียงใหม่ คนทางภาคเหนือ อันนี้คือหัวใจหลัก
บาส : ในมุมของ Zaap ด้วยชื่อเราก็จะค่อนข้างซัพพอร์ตวัยรุ่นอยู่แล้ว แต่ก็อย่างที่พี่เจ๋อบอกครับ เพราะศิลปินเรามาเยอะมาก เมื่อบวกกับคอนเทนต์ต่างๆ ของงานผมว่ากลุ่มเป้าหมายก็มีหลายช่วงอายุครับ
ในปัจจุบันเรามีงานเทศกาลดนตรีแบบนี้เยอะมาก บางครั้งงานก็มีชนกัน แบบจัดใกล้กัน วันเดียวกัน แบบนี้จะไม่แย่งกลุ่มคนดู คนฟังเหรอครับ
เจ๋อ : ผมเรียนแบบนี้ เคยลองเก็บสถิติไหมครับว่า สิ้นเดือนทุกสิ้นเดือนมีขายบัตรกี่คอนเสิร์ต ปีนึงบ้านเรามี 300 คอนเสิร์ตลองหาร 12 ดู สิ้นเดือนที่ผ่านมาขายชนกันทั้งหมด 8-10 คอนเสิร์ต ซึ่งพอเป็นแบบนี้เราจะเห็นผู้จัดหลายคนบาดเจ็บ แล้วก็มีผู้จัดหน้าใหม่ใจกล้าก็เพิ่มขึ้น ในมุมของ Grammy เราค่อนข้างจะมีความเชียวชาญด้านการวางยุทธศาสตร์ เราไม่ใช่ดูดวงวันขายบัตรนะครับ แต่เราวิเคราะห์กระทั่งว่าวันขายบัตรไหน Traffic ถูกต้อง วางพื้นที่เวลาแม่นยำ เรารู้ว่าอันนี้เราตัดหน้าคู่แข่ง อันนี้เราคิดว่าไม่ชนคู่แข่ง นี่เป็นสิ่งที่เรามองในเบื้องต้น ดังนั้นเราไม่ได้กดดันหรือกังวลในเรื่องของการแข่งขันในการขายบัตร แต่เรากดดันในเรื่องจะทำยังไงให้คนมีพฤติกรรมร่วมกับงานของเรา เอาง่ายๆ เราไปทำ Research มา เชื่อไหมครับ คนเหนือไม่รู้จักคำว่าเฟสติวัลนะครับ เขาจะเข้าใจว่าเป็นคอนเสิร์ตที่มีศิลปินรวมกันเยอะๆ ซึ่งหน้าที่ของเราก็จะต้องทำให้เขาพอจะเห็นภาพว่าเฟสติวัลมันเป็นลักษณะไหน
ในงานเชียงใหญ่เฟสจะมีอะไรบ้าง
บาส : อย่างที่บอกว่าโจทย์แรกคือทำให้ชาวเชียงใหม่รู้จัก เฟสติวัล มากขึ้นเฟสติวัลมีหลายรูปแบบ เราเองก็จะพยายามทำให้เหมาะที่สุดไม่ง่าย ไม่ยากจนเกินไป เราจะยกความเป็นเชียงใหม่เข้าไปในงานให้มากที่สุด เชียงใหม่มีประตูเมือง เราก็จะยกประตูเมืองเข้าไปในงาน รวมถึงคูเมืองด้วย ซึ่งจะเป็นยังไงต้องลองไปดู
เจ๋อ : ซึ่งผมก็จะวัดผลบาสตรงนี้แหละ จะดูสิประตูที่ว่าใหญ่ที่สุดจะขนาดไหน (หัวเราะ) คือผมอยากบอกแบบนี้ การทำเฟสติวัลไม่ใช่แค่เอาศิลปินเข้าไปเขย่ารวมกันแล้วทำ ไลน์อัพเวลา เฟสติวัล คือการดีไซน์ประสบการณ์หมายความว่าสิ่งที่เขามาแม้คนที่ไม่มีเงินซื้อบัตรเขามองจากข้างหน้างาน เขาต้องมีแรงบันดาลใจว่า ถ้าวันหน้ามีเงินซื้อบัตรเขาต้องกลับมา นี่คือดีไซน์ประสบการณ์แรก จากนั้นยังไงต่อครับบาส (หัวเราะ)
บาส : นอกจากประตูเมืองที่ใหญ่ตอบโจทย์พี่เจ๋อแล้ว (หัวเราะ) ฟังก์ชั่นเวทีก็ต้องล้อกับคูเมืองด้วย คือเราจะพยายามให้ได้รับประสบการณ์ความเป็นเชียงใหม่ให้ได้มากที่สุด อย่างโซนอาหารเราจะก็เรียกว่า “กาดเชียงใหญ่” เวทีก็ใหญ่ แต่แน่นอนทุกอย่างต้องเป็นประสบการณ์ที่ “ใหญ่” นี่เป็นโจทย์ของผม
เจ๋อ : ถ้าพูดตามตรงมันคงไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรแต่สิ่งที่ต้องการคือเราอยากให้งานนี้เป็นความร่วมมือของเรากับชุมชน ไม่ใช่พอจัดงานแล้วเราต้องเอา Food Truck ที่ดีที่สุดของกรุงเทพฯ ขึ้นไปไม่ใช่แบบนั้น สำคัญที่สุดเราต้องการเชื่อมต่อกับคนในพื้นที่ด้วย ให้คนพื้นที่เขารู้สึกว่าทุกครั้งที่เรามา เขาทำมาค้าขายได้ด้วย ซึ่งอันนี้ Grammy กับ Zaap เห็นตรงกัน
บาส : แล้วเรายังมีพวกงานแสดงศิลปะของศิลปินทางภาคเหนือด้วย เราพยายามจะ Connect กับคนในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด คือสุดท้ายแล้ว แม้เราจะมีประตูที่ใหญ่ มีแลนด์มาร์คขนาดไหนแต่มันก็มีคนทั่วโลกทำมาหมดแล้ว การบ้านที่สำคัญที่สุดของผมก็คือเราทำงานนี้ให้ใคร เราต้องเป็นเพื่อนกับเขาให้ได้มากที่สุด
ในเรื่องของ ศิลปิน นอกจากที่เป็นศิลปินหลักๆ จะมีศิลปินที่เป็นของพื้นที่เองไหมครับ
บาส : เรามีเวทีที่จะให้ศิลปินในเชียงใหม่ หรือพื้นที่ภาคเหนือที่มีผลงานได้มาแสดงผลงานในครั้งนี้ด้วยนะครับ
เจ๋อ : นี่ก็เป็นผลลัพธ์ที่ดีอีกอย่างหนึ่งที่เราทำการ Research ด้วยความเป็น Festival เราไม่ได้แบบจะต้องอัดแต่ศิลปิน Grammy ศิลปินที่คนเชียงใหม่ชื่นชอบเป็นใครเราก็เชิญมา เพราะฉะนั้นเราสำรวจมาหมดแล้วเพราะฉะนั้นก็จะมีทั้งวงอินดี้ ที่เป็นวงท้องถิ่น แม้แต่ผับ บาร์ เพราะถ้าพูดตรงๆ เรามาตรงนี้เขาอาจจะเสียรายได้ เราก็ร่วมมือกับผับ บาร์ร่วมกันโปรโมต แล้วให้วงที่อยู่ในร้านมีโอกาสมาเล่นในงาน คือทั้งหมดเราทำเพื่อคนเชียงใหม่จริงๆ
บาส : ตอนนี้หลักๆ เรามี 2 เวทีใหญ่ เราแบ่งศิลปินเป็น 2 วัน 2 เวที เราจะแบ่งตามความเหมาะสมของแนวดนตรี เวทีนึงจะมี 2 แนวดนตรี
เจ๋อ : ซึ่งเราไม่ได้แบ่งจากวงใหญ่ วงเล็ก การจัดเรียงของเรา เราจะจัดเรียงวงให้คนมีความอยากในการย้ายเวทีมาดูมากที่สุด
เชียงใหม่ ถือว่าเป็นพื้นที่ของ ”จังหวัดปราบเซียน” แบบถ้าเป็นวง แมส เมนสตรีม คนจะไม่ค่อยตอบรับ ตรงนี้กังวลมั้ยครับ
บาส : อันนี้เราไม่เถียงเลยครับ (หัวเราะ) ที่เราทำการบ้านกันมาปีกว่าก็เพราะเรื่องนี้เลยครับ ผมก็ต้องแบบถามเพื่อนที่มันเที่ยวผับบาร์ว่าตอนนี้ที่นี่เขาเปิดเพลงอะไร (หัวเราะ) เชื่อมั้ยครับเราก็ได้คำตอบแบบที่ทำให้เราแปลกใจอย่างเมื่อก่อนเพลงแบบแด๊นซ์รถเครื่องไม่มี เดี๋ยวนี้เต้นกันยับ (หัวเราะ) อะไรแบบนี้ครับ เราก็ต้องจะมาเท่ๆ คูลๆ อย่างเดียวก็ไม่ได้แล้ว ก็ต้องมาคิดกันใหม่
เจ๋อ : เรื่องความกังวลในจุดนี้ผมว่าทุกคนก็กังวลหมด ด้วยคำว่าปราบเซียนนี่แหล่ะ แต่เราไม่หลงโจทย์ ผมจะได้ยินเรื่องการปราบเซียนอยู่ 2 เรื่อง คือกำลังซื้อ กับพฤติกรรม ผมเชื่ออย่างนึงมาทั้งชีวิตถ้าอะไรที่มันดีจริงๆ ยังไงก็มาดู เพชรย่อมเป็นเพชร ผมอยากยกเคสนึงให้ฟัง ผมไปดูคอนเสิร์ตเกาหลีวงนึง ผมก็อยากไปถามเด็กว่าทำไมถึงซื้อบัตรมาดู ผมก็ไปเจอเด็กคนนึง คืออันนี้ต้องย้ำว่าไม่ได้ดูถูกน้องเขานะครับ แต่เราดูแบบภายนอกเราแค่คิดสงสัยว่าเออ มาทรงนี้แล้วซื้อบัตรเท่าไหร่ พอผมถามน้องเขาตอบว่า ซื้อบัตรแพงสุด ผมเลยถามว่าเอาเงินจากไหน ขอแม่เหรอ น้องบอกว่า บ้า ใครจะให้ สิ้นเปลือง อ้าว แล้วเอาเงินมาจากไหน น้องเขาบอกว่าก็เอาผลไม้ในตู้เย็นแม่ มาทำเป็นร้านน้ำผลไม้ปั่นขายหน้าบ้านเก็บเงินมาดู โอโหผมนี่แบบ แม่งขนลุกเลย (หัวเราะ) คือผมกำลังจะบอกว่าถ้าเราทำงานให้ดี แล้วทำให้เขาชอบเราได้ยังไงเขาก็มาดู การต่อสู้กับการปราบเซียน เราต้องไม่ประมาทแต่หัวใจหลักคือเราต้องทำให้ดีที่สุดก่อน ก็เราพาศิลปินที่ดีที่สุดในประเทศมาถึงที่ อินดี้ที่ดีที่สุดในจังหวัดไปแล้ว เวทีก็ใหญ่สุด ยาวที่สุด ตั้งแต่ภาคเหนือเคยทำมา (ยาว 80 เมตร สูง 20 เมตร) เราเตรียมงานล่วงหน้าเป็นปีๆ ด้วยความรัดกุมเพื่อประสบการณ์และความรู้สึกที่ดีที่สุดของพวกเขา
แน่นอนว่าทุกวันนี้ เทศกาลดนตรีมีเยอะ มองอนาคตของ ธุรกิจดนตรีตรงนี้ว่าจะเป็นยังไงต่อไป
เจ๋อ : ตอนนี้เราอย่าเพิ่งด่วนสรุปว่ามันมีเยอะเกินไป มันอาจจะไม่ได้เป็นแบบที่คิด ผมมองว่าคนจัดต้องเข้มข้นขึ้นในเชิงยุทธศาสตร์ เอางี้ผมแยกเป็นคอนเสิร์ตเดี่ยวๆ กับ เฟสติวัลก็แล้วกัน คอนเสิร์ตเดี่ยวๆ อยู่ที่ความพร้อมแฟนคลับ ถ้าแฟนคลับพร้อมจัดไปเถอะจัดยังไงก็ไม่เจ๊ง คราวนี้เฟสติวัลเป็นเรื่องคอมมิวนิตี้ จริงๆ มันก็คล้ายๆ กัน แต่ คอมมิวนิตี้ไม่ใช่แค่แฟนคลับอย่างเดียว มันเป็นเรื่องของคนรักแบรนด์ การจะจัดเฟสติวัลจะเป็นแนวดนตรีไหนก็ตามมันมีความเสี่ยงสูง เพราะส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบเดียวกันหมด แม้แต่งานจ้างทั่วๆ ไป ซึ่งมีกว่า 1,300 งาน เพราะฉะนั้นหัวใจมันคือเรื่องยุทธศาสตร์ การทำแบรนด์ดิ้ง แล้วก็สร้างคอมมิวนิตี้ การใช้ฐานข้อมูลให้เกิดความแตกต่าง เพราะฉะนั้นผมบอกได้เลยว่าการมีเยอะอาจไม่ใช่ปัญหา แต่คนในยุคนี้ให้คุณค่าความแตกต่างเป็นเรื่องสำคัญ ผมหรือบาสสามารถพูดอะไรก็ได้ แต่ถ้าลูกค้าไม่รู้สึกอะไรมันก็จบ เพราะฉะนั้นในอนาคตมันก็จะวัดกันที่ยุทธศาสตร์ล้วนๆ ถ้ายุทธศาสตร์ไม่แข็ง คุณจะเจ็บหนักที่สุดอย่างที่ไม่เคยเจ็บมาก่อน (หัวเราะ) ผมไม่ได้ขู่คู่แข่ง ผมยินดีมากที่โลกนี้มีการแข่งขัน คำว่ายุทธศาสตร์มันไม่ใช่แค่ครีเอทีฟหน้างานเท่านั้น มันไม่ใช่แค่ใครจัดก็ได้
บาส : พี่เจ๋อเล่นซะผมไปไม่ถูกเลย (หัวเราะ) อย่างผมเองก็เจอแบบที่พี่เจ๋อพูดมาเลยครับ ดังนั้นผมก็เริ่มมาทบทวนใหม่ว่าจะทำยังไง เช่นหาจังหวัดใหม่ๆ ทำสเกลเล็กลง ให้เข้าถึงเด็กๆ มากขึ้นมั้ย มาเน้นที่แบรนด์ดิ้ง คอมมิวนิตี้ของ Zaap ดีมั้ย อะไรแบบนี้ครับ
เจ๋อ : ผมเสริมอีกนิดเดียว เรื่องนึงที่ผมเชื่อมาตลอดคือเรื่องการสร้างทีม ผมว่าตอนนี้คนในอุตสาหกรรมดนตรีหรืออุตสาหกรรรมคอนเสิร์ตมันน้อยเกินไป นี่คือจุดที่ยากมาก คนที่เก่งที่สุดมีไม่เยอะและเกิดใหม่ขึ้นมาน้อย อันนี้เป็นเรื่องน่ากลัวนะครับ เพราะปัจจุบันเราพึ่งพิงความดังของศิลปินกับแฟนคลับเค้าอย่างเดียว แต่เราไม่มีบุคลากรที่ไม่เยอะมากพอ คนแบบบาสนานๆ ก็จะโผล่มาที แล้วพอโผล่มา ยังไม่ทันคิดอะไรทุกคนก็ต้องใช้บาสหมด แล้วพอใช้บาส ไปถึงที่สุด ซัพพลายเออร์ ก็จะใช้เหมือนกันหมด ผมอยากบอกว่าหัวใจสำคัญคือการสร้างทีม ถ้าเราไม่สร้างคนใหม่ๆ ครีเอทีฟสำหรับ Showbiz ก็จะหมด สำหรับผมคำว่ายุทธศาสตร์ไม่ใช่แค่การกำหนดราคาบัตร คำนี้มันแปลว่าการจะทำยังไงให้ชนะ การจะชนะก็มีหลายมิติของการเข้าไปควบคุม เพราะฉะนั้นช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ดีที่สุดที่เราจะเห็นคนเจ๊ง และเห็นความอดทนในการสร้างบุคลากรยุคใหม่
ความคาดหวังในงานครั้งนี้
เจ๋อ : สำหรับผมสิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่ยอดขาย แต่เป็นเรื่องแบรนด์ดิ้ง การที่คนมองเราเป็นอีเวนท์กับการเห็นเราเป็นแบรนด์ดิ้งไม่เหมือนกัน ถ้าเขาเห็นเราเป็นแบรนด์สำหรับประสบการณ์ที่เขารอคอย มันจะสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนผมคาดหวังเรื่องนี้ที่สุด 2 ก็เป็นเรื่องความประทับใจแบรนด์ดิ้งจะได้อยู่ที่ความประทับใจ ความชัดเจน ความจริงใจในการดูแลคนมางานผมก็คาดหวังว่าปีแรกไม่ว่าจะมากี่คนก็ขอให้ประทับใจแล้วอยากมาซ้ำ เอาจริงๆ ถ้าเรามองคนเชียงใหม่เขาก็คือคนที่อยู่ในพื้นที่ตรงนั้นมาตลอดชีวิตดังนั้นถ้าเราทำไม่ดีเราก็อาจจะไม่มีโอกาสได้รับใช้พวกเขาอีก สุดท้ายเรื่องคนดู เราก็หวังว่าจะได้สัก 2 หมื่นคน นี่พูดแบบไม่กั๊กเลยนะ อยากให้คน 2 หมื่นคนนี้อย่างน้อยประทับใจแล้วเราจะมีโอกาสเติบโตได้ ผมก็อยากให้งานนี้มันอยู่ได้แบบยั่งยืนเหมือนบิ๊กเมาท์เท่นครับ
ฝากงานสักหน่อยครับ
เจ๋อ : เทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่ บัตร 900 บาท บัตร 1 ใบเข้าได้ 2 วัน หาร 2 เหลือวันละ 450 หารให้ต่อศิลปินเหลือคนละ 20 บาท (หัวเราะ) ต้องบอกเลยครับว่า ใหญ่เหี้..ๆ (หัวเราะ) อยากใส่แฮชแท๊กนี้จัง (หัวเราะ) ผมขอทิ้งท้ายไว้อย่างนี้ครับผมว่าตอนนี้คอนเริ่มแยกไม่ออกระหว่างคอนเสิร์ตกับเฟสติวัล พี่เต๊ด ยุทธนา สอนผมว่า เฟสติวัล มันต้องมีจิตวิญญาณ ผมกับบาสก็อยากจะทำให้งานครั้งนี้มันมีจิตวิญญาณจริงๆ ถ้าคนยอมเสียเงินเพื่อไปรับประสบการณ์นั่นคือความสำเร็จที่สุดของเรา
บาส : ผมว่าเฟสติวัลที่ดีไม่ใช่แค่ไลน์อัพแต่เป็นรายละเอียด ผมอยากให้ทุกคนมีความสุขเป็นอย่างแรก ก็อยากให้ไปเจอกันที่งานเชียงใหญ่เฟส งานจัดที่ลานเนื้อนุ่มนะครับ วิวดีเห็นดอยสุเทพข้างหลัง ไม่ไกลจากตัวเมืองมากด้วยที่พักก็ค่อนข้างจะพร้อม ค่อนข้างสะดวกสบายระดับนึง บัตรก็เริ่มขายแล้วมีโปรฯ มากมายยังไงติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook เชียงใหญ่เฟส นะครับ
ขอขอบคุณ : คุณดาว, คุณดี, คุณกวาง PR GMM Grammy ที่อำนวยความสะดวกครับ