ในคอลัมน์ของเราที่ผ่านมา เรามักจะได้พูดคุยกับคนในวงการดนตรีทั้งเบื้องหน้า เบื้องหลัง ในด้านที่เป็นดนตรีจริงๆ และส่วนใหญ่พวกเขาก็เป็นคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมดนตรี แต่วันนี้เราจะขอพลิกไปในอีกแบบนึงเลย วันนี้เราจะพาไปพูดคุยกับบุคคลอีกท่านหนึ่งที่น่าสนใจ ถ้าไม่มีคนนี้เราจะไม่มีวันได้เห็น Bakery Music แน่นอน เพราะท่านเป็นผู้ให้กำเนิด ของผู้ให้กำเนิด Bakery อีกที บุคคลท่านนั้นก็คือคุณกมลา สุโกศล คุณแม่ของพี่สุกี้ กมล สุโกศล และพี่น้อย กฤษฎา สุโกศล หรือพี่น้อย Pru ที่ทุกคนรู้จักกันดี เจ้าของเสียงร้องในเพลง Live And Learn จริงอยู่ที่คุณกมลา อาจจะไม่ใช่นักร้องประเภทป็อปสตาร์ หรืออยู่ในอุตสาหกรรมดนตรีแบบเต็มตัว แต่ท่านก็มีวิธีคิด วิธีผจญภัยในแบบของท่าน และที่สำคัญ การจัดการ ลูกชายสุดแนวทั้ง 2 ท่านจะมีแนวความคิดอย่างไร และมีความรู้สึกต่อ “ดนตรี” ขนาดไหน ลองเปิดใจ แล้วมาลองดูเรื่องราวอันสนุกสนานของคุณกมลา สุโกศล กันได้เลย
อย่างแรก ตอนนี้คุณกมลา มีโปรเจ็กต์ใหม่ “เรารักเจ้าพระยา” เกิดขึ้นได้อย่างไรครับ
คูณกมลา : ก็คือพี่สาวคนโตของคุณน้อยที่เป็น Environmentalist เขาเป็นประธานของสมาคมเกี่ยวกับพวกสิ่งแวดล้อม ซึ่งแม่น้ำก็เป็นสิ่งแวดล้อมของเรา ถ้าเราไม่ช่วยกันรักษา ไม่ช่วยกันดูแลแล้วอะไรจะเกิดขึ้น กับแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงคนไทยมากว่า 200 ปีแล้ว เลยอยากจะให้ผู้คนได้ตระหนักว่าแม่น้ำนั้นก็มีวิญญาณ มีหัวใจ มีความรู้สึกเหมือนคน ถ้าคุณไม่รักเขาเอาสิ่งปฏิกูลเอาอะไรทั้งหลายแหล่ไปเททิ้งแล้วอีกหน่อยคุณก็จะไม่มีแม่น้ำ แล้วลูกหลานเราจะพึ่งอะไร อย่างดิฉันเองก็ผูกพันกับแม่น้ำเจ้าพระยา มาตั้งแต่เด็กๆ ยังเคยโดดเล่นน้ำเลย (หัวเราะ) เราก็เห็นวัฒนธรรมที่หลากหลาย ที่เริ่มตั้งรกรากจากแม่น้ำนี้ คนจีนก็ไปเยาวราช คนแขกก็ไปพาหุรัด ฝรั่ง โปรตุเกสก็มี ดังนั้นเราก็อยากจะรักษาไว้ เพราะแม่น้ำหล่อเลี้ยงเรามาตั้งนานแล้ว ตอนนี้โรงแรมในเครือสุโกศลของเราก็เลิกใช้พวกพลาสติกแล้ว ทีนี้เราก็เลยหาทางที่จะสื่อเรื่องนี้ให้เข้าถึงคนทั่วไปอย่างไรให้ได้ง่ายที่สุดก็คือเสียงเพลง แล้วดิฉันชอบเพลงพวก Nat King Cole เพลงแบบ Calypso แต่ก็อยากให้ออกมาแบบไทยๆ เลยให้เรียบเรียงดนตรีในแบบไทยๆ ขึ้นมา โดยการผสมผสาน ปี่พาทย์ ระนาด ขลุ่ยกลองแบบไทย รวมถึงการเห่เรือ เข้าไป ซึ่งก็เขียนเป็นภาษาอังกฤษออกมาก่อน แล้วจึงได้บอกคุณธานี พูนสุวรรณ ให้ช่วยเรียบเรียงเนื้อร้องเป็นภาษาไทยในแบบง่ายๆ ขึ้นมา
มีใครมาช่วยเรียบเรียงดนตรีบ้าง
คูณกมลา : ก็มี ปิติ เกยูรพันธ์เขาเป็นคนเล่น Saxophone และ Music Director ที่เก่งมาก ก็จะคอยบอกแบบว่าเอาอย่างนี้นะ ใส่แบบนี้เข้าไปนะ ใส่เสียง เห่เรืออะไรก็ใส่ลงไป ให้มันดูมีความเป็นแม่น้ำสักหน่อย
พูดถึงคุณกมลา ก็ต้องพูดถึงเพลง Live and Learn เบื้องหลังเพลงนี้ในมุมของคุณกมลาเป็นยังไงครับ
คูณกมลา : Live and Learn ก็ไม่ใช่ว่าฟังง่ายนะ แต่เนื้อหามันกินใจ เป็นเพลงไทยเพลงแรกๆ ที่ไปร้องให้สาธารณชนฟัง ตอนแรกก็ปลุกปั้นกันอยู่กว่า 2 ปี โดย บอย โกสิยพงษ์ และสุกี้ ตอนนั้นยังไม่กล้าร้องเพลงไทย ด้วยความที่เราถนัดเพลงสากล เดี๋ยวคนฟังไม่รู้เรื่อง แล้วบอกว่าคุณป้ากลับไปร้องเพลงสากลเถอะ (หัวเราะ) ร้องอะไรไม่เห็นจะได้เรื่อง ซึ่งเพลงนี้บอยก็ทำตัวดนตรีจนเสร็จมาแล้ว ซึ่งบักทึกเสียงเครื่องดนตรีก็มาจากเมืองนอก แล้วบอยก็ไม่ได้มาปรึกษาเรื่องคีย์เพลงกันก่อน แต่ดันไปถามสุกี้ สุกี้ก็บอกบอยว่าแม่ผมร้องได้ทุกคีย์ บอยก็เอาเพลงมาให้เรา เราก็บอกว่า “คิดว่าแม่เป็นเทวดาเหรอไง” (หัวเราะ) แต่บอยก็บอก…แต่เพลงเสร็จแล้วนะครับแม่ เราก็ เฮ้อออ (หัวเราะ) ก็โอเคเข้าห้องอัดกัน 15 นาทีก็เสร็จแล้ว เพราะเรารู้ว่าเราต้องทำอะไรบ้าง ระหว่างการทำเพลงก็ได้คุยกับบอยถึงตัวเพลง อย่างตรงนี้มีช่วงว่างมันเยอะจะเอาไรใส่เข้าไป จะให้แม่หอนอะไร (หัวเราะ) บอยก็บอกว่าแล้วแต่แม่ไปเลย ดิฉันก็ โฮ โฮ้…อย่างที่คุณได้ยินนั่นแหละ แล้วก็บอกไปว่าอย่าเพิ่งใส่คอรัสนะ ให้ฉันฟังก่อน เพราะฉันยังไม่แน่ใจก็ฟังอยู่ 20-30 รอบ จนสุดท้ายเราฟังเป็นที่แน่ใจแล้ว ให้คนฟังเขาไม่ต้องบอกว่าคุณป้ากลับไปร้องเพลงสากลเถอะก็รู้สึกโอเคแล้ว ถ้ามันผ่านเราได้ก็น่าจะฟังใช้ได้แล้ว เพราะตัวดิฉันนี่ให้ผ่านยากมากเลย ในส่วนของ Chorus เสียงประสานก็ได้นักร้องกิตติมศักดิ์อย่าง บอย โกสิยพงษ์, นภ พรชำนิ, รัดเกล้า อามระดิษ สมัยนั้นตังไม่ค่อยจะมีก็เลยเอาพวกเราร้องกันเอง ประหยัด (หัวเราะ) เลยออกมาเป็นเพลง Live and Learn อย่างที่ได้ฟังกันนี่ล่ะ (ยิ้ม)
เห็นพี่น้อยบอกว่าเพลงอัลบั้มใหม่จะมีเสียงร้องคุณกมลาด้วย
คูณกมลา : ใช่ นี่เขายอมให้พวกคุณฟังก่อนด้วยเหรอ (หัวเราะ) ก็เป็นเพลงแบบออเครสตร้า 50 ชิ้น ยิ่งใหญ่มาก แต่น้อยเขาทำงานจุกจิก (หัวเราะ) ไม่เห็นเหมือนบอยเลย เนี่ย! ให้ดิฉันเข้าไปแก้ร้อง เพราะเขาบอกว่า ดิฉันไปร้องหอนทับไลน์ French Horn เค้า (หัวเราะ) อ่ะ เราก็เข้าไปแก้ให้ แก้เสร็จเขาก็บอกอยากให้ร้องตรงนั้น ตรงนี้ใหม่อีกหน่อย เราก็แบบ โอ้ย ไม่เอาแล้ว ขี้เกียจ น้อยเขาก็บอกที ม่ามี๊ยังบังคับน้อยเรียนร้องเพลงแจ๊ซได้เลย (หัวเราะ) ก็คือน้อยเขาเป็นคนละเอียดมาก ถ้าไม่สมบูรณ์เขาจะไม่ปล่อย แต่ดิฉันจะรู้สึกแบบ แล้วที่ร้องไปมันไม่ดีเหรอไง (หัวเราะ) แต่ก็ไปแก้ให้จนเสร็จนั่นแหละ
ช่วงแรกๆ ของการก้าวสู่วงการร้องเพลง คุณกมลามีศิลปินคนไหนเป็นแรงบันดาลใจหรือชอบฟังเพลงแบบไหน
คุณกมลา : ก็เมื่อก่อนคุณพ่อท่านจะเปิดแผ่นเสียงก็จะฟังไปเรื่อยๆ จะเป็นศิลปินอย่าง Bing Crosby ก่อนสมัย Frank Sinatra อีกนะพวกคุณยังไม่เกิดหรอก (หัวเราะ) ก็ได้ยินคุณพ่อเปิด แล้วคุณแม่ก็จะพาไปดูพวกหนัง เพลง เราก็จำเพลงในหนังได้ เขาก็เห็นว่าเรามีหัวทางดนตรี เลยให้เรียนเต็มตัว แต่ก็ต้องไปเรียนพวก Piano นั่งเล่น Scale เป็น Exercise น่าเบื่อมาก พอเผลอๆ เราก็เล่นพวกเพลงแจ๊ซที่เราชอบ พอ 11 ขวบกว่าๆ ก็ไปอยู่อังกฤษ เป็นโรงเรียนที่ดังด้านดนตรีเหมือนกัน ซึ่งครูที่โรงเรียนก็ดุมาก เกลียดยันทุกวันนี้ (หัวเราะ) คือพอเราไปที่นั่นเราก็ต้องซ้อม Piano พวก Classic ซึ่งที่โรงเรียนก็จะมีห้องดนตรีติดๆ กัน อันนี้จุดเปลี่ยนเลย เราเจอเพื่อนที่เรียนด้วยกันเขาเล่นเพลง Chopin แล้วเก่งกว่าเรา 10 เท่าเรา ก็รู้สึกแบบ Oh My God เลิกดีกว่า (หัวเราะ) คือทางเลือกไม่เหมือนกัน ของเขาซ้อมเพราะอยากเป็นนักเปียโนจริงๆ แต่เราเล่นเพราะสนุก อยากเล่นเพลงแจ๊ซ อยากแต่งเพลงเล่นๆ มันสนุกกว่า แต่ไม่ปฏิเสธว่าตรงนั้นเป็นพื้นฐานที่ดีทำให้เราอ่านโน้ตได้ ทางนิ้วได้ เราก็เอาพื้นฐานจากตรงนี้มาเล่นแบบที่เราอยากเล่น
แสดงว่าชอบเพลงแจ๊ซมาก
คุณกมลา : ก็ชอบ มีคอนเสิร์ตอะไรก็พยายามไปดู แต่สมัยก่อนเดินทางอะไรลำบากไม่ได้เหมือนทุกวันนี้ สมัยก่อนดิฉันได้ดู Johnnie Ray ร้องเพลง Cry ซึ่งเขาเป็นนักร้องหูหนวก ซึ่งเขาจะมี Emotional มากก็ชอบ มาทำท่าแบบ Johnnie ให้ที่บ้านดู หรืออย่างพวก Rosemary Clooney, Tony Bennett, Frank Sinatra รุ่นๆ นี้ก็ไม่อยู่กันแล้ว (หัวเราะ) แต่รุ่นใหม่ๆ ดิฉันก็ฟังอย่าง Diana Krall เนี่ยเคยเจอ ได้คุยกันด้วยรู้สึกชอบเขามาก อีกคนก็ Michael Buble คนนี้ฉลาดนะ จริงๆ เขาจะร้องร็อคก็ได้ แต่เขาก็มองว่าวงการดนตรีมีช่องว่างตรงนี้ เขาก็เลยเข้ามา แล้วกลายเป็นดาวเด่นไปเลย
เพลงแรกที่ร้องโชว์ต่อหน้าคนดู
คุณกมลา : ก็มีนะในสมัยที่ดิฉันยังเรียนที่เมืองนอกตอนที่เขาทำ Musical ในแต่ละปีของมหาวิทยาลัยเขาจะมีแบบ เล่นละครเวทีก็จะมีสเปกว่า ถ้าจะเล่นเป็นตัวเอกต้องสูงเท่านี้ บุคลิกแบบนี้ ไอ้เราก็ไม่ได้เข้ากับเขาสักอย่าง แต่เขาเห็นว่า เราสามารถเล่นเปียโน แล้วร้องได้ก็เลยจับให้เราไปเล่น ก็เลยได้เล่นพวกเพลง Musical เพลงแจ๊ซ ทั้งหลาย ก็นับว่าเป็นการโชว์ต่อหน้าคนดูนะ แต่สุดท้ายเราก็อาจจะไม่ได้เป็นศิลปินหรืออะไรเพราะก็ต้องกลับมาช่วยที่บ้าน ด้วยยุค ด้วยอะไร แต่ดิฉันก็ไม่ได้ทิ้งดนตรีนะ เพราะมันก็สามารถช่วยได้ในทางอ้อมอย่างตอนนี้เราก็สามารถร้องเพลงเพื่อเป็น Charity ให้กับองค์กรต่างๆ ได้ เราก็ไม่ได้ทิ้ง เรามั่นใจในความเป็นนักร้องของเรา ความเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ของเรา ซึ่งดิฉันจะสอนลูกๆ อย่าง น้อย หรือ สุกี้ ก็จะบอกว่า ยูจะเป็นอะไรอย่างที่อยากเป็นก็ได้ แต่สิ่งสำคัญจะต้องทำให้คนเขา Respect ให้ได้ ทำให้เขาเชื่อให้ได้ นั่นก็เป็นผลทำให้น้อยก็เป็นอย่างที่พวกเราเห็นทุกวันนี้
ความรู้สึกที่ในความเป็นคุณแม่ที่เห็นพี่สุกี้กับพี่น้อยเล่นดนตรีด้วยกัน
คุณกมลา : ก็หนวกหู (หัวเราะ) พอออกจากบ้านไปสร้างห้องดนตรีที่อยู่นอกตัวบ้านก็จะหนวกหูมากเลย เพราะว่าสุกี้มันหาใครมาเล่นไม่ได้ ไม่มีใครเล่นกลองให้ ก็เลยให้น้อยไปตีกลองเพราะเราซื้อกลองให้ ก็ให้น้อยมันตี มือเบสก็เป็นน้อยเล่นอีก (หัวเราะ) แล้วมีวันนึงมีฝรั่งคนนึงอยู่วงด้วยกัน ตอนนี้เป็น GM โรงแรมไปแล้ว เขาเป็นหวัดร้องเพลงไมได้เลยให้น้อยร้องเพลงแทน ต้องให้พี่ชายบังคับไม่งั้นเขาก็ไม่ร้องหรอก ร้องก็ร้องเสียงหลงไปมา (หัวเราะ) แต่ตอนพรูออกใหม่ๆ เราเห็นน้อยเขาเต้นนะ ซึ่งอันนี้เป็นธรรมชาติของเขา จำได้เลย ดิฉันเคยไปแอบดูตอนวงพรูออกคอนเสิร์ตใหม่ๆ นั่งอยู่ชั้น 2 ได้ยินคนนินทาบอกว่าน้อยเต้นเหมือนสุนัขถูกน้ำร้อนลวก ซึ่งเราก็ไม่โกรธนะ …ก็ถูกของเค้า (หัวเราะ) แต่สุดท้ายไม่ว่าน้อยจะทำอะไร แล้วมันชัดเจนในทางของเค้า ก็ต้องมีคนดูอยู่ดี ซึ่งนั่นก็ถูกทางในแบบของเขาแล้ว
คุณกมลาเห็นความแตกต่างในการทำงานของทั้งคู่ไหมครับ
คุณกมลา : ก็อย่างสุกี้ เขาทำอะไรเขาก็ชัดเจนทำเต็มที่นะ ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้สำเร็จมากอย่าง ตอน ทำ EDM ผลลัพธ์ก็ไม่ได้ดีมาก แต่เขาฉลาด ก็เอาเพลง Bakery มาทำเป็น EDM ก็พอฟื้นมาได้ ส่วนน้อยนี่จริงๆ เขาแต่งเพลงเก่งนะ เขาเขียนเพลงป็อปแป็ปเดียวได้ แต่เขาชอบเขียนเพลงที่เขารู้เรื่องอยู่คนเดียว (หัวเราะ) จริงๆ ก็ทำอะไรกันก็ได้แหละ อย่าให้เจ็บตัวมากเป็นพอ (หัวเราะ)
ได้ข่าวว่ามีโปรเจ็กต์งานคอนเสิร์ตของสภากาชาดไทยที่คุณกมลาทำทุกปี
คุณกมลา : ใช่ค่ะทำทุกปีเลยคะ ปีนึงก็จะหาได้ประมาณ 4-5 ล้าน พระเทพฯ เคยทรงตรัสว่าอย่าหยุดทำคอนเสิร์ตนี้นะ เพราะหน่วยงานนี้หาเงินยากมาก งานสภากาชาดอย่าทิ้งนะ ซึ่งเราก็ทำคอนเสิร์ตการกุศลหาเงินมาเรื่อยๆ คือคุณเคยเห็นแบบเด็กที่หน้าตาแบบพิการอะไรแบบนั้นมั้ย เด็กเหล่านั้นอยู่ในสังคมยากนะ เรามีความคิดที่ว่าขอแค่ให้เขาได้มีชีวิตกลับสู่สังคมปกติได้ เพราะผู้ป่วยก็จะมีแต่เด็กที่เป็นคนยากจนที่เป็น ส่วนใหญ่เขาจะไปทำพวกเรื่องมะเร็งเต้านม หรือโรคไต ตรงนั้นจะได้เงินง่ายกว่า แต่ตรงที่เราทำมันอาจจะหาเงินลำบาก ซึ่งถ้าท่านตรัสกับเราว่าอย่าทิ้งโปรเจ็กต์นี้นะ ซึ่งตัวดิฉันมาร่วมช่วง 10 ปี หลัง แต่ในส่วนของสภากาชาดก็ทำมาประมาณ20 ปีได้แล้ว
เวลาคุณกมลาขึ้นโชว์มักจะร้องเพลงสไตล์ไหน
คุณกมลา : หลากหลายนะ เร็วๆ นี้ เพิ่งเข้าไปร้องเพลงในงานเลี้ยงของโรงแรมแห่งหนึ่ง โดยที่โรงแรมเขาทราบได้ยังไงก็ไม่รู้ว่าเราชอบ พวกเพลงก็จะมี I Will Survive อะไรพวกนี้ แล้วก็มีเพลงแจ๊ซหลายๆ เพลงที่แต่งโดย Cole Porter ที่เป็นนักประพันธ์เพลงที่ฉันชื่นชอบ หรือไม่ก็บางครั้งก็เป็นเพลงในอัลบั้มเพลงสากลของดิฉันเอง ที่ทำออกมาโดยการนำเพลงพวก Live And Learn มาเรียบเรียงใหม่ ทำเป็นเพลงจังหวะละตินบ้าง ก็บอกบอย ไปว่าฉันเอาเพลงเธอมาทำให้วุ่นวายไปหมดแล้ว (หัวเราะ)
การร้องเพลงมีความหมายในชีวิตคุณกมลาขนาดไหน
คุณกมลา : ก็เอาจริงๆ ถ้าดิฉันไม่ร้องเพลง ธุรกิจโรงแรมของเราอาจจะไม่ได้มาถึงขนาดนี้ก็ได้ ทำให้คนในวงการท่องเที่ยวรู้จักเรามากขึ้น มีอยู่ครั้งนึงที่อินโดนีเซีย เป็นงานประชุมใหญ่ๆ 2-3 พันคน แล้ววงดนตรีที่เล่นก็เป็นแบบวงเครื่องดนตรีท้องถิ่นเขา คราวนี้เจ้าของงาน เขาก็ประกาศบนเวทีว่า เฮ้ย! กมลา ร้องเพลงให้เราฟังหน่อย จะบ้าเหรอ วงแบบนี้จะร้องได้ยังไง (หัวเราะ) แต่ว่าถ้าเราปล่อยโอกาสนี้ไปล่ะก็ จะไม่มีอีกแล้ว เป็นโอกาสเดียวที่ดีต่อธุรกิจเราด้วย นี่เป็นโอกาสที่คน 2-3 พันคนจะรู้จักเรา ไปถึงเราก็เอาเครื่องดนตรี ที่เขาเล่นเหมือนฆ้อง เอามาตีแล้วก็ร้องวิ่งไปรอบๆ งาน คือเรารู้ว่าเวทีนี้เป็นโอกาสที่เราจะเสียไม่ได้ ถือว่าเป็นเวทีที่ประหลาดที่สุด แต่เราไม่ยอมแพ้ มันก็เป็นสิ่งที่ดนตรีช่วยเราทางอ้อม
ให้คุณกมลาฝากผลงานครับ
คุณกมลา : ก็โปรเจ็กต์เรารักเจ้าพระยาที่มีเพลงนี้ หลายๆ เวอร์ชั่นทั้งของดิฉัน, ป๊อด แล้วก็น้องซีน่า ทำเพื่อให้คนตระหนักถึงการรักษาแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงอัลบั้มเพลงสากลของดิฉันด้วยนะคะ