วงการดนตรีเป็นอาชีพในฝันของคนหลายคน ความสนุกในการเล่นดนตรีแล้วได้เงิน มันเป็นสิ่งสุดยอดจริงๆ แต่ถึงจะเป็นแบบนั้นก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่พอได้ก้าวเข้ามาทำงานสายนี้จริงๆ แล้ว กลับไม่แฮปปี้ และมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ ….เราได้ทำการสัมภาษณ์คนดนตรีระดับมืออาชีพ แบบที่เป็นความหมายตรงตัวจริงๆ เพราะนักดนตรีท่านนี้อยู่ในวงการมานาน แต่ถ้าถามเบื้องหน้า ถ้าคนทั่วไปไม่มีใครรู้จักแกหรอก แต่ถ้าถามถึงในวงการดนตรีจริงๆ เรากล้าพูดว่าหาคนไม่รู้จักแกได้น้อยมาก ผลงานที่เขาคนนี้เคยฝากผลงานไว้มีมากมาย เอาแบบนี้ดีกว่า คุณว่าจะมีสักกี่คนที่ผ่านงานตั้งแต่พงษ์พัฒน์ คาราบาว ค่ายเบเกอรี่ บอดี้สแลม จนถึงปาลม์มี่ คำตอบคือมีมือคีย์บอร์ดที่ชื่อ “ภิทรู พลชนะ” หรือ “เป้” เป็นคนดนตรีที่อยู่ในวงการดนตรีมานาน แน่นอนว่าประสบการณ์และแนวคิดของเขาน่าจะต้องมีประโยชน์ต่อใครก็ตามที่สนใจ เส้นทางสายนี้ เรามาพูดคุยกับเขากันดีกว่า
แนะนำตัวสักหน่อยครับ
พี่เป้ : ผมเป้ ภิทรู พลชนะ ครับ ตอนนี้งานหลักๆ ของผมก็คือเล่น Backup ให้กับปาล์มมี่, บุรินทร์, โอ๋ ธีร์ ไชยเดช แล้วก็ The Voice Kids กับงานสตูดิโอผมทำ พวกเพลงซีรี่ส์ให้กับ GMM25 แต่ถ้าย้อนกลับไป ผมเล่นให้ใครบ้าง โอโห…ถามว่าไม่เล่นให้ใครบ้างจะง่ายกว่า (หัวเราะ) คือตั้งแต่แรก ผมอยู่ตั้งแต่สมัย พงษ์พัฒน์, พี่เขียว คาราบาว ก็คือยุคคีตา, มูเซอร์โน่นเลย จนไปเล่นกลางคืนกับพี่ตุ๊ก วิยะดา มาเรื่อยๆ จนมาพวกปาล์มมี่นี่แหละ
ทำไมถึงเลือกเล่นคีย์บอร์ด แล้วสมัยเด็กๆ พี่เป้ทำวง เรียนดนตรีบ้างไหม หรือมีใครเป็นต้นแบบครับ
พี่เป้ : ผมเล่นเปียโน คีย์บอร์ดตั้งแต่เด็ก เพราะที่บ้านเป็นร้านอาหาร ก็จะเล่นที่ร้านของเราเอง ส่วนเพื่อนๆ ก็จะตั้งวงเล่นกันอยู่แถวบ้าน เล่นพวก ดิสโก้ ป็อป เพลงดังๆ ยุคนั้น จริงๆ ก็เล่นทุกอย่างนะ เพลงไทย เพลงฝรั่ง แล้วผมก็เรียนไปด้วย เล่นดนตรีไปด้วย ก็ได้เรียนดนตรีจริงจังกับคนที่มาเล่นที่ร้าน อย่างลุงนพ โสตถิพันธ์ ผมก็จะได้เรียนดนตรีกับคนพวกนี้อีกหลายคน ประกอบกับผมฟังเพลงหลากหลายก็เลยมีต้นแบบเยอะ ทั้งคนดนตรีแนวป๊อป ร็อค แจ๊ซ อะไรประมาณนี้ ตอนนี้หลังๆ ผมจะไปอินกับพวกแนวที่เป็นซินธ์ฯ ซะเยอะ หลักๆ ผมจะมาซ้อมสกิลหนักๆ ตอนที่เล่นพวกฟิวชั่น แจ๊ซ ตอนเล่นกลางคืนเพราะที่วงต้องเล่น
แสดงว่ามาเริ่มกับดนตรีเร็วมาก
พี่เป้ : ใช่ๆ 15-16 ผมก็เล่นคอนเสิร์ตกับพงษ์พัฒน์แล้ว เริ่มทัวร์แล้ว ก็เล่นมาตลอดจนถึงตอนนี้ คือผมหยุดเรียนหนังสือตั้งแต่ปี 2 แล้ว เพราะเรียนด้วย เล่นดนตรีด้วยไม่ไหว ผมเลยตัดสินใจเล่นดนตรีอย่างเดียว โชคดีที่บ้านผมเขามาทางสายศิลปิน วาดรูป ดนตรี แล้วบ้านก็มีร้านอาหารเอง ดังนั้นก็เลยไม่มีปัญหาเท่าไหร่ พ่อผมเป็นจิตรกรเขียนรูป แม่ก็เป็นนักร้องอยู่แล้ว ก็เลยสบาย (หัวเราะ) คือเพื่อนๆ ผมส่วนใหญ่จะโตกว่าผม เพราะผมเข้าวงการดนตรีเร็ว
ไม่ได้เล่นพวกเครื่องอื่นเลยเหรอครับพวกกีตาร์ กลอง เบส
พี่เป้ : เล่นนะ ผมเล่นได้หมด กลอง กีตาร์ เบส แต่ไม่ได้เก่ง พอเล่นได้ คือเราฝึกเอาไว้ตอนเล่นกลางคืนน่ะ เผื่อใครลา เราก็เล่นแทน ก็จะได้เล่นเบส กลอง บ้าง กีตาร์คนมีเยอะ ไม่ค่อยได้แทน ส่วนเครื่องเป่านี้พอรู้บ้าง ก็สามารถเอามาทำงานพวกเขียนไลน์เครื่องเป่าได้
ตอนนั้นไม่คิดออกผลงานตัวเองเหรอครับ
พี่เป้ : คิดสิ แต่ตอนนั้นเรื่องค่ายเพลงยังไม่บูม เหมือนตอนนี้ มันมีตัวเลือกน้อย วิธีการก็ต่างกัน ถ้าออกยุคนั้นก็ต้องทำเพลงบรรเลง เพราะผมเองก็ไม่ใช่นักร้อง ซึ่งก็คงไม่ค่อยมีคนฟัง ผมก็เลยทำงานเบื้องหลังไปดีกว่า แต่ก็มีเพลงแต่งเก็บไว้นั่นแหละ รอเวลาเหมาะๆ
พี่เป้เจองานคอนเสิร์ตใหญ่ๆ ตั้งแต่ 15-16 ความรู้สึกตอนนั้นเป็นยังไงบ้าง
พี่เป้ : โอโห มือสั่น ขาสั่น คือคอนโทรลตัวเองไม่ได้เลยนะ คนมันเยอะมาก แล้วต้องมีแบบสะพายคีย์บอร์ดไปเล่นข้างหน้า คือเราเข้าใจเลยว่าการคุมสติไม่อยู่เป็นยังไง แล้วพวกคอนเสิร์ตเมื่อก่อนมันจะใหญ่มาก แต่ถึงสั่น งานก็ไม่ได้เละนะ พอได้อยู่ (หัวเราะ) เอาจริงๆ ถือว่าเป็นประสบการณ์ของผมเลย มันค่อนข้างข้ามขั้นพอสมควร
ได้ทำงานในสตูดิโอบ้างไหมครับ
พี่เป้ : ทำนะ พอพี่จิก ประภาส ชลสลานนท์ แกแยกมาทำค่ายมูเซอร์ เราก็เลยได้เริ่มทำงานเรียบเรียง โปรดิวเซอร์ ใช้เวลาในสตูดิโอเยอะ ก็จะเป็นงานแบบป๊อป แจ๊ซนิดๆ อย่างพวกพี่ตุ๊ก วิยะดา อะไรทำนองเนี้ย พอหลังจากมูเซอร์เริ่มเฟด ผมก็เริ่มมาทำงานสายแกรมมี่แล้ว พวก Super Glue ทำแด๊นซ์ก็เริ่มทำแล้ว ชีวิตช่วงนี้ผมจะกินนอนที่ห้องอัดเลย เล่นกลางคืนเสร็จกลับมาทำงานต่อ เอาจริงๆ ปัจจุบันผมก็ยังใช้ชีวิตแบบนี้นะ ยกเว้นงานเล่นกลางคืนที่ไม่ได้เล่นแล้ว
มีงานอัดเสียงบ้างไหมครับ
พี่เป้ : มีซิ เพียบเลยล่ะ (หัวเราะ) ก็ถ้าแกรมมี่ ก็อย่างที่บอกผมรับงานของ genie แรกๆ เลย Big Ass, Bodyslam ผมก็เคยอัด หรือเบเกอรี่ยุคแรกๆ พวก Joey Boy, Triumphs Kingdom ซึ่งตอนนั้น ค่ายเค้ามาใหม่ๆ ก็ยังไม่ค่อยมีคน ไม่มีมือคีย์บอร์ดผมก็จะเหมาทำเพลง อัดเพลง อยู่หลายเบอร์เหมือนกัน จริงๆ ก็เกือบทุกเบอร์นั่นแหละ (หัวเราะ) ตั้งแต่พวก P.O.P, พี่บอย โกสิยพงษ์ ยัน Triumphs Kingdom นั่นแหละ
ยุคสมัยที่เปลี่ยนของดนตรี ทำให้มีปัญหากับเครื่องมือมั้ยครับ
พี่เป้ : ไม่มาก ต้องบอกว่าอย่างแรกผมไม่ได้เป็นคนต่อต้าน Analog หรือ Digital เพราะฉะนั้นอะไรก็ได้ที่สามารถทำให้เราอัดเพลงออกมาแล้วได้เหมือนที่เราต้องการเป็นพอ ข้อ 2 ผมโชคดีที่เวลาเปลี่ยนยุค มันก็ยังจะมีเสียงบางเสียง ที่ยังคงใช้ได้จากยุคเดิมๆ อยู่ เพียงแต่มีคอมพิวเตอร์มาช่วยมากขึ้นอันนี้แหล่ะที่เราต้องปรับ แต่รวมๆ ผมว่าไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรมาก เรื่องอุปกรณ์เราก็แค่ต้องพยายามตามในสิ่งที่เราต้องใช้ทำงาน เพื่อให้งานมันออกมาได้ แล้วใช้ให้เหมาะสม
การอัดคีย์บอร์ดนี่ยากมั้ย
พี่เป้ : มันอยู่ที่ว่าสกิล และตัวตนของเรามันใช่หรือเปล่า คือไม่ฝืนมากจนเกินไป ยากไม่ยากมันอยู่ที่ว่าเรามองเพลงนั้นยังไง และเพลงนั้นๆ จะเข้ากับสิ่งที่เรามีมั้ย อย่างเช่นคุณโยนเพลงมางานนึง ต้องการเสียงแบบเปียโนแจ๊ซเก่าๆ อันนี้ผมไม่ถนัด ผมก็ต้องโยนให้คนอื่น ต้องไม่ฝืน แต่สำคัญคือการบรีฟงานต้องชัดเจน เล่นแบบนี้นะ เอาซาวด์แบบนั้นนะ ตรงนี้มากกว่าที่สำคัญสำหรับส่วนตัวผม และมันจะทำให้ทำงานได้เร็ว
หลักๆ เราจะเห็นพี่เป้ กับปาล์มมี่หรือไม่ก็พี่บุรินทร์ มาอยู่ตรงนี้ได้ยังไงครับ เพราะว่านี่ก็เป็นการทำงานกับนักดนตรีอีกยุคนึง
พี่เป้ : คือบุรินทร์ ผมเล่นด้วยตั้งแต่ Groove Riders อยู่แล้ว ก็เลยมาทำงานด้วย แต่ปาล์มมี่ อันนี้ผมมาตอนเพลง “คิดมาก” เพราะตอนนั้น ก้อ (ณฐพล ศรีจอมขวัญ) เขาเป็นคนโปรดิวซ์ฯ พอถึงเวลาที่ปาล์มมี่ จะหาวงก็เลยมาชวนๆ กัน ประกอบกับช่วงนั้น ผมหยุดเล่นกลางคืนแล้ว ก็เลยว่าง เลยมาเล่น คือกับปาล์มมี่ มันมี 2 อย่างอีกเหมือนกัน อย่างแรกคือเราซ้อมกันค่อนข้างเข้าที่แล้วกับคิวต่างๆ อย่างที่ 2 มี่เองก็รีเควสด้วยว่าไม่อยากเปลี่ยนวง ก็คือพวกเราจะไม่เรียกใครแทนถ้าไม่สุดวิสัยจริงๆ แต่ตอนนี้ก็วุ่นๆ นะ เพราะเปลี่ยนมือกลองแล้ว
การทำงานการศิลปินยุคเก่าหรือใหม่ๆ หน่อยมิวิธีคิดต่างกันไหมครับ
พี่เป้ : อืม ผมไม่ได้คิดถึงตรงนั้นเลยนะ คือผมว่าถ้าเราได้ชื่อว่าเป็น Backup แล้วเนี่ยเราต้องโฟกัสที่การซัพพอร์ตแบนด์มากกว่า วงมีกี่คน เราควรเลือกใช้เสียงไหนดี เพื่อให้งานมันออกมาดี ผมเน้นที่ตรงนี้มากกว่า
กับนักดนตรีที่อาจจะเป็นมือใหม่ มีคำแนะนำหรือมีวิธีรับมือ การแก้ไขข้อผิดพลาดบนเวทียังไง
พี่เป้ : จริงๆ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการนัดแนะกับวงตั้งแต่ในห้องซ้อมนะ ถ้าบนเวทีสิ่งสำคัญคือการฟัง วิธีการเล่น น้ำหนักในการเล่น ตรงนี้สำคัญ และที่สำคัญที่สุดคือมอนิเตอร์ ในกรณีใช้ Ear Monitor คุณต้องเช็กให้ดีว่าคุณได้ยินเสียงพวกที่เป็นเสียงนับเข้า เพื่อกำหนดคิวต่างๆ ชัดเจนมั้ย อยากได้ยินไลน์ไหน วิธีเล่นต้องโฟกัสน้อยลง เพราะคุณต้องเตรียมตัวมาดีแล้ว เน้นการคอนโทรลว่าต้องได้ยินกันชัด ไอ้พวกนับเข้านี่แหละสำคัญสุดๆ ลองคิดดูนะสมมติเวทีใหญ่นักร้องต้องไปยืนด้านหน้า มือกลองยืนห่างไป 4-5 เมตร ถ้าคุณเช็กกันไม่ดี เละแน่นอน ส่วนเวลาเล่นหลุดเนี่ย สำหรับผมการเล่นโน้ตผิดเรายังพอตระครุบได้ โน้ตนี้ผิด ค่อยรอฟังโน้ตหน้าก็ได้ (หัวเราะ) แต่ที่กลัวที่สุดคือการหลุดอารมณ์ สมาธิหลุด คำว่าหลุดของผมมันหมายความถึง “ฟิลลิ่ง” สมมติร้องกับเปียโนฟังแล้วอารมณ์ไม่เห็นเข้ากันเลย ผมว่าตรงนี้สำคัญกว่า อยากฝากบอกน้องๆ ว่าเล่นหลุดอย่าไปนอย โน้ตมันผ่านไปแล้วตั้งสมาธิกับโน้ตใหม่ที่จะมาถึงดีกว่า
ทำงานมาขนาดนี้ถามว่าจำเป็นต้องรู้ทฤษฎีดนตรีขนาดไหน ต้องอ่านโน้ตได้ไหม
พี่เป้ : โน้ตมันจะจำเป็นตอนเรียบเรียงเสียงประสาน มันเป็นชาร์ตจริงๆ มันเหมือนสีน่ะ เป็นการบันทึกว่าไม่ให้เสียงตรงนี้ ไปกวนตรงนั้น มากกว่า คือผมไม่ได้ฝึกอ่านโน้ตแบบเพลงคลาสสิค ถ้าจะให้พูดตรงๆ ก็คือขี้เกียจนั่นแหละ (หัวเราะ) แต่อ่านได้เพราะผมเล่นเพลงป็อป แจ๊ซ ซึ่งโน้ตมันจะง่ายกว่าหน่อย แต่ก็ไม่ใช่ง่ายทุกเพลงนะไอ้ที่ยากก็มี (หัวเราะ) คือผมจะฝึกหนักๆ จากพวกเพลงที่ต้องเล่นสมัยก่อน พวก Night Birds, Rio Funk เพลงที่เป็นพวกเพลงสกิล เพลงประจำมือคีย์บอร์ด ซึ่งตอนเด็กๆ มันก็ฝึกได้แหละ 5-6 ชั่วโมง ฝึกแล้วมานั่งดูว่าใช้ Scale อะไร Mode อะไร แต่พอยุคพวก Dream Theater เข้ามามันเป็นช่วงที่ผมไปสนใจพวกงานอีกแบบนึงแล้ว ผมจะไปสายแบบ Brian Eno เป็นพวกสายทดลองซาวด์ต่างๆ ซึ่งถามว่ารู้ไหมว่าพวกสายฮีโร่เล่นอะไร ผมรู้นะ แต่แค่ไม่ได้ตามเท่านั้นเอง เราไปเส้นทางอื่นแล้ว
ในปัจจุบันพวกดีเจ หรือแม้แต่การเปิดดาต้า ทำให้มือคีย์บอร์ดทำงานยากขึ้นมั้ย
พี่เป้ : ก็ไม่นะ คือเพลงสมัยนี้ที่เป็น EDM หรืออะไรก็ตาม จุดโฟกัสมันคือวิธีการสร้างงานไม่ใช่สกิล โอเค คุณบอกว่างั้นเปิด Data ก็ได้ ก็ถามกลับว่า “งั้นใครทำ Data ล่ะ” แล้วทำได้ขนาดไหน (หัวเราะ) ผมไม่เคยปฏิเสธเรื่องเทคโนโลยีพวกนี้เลย ผมว่าเราควรจะต้องใช้มันด้วยซ้ำ เพื่อสร้างจินตนาการในเพลง เอาง่ายๆ มือคีย์บอร์ดไม่มีทางหรอกที่จะเล่น 3-4 ไลน์พร้อมกัน ยังไงก็ต้องเปิด Data ปัญหาคือคุณจะอยู่กับมันยังไง คุณจะทำอะไรกับมัน และเล่นกับมันแบบไหน คุณแค่ต้องใช้มันเพื่อซัพพอร์ต เพราะสุดท้ายหลักๆ คนเล่นก็ต้องเป็นตัวคุณเองอยู่ดี
คิดว่าคนเล่นตำแหน่งนี้ในบ้านเราน้อยหรือเยอะ
พี่เป้ : ผมว่าเยอะ แต่คนที่คิดออกผลงานเป็นภาพมือคีย์บอร์ดนักร้องมันน้อย แต่กลับกัน ในวงการเล่น Backup เราจะเห็นนักดนตรีตำแหน่งนี้กันหลายคน ใจผมน่ะก็อยากจะให้มีคนที่เล่นคีย์บอร์ดทำผลงานเพื่อเป็นแรงบันดาลใจกันเยอะๆ นะ ไม่แน่ เดี๋ยวผมลุยเองซะเลย (หัวเราะ)
ส่วนใหญ่น้องๆ ที่เล่นคีย์บอร์ดหลายคน จะเรียนดนตรีมาโดยตรงแล้วมีปัญหาว่า “จะไม่ทำแบบนั้น แบบนี้” มีอีโก้ตรงนี้อยู่
พี่เป้ : ก็ไม่ผิดนะวิธีคิดแบบนี้ ปัญหาคือถ้ามันอยู่ในสายงานของคุณแล้วคุณโอเคมันก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าคุณไปทำงานกับที่อื่น อันนี้ผมก็ไม่รู้นะ มันก็มีนักดนตรีรุ่นน้องผมนี่แหละ โอโห จบแจ๊ซมาเลย ทดลองนู่น นี่ นั่น ฮาร์โมนี่โฟร์ มากมาย จนพอโตขึ้นพอเขาทดลองจนเบื่อ เขาก็รู้สึกว่าเออ เพลงป็อป มันก็สนุกดีนะ เล่นป็อปดีกว่า (หัวเราะ) จริงๆ ทดลองไปเถอะครับมันดีแหละ เพียงแต่ว่าก็ต้องดูว่าตอนนั้นคุณทำงานอะไร เหมาะสมกับงานไหมเท่านั้นเอง คือเราเห็นมาหลายๆ รุ่นแหล่ะ ผมก็แค่อยากจะบอกว่าสนุกกับมันให้เต็มที่ แล้วคุณก็จะเห็นคำตอบเองว่า มันจะได้หรือไม่ได้
คนเล่นคีย์บอร์ดต้องคำนึงถึงอะไรมากที่สุด
พี่เป้ : เพื่อนร่วมวง!! ผมพูดจริงๆ นะ ไม่ต้องมือคีย์บอร์ดหรอก การเป็นนักดนตรี อยู่วงดนตรีเดียวกัน มันต้องเกือบจะเป็นพี่น้องกันแล้วนะ เราต้องเอาตัวเข้าไปอยู่ในเนื้องานนับ 1 2 3 ทุกคนต้องไปด้วยกันแล้ว มันถึงจะส่งพลังงานออกไปได้ ยิ่งถ้าคนเป็นหมื่นๆ มันยิ่งต้องใช้พลังงานมาก มันต้องถอดความรู้สึกออกไปหากัน ผมว่ามันต้องคำนึงตรงนี้มากที่สุด ผมเคยเห็นแบบทะเลาะกันว่า เฮ้ย! ท่อนนี้ มันต้องเล่นแบบนี้ ต้องนับ 3 ยก บลาๆๆ ผมว่าเรื่องแบบนี้ต้องเคลียร์ในวงให้จบ ถ้ามันยากไป คุณต้องหาจุดตรงกลางว่าเท่านี้ก็พอแล้ว เพราะทุกคนมันก็เต็มที่แล้ว ต้องให้เกียรติกัน
มองวงการดนตรีในปัจจุบันเป็นอย่างไร
พี่เป้ : ผมว่ายุคไหนมันก็ดีหมดแหละ เพราะผมรักมันไง ถ้าจะให้บอกว่าไม่ดี ผมก็คงไม่อยู่ บางทีบางคนก็พูดเกินไป ยุคนี้แม่งนู่นนี่นั่น ผมว่ามันก็เป็นแบบนี้แหละ จะยุคก่อน ยุคต่อไป มันก็จะมีปัญหาอยู่แล้ว แต่ก็ยังเห็นอยู่กันได้นะ (หัวเราะ) ก็ไม่รู้สิถ้ามองในมุมธุรกิจอาจจะไม่ดีก็ได้ แต่ส่วนตัวผมไม่รู้ว่าธุรกิจที่ดี หรือไม่ดีเป็นยังไง ดนตรีมันเป็นของรักของเรา เราก็มองมันดีตลอดนั่นแหละ
ฝากข้อคิดในใช้ชีวิตนักดนตรีหน่อยครับ
พี่เป้ : ถ้าจะทำดนตรีเป็นอาชีพก็ต้องมีวินัยกับตัวคุณเอง รู้ว่าทำอะไร อยู่กับใคร ควรจะต้องทำอะไรแบบไหน เคารพซึ่งกันและกัน เคารพเพื่อนร่วมงาน รู้ตัวเองว่าทำอะไรอยู่ และทำเพื่ออะไร ถ้าอยากเป็นนักดนตรีที่มีงานดีๆ จงทำงานเยอะๆ ทำเสร็จให้ตรงทันเวลา ตีโจทย์ให้แตกได้เร็ว มีวินัย งานคุณก็จะเยอะ เพราะคนรู้ว่าคุณทำงานได้เร็ว แต่ถ้าคุณเอาแต่ใจตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง อันนี้มันก็มีมูลค่ามากแล้วนะ เพียงแต่คนเขาอาจจะยังไม่ต้องการแบบนี้ ก็เลือกได้ครับว่าจะเอาแบบไหน