ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมาค่ายเพลงที่ต้องบอกว่ามีผลงานโดดเด่นเตะตามากที่สุดจะเป็นค่ายไหนไปไม่ได้นอกจาก White Music ค่ายเพลงที่มีศิลปิน ตัวท๊อปของประเทศรวมกัน ไม่ว่าจะเป็น เป๊ก ผลิตโชค, ป๊อป ปองกูล, โอ๊ต ปราโมทย์, ลุลา, อะตอม หรือแม้กระทั่งวงอย่าง getsunova หรือ Jetset’er ศิลปินทั้งหมดของค่ายนี้มีเพลงที่สามารถสร้างยอดวิวใน YouTube ได้มากมาย แถมยังมีแฟนคลับในโลกโซเชียลชนิดถล่มทลาย มันไม่น่าจะใช่เรื่องบังเอิญ การจัดระเบียบ ทิศทางของค่ายย่อมต้องมีผู้นำในส่วนนี้ วันนี้เราจะมาคุยกับผู้บริหารค่ายสุดเซอร์ “อาร์ม” รัฐการ น้อยประสิทธิ์ ถึงความเป็นมา ทิศทางและเคล็ดลับแห่งความสำเร็จของค่ายเพลงสุดฮอตนี้ ถ้าไม่มีคนๆ นี้นักร้องคนโปรดของคุณก็อาจจะไม่มีตัวตนวันนี้ก็ได้ เรามาพูดคุยกับเขากัน
ก่อนจะมาอยู่ที่ White Music พี่อาร์มทำอะไรมาก่อนครับ
พี่อาร์ม : ก็หลายอย่างมาก ตอนหนุ่มๆ ผมทำมาแทบทุกอย่างแล้วนะ หนัง ละคร ละครเวที เพลง แต่จะเป็นรูปแบบของฟรีแลนซ์มากกว่า จนพี่ “ดล ผดุงวิเชียร” ซึ่งตอนนั้นแกทำค่ายกับพี่เล็ก บุษบา ก็คือ Green Beans ถ้าจำกันได้ซึ่งตอนนั้นจะรับผิดชอบศิลปินที่เป็นวัยรุ่น ตอนนั้นผมสนิทกับพี่ดล แกเลยชวนมาทำที่ Green Beans ก่อน เป็นการทำงานประจำครั้งแรกในชีวิตเลยนะ (หัวเราะ) แต่แกชวนตั้ง 2-3 ครั้ง ตอนนั้นเริ่มที่ตำแหน่ง Copywriter ตอนแรกเลยตั้งใจว่าจะมาทำสักพักนึง ก็เผลอแป็ปเดียว 20 ปี!! (หัวเราะ) คือเราแค่อยากลองทำนู่นทำนี่ จาก Copywriter ก็ทำมาจนกลายเป็น Promoter พอทำไปสักพัก ผมมีโอกาสได้ทำงานกับพี่กฤต กฤษณาวารินทร์ ก็คุยกันว่าอยากทำอะไรที่มันแปลกๆ อินดี้ๆ หน่อย ก็ทำ Green Light Project ขึ้นมา ซึ่งก็สนุกดี แต่คราวนี้จุดเปลี่ยนคือพี่ดลแกออก เพราะอิ่มตัว คราวนี้มันยังมีนักร้องที่ยังรอผลงานอยู่ ผมเลยต้องขึ้นมาดูเอง ซึ่งได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็ได้ประสบการณ์กันไป
แล้วมาเป็น White Music ได้ยังไงครับ
พี่อาร์ม : พอมาถึงช่วงนึง ในตึกเขาก็อยากแบ่งให้ชัดๆ ว่าค่ายไหนควรเป็นแบบไหน ตอนนั้นส่วนตัวผมไม่ได้คิดเรื่องแบรนด์ดิ้งอะไรเลยนะ คือผมเป็นคนที่แบบทำอะไรแล้วสนุกกับมันไปวันๆ น่ะ ไม่ค่อยคิดถึงอนาคตเท่าไร (หัวเราะ) โอเคเรื่องเป้าหมายจริงๆ จังๆ มันก็มีนั่นแหละ แต่วาผมมักจะเอาความรู้สึกนำมาก่อน เสร็จแล้วพอเกิดการแบ่งค่ายขึ้นมา ตอนนั้นยังคิดเลยว่ารวมๆ มันก็แกรมมี่ไม่ใช่เหรอวะ จะแยกทำไม (หัวเราะ) แต่พอค่ายแตกย่อยออกมาเยอะ ผมเริ่มคิดว่า อ้าว!! แบบนี้คนจะเรียกเราว่าอะไรวะเนี่ย งั้นก็คงต้องตั้งค่ายแล้วล่ะ แล้วเราเองก็มีนักร้องอยู่ในมืออยู่แล้ว ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของ White Music ก็ต้องเริ่มทำแบรนด์ดิ้ง เพราะว่ามันมีเรื่องของโซเชี่ยลมีเดียเขามาเกี่ยวข้องด้วย ถ้าไม่ชัดเจนก็จะไม่ดี
ศิลปินในช่วงแรกๆ ของค่าย
พี่อาร์ม : คือเรามีศิลปินที่อยู่ในมือเราอยู่แล้วตอนนั้นก็อย่าง เบอร์แรกๆ เลยก็ “ดา เอ็นโดรฟิน” อย่างดา นี่เราทำงานกันมาตั้งแต่ช่วงชุดแรกๆ เลย มี “ป๊อป ปองกูล” ที่เป็น Calories Blah Blah ตอนนั้น แต่ระหว่างที่ทำงานใน White ก็ไปช่วยพี่เล็ก บุษบา ดูงานของพี่เบิร์ดด้วย ส่วนศิลปินจริงๆ มีหลายคนนะ ที่เข้าๆ ออกๆ อย่างแหนม รณเดช, เบล สุพล อะไรแบบนี้
White Music และแนวทางที่ตั้งใจ
พี่อาร์ม : พอเราทำค่ายมาสักพักก็รู้สึกว่าแนวทางมันไม่ชัดเลย ยิ่งเราต้องพยายามทำคอมมูนิตี้ ทำแบรนดิ้ง ก็เลยคิดว่าต้องเริ่มทำให้ White Music ชัดเจนขึ้น ก็เริ่มจากแบบเล็กๆ ก่อน ถ้าจะให้พูดตรงๆ ผม เริ่มทำแบรนด์ดิ้งของ White Music จริงจัง ไม่เกิน 3 ปี แล้วระหว่างทำมันก็มีการเปลี่ยนแปลงอีก ค่ายในแกรมมี่บางค่ายเลิกทำ บางค่ายก็หยุด คราวนี้ทุกคนก็เลยพุ่งมาที่ผมหมดเลย (หัวเราะ) พอทุกอย่างมาที่เราหมด สิ่งที่เราคิดว่าจะทำแบบเป็นตัวตนของเราตั้งแรก ก็ต้องเริ่มขยาย ต้องเริ่มประนี ประนอมมากขึ้น เพราะว่าถ้าเอาแบบที่ผมตั้งใจจะทำแบรนด์ดิ้งแต่แรก ผมว่าเราจะเหลือศิลปินไม่กี่คนหรอก (หัวเราะ) สิ่งที่เจตนารมณ์ของผมครั้งแรกที่อยากให้ White Music เป็นก็คือค่ายที่ซัพพอร์ตศิลปิน สิ่งที่ผมคิดในใจ แต่ไม่ได้บอกใครเลยก็คือ White Music เป็น Canvas Of Sound เป็นพื้นที่ของศิลปิน เหมือนผืนผ้า เป็นพื้นที่ขาว ศิลปินเป็นสี ซึ่งหมายความว่าคุณจะเป็นสีอะไรก็ได้ แล้วมาเติมเต็มในพื้นที่นี้ ซึ่งผมตั้งใจจะไม่ไปเปลี่ยนศิลปินและสนับสนุนอย่างที่เขาเป็นไปจนที่สุด โดยเราวางตัวเป็นเหมือนผืนผ้าที่เขาจะผสมสีอะไรก็ได้ นั่นคือที่มาในการวางตัว ที่มาของชื่อ White Music และอีกอย่างผมตั้งใจจะทำที่นี่ให้เหมือนบ้าน ศิลปินทุกคนเป็นพี่น้องกัน
สไตล์ดนตรีในแบบ White Music
พี่อาร์ม : ก็เป็นป็อปนี่ล่ะครับ ป็อป อินดี้ป็อป ป็อปร็อค เราวางตัวว่าจะเป็นซัพพอร์ต ต้องทำอะไรได้หลายๆ อย่าง ทีนี้มันก็แล้วแต่ว่าศิลปินเขามายังไง ทรงไหน เราก็ซัพพอร์ตเต็มที่ เพราะอย่างที่บอกผมใช้ใจ ใช้ความรู้สึกทำงานด้วย ผมเลยต้องคุยกับศิลปินเยอะ เพราะสิ่งที่เรากำลังทำ เราไม่ได้มาทำแค่ปั้นนักร้องแต่เรากำลังทำ “ศิลปิน” อย่างบางคน ผมยอมรับเลยว่า ไม่ได้ร้องเพลงดีเอาไปประกวดร้องเพลงก็แพ้เขา แต่ข้างในเขาเป็นศิลปิน พฤติกรรม ไลฟ์สไตล์ การเขียนเพลงเขาเป็น Artist ผมจะมองในมุมนั้น ซึ่งในขณะเดียวกัน คนที่เป็นสายร้องเพลงก็มีเช่นกัน
การกำหนดเป้าหมายก็ดูจะยากเหมือนกันนะครับ
พี่อาร์ม : ก็ถูก ดังนั้นใน White Music ก็จะไม่ใช่แค่กลุ่มคนหรือสไตล์เดียว แต่เป็นบ้าน และในบ้านนี้ก็จะมีรสนิยมอยู่ 2-3 แบบ ผมยกตัวอย่างเช่น เป๊ก, ป๊อป, โอ๊ต กลุ่มนี้ก็จะสามารถไปในทางอื่นได้ นอกจากดนตรี ผมก็จะมีเป้าหมาย การซัพพอร์ตแบบนึง แต่กับกลุ่มที่เป็นดนตรีเลยอย่าง Getsunova, Jetset’er เราก็จะวางเป้าหมายให้เขาอีกแบบ หรือที่เป็น Art มากๆ อย่าง ลุลา, แอมมี่, โอปอล์ ก็จะตั้งเป้าหมาย ซัพพอร์ตอีกแบบนึง เพราะวิธีการทำงาน ทำเพลง ครีเอทีฟต่างๆ มันคนละแบบ ใช้วิธีเดียวกันไม่ได้ ซึ่งตรงนี้ตัวผมเองก็ต้องแบ่งแยกให้ชัดเจนก่อน ซึ่งพอทำไปทำมา ก็รู้สึกว่าตอนนี้ White Music เริ่มจะเกาะกลุ่มมีแนวทางชัดเจน มันเริ่มบรรจบกันได้ ผมเห็นจากการที่เราทำคอนเสิร์ต Whitehaus ครั้งที่ 1 ซึ่งผลมันทำให้ศิลปินจับกลุ่มกัน แฟนๆ ของศิลปินแต่ละคนก็เริ่มชอบศิลปินคนอื่นนอกจากศิลปินหลักของตัวเอง เริ่มกลายเป็น คอมมูนิตี้ และกลายเป็นแฟนของค่าย ซึ่งส่วนตัวผมก็มองว่าตรงนี้ สำเร็จไปจุดนึงแล้วนะ
มีหลักคิด วิธีในการวางเป้าหมายให้ศิลปินยังไงบ้าง
พี่อาร์ม : จริงๆ เราต้องว่ากันเป็นรายคนอย่าง เป๊ก ผลิตโชค เราเห็นตั้งแต่เขาเด็กๆ เข้าแกรมมี่ ตั้งแต่ศิลปินฝึกหัด โอเควันนี้เขาประสบความสำเร็จแล้ว แต่ว่าก่อนหน้านั้น จริงๆ แกรมมี่ก็ดูแลเขามาตลอดนั่นแหละ ผมชวนเป๊กมาอยู่ตั้งแต่จะก่อนไปประกวด Mask Singer อีกนะ ซึ่งมันเป็นช่วงที่ผมกำลังทำ White Music อย่างที่บอกตอนต้นว่าเราตั้งใจจะเป็นที่ที่ซัพพอร์ตศิลปิน ถ้าเราไปตั้งตัวตนว่าเราจะทำแนวนั้น แนวนี้ ไปรังเกียจแนวดนตรี เราก็อาจจะไม่ได้ทำงานกับเป๊ก ซึ่งพอมาถึงตรงนี้ก็ต้องบอกว่าเขาประสบความสำเร็จแล้ว แต่ก็ต้องมีหน้าที่แบกแฟนคลับ ก็หนักพอสมควร ตรงจุดนี้ หรืออย่างลุลาก็เป็นอีกแบบนึง ลุลาผมเองก็อยากจะให้มีคอนเสิร์ตเต็มมาตั้งนานเราก็พยายามผลักดันให้เกิดเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ของลุลา ก็เกิดเป็นผลอย่างที่เราเห็น ซึ่งถ้าเราทำงานกับลุลา ในวิธีคิดแบบเป๊ก มันก็ไม่ได้ หรืออย่างอะตอม ก็เป็นเด็กใหม่ที่เราสร้างขึ้นมา แต่ก็ประสบความสำเร็จ ซึ่งทั้ง 3 แบบที่ยกมาการซัพพอร์ตก็จะต้องเป็นคนละแบบกัน วิธีการต่างกัน แต่หลักสำคัญที่ผมยึดไว้คือเราต้องซัพพอร์ตเขาให้ถึงที่สุด และเหมาะกับสิ่งที่ศิลปินเหล่านั้นเป็นด้วย
ตอนนี้ศิลปินแต่ละเบอร์ของ White Music มีชื่อเสียง ค่อนข้างมาก
พี่อาร์ม : มันก็เกิดจากช่องทางมีเดียต่างๆ ด้วย ทั้งทีวีและโซเชียล ซึ่งตรงนี้ศิลปินอย่างป๊อป ปองกูล หรือโอ๊ต ปราโมทย์ เขามีความสามารถด้านอื่นนอกจากร้องเพลง พอมันมีช่องทางตรงนี้ มันทำให้เขามีพื้นที่เพิ่มขึ้นนอกจากเรื่องดนตรี แล้วประจวบเหมาะอย่าง โอ๊ต-ป๊อป พอมาจับคู่กัน มันดันลงตัวมาก ก็เลยทำให้คู่นี้ดังขึ้น ที่เห็นชัดๆ คือป๊อป ปกติเพลงเขาก็เพราะอยู่แล้ว แต่มันจะทำงานแบบเรื่อยๆ อย่างเพลง “ปล่อย” กว่าจะมาก็ใช้เวลานาน แต่พอเราเอา โอ๊ต-ป๊อป มาคู่กันมันก็หนุนกันทำให้เพลงของป๊อป ทำงานเร็วขึ้นอย่าง เพลงภาพจำ ตอนนี้ก็ทำงานเร็วกว่าเดิม ถ้าเทียบกับ “ปล่อย” ซึ่งก็เป็นตัวอย่างที่ดี
มีการเลือกศิลปินมาทำงานยังไง
พี่อาร์ม : อย่างที่บอกตอนแรกในช่วงเปลี่ยนผ่าน ถนนทุกสายมันพุ่งมาที่ผม มาที่ค่าย White Music หลายคนหมดสัญญาจากที่เก่า เราก็ต้องคุยกันว่า “หัวใจ” เราตรงกันมั้ย ถ้าตรงกันเราก็ทำงานร่วมกันได้ ผมยกตัวอย่าง Getsunova ก่อนมาอยู่กับเรา เขาก็เริ่มดังจากไกลแค่ไหนคือใกล้ แต่ที่ตลกคือเนมเป็นศิลปินคนแรกๆ ที่ผมทำงานด้วย ตอนอัลบั้มเดี่ยว What Is Your Name ซึ่งมันไม่สำเร็จ (หัวเราะ) แต่เขาก็ไปรวมเพื่อนมาทำ ผมนับถือหัวใจเขามากนะ เขาไม่ยอมแพ้ อยู่เป็น 10 ปี เขาก็หาทาง จนเจอ จริงๆ ไกลแค่ไหนคือใกล้ จะเป็นเพลงสุดท้ายที่เขาจะทำแล้ว พอเพลงนี้ทำงานก็ทำให้พวกเขาลุยต่อ ซึ่งพอมาอยู่กับผม ผมก็สนับสนุนเขาเต็มที่ จริงๆ ชีวิตเนม สบายอยู่แล้วนะ ไม่ต้องทำเพลงก็ได้ (ยิ้ม) แต่การสู้มาเป็น 10 ปี ก็พิสูจน์ว่าเขาทำเพราะรักดนตรีจริงๆ เราก็จะซัพพอร์ตเต็มที่
ถึงแม้พี่อาร์มจะบอกว่าทำด้วยความสุขแต่พอศิลปินเริ่มดังขึ้นความคาดหวังผลทางธุรกิจก็จะตามมาเช่นกัน ตรงนี้มีวิธีรับมือยังไงครับ
พี่อาร์ม : ใช่ครับ มันมีความคาดหวังเกิดขึ้น มันค่อนข้างยาก แต่ในทางกลับกันมันก็เป็นโอกาสด้วย ผมเป็นคนที่ชอบจะบาลานซ์เรื่องต่างๆ ให้สมดุลกันอยู่แล้ว คือเอาแบบนี้ดีกว่า สิ่งที่เรากำลังทำงานอยู่คืออุตสาหกรรมดนตรี มันเป็นธุรกิจของศิลปะ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นแบบนี้คุณก็ต้องบาลานซ์ทั้ง 2 เรื่อง เช่นกรณี เป๊ก พอเป๊กเข้ามา มันเริ่มมีเรื่องธุรกิจ สปอนเซอร์เข้ามา มันเป็นโอกาสครับ ไม่ใช่ปัญหา เพียงแต่เราก็ต้องพูดคุยกับคนอื่นด้วย ถ้าเป็นเชิงธุรกิจ เพราะอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องของเราคนเดียว พอสรุปสุดท้ายมันก็เป็นเรื่องของแกรมมี่ทั้งหมดอยู่ดี
เรื่องทางธุรกิจ ทำให้เครียดไหมครับ
พี่อาร์ม : เครียดดิ (หัวเราะ) คืออย่างนี้เราก็ต้องปรับตัว เราต้องหาวิธีทำ ซึ่งบางครั้งเราก็ทำพลาดนะ แต่ผมมองว่ามันก็จะเป็นบทเรียนที่เราจะต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ
โซเชียลทำให้ White Music มีชื่อเสียงมากขึ้นไหมครับ
พี่อาร์ม : ยังนะ คืออย่างนี้ โอเคล่ะศิลปินของเราอย่าง โอ๊ต ปราโมทย์ ตอนนี้ โซเชียลของเขาทะลุทะลวงมาก หรือของเป๊ก แต่ในทางกลับกันศิลปินในค่ายเราหลายคนก็ไม่ใช่คนที่ชอบโซเชียลมากนัก ซึ่งตรงนี้ผมก็มองว่าการมีโซเชียลของตัวเองมันเป็นสิ่งที่ควรจะต้องทำ ผมว่ามันสนุกจะตายที่เราได้มีพื้นที่ของเราเอง แต่ว่ามันก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีขนาดใหญ่โต อาจจะมีกลุ่มเล็กๆ แต่เหนียวแน่น แบบนี้ก็ได้ คราวนี้กลับมาที่ White Music ถามว่าโซเชียลของตัวค่าย White Music แข็งแรงหรือยัง ผมว่ายัง อันนี้เราต้องทำต่อไป ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ
มีวิธีรับมือกับความคาดหวังรอบข้างยังไงครับ ทั้งจากภายนอกและภายในค่ายเอง
พี่อาร์ม : .ต้องบอกแบบนี้ คือเราทำธุรกิจดนตรีมันเป็นเรื่องศิลปะ เราทำงานกับคน ดังนั้นแน่นอน คนย่อมมีความคิดไม่เหมือนกัน แล้วทำงานกับศิลปิน ที่เป็นกลุ่มคนบ้าระดับนึง (หัวเราะ) มันย่อมมีความคาดหวังมากน้อยแตกต่างกัน แต่หลักการเราแต่แรก เราบอกแล้วว่าจะซัพพอร์ตศิลปินให้เต็มที่ที่สุด เราคือ Canvas Of Sound เป็นพื้นที่ให้เขา เราก็ต้องหาวิธีช่วยแต่ละคน แล้วสิ่งที่ผมบอกอีกอย่างเราอยากให้ค่ายนี้เป็นเหมือนบ้าน เป็นพี่เป็นน้องกัน เราก็เลยอาจจะมีวิธีเช่นจับคนนี้ไปร้องกับคนนั้น ไปช่วยงานตรงนี้ ไปโชว์ร่วมกัน เพื่อช่วยกันบาลานซ์แล้วดึงๆ กันขึ้นไป เราจะไม่ได้มาครอบศิลปินแล้วมาบอกว่า เออ!! ทำไมไม่ลองทำแบบคนนั้นล่ะ ไม่ทำแบบคนนี้ล่ะ ผมจะไม่ทำแบบนั้น ถ้าอย่างนั้นมันจะผิดวัตถุประสงค์ตั้งแต่แรก ผมจะไม่บังคับคนว่าให้ทำอะไร แต่จะพูดคุยหาแนวทางร่วมกัน ซึ่งอะไรมันไม่ได้ก็มาตรงกลางร่วมกัน โชคดีมากที่ศิลปินของเรามีตัวตนสูงแต่ไม่มีอีโก้
White Music ในอุดมคติของพี่อาร์ม
พี่อาร์ม : .คนอย่างผมไม่ตั้งเป้าหมายอะไรขนาดนั้นหรอก (หัวเราะ) ไม่หรอก คือเป้าหมายที่อยากให้เป็นจริงๆ ล่ะก็มีครับ อยากให้ White เป็นที่เพาะเมล็ดพันธุ์ของคนรุ่นใหม่ที่มาทำงานเพลงแล้วสำเร็จแล้วอยู่เป็นคอมมูนิตี้นี่แหละ อยากให้ศิลปินทุกคนประสบความสำเร็จแล้วมาช่วยน้องๆ ดึงกันขึ้นไปเป็นกลุ่มเป็นก้อน ให้มันประสบความสำเร็จในสิ่งที่เขาอยากจะเป็น
แต่จากที่เห็น เราไม่เห็น White Music มีศิลปินหน้าใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เคยมีผลงานมาแล้ว
พี่อาร์ม : .ไม่นะ เราเปิดรับผลงาน มาส่งเดโม่กับเราได้ เรามีเดโม่เยอะ ซึ่งตอนนี้เรากำลังจะทำคนใหม่ขึ้นมา การสร้างคนใหม่ เพื่อให้ประสบความสำเร็จมันยากพอสมควร ซึ่งคำว่าความสำเร็จ เราจะให้สำเร็จในแนวทางไหนอีก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังไงก็มีแน่นอนครับ แต่มันมีระยะเวลาของมัน มีทั้ง ผมไปหาเองตามโซเชียล มีทั้งส่งเดโม่ มีคนนึงเราเห็นแบบเฮ้ย!! ทำเพลงเอง เรียกไปคุยบอกว่าอยากทำงานประจำก็ อ้าว (หัวเราะ) คือเราไม่ได้แค่สร้างนักร้อง เราจะสร้างศิลปิน ดังนั้นเรื่องของวิธีคิด มุมมอง หรือแม้แต่การแต่งตัวมันก็สามารถบ่งบอกเราได้ในระดับนึงแล้ว
วงการดนตรีในปัจจุบันพี่มองว่าเป็นยังไงบ้างครับ
พี่อาร์ม : สนุกจะตาย คึกคักมาก มีงานอย่าง The Guitar Mag Awards อะไรแบบนี้ให้ศิลปินได้รับรางวัลผมว่าคึกคักดี ทำให้คนทำงานมีกำลังใจ คือตอนนี้วงการดนตรีมันไม่ใช่เรื่องของค่ายใด ค่ายหนึ่ง แต่มันเป็นวงการดนตรีรวมๆ อย่างเช่น ศิลปินค่ายผม ก็สามารถไปโชว์ ไปทำโปรเจ็กต์กับค่ายอย่าง What The Duck หรือ Boxx Music ได้ มันไม่มีการแข่งกันแล้ว ใครที่คิดจะตั้งค่ายเพื่อแข่งขันนั่นล่ะผมว่าแปลก (หัวเราะ) ซึ่งผมว่าตอนนี้มันคึกคักมากนะ
อยากให้พี่อาร์มฝากค่าย White Music สักหน่อยครับ
พี่อาร์ม : .พวกเราจะพยายามทำงานที่มีคุณค่าและทำให้คนชอบไม่ยาก ก็คือทำงานให้พวกคุณชอบนั่นแหล่ะ (หัวเราะ) ก็ฝากติดตามพวกเราได้ในทุกช่องทาง ชอบไม่ชอบก็แล้วแต่ แต่จะทำงานคุณภาพให้ดีที่สุดครับ
ขอขอบคุณ : อี๊ด / ฝ้าย White Music ที่อำนวยความสะดวกในการสัมภาษณ์ครับ