Discipline
มือกีตาร์บ้านเราที่จะมีงานชุกได้นอกจากฝีมือที่ดีแล้ว สิ่งที่จะต้องมีก็คือ “วินัย” วินัยในการเล่น การซ้อม การหาความรู้ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เรามีงานเล่นดนตรีที่ดี และในจำนวนนั้น มือกีตาร์ ที่ชื่อ หนึ่ง วินัย ไตรนทีภักดี ผู้นี้ก็เป็นอีกบุคคล ที่มีทั้งความรู้ ความเก่งกาจในการเล่น ความเข้าใจในสิ่งที่เล่น ทำให้เขามีงานดนตรีที่มั่นคงอย่างการเป็นมือกีตาร์ให้ ปาล์มมี่ เป็นอาจารย์มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย รวมถึงการเป็นมือกีตาร์อัดเสียงให้กับงานเพลงของศิลปินชื่อดัง สิ่งที่เขามีไม่ใช่พรสวรรค์ แต่เป็นพรแสวง และความมีวินัย และระเบียบในการใช้ พรแสวงนั่นเอง ที่ทำให้มือกีตาร์ผู้นี้ ก้าวขึ้นมาเป็นมือกีตาร์ที่ มีงานชุก และคนพูดถึงมากที่สุดคนนึงของวงการดนตรีบ้านเรา
Music Library
สิ่งที่เลื่องลือก็คือความเป็นห้องสมุดดนตรี เคลื่อนที่ของ หนึ่ง วินัย เขามีความรู้ทั้งเรื่องของกีตาร์ รายละเอียด ในทุกชิ้นส่วน เอฟเฟ็กต์ โดยเฉพาะมัลติเอฟเฟ็กต์ ที่เหมือนว่าเขาจะรู้ยันตะกั่วที่ใช้ในแผงวงจร เราสามารถถามในสิ่งที่เราอยากรู้กับเขาได้ทุกเมื่อ (แต่ต้องถามแบบตั้งใจหน่อยนะ) เขาจะสามารถหาคำตอบให้กับพวกเราได้ ชนิดที่ว่า อยากจะเถียง ก็เถียงไม่ออกทีเดียว นอกจากเรื่องของอุปกรณ์ แนวคิดในการใช้ชีวิตนักดนตรีที่แกแนะนำ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราสามารถเอาไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันของเราได้เช่นกัน เป็นตัวอย่างของมือกีตาร์อีกคนที่น่าศึกษาเลยล่ะ
Groove And Smooth
สไตล์การเล่นของเขาเป็นแบบไหน หนึ่ง วินัย ได้ทุกแนว ฉายานี้ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย (เพราะเราก็พึ่งตั้งให้นี่แหล่ะ) เขาเป็นคนที่เล่นกีตาร์ได้หลากหลายสไตล์ แต่มักจะเริ่มจากสิ่งง่ายๆ อย่างสเกล พื้นฐาน เมโลดี้ แล้วค่อยขยายเป็น Lick ที่ใช้สเกลซับซ้อน มากขึ้น สไตล์การเล่นที่มีแนวทางแบบนี้ เป็นที่ยอมรับแม้แต่ชาวต่างชาติเรียกว่าเป็นคนที่ เนี้ยบทั้งซาวด์การเลือกโน้ตที่ใช้ รวมไปถึงการดันสาย สั่นสายด้วย ความเร็วสัดส่วนที่ดี ซาวด์ได้ ความสะอาดชัดเจน จุดเด่นสุดๆ ก็คือเรื่องความสะอาด ของโน้ตที่ใช้และความเที่ยงตรงของสัดส่วนนี่ล่ะ
Instrument Of หนึ่ง วินัย
การเลือกอุปกรณ์ในการเล่นของเขามีทั้งความเรียบง่ายและความประณีตอยู่ในตัว เขาไม่ได้เลือก กีตาร์แพงๆ หรือเอฟเฟ็กต์แพงๆ แต่เขาเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับงานที่ใช้ โดยเฉพาะอุปกรณ์ให้ได้ประโยชน์สูงสุดเวลาเล่น โชว์หรืออัดเสียง
Gear : ในการเลือกอุปกรณ์ของเขา จะเอนเอียงไปทางเสียง แบบ Vintage นิดๆ ไม่ว่าจะเป็นกีตาร์ หรือเอฟเฟ็กต์ ใน Preset Effect จะเป็นเสียงแบบ Crunch รวมถึงพวก Modulation ต่างๆ Pickup Output ที่ไม่แรงมากนักเพื่อให้เนื้อเสียงกีตาร์ยังอยู่
Play
เราลองมาดูการเล่นกีตาร์ในผลงานของเขากันบ้าง เอกลักษณ์การเล่นของที่โดดเด่นก็คือการเล่นอะไรที่เป็นพื้นฐานเบสิก แล้วค่อยๆ ขยายความในตอนท้าย ไม่ว่าจะเป็น Lick หรือการผสม Scale ต่างๆ ซึ่งจะไม่ทำให้ภาพรวมของโซโล่เสีย เรามาลองดูกันเป็นเพลงๆ ไป
(Ex.1 Amen)
เป็นท่อนโซโล่หลังจาก Modulate จาก C Major มาเป็น Key D Major ในภาพรวมเราจะเห็นว่าโซโล่ท่อนนี้ไม่ได้มี Scale ที่ซับซ้อน เป็น B minor Pentatonic (หรือจะมองเป็น D Major Pentatonic ก็ได้) ผสมกับโน้ตจาก Major minor Scale ง่ายๆ แต่ที่พิเศษก็คือการเลือกโน้ตที่จะเล่นและวิธีเข้าถึงโน้ตเหล่านั้น การดันสาย สั่นสายที่แม่นยำ รวมถึงซาวด์การเล่นที่ได้รับอิทธิพล จาก Neal Schon (มือกีตาร์วง Journey) มีจุดที่น่าสังเกตคือ การเริ่มเมโลดี้ในหลายๆ ท่อนจะเริ่มจากโน้ตที่เป็น Triad ของ D Major ก็คือ D F# A โดยเริ่มจากเมโลดี้ 2-3 ตัวนี้แล้วไปต่อ กับส่วนโน้ตที่ค่อนข้างแม่นยำ ท่อน Run ก็จะเป็นโน้ตที่วนๆ อยู่รอบ Triad เช่นกัน ทั้งหมดจะมีแกนหลักจากโน้ตเมโลดี้ที่เป็น Triad นั่นเอง
เราจะได้อะไร : เราจะได้เรียนรู้วิธีการคิดเมโลดี้จากสิ่งง่ายๆ เช่น Scale พื้นฐาน ไม่ใช่แค่ไล่ขึ้น ลง หรือ ทำให้เร็ว แต่ใน Scale ยังมีพวก Tone ที่สามารถเป็น ไกด์ในชุดคอร์ดแต่ละชุดได้ ดังนั้นเวลาคิดเมโลดี้โซโล่ลองเริ่มจากพวกโน้ตในคอร์ดง่ายๆ สัก 2-3 ตัวก่อนก็ได้ แล้วถึงเวลาจะปั่น ก็ค่อยใส่ให้ถูกที่ถูกทาง และไม่จำเป็นต้องใช้ Scale ที่ยากเย็นอะไร
(Ex.2 รอเธอเสียใจ)
คราวนี้มาเป็นงานในแบบที่เขาเป็นมือปืนอัดเสียงบ้าง เพลงของ Lipta เพลงนี้ จากโจทย์ต้องการเมโลดี้สไตล์เพลงไทยยุค 90‘s เพลงนี้จะใช้เมโลดี้ที่เป็นการข้ามสายเยอะ แต่ทุกอย่างจะยังอยู่ในคอร์ดโทนอยู่ ให้ลองสังเกตการดันสายด้วย ในท่อน Solo ด้วยความที่เป็นโซโล่เน้นเมโลดี้ จึงมีลูกเล่นของ Scale ในบางจุดเช่นท่อนคอร์ด Am เข้า Gm มีการใช้ Scale แบบ Half Whole เข้าไปเพิ่มสีสันให้เมโลดี้ปกติ และในท่อน Run ตอนจบจะมีการเล่นที่เปลี่ยนคีย์ออกไป โดยในคอร์ด Fmaj7-Ebmaj7 จะเป็นโน้ตที่อยู่ใน Scale Tone ของ F Major แต่พอคอร์ด Dbmaj7 จะเป็น F minor ซึ่งตรงนี้แสดงให้เห็นความเข้าใจเรื่อง Scale ของ อ.หนึ่ง วินัย
เราจะได้อะไร : การใช้ Scale ที่ไม่ได้อยู่ในคีย์ปกติ เพื่อสร้างสีสันของท่อนโซโล่ เราสามารถใช้ได้แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม และมีเป้าหมายอย่างเช่น Half Whole ในเพลงนี้ที่ใช้เพียงเล็กน้อย แต่ยังผสมกับเมโลดี้ที่เป็น Triad โน้ตอยู่ หรือการเปลี่ยน Scale Tone ก็ต้องดูว่าคอร์ดที่เป็นพื้นรองรับเหมาะสมกับ Scale นั้นๆ หรือไม่
(Ex.3 New Horizons)
เพลงนี้อาจจะอธิบายสไตล์การเล่นของเขาได้ค่อนข้างชัดเจน โดยจะเริ่มจากลักษณะของ Riff ที่มีสัดส่วนยืนพื้นเป็น 16th Note แต่จะคั่นด้วยตัวหยุด ซึ่งตรงนี้ จะเล่นสัดส่วนได้ค่อนข้างแม่นยำมาก จากนั้นจาก Groove เริ่มต้นจะเริ่ม Run โดยอิง Groove หลักๆ โดยใช้โน้ตจาก Scale minor และ minor Pentatonic ให้ลองสังเกตการใช้เทคนิคพวก Slide เข้า-ออก เพื่อสร้างสำเนียงในการเล่น สุดท้ายท่อน Run Lick จบ จะเป็นโน้ต Arpeggio แบบ ข้ามสาย แต่ที่น่าสนใจก็คือการเลือก Arpeggio ตรงนี้เป็น Arpeggio ของ E และ B แต่ผสม Tension อย่างตัว 9th และ 4th บนคอร์ด A Major ทำให้ได้เสียง Tension บนคอร์ด A และท่อน Run สุดท้าย เปลี่ยนโน้ต จาก D# มาเป็น D ซึ่งเราสามารถมองเป็น A Major หรือ E Mixolydian ก็ได้
เราจะได้อะไร : บทสรุปของการโซโล่สไตล์หนึ่ง วินัย นั่นก็คือการขยายฐานจากเมโลดี้ง่ายๆ สร้าง Groove ขึ้นมา ขยายเมโลดี้ เพิ่มสีสันโดยใช้ Scale และในเรื่องเทคนิคจะเป็นส่วนท้ายที่สุด ลองใช้ไอเดียหลักๆ นี้ จะสามารถสร้างท่อนโซโล่ที่มีรสนิยม และเมโลดี้ที่ดี แต่ไม่เรียบง่ายจนเกินไปได้ แต่ปัญหาก็คือ คุณต้องเรียนรู้ Scale พื้นฐานให้เข้าใจเสียก่อน