34 ปีที่ค่ายเพลงที่ชื่อว่า Grammy Entertainment เป็นอุตสาหกรรมหลักของวงการดนตรีบ้านเรา ถ้าโลกแห่งเสียงเพลงเป็นมหาสมุทร Grammy ก็คือเรือลำใหญ่โตมหึมา เป็นเรือที่นำหน้าเรือทุกลำในวงการนี้เราพูดแบบนี้ได้เต็มปาก ค่ายเพลงที่กลายเป็นความฝันของคนดนตรีสักครั้งหนึ่ง ฉัน พวกเรา ผม หนู กู จะได้ ออก “เทป” กับที่แห่งนี้ ตัดภาพกลับมาในวันที่ทุกคนตื่นขึ้นมาเล่น Facebook ก่อนกินข้าว กระแสดนตรีเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แน่นอนเรือลำนี้ยังอยู่แต่ เปลี่ยน “กัปตันเรือ” นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ คนที่กำหนดทิศทางของเรือลำนี้ คือคนที่จะต้องทำให้ Grammy ยังคงความเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมดนตรี ต้องนำเรือลำนี้ล่องด้วยความเร็วสูงสุดในขณะที่ทุกๆ คน ก็พร้อมที่จะขึ้นมาอยู่ในระนาบเดียวกับ Grammy เช่นกัน วันนี้ทุกคนมีช่องทางที่เหมือนกัน ไม่มีใครผูกขาดได้แล้ว Grammy ภายใต้ CEO คนใหม่คนนี้จะมีแนวความคิดอย่างไร นี่อาจจะเป็นการส่งผลต่อทิศทางอุตสาหกรรมดนตรีบ้านเราก็ได้ นี่คือการเดินทางของ Grammy พร้อมกัปตันคนใหม่ ภาวิต จิตรกร
พี่เจ๋อ ตอนนี้ทำตำแหน่งอะไรในแกรมมี่ แล้วก่อนหน้านี้ ทำอะไรมาก่อน
พี่เจ๋อ : สวัสดีครับ ผม ภาวิต จิตรกร ตอนนี้เป็น CEO ที่ GMM Music นะครับดูธุรกิจเพลง รวมทั้ง Online Content ก่อนหน้านี้สิ่งที่ผมทำมาทั้งชีวิตคืองาน โฆษณา ทำมารวดเดียว 21 ปี ไม่พักเลย (หัวเราะ) คือมาทางสาย Art ทั้งบ้านนั่นแหล่ะ จนตำแหน่งสุดท้ายก่อนมาอยู่ Grammy คือ MD ที่ Ogilvy ซึ่งไม่ใช่สายดนตรีเลย ส่วนเรื่องดนตรีส่วนตัว อันนี้ผมไม่เคยบอกใครเลยนะพูดแล้วเขิน ตอนเด็กๆ ผมเป็นแชมป์ อิเล็คโทน สยามกลการนะ (หัวเราะ) พอเข้ามหาลัย ก็ยังเล่นดนตรี จนทำงานผมก็มีวงดนตรี คือเล่นดนตรีมาตลอด แต่ไม่ได้เข้ามาทำงานในธุรกิจดนตรีเต็มตัว
Grammy ในมุมมอง พี่เจ๋อ ตอนนั้น
พี่เจ๋อ : ก็เป็น Hub ทางดนตรีเต็มรูปแบบอยู่แล้วตั้งแต่ต้น แล้วก็ขยายไปในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งวิทยุ ภาพยนตร์ ทีวี แต่สิ่งที่จับต้องได้ชัดเจนที่สุด ก็คือเรื่องของดนตรี ศิลปิน ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการมาอยู่ที่นี่ได้ เป็นบุพเพสันนิวาสนะ (หัวเราะ) ตั้งแต่เด็กผมเรียนเซนต์คาเบรียล หน้าโรงเรียนจะมีร้านเทป ผมก็จะอดค่าขนมไปซื้อเทปอยู่ตลอด เรียกว่ามีทุกค่าย ทุกศิลปินเลยก็ว่าได้ อะไรออกมาซื้อหมด หนีเที่ยวครั้งแรกก็เจอ พี่คริสติน่า ผมยังให้เซ็นต์ลายเซ็นต์ให้เลย หรือไปดูคอนเสิร์ตมือขวา ที่ดาดฟ้า เซ็นทรัลลาดพร้าว หรือไป MBK HALL ตอนประกวดอิเล็คโทน ก็ใช้เพลงหมอกหรือควัน ของพี่เบิร์ด คือชีวิตผมก็วนๆ ผูกพันอยู่กับเพลงของ Grammy โตมากับ Grammy อยู่แล้ว แต่จริงๆ เรียกว่า Music Lover ก็ได้นะ เพราะผมเองก็ฟังเพลงทุกแนวแหล่ะ ไม่ใช่เฉพาะของ Grammy หรอกครับ
ในตอนที่ ถูกเลือกให้มาเป็น CEO รู้สึกยังไงบ้าง
พี่เจ๋อ : อันนี้เป็นฉบับแรกเลยนะที่จะบอกคือ ผมไม่ได้อยากเป็นนะครับ (หัวเราะ) ผมเข้ามาใน Grammy ปีแรก ผมไม่ได้อยากมาเป็น CEO ผมทิ้งทุกอย่างเข้ามา Grammy เพราะความคิดเพี้ยนๆ อย่างนึง ผมทำงานในวงการโฆษณามานานจนอิ่มตัว จนวันนึงในขณะที่ผมอายุ 40 ผมตื่นมาแล้วรู้สึกว่าเราผ่านมาครึ่งชีวิตแล้ว อยากจะทำอะไรที่ยิ่งใหญ่และแตกต่างไปจากเดิม รู้สึกว่าชีวิตมันเหลืออีกตั้ง 20 ปี ไม่อยากทำอะไรอย่างอื่นบ้างเหรอ ในใจผมมีความคิดที่อยากทำพวกเกี่ยวกับ Platform แต่ก็เก็บไว้ และมีความคิดว่าไม่อยากทำงานกับบริษัทฝรั่งแล้ว คือไม่ได้ไม่ชอบหรือเกลียดอะไรนะครับ แต่ผมรู้สึกว่าอยากมี flexibility มากๆ การทำกับบริษัทที่เป็น Local น่าจะมีโอกาสมากกว่า คราวนี้เป็นจังหวะที่ คุณ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เรียกผมเข้ามา Present งานด้าน Digital ซึ่งผมก็ได้โอกาส พูดทุกอย่างที่ผมคิด คุณ ไพบูลย์ ก็เลยชวนผมมาอยู่ มาในฐานะ CMO ซึ่งเป็นช่วงที่ผมมีความสุขมาก (หัวเราะ) ต้องบอกว่าผมไม่ได้มีปัญหากับ Ogilvy นะ ผมจากมาด้วยดี มา Grammy มีทีมงานแค่ 2 คน กลายเป็นรัฐอิสระไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับใครมากนัก อยากจะทำอะไร คิดอะไรก็ได้ทดลอง ทำได้ก็เกิด ไม่ได้ก็ไม่เกิด มันเลยได้ทดลองทำอย่างสนุกสนาน ผ่านมา 8 เดือน จนวันนึง คุณ ไพบูลย์ ได้แจ้งผมว่า พี่ตี่ กริช ทอมมัส เข้าสู่Periodเกษียณอายุงานแล้ว ซึ่งผมไม่เก็ตหรอก เพราะก็ไม่ได้เกี่ยวกับผมไง (หัวเราะ) ผมจะมาสร้างโลกใหม่ เพื่อเปลี่ยน Grammy สู่ระบบ Digital แล้วพี่ตี่ เอง ผมก็เคารพนับถืออยู่แล้ว แล้วคุณไพบูลย์ก็บอกผมว่า ให้ผมเป็น CEO คำพูดที่ผมพูดกับคุณไพบูลย์ตอนนั้น คือผมปฏิเสธ และเสนอชื่อคนอื่นอีกมากมาย หนึ่งในนั้นก็มี คุณฟ้าใหม่ ลูกชายคนโตของคุณไพบูลย์ด้วย ผมไม่คิดว่าตัวเองเหมาะสม ซึ่งแกก็โกรธผมพอสมควรเลย (หัวเราะ) ก็ผ่านเวลามาเกือบเดือนเลยครับ จนในที่สุด ผมบอกแกว่า ถ้าพี่มีความเชื่ออะไรก็ตามในตัวผมซึ่งผมก็ไม่เก็ตเลย แล้วผมก็ไม่รู้เรื่องอะไรในธุรกิจเพลง คุณเป็นเจ้าของ แล้วเอาบริษัทมาเสี่ยงกับคนไม่รู้เรื่องอะไรเลยอย่างผม คือคุณก็เสี่ยงกับผม อีกด้านตัวผมเองก็เสี่ยง เพราะก็ออกจากที่เก่าที่อยู่มาทั้งชีวิตเหมือนกัน ดังนั้น ก็เสนอแกว่าถ้าผมรับแล้ว ผมจะทำแบบนี้ แบบนั้นนะ รับได้หรือเปล่า ถ้าไม่ได้พี่ก็ต้องหาคนอื่นแทน แต่ในที่สุดแกก็ยังเชื่อมั่นในตัวเราอยู่ ซึ่งผมก็เคลียร์ทุกอย่างเพื่อจะมาเป็น CEO ใช้เวลาเดือนครึ่ง จนมาเป็น CEO วันที่ 1 มกราคม 2017 ผมบอกกับ The Guitar Mag แบบตรงมากๆ เลย ผมไม่คิดว่าผมเหมาะกับงานนี้ ไม่ได้คิดว่าอยากจะเป็น ผมแค่มีความฝันว่าจะสร้างโปรดักส์ที่ยิ่งใหญ่ อยากจะสร้างการเปลี่ยนผ่าน ผมเชื่อในการเปลี่ยนผ่าน Local ให้เข้าสู่ยุค Digital
อะไรคือสิ่งที่เสนอกับคุณไพบูลย์
พี่เจ๋อ : ผมเสนอว่าเราต้องทำองค์กรให้เป็น ONE P&L พูดง่ายๆ คือการยกเลิกระบบการมี รายการระหว่างกันในกลุ่มบริษัท ของ GMM MUSIC แล้วเหลือแค่ 1 บริษัทที่เป็น P&L เดียวกัน มันเป็นแนวโน้มของโลก เอาง่ายๆ ทุกบริษัทในกลุ่มเพลง ไม่ต้องดูเรื่องผลกำไร เอาทุกอย่างมาไว้ที่ CEO ถ้าเจ๊งไล่ CEO ออก จบ (หัวเราะ) นี่คือข้อโชคดีข้อแรก คุณไพบูลย์ขยับตรงนี้ให้ผม ให้กลายเป็น ONE P&L ข้อโชคดีที่ 2 ผมได้ร่วมงานกับคุณ สมภพ บุษปวนิช มาเป็น COO ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งผมไปต่อไม่ได้เลยถ้าไม่มีเขา เขาเป็นคนที่รู้ระบบภายในทั้งหมดในองค์กรด้วย base ที่เขามาจากสาย finance ทุกอย่างที่เขาคิดจะเป็นรูปธรรมและมีหลักการเสมอ ผมก็ได้ทำงานร่วมกับ คุณ ฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการขายสายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมาดูเรื่องการขายทั้งหมด และช่องทางการค้า ซึ่งช่วย off load งานผมได้เป็นอย่างมาก นอกจากบทบาท CEO MUSIC ผมช่วยดูเรื่อง Marketing ในฐานะ CMO ด้วย ผมเรียกว่าระบบ 3 C ทำงานเป็น 3 ประสาน CEO, COO, CSO นี่คือข้อโชคดีที่สอง ข้อโชคดีที่ 3 คือพี่ๆ ใน Grammy รุ่นเดอะ ไม่ว่าจะเป็น พี่เล็ก บุษบา พี่นิค วิเชียร ให้การสนับสนุนผม โดยเฉพาะพี่ตี่ ที่พูดกับผมทันทีเมื่อทราบว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง พี่ตี่บอกว่า ผมจะซัพพอร์ต CEO ใหม่ให้ดีที่สุด ปัจจุบันพี่ตี่ยังเป็นประธานที่ปรึกษา GMM MUSIC และยังช่วยดูแลค่าย แกรมมี่ โกล์ดทั้งหมดอยู่ การสนับสนุนนี้ รวมถึงพี่ๆ ทั้งหมด ได้ประคับประคองผม ในเวลาปีครึ่งที่ผ่านมา
อาจจะเป็นคำถามแปลกๆ ตอนนี้ แกรมมี่ ยังเป็นค่ายเพลง หรือ กลายเป็น Entertainment Business ครบวงจร หรือ เวท น้ำหนักกับเพลง เพียวๆ ขนาดไหน
พี่เจ๋อ : มองยังไงก็ได้ครับ เพราะทั้งหมดแยกจากกันไม่ขาด ความเป็นจริงแกรมมี่เป็น Holding Business ที่มีบริษัทในเครือมากมาย เพียงแต่ว่าถ้ามองในมุมของ CEO GMM MUSIC ผมคิดว่าธุรกิจเพลงก็ยังเป็นธุรกิจหลักของ Grammy ผมเคยมองตึก Grammy จากชั้นล่าง ตึกเรามี 43 ชั้น ผมเกิดความรู้สึกว่า มันต้องมีเหตุผลที่ตึกนี้มันมีตั้ง 43 ชั้น ในขณะที่ค่ายเพลงวันนี้ ใหญ่ๆก็ไม่เกิน 1 ชั้นหรอก มีพนักงานเต็มที่ก็ 50 คน แต่นี่มี 43 ชั้น มันกลับมาที่หัวใจหลักของเรา เราทำดนตรีมานาน เป็นโครงสร้างหลักของวงการดนตรี ผมมีคนที่ผมต้องทำงานด้วยเกือบ 700 คน เราจะให้พวกเขามีความเชื่อว่า ค่ายเพลงมันกำลังจะตายแล้วอย่างนั้นเหรอ ผมไม่มีทางยอมรับความคิดนี้ได้อย่างเด็ดขาด อุตสาหกรรมเพลงกับเอ็นเตอร์เทน อาจจะเชื่อมๆ กันอยู่ แต่ผมทำธุรกิจเพลง ผมทำวงการดนตรี ผมไม่ได้ผยองว่าพวกเราดีเด่นกว่าใคร แต่เราต้องจริงจังที่สุดแน่นอน เพราะเรามีตึกตั้ง 43 ชั้น ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำวะ (หัวเราะ) ผมก็รู้สึกแบบนั้น พอความรู้สึกมันเป็นแบบนั้น ผมก็มีแต่ความจริงใจ ที่จะทำให้ธุรกิจนี้อยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งผมมั่นใจมากว่า มันจะยั่งยืนอยู่ได้ตลอดไป
ผมมีคนที่ผมต้องทำงานด้วยเกือบ 700 คน เราจะให้พวกเขามีความเชื่อว่า ค่ายเพลงมันกำลังจะตายแล้วอย่างนั้นเหรอ
พอขึ้นมาเป็น CEO จริงๆ พี่เจ๋อมองว่าต้องเปลี่ยนอะไรเป็นอย่างแรก
พี่เจ๋อ : อยากเปลี่ยนคำสั่งไม่ให้ผมเป็น CEO (หัวเราะ) คือต้องบอกแบบนี้ผมโตมาในวิถีที่ผมต้องคุมงานหรือทำงานกับคนทำงานที่มีอายุมากกว่าผม ตั้งแต่ทำงานแรกๆ จนเป็น MD ที่ Ogilvy เพราะฉะนั้นผมเรียนรู้ว่า ถ้าเข้ามาแล้วคิดแต่จะเปลี่ยนแปลงอะไรมันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง มันจะขัดหูขัดตาไปหมด เพราะฉะนั้นธรรมชาติของผมจะไม่มีความคิดที่จะเปลี่ยนอะไรมาก หลักใหญ่ที่สุดไม่ใช่การเปลี่ยน แต่อะไรล่ะคือเป้าหมาย การที่เราเป็นคนใหม่ เรามีอำนาจ เราใช้อำนาจในการเปลี่ยนผมว่าเราข้ามขั้นเกินไป เราอาจตั้งเป้าหมายไว้เต็มไปหมดได้ แต่เป้าหมายมันก็มาพร้อมปัญหา หากคิดที่จะแก้อะไรที่ไม่ได้ดั่งใจไปซะหมด เราก็เดินคนเดียว และผมก็เชื่อว่าเราเองก็ทำไม่ได้ไปซะทุกข้อ จากที่ผมเรียนรู้มา การเป็นผู้บริหารควรมองภาพใหญ่ให้เห็นกระจ่างชัด การทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ 3 เรื่องใน 1 ปี ถือว่าเต็มที่แล้ว แล้วเป้าหมายคืออะไร เป้าหมายแรกคือ สิ่งที่พี่เต๋อกับพี่ไพบูลย์ เคยตั้งเป้าว่าจะทำให้ธุรกิจดนตรีเป็นอาชีพให้ได้ เพราะในวันที่ก่อน Grammy จะตั้งขึ้น ดนตรีมันไม่ได้เป็นอาชีพที่จริงจังอะไรมากนัก ข้อ 2 คือ จะทำยังไงที่จะเปลี่ยน Grammy ให้มีความยั่งยืนทางธุรกิจ ที่ตอบโจทย์ศิลปิน และพนักงานทั้ง 700 คน นี่เป็นเรื่องที่ผมคิดในหัว ธุรกิจดนตรีจะมีเสถียรภาพได้ยังไง และจะทำยังไงให้บริษัทอยู่ได้อย่างยั่งยืน เห็นมั้ยว่านอกนั้นมันเป็นเรื่องยิบย่อยมาก การเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย แล้วผมถูกวางตัวลงมาในวันที่ธุรกิจเพลงกำลังถอยหลัง ซึ่งความเชื่อของผมทุกปัญหาแก้ไขได้ แต่ปัญหาที่แท้จริง คือผมไม่มีเวลาเยอะที่จะพิสูจน์ตัวเอง ในตามหลักธุรกิจ ถ้าในปีแรก ธุรกิจ เจ๊ง คุณก็โดนเปลี่ยนตัวแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาผมเหลือน้อยมาก บวกกับเวลาที่ผมต้องเรียนรู้อีกครึ่งปีนะ โชคดีที่ตอนนี้ผมยังอยู่ได้ (หัวเราะ)
ตอนนี้มีอะไรใหม่ๆ ที่ Grammy ไม่เคยทำบ้าง
พี่เจ๋อ : เวลาที่เราพูดว่าอยากเห็นอะไรใหม่ๆ เราจะมองไปที่ปลายทาง ซึ่งหมายถึงโปรดักท์ ศิลปินใหม่ เพลงใหม่ ธุรกิจใหม่ แต่ผมว่าเราอาจจะด่วนเข้าไปแก้ปัญหาที่ปลายทาง ถ้าเราหวังว่าจะออกโปรดักท์เยอะๆ สิ่งที่พิสูจน์แล้วก็คือ โปรดักท์ออกมาแล้วไม่เกิดรายได้ คนบางคน มียอดเป็น ร้อยล้านวิว มีงานจ้าง 30 วันต่อเดือน แต่ตัวเลขโดยรวมของบริษัทมันก้าวไปข้างหน้าอย่างเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ สิ่งที่เราต้องทำเป็นอย่างแรกคือ เรื่องการวางโครงสร้างพื้นฐานองค์กรใหม่ เรามีศิลปินคุณภาพ คนแต่งเพลงเก่งๆ มากมาย นั่นแปลว่าเราไม่ได้มีปัญหากับการออกโปรดักส์ใหม่ๆนะ แต่เราจะรองรับการต่อสู้กับ Digital ได้ยังไง เราจะสร้างรายได้จาก Disruption นี้ได้อย่างไรให้มากพอ ผลที่เห็นตอนนี้คือเราสามารถสร้างรายได้ธุรกิจเพลง จาก Digital Platform สูงที่สุดในตลาด ทำได้อย่างไรเป็นความลับนะ คือผมไม่ได้แข่งกับใคร แต่โจทย์คือจะทำให้ธุรกิจดนตรีนั้นให้ยั่งยืนใช่ไหม สื่อชอบถามผมว่าจะทำยังไง ก็ทำอย่างที่ทำอยู่นี่ไง (หัวเราะ) อาจจะอธิบายให้เห็นภาพได้ยาก ผมยกตัวอย่างให้เห็น 4 อย่างละกัน คือ 1 เราโฟกัสเรื่องแฟนคลับ และคอมมิวนิตี้ใหม่ เพลงร้อยล้านวิว กับ คอมมิวนิตี้ที่แข็งแรงสู้กันไม่ได้นะครับ ประเทศไทยชัดเจนมากว่าเราอุ้มชู Happening คุณมีเพลงดังร้อยล้านวิว นั่นเป็นสิ่งที่ดี แต่คุณทำได้ทุกเพลง แล้วแฟนๆ ซื้อของคุณมั้ย นั่นแหละปัญหา หัวใจสำคัญคือเราต้องทำเรื่องนี้เป็นรูปธรรม พอเราทำตรงนี้ได้ก็ทำให้เราแข็งแรงขึ้น ข้อ 2 คือเราปรับธุรกิจ Show Biz ถ้าสังเกตดีๆ คุณจะเห็นปรากฎการณ์ Sold Out ภายในวันเดียว ตลอด1ปีที่ผ่านมา ซึ่งสร้างรายได้และกำไรอย่างมาก ข้อ 3 งานจ้าง และสปอนเซอร์ชิพ ที่มีกลับมาหาศิลปินเพิ่มขึ้น ข้อ 4 คือการสร้าง Artist Content รายการใน Digital Platform ซึ่งศิลปินและบริษัทก็ได้รายได้จากตรงนี้ โปรดักท์ต่อยอดเรายังมีอีกเยอะ แต่ขอเล่าแค่นี้ก่อนแล้วกัน
การเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ อุปสรรคอย่างหนึ่งก็คือ ไอเดียของคนทำงาน คนดู แฟนเพลง ที่ยังติดภาพ Grammy ในวันเก่าๆ ตรงนี้พี่เจ๋อ มีวิธีการพูดคุย ทำงาน หรือ ทำให้คนเหล่านั้น เข้าใจ Grammyในยุคใหม่ได้ยังไง
พี่เจ๋อ : เราทำความเข้าใจกับทีมงานและศิลปินเป็นเรื่องหลักเลย แต่ที่ผมไม่ทำคือการเดินหาเสียง หมายความว่า เราต้องทำความเข้าใจให้เค้าเห็นในเป้าหมาย ผมรู้ตัวดีว่าผมไม่มีเครดิต ไม่มีตัวตน ไม่มีบารมี เรารู้ว่าเราเป็นใคร ผมไม่ใช่คนที่ทำให้พวกเขาสำเร็จมาถึงทุกวันนี้ สิ่งที่ผมต้องทำก็คือ ผมกับพวกเค้าต้องเดินต่อไปด้วยกันให้ได้ในวันที่ธุรกิจมีความลำบาก ผมจะไม่เดินไปสั่งหรือไปสัญญาลมๆแล้งๆ ไม่ใช่แบบนั้น แต่เขาจะรับรู้ถึงการซัพพอร์ตของบริษัทได้เอง เราเน้นการทำRoad Map และทำ Master Planning อย่างเป็นระบบ ศิลปินทุกคนจะได้รับการซัพพอร์ตจากตึกอย่างเป็นรูปธรรม ผมเข้าใจว่า Schedule คือสิ่งที่วงการดนตรีเกลียดที่สุด (หัวเราะ) แต่มันจำเป็นแล้วในยุคนี้ ถ้าคุณจะเดินต่อสู้กับ Digital Disruption การนำหลักคิดที่เป็นระบบและเป็นวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ได้มาใช้ร่วมอย่าง Big data เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมมีวิธีทำให้เกิด Master Planning 1 ปี ล่วงหน้า เพราะมันจะช่วยให้ศิลปินทุกคนได้รับการซัพพอร์ตอย่างเต็มที่จากเรา ทุกคนจะต้องมี Road Map ที่ชัดเจน เค้าถึงจะรู้ได้ว่าเป้าหมายเค้าอยู่ที่ไหน เกิดการ Develop เพิ่มเรื่องใดบ้าง อย่างที่ 2 ศิลปิน ต้องได้รับการ “ซ่อมแซม” บางคนมีงานจ้าง 150 งานต่อปี ร้องคอแทบแตก ก็ต้องมีสิ่งที่จะต้องไปช่วยเขา แต่มากน้อยแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะบางคนก็ไม่เป็นไร ดังนั้นการทำ Master Planning เหล่านี้ ทางค่ายจะต้องไปคุยกับศิลปิน เพราะรายละเอียดต่างกัน เราช่วยวางระบบ และจัด Traffic ให้ดี โปรโมตให้ดัง หาเงินให้ได้ คนเก่งๆ ที่นี่มีเยอะแยะ ผมจะลงไปทำในสิ่งที่เค้าไม่ทำ ไม่ถนัด สิ่งที่ผมทำจึงเน้นที่ สิ่งที่เค้าขาดอะไรต่างหากล่ะ แล้วผมก็แค่ พูดให้น้อย ทำให้เยอะ ผมไม่ได้ห่วงว่าคนจะมองผมยังไง แต่ผมจะทำเต็มที่ให้พวกเขาเห็นก็แค่นั้น
เราโฟกัสเรื่องแฟนคลับ และคอมมิวนิตี้ใหม่ เพลงร้อยล้านวิว กับ คอมมิวนิตี้ที่แข็งแรงสู้กันไม่ได้นะครับ ประเทศไทยชัดเจนมากว่าเราอุ้มชู Happening คุณมีเพลงดังร้อยล้านวิว นั่นเป็นสิ่งที่ดี แต่คุณทำได้ทุกเพลง แล้วแฟนๆ ซื้อของคุณมั้ย นั่นแหละปัญหา
ในวันนึง Grammy คือความฝันของศิลปินทุก แต่ปัจจุบัน ศิลปินยุคใหม่ คิดถึง Grammy น้อยลง ตรงนี้พี่มีวิธีการจะทำให้ Grammy กลับมาเป็น ความฝันของคนอยากเป็นศิลปินทุกคนได้อย่างไร
พี่เจ๋อ : สึนามิมาอย่าไปสร้างเขื่อน คืออย่างนี้ เราไม่สามารถไปทานกระแสโลกได้ ถ้าโลกมันจะหมุนไปในทิศทางที่ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน ถ้าเขาจะเชื่อกระแสโลกมากกว่า Grammy เราจะไปห้ามไม่ได้หรอกครับ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ไม่อยากเข้า Grammy ดูอย่าง Gene Lab (ค่ายลูกของ Genie) ที่ได้คุณโอม ค็อกเทล มาช่วยบริหาร เราเห็นคนมาสมัครตั้ง 300 วง ภายในเวลา 1 เดือน เราเห็นเด็กจากทั่วประเทศ มาสมัคร Hot Wave Music Awards มันก็ยังพิสูจน์ว่าแบรนด์เรา ยังมีคนยอมรับ ส่วนการสร้าง Boy Band Girl Group ผมยอมรับว่าอาจจะยากหน่อย เพราะพวกหนุ่มหล่อ สาวสวย เขาอาจอยากจะไปสายนักแสดงกันมากกว่า นี่คือการเปลี่ยนผ่านของสังคม ถ้าคุณอยู่กับผม แล้วผมทำให้คุณดังได้ คุณก็ควรเชื่อผม แต่ถ้าคุณอยู่กับผมแต่คุณรู้สึกว่าถูกผมครอบงำ ให้ผมเก่งแค่ไหน คุณก็ไม่อยู่ด้วยอยู่ดี แล้วตั้งแต่สมัยก่อน Grammy ก็ใช่ว่าจะได้ศิลปินทุกคนมาร่วมงานด้วยซะที่ไหน มันเป็นไปไม่ได้หรอกครับ คือคุณจะรักหรือเกลียด Grammy ก็ได้นะ มันเป็นเรื่องปกติ เกลียดเลยหรือรักเลยดีกว่า(หัวเราะ) ผมยกตัวอย่าง สนามหลวงมิวสิก ที่ Repositioning ให้กลายเป็น Hub Of Indies ผมได้วงมา 30 วง ในเวลาไม่กี่เดือน ซึ่งวง Indies เหล่านั้น พวกเขาก็มีสิทธิ์เลือกเองได้ ถ้าปล่อยเอง ได้วิวเท่าไรผมไม่รู้ แต่ถ้าอยู่กับเรามัน สำเร็จขึ้น ยอดวิวขึ้นหลายร้อยเท่าเค้าก็ตัดสินใจเอง ซึ่งผมก็ได้ทำการวาง Artist Model 4 แบบ เอาไว้ เรามาร่วมกันทำโดยใช้ Platform ของเรา คุณจะทำเพลงเองก็ได้ ทำเอ็มวีเองก็ได้ ไม่ต้องแก้ ลิขสิทธิ์ก็เป็นของคุณ เราบริหารสิทธิ์ให้ หรือ จะออกร่วมกันครึ่งๆ ก็ได้ หรือ ถ้าติดใจก็เซ็นต์สัญญากับเราก็ได้ หรือคุณเป็นค่ายเล็กๆ อยากมาร่วมกับเราก็ได้ ตอนนี้ผมบอกเลยว่าธุรกิจเพลงมันไม่ได้ทำการแข่งขัน เรากำลังทำหน้าที่คนดนตรีกับประชาชน ผมเคยประชุมกับผู้บริหารทุกค่าย และเปิดไอเดียเกี่ยวกับ Grammy ยุคใหม่ ผมไม่รู้อดีตดีมากนัก แต่ปัจจุบันผมไม่มีตื้นลึกหนาบาง เอาเป็นว่าถ้าเขาไม่รังเกียจแบรนด์ต่างๆ ของแกรมมี่ก็จับมือกันแน่นอน
การแข่งกันที่สูงของค่ายเพลงใน Grammy เอง จะทำให้องค์กรมีปัญหาหรือเปล่า มีมาตรการยังไง
พี่เจ๋อ : นั่นเป็นภาพเดิมๆ ที่ทุกคนมองเข้ามา เอาจริงๆ ทุกวันนี้ คุณไม่ต้องมาอยู่ Grammy อยู่ตรงไหนก็มีการแข่งขันก็แข่งกันเองอยู่แล้ว มันเป็นไปไม่ได้หรอกครับที่ใครจะมีทุกอย่างเท่ากันได้ ผมคิดว่าทุกคนอยากที่จะสร้างงานให้ดีที่สุด อยากเป็นที่ชื่นชม ยอมรับในหมู่คนดู คนฟัง มากกว่าคิดถึงเรื่องการแข่งขันภายในระหว่างค่ายเอง เป็นตัวตั้ง
Grammy มักจะกลายเป็นผู้ต้องหาโดยตลอด จากการโดนกระแสวิจารณ์จากโซเชี่ยล ในหลายๆ เรื่อง
พี่เจ๋อ : เราเป็นเป้าใหญ่อันนี้ต้องยอมรับ เราอยู่ในที่แจ้ง แต่ผมเชื่อเสมอว่าวันนี้ ไม่ว่าเราจะเป็นองค์กร หรือบุคคล เราก็อยู่ในที่แจ้ง ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ เท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวิจารณ์หรือชมเชย ดังนั้น Grammy จะโดนวิจารณ์ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก คำถามคือเจตนา และ ข้อเท็จจริง รูปแบบการดำเนินธุรกิจ เราต้องตอบสังคมได้ เรื่องการ Copy เพลงบริษัทมักจะถูกวิจารณ์ในอดีต แต่ถามว่า เรามีนโยบายนี้หรือเปล่า ไม่มีอยู่แล้ว ไม่มีประโยชน์ที่จะทำเพื่อให้คนด่า ถูกมั้ยครับ
ถ้าคุณเป็นศิลปิน Grammy เดินทางร่วมกับเราก็ร้องได้หมด แต่ถ้าเมื่อใดคุณไม่ได้เป็นแล้ว คุณก็ต้องแฟร์กับคนที่ทำงานให้คุณ คนที่ลงทุนให้คุณเช่นกัน ในฐานะของคนร่วมสร้าง มันเป็นเรื่องของความถูกต้อง และมันเป็นหน้าที่ของบริษัท ซึ่งผมว่ามันก็แฟร์มากนะครับ
ลิขสิทธิ์เพลง ที่มีข่าวว่า ไม่สามารถเอาเพลง Grammy ไปเล่นได้
พี่เจ๋อ : เอางี้ ผมน่ะเป็นมะพร้าวนอกสวน สิ่งที่ผมทำคือตามล่าหาความจริง เรามาคุยเรื่องลิขสิทธิ์กัน คุณเป็นศิลปินแกรมมี่ อันนี้คุณร้องได้ทุกเพลงของแกรมมี่ คุณไม่ได้เป็นศิลปินแกรมมี่เท่ากับคุณไม่ได้เซ็นต์สัญญาถูกไหมครับ คุณเอาเพลงไปร้อง คุณก็ต้องเข้าใจคำว่า ลิขสิทธิ์ว่ามันแปลว่าอะไร การเก็บลิขสิทธิ์ ต้องเก็บมาแล้วต้องไปคืนแล้วคืนไปหาใคร บุคลากรเบื้องหน้าและเบื้องหลังทางดนตรีทั้งหมด สมมติ คุณเป็นเบื้องหลัง นักร้องคนนึง ออกจาก Grammy เอาเพลงไปหากิน คุณได้เงินมั้ยครับ? คุณไม่ได้เงินนะครับ คุณจะได้ ได้ยังไง ถ้าบริษัทไม่ได้ไปเก็บค่าลิขสิทธิ์ แต่นักร้องคนนั้นได้เงิน มันแฟร์กับคนเบื้องหลังมั้ยครับ คุณเป็นคนร่วมทำให้เพลงมันเกิดขึ้นมาบริษัทเป็นผู้ลงทุนและบริหารสิทธิ์ นี่คือคำว่า ลิขสิทธิ์ไงครับ ปัญหาคือ วิธีไปเก็บลิขสิทธิ์ ซึ่งมักจะเป็นสิ่งที่สังคมวิจารณ์ เราไม่ได้มีนโยบายการขู่กรรโชกเลยนะครับ แต่คุณอาจจะคาดไม่ถึงว่ามีการแอบอ้างด้วย เรื่องนี้ขอไม่พูดเยอะ แต่เราก็ต้องแก้ไขมาตลอด ถ้าคุณเป็นศิลปิน Grammy เดินทางร่วมกับเราก็ร้องได้หมด แต่ถ้าเมื่อใดคุณไม่ได้เป็นแล้ว คุณก็ต้องแฟร์กับคนที่ทำงานให้คุณ คนที่ลงทุนให้คุณเช่นกัน ในฐานะของคนร่วมสร้าง มันเป็นเรื่องของความถูกต้อง และมันเป็นหน้าที่ของบริษัท ซึ่งผมว่ามันก็แฟร์มากนะครับ คุณลองคิดดูนะ Grammyอยู่มา 34 ปี มีคนทำงานเบื้องหลังกี่คน เรื่องนี้เรื่องใหญ่นะครับ เพราะเราต้องคืนเค้าหมด เราตั้งใจให้คนในอาชีพดนตรีอยู่ได้ มันไม่ใช่ว่าคุณจะออกจาก Grammy คุณจะร้องไม่ได้ คุณทำได้ ซื้อสิทธิ์ได้ เพื่อให้คนที่อยู่ในวิชาชีพดนตรีที่ร่วมสร้างความสำเร็จมากับคุณอยู่ได้ ไม่ใช่คนที่อยู่สปอร์ตไลต์คนเดียวเท่านั้นที่อยู่ได้ ผมอยากทิ้งท้ายว่า ถ้าคุณเป็นผู้ร่วมสร้าง คุณคิดว่าลิขสิทธิ์นั้นควรถูกจัดเก็บไหมครับ?
ฝากข้อความถึงแฟนๆ Grammy
พี่เจ๋อ : ต้องขอบคุณแฟนๆทุกคนครับ ผมว่าคนใน Grammy ทุกคน เขาทุ่มเททั้งชีวิตนะที่จะทำให้ดนตรียังสร้างความสุขให้ทุกคนอยู่ การสนับสนุนของทุกคนไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ตาม ฟังเพลง ซื้อของ หรือไปเชียร์ มันเป็นสิ่งที่ทำให้คนในธุรกิจนี้เดินต่อไปได้ เพราะธุรกิจนี้ต้องเดินด้วยพลังใจนะ แล้วคนที่สำเร็จในวงการดนตรีปัจจุบัน มีเส้นทางดนตรีไม่ต่ำกว่า 10 ปี กว่าเราจะเห็นคนที่มีชื่อเสียงโด่งดังเหมือนทุกวันนี้ ผมต้องขอบคุณทุกคนที่สนับสนุนพวกเขา ความตั้งใจของ Grammy คือต้องการให้วงการดนตรี เดินไปข้างหน้า อย่างยั่งยืน เพื่อตอบสนอง ศิลปิน ผู้ชม ผู้ฟัง หรือแม้กระทั่งพนักงาน ผมเองก็เชื่อว่าจะมีสิ่งที่จะทำให้พวกคุณประทับใจ สำหรับทุกกลุ่มแน่นอน แต่มันมีเร็ว ช้า หนัก เบา และเงื่อนไขของเวลา เรากำลังอยู่ในการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในวงการให้มากที่สุดครับ
ขอขอบคุณ : คุณดาว Grammy ที่อำนวยความสะดวกในการสัมภาษณ์ครับ