ค่ายเพลงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศคือ Grammy อันนี้เราคงไม่ต้องสงสัยอะไรกันมาก ในค่ายเพลงที่เต็มไปด้วยค่ายย่อยๆ มากมาย มีค่ายเพลงค่ายนึงที่อาจจะบอกได้ว่าเป็นค่ายที่หลุดกรอบจากความเป็น Grammy อย่างสิ้นเชิง ค่ายเพลงอินดี้หนึ่งเดียวที่ไม่จำกัดแนวทาง ปล่อยให้ศิลปินทำงานอิสระ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในหน่วยงานดนตรีใหญ่ๆ แบบนี้ สนามหลวงมิวสิค คือชื่อนั้น แต่แล้วค่ายเพลงค่ายนี้ ได้พบกับการเปลี่ยนแปลงระบบ ทำให้มีข่าวว่าเลิกทำไปแล้ว จนในที่สุด ในปี 2018 สนามหลวงได้กลับมาอีกครั้ง ภายใต้การนำของ “เปิ้ล จิราภรณ์ สุมณศิริ” สาวแกร่งของค่าย และกรอบนโยบายของ CEO คนใหม่แห่ง Grammy อย่าง “เจ๋อ ภาวิต จิตรกร” (ซึ่งเราจะได้อ่านบทสัมภาษณ์เขายาวๆ อีกครั้ง ซึ่งจะเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น ในการเดินทางครั้งใหม่ของ Grammy เร็วๆ นี้) วันนี้สนามหลวงกลับมาพร้อมด้วยคอนเซ็ปต์อันน่าตื่นเต้นจะเป็นยังไง มาลองดูกันครับ
ถ้าพูดถึงสนามหลวงมิวสิค ช่วงหลายปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าผลงานจะหายๆ ไปบ้าง จนมีกระแสว่าจะปิดตัวด้วยซ้ำ ตรงนี้เกิดอะไรขึ้นครับ
พี่เจ๋อ : อันนี้เรื่องจริง ผมตอบให้เลย ต้องบอกแบบนี้ว่าทุกค่ายเพลงใน Grammy มีการดำเนินธุรกิจที่ต่างกันในอดีต สนามหลวงเป็นค่ายเพลงที่ต้องดูแลตัวเอง แล้วก็มีการเปลี่ยนผู้บริหารมาหลากหลายรุ่น ซึ่งตรงนั้นคงเป็นอดีตที่ผ่านไป แต่ตอนนี้ทาง Grammy มีการ Re Positioning ใหม่ เปลี่ยนแปลงหลายอย่างทำให้สนามหลวงกลับมาอีกครั้ง
ตอนนี้สนามหลวงก็กลับมาอีกครั้ง ยังคงคอนเซ็ปต์เดิมที่ยังเป็นอินดี้อยู่หรือไม่ ถ้าอย่างนั้นจะต่างกับสนามหลวงที่ผ่านมาอย่างไร
พี่เจ๋อ : ผมว่าเรื่องที่เปลี่ยนเลย คือ Artist Model ที่เปลี่ยนแปลงจากอดีต เมื่อก่อน คือคุณเป็นศิลปินอินดี้ แล้วก็มาอยู่ในค่ายใหญ่ อันนี้ คือคำจำกัดความเดิม ปัจจุบัน เราจะไม่ได้ทำโมเดลนี้แล้ว เราคิดว่าคนอินดี้ จะสามารถจับมือกับ Grammy และมีการส่วนร่วมในการเติบโต ประสบความสำเร็จ ร่วมกันได้ นี่คือนิยามใหม่ของสนามหลวง อิสรภาพ เสรีภาพ และโอกาสที่จะเติบโต เป็นสิ่งที่เรามองเป็น Model ธุรกิจแบบใหม่ คร่าวๆ คือศิลปินสามารถเป็นเจ้าของผลงานเอง ลิขสิทธิ์เป็นของตัวเอง แต่ใช้ Platform ของ Grammy ในการทำงาน
สนามหลวงยุคใหม่ มีเป้าหมาย หรือกลยุทธ์ยังไงบ้าง
พี่เจ๋อ : ต้องบอกว่าปัจจุบันนี้ตลาดเพลงอินดี้ของเมืองไทยได้เปิดกว้างและพัฒนามากขึ้น เรามีศิลปินใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน แล้วเราคิดว่าคนเหล่านี้ จะช่วยพัฒนา อุตสาหกรรมดนตรีได้ แต่อย่างที่บอกข้างต้น เราจะมีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น เราจึงได้ Re-Positioning สนามหลวงมิวสิค เราวางจุดยืนให้เป็น Hub Of Indies ที่จะเปิดรับและสนับสนุนศิลปินอินดี้ทุกแนวเพลง ทุกรูปแบบ มีอิสระเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เพิ่มเข้าไปคือ Tools (เครื่องมือ) ในการเผยแพร่, ทำการตลาดแบบครบ 360 องศา เพื่อสนับสนุนศิลปินให้เป็นที่รู้จัก และยังช่วยให้เกิดรายได้อีกหนึ่งช่องทาง โอเคล่ะ คุณอาจจะบอกว่าศิลปินอินดี้จะมีช่องทางเป็นของตนเอง แต่ช่องทางการสนับสนุนของเรา น่าจะช่วยพวกเขาได้มากขึ้น เราจะแบ่ง Artist Model ใหม่เป็น 4 แบบ คือ 1.ศิลปินอินดี้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ สามารถผลิต สร้างสรรค์เพลงและมิวสิควิดีโอได้ด้วยตนเอง โดยมอบให้สนามหลวงมิวสิคช่วยบริหารจัดการสิทธิ์ทั้งหมด 2.ศิลปินอินดี้และสนามหลวงมิวสิคร่วมกันผลิต สร้างสรรค์เพลงและมิวสิควิดีโอ โดยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมกัน 3.ศิลปินอินดี้เป็นศิลปินในสังกัดสนามหลวงมิวสิคอย่างเต็มรูปแบบ 4.ศิลปินอินดี้หรือกลุ่มคนดนตรีที่ผลิต สร้างสรรค์เพลงเอง เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสนามหลวงมิวสิคและ Music Community ต่างๆ สรุปง่ายๆ เลย คือ Artist Model นี้เราจะดูส่วนที่คุณอาจจะไม่ค่อยรู้เรื่องแหละ พูดกันตรงๆ (หัวเราะ) คือในทุกรูปแบบนั้นทางสนามหลวงมิวสิคจะเป็นผู้ดูแลบริหารจัดการสิทธิ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่, การประชาสัมพันธ์, การส่งเพลงให้เข้าไปอยู่ในทุก Digital Platform เช่น YouTube, JOOX, Spotify, Apple Music, iTunes คือทำทุกอย่างให้ผลงาน ถูกกระจายไปถึงแฟนเพลงและเป็นที่รู้จักในวงกว้างยิ่งขึ้น เพื่อที่พวกคุณจะต่อยอดไปทำอย่างอื่นเช่น ขาย Exclusive CD ขาย Merchandise สร้างรายได้จากโลก Digital เกิดงานจ้างหรือเผลอๆ ได้งานโฆษณา อะไรแบบนี้
แล้วช่องทางของสนามหลวง จะมีอะไรบ้างล่ะครับ
พี่เจ๋อ : เราจะเรียกเป็น 3 กลยุทธ์ ประกอบด้วย 1.สนามปล่อยของ คือพื้นที่ของศิลปินอินดี้ทุกแนวดนตรีที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างอิสระ ด้วยรูปแบบของ Artist Model ที่หลากหลาย และได้รับการสนับสนุนในทุกช่องทางของ Grammy และสนามหลวงมิวสิคอย่างเต็มที่ อันนี้เป็นช่องทางของเราโดยตรง 2.สนามโชว์ของ คือเวทีการแสดงความสามารถทางดนตรีของศิลปินอินดี้บนพื้นที่ของเรา ก็พวกเทศกาลดนตรีที่เราทำ รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ของพันธมิตรทางดนตรี อย่าง The Knack Market ที่เป็น ของ The Jam Factory งานของ De Commune และ You2Play อะไรแบบนี้เป็นต้น และ 3.สนามลองของ คือเป็นศิลปินในสังกัดฯ อย่างเช่น อพาร์ตเมนต์คุณป้า, โลโมโซนิค และ Tabasco คือมาทำงานจริงๆ นั่นเอง ลองของกับเราก่อน จนสบายใจ ค่อยเซ็นเป็นศิลปิน นี่เป็นไม่กี่ครั้งนะ ที่เหมือนกับคุณได้ลอง อึ๊บ เราก่อน (หัวเราะ) ได้ลองก่อนด้วย ซึ่ง 6 เดือนที่ผ่านมาที่สนามหลวงมิวสิคเปิดรับศิลปินอินดี้ทุกแนวดนตรีไปมากกว่า 30 ศิลปิน แล้วเพลงเข้าไปติดอันดับชาร์ตเพลงต่างๆ ซึ่งเกิดจากการผลักดันอย่างเต็มที่จาก พวกเรา อย่างเพลง “ปล่อย” ของ Clockwork Motionless, เพลงก่อน ของ Supersub และอีกหลายเพลง รวมถึงเพลงที่ถูกเลือกไปเป็นเพลงประกอบรายการและเพลงประกอบซีรี่ส์ ไม่ว่าจะเป็น เพลงให้ฉันเข้าไป ของ C/O GO! ถูกเลือกให้เป็นเพลงประกอบรายการ Game Of Teen ของ GDH, เพลงเกอิชา ของ Blues Tape ถูกเลือกให้เป็นเพลงประกอบรายการ เช่น รายการนี่เพื่อนเอง, รายการ Game Of Teen และเพลงนี้ยังถูกนำไปประกอบซีรี่ส์เรื่อง Friend Zone ที่กำลังจะออกอากาศเร็วๆ นี้ทางช่อง ONE31 เพลงเหล่านี้เกิดจากกลยุทธ์ของเราชัดเจนเลยนะ หรือแม้แต่ยอด View ใน YouTube ของ Sanamluang Music Official ที่มีผู้ติดตาม 965,264 Subscribers ตรงนี้ทำให้มิวสิควิดีโอมีโอกาสถูกฟังและรับชมมากยิ่งขึ้น ซึ่งผมว่ามันดีกว่าและมีโอกาสมากกว่า ที่ศิลปินจะเผยแพร่ผ่านช่องทางของตนเอง การเติบโตของยอดวิวทั้งหมดของเรานั้นมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 81.44% แถมยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการช่วยศิลปินสร้างรายได้เพิ่มเติมอีกด้วย อันนี้สำคัญที่สุด ได้ตังค์นะจ๊ะ (หัวเราะ) เอาง่ายๆ เพลง “ปล่อย” ของวง Clockwork Motionless ที่ปัจจุบันมียอดวิวมากกว่า 20 ล้านวิว ถ้าคิดเป็นสถิติมียอดการเติบโตที่สูงกว่า 700 เท่าเลยทีเดียว มันไปต่อยอดสร้างรายได้ ได้ ตัวตนคุณก็ไม่ได้เสีย ที่สำคัญสนามหลวงมิวสิคเองก็ไม่เคยปิดกั้นรูปแบบของแนวดนตรี ไม่ว่าจะเป็นดนตรีในแบบไหน ป็อป, ร็อค, แจ๊ซ, ฟั้งก์, พั้งก์, สกา, ฮิปฮอป, เมทัล เราให้อิสระในการสร้างสรรค์เพลง เต็มที่ แค่ลองมาคุยกันเรื่องความต้องการของแต่ละฝ่าย แลกเปลี่ยนความคิดกัน แนะนำกัน ปรับจูนกันจนได้ออกมาเป็นเพลง ขอให้มีเพลงมา มิวสิควิดีโอจะทำมาเลย ทำเป็น Lyric Video เป็น Visual หรือจะให้เราทำมิวสิควิดีโอให้ จะทำด้วยกันก็ได้ อย่างที่บอกรูปแบบการทำงานมันมีหลากหลายมาก แต่เชื่อผมเหอะ หากร่วมมือกันมันก็ไม่น่าจะพ้น Artist Model 4 แบบนี้หรอกครับ
อยากให้แนะนำศิลปินที่น่าสนใจของสนามหลวงในตอนนี้ หรือบุคลากรดนตรีในค่าย
พี่เปิ้ล : ต้องบอกแบบนี้ ที่ผ่านมามีศิลปินอยู่ 4 ประเภทที่เข้ามาอยู่ด้วยกันที่สนามหลวงมิวสิค คือ 1. ศิลปินที่มาจากโครงการ Opening Act ของ Sanamluang Music Playtime ที่เราเปิดรับวงดนตรีรุ่นใหม่ๆ ที่อาจจะยังไม่มีค่าย มาเป็นวงเปิดให้กับงาน Music Playtime วงเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่ทำตามฝัน และต้องการโอกาสที่จะได้แสดงผลงานของตนเองให้ทุกๆ คนได้ฟังกัน พอจบงานก็คุยกันต่อสนับสนุนให้เขาได้มีผลงานอย่างต่อเนื่อง วงอย่าง Clockwork Motionless, Blues Tape, West of East, โคตรยิ้ม และ C/O GO! (ซีโอ โก) พวกนี้เป็นวงหน้าใหม่ คราวนี้แบบที่ 2 ศิลปินที่เป็นศิลปินอยู่แล้ว อาจคุ้นหน้าคุ้นตาและยังทำเพลงของตัวเองอยู่ตลอด แต่ไม่อยากทำเองทุกอย่าง แล้วก็ให้เราดูแลเรื่องอื่นๆ เช่น Young Man And The Sea, ภูมิจิต, Supersub, Zero Hero, The Pisat Band (เดอะ ปีศาจ แบนด์), The Superglasses Ska Ensemble, Last Fight For Finish, TUAN Thailand, Sunny Day หรือพี่เดย์ ไทยเทเนี่ยม, ดาจิม อันนี้คือเขาก็ทำเพลงเลย เราก็ดูเรื่องอื่นๆ ให้ แบบที่ 3 ก็มาเป็นกลุ่มเป็นก้อน แต่อาจจะยังไม่มีช่องทางเผยแพร่ที่แข็งแรง ก็มาคุยกันเพื่อเป็นพันธมิตรในการผลักดันให้เพลงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เช่น N.Y.T.E จาก Yaak Lab, Casinotone จาก Comet Records และเร็วๆ นี้ก็จะมี The Passion Of Anna จาก Summer Disc ซึ่งเป็นกลุ่มคนทำดนตรีจากเชียงใหม่ อะไรอย่างนี้เข้ามาด้วย กลุ่มสุดท้าย หรือเรียกว่า Walk In คือเดินมาหาเราเลย คือรู้จักสนามหลวง จะมีติดต่อเข้ามาพูดคุย ทางเราก็สนใจและตกลงทำงานด้วยกัน เช่น Pretty Punks, Ariy Shibuya และ Cut The Crab ก็เป็นศิลปินของเราที่มี ยังไม่หมดนะ นี่ก็กำลังคุยกับเบอร์ใหญ่ๆ แนวอื่นๆ อย่าง Jazz ก็มี ส่วนบุคลากร ดนตรีเราก็หลากหลาย เรามี Sound Engineer เลยไปถึงพวกเทคนิเชี่ยลคอยรองรับ เพราะวงอินดี้มีปัญหาตรงนี้เยอะ เรื่องภาพเราก็มี แนะนำให้ ทั้งคนทำ Music Video ทำ Visual เรามี Community หลากหลาย ยันของกินเลยแหละ (หัวเราะ)
ผลลัพธ์ที่ค่ายคาดหวัง เพราะถ้าเราพูดกันตรงๆ ในองค์กรใหญ่ๆ ก็ต้องคาดหวังผลตรงนี้ด้วย ซึ่งบางครั้งศิลปินอินดี้อาจจะไม่เข้าใจจุดนี้
พี่เจ๋อ : แยก คำตอบ 2 แบบ ถ้าแบบมุมธุรกิจ ตอนนี้ผมบอกเลยว่าค่ายต่างๆ ใน Grammy ไม่มีหน้าที่ที่ต้องกังวลกับตัวเลขแล้ว อันนี้คือความเปลี่ยนแปลงของทั้งองค์กรเลย เพราะฉะนั้น เมื่อค่ายไม่ต้องกังวลเรื่องผลกำไร สิ่งที่ต้องทำคือพัฒนาศิลปิน วาง Road Map และสร้าง DNA ของศิลปินให้เป็นรูปธรรม สร้างความโด่งดังให้ศิลปิน สำหรับผลลัพธ์ของศิลปิน ผมมองว่าการได้เดินทางร่วมกันนี่แหละ ศิลปินอินดี้ ต้องตั้งคำถามกับเราว่าทำไมต้องจับมือกับเรา เพราะฉะนั้น Model ที่เราบอกไป จะปูทางให้เขาเห็นชัดๆ เลยคือผลงานเขาถูกกระจายในวงกว้างขึ้น นั่นหมายถึงโอกาสในการแสดงผลงาน ไม่ใช่ปล่อยเพลงแล้วหายไป และหลังจากนั้นเรื่องรายได้ มันสามารถรีเทิร์นกลับมาสู่ศิลปินได้ เป็นหน้าที่ของส่วนกลาง ผมเชื่อว่าศิลปินอินดี้ที่เข้ามาหาเรา จะมีคำตอบอยู่แล้วว่าเขาต้องการอะไร แล้วพอร่วมงาน จะทำอย่างไรต่อ
จริงอยู่ที่ค่ายสนามหลวงเปิดโอกาสให้ทุกแนวดนตรี ทุกวง แต่ว่ายังไงก็ยังอยู่ในเครือ Grammy ถ้าอย่างนั้นมีวิธีคัดกรองศิลปินอย่างไร ตั้งมาตรฐานตรงนี้ไว้ขนาดไหน
พี่เปิ้ล : อยู่ที่เรื่องเพลง และแนวทางเป็นหลัก หลังจากนั้นค่อยมาคุยกันเรื่องความต้องการ อย่างที่พี่เจ๋อว่า ความต้องการแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น Model ของเราจะซัพพอร์ต พวกเขาได้ขนาดนั้น ก็อยู่ที่ความต้องการของศิลปินเอง สำคัญที่สุดคือทัศนคติ ถ้าความเห็นเรื่องเพลงตรงกัน ความต้องการและทัศนคติไม่ตรงกัน ก็อาจจะส่งต่อไปที่สังกัดอื่นๆ ซึ่งเราก็จะแนะนำและนัดเจอให้
ด้วยคำว่า Grammy ทำให้นักดนตรีอินดี้หลายๆ คนมองว่าพวกเขา “จะต้อง” ถูกเปลี่ยนตัวตน ทำให้ไม่กล้าที่จะเดินเข้ามา
พี่เจ๋อ : ก็เป็นเหตุผลที่นั่งคุยสัมภาษณ์อยู่นี่ไง เดินเข้ามาคุยได้เลย (หัวเราะ) ประเด็นคืออย่างนี้ สิ่งเหล่านี้มันเป็นภาพเก่าๆ หมดแล้ว ผมอยากให้คนจำสนามหลวง ว่าถ้าคนอินดี้จะชอบแบรนด์สักแบรนด์ ต้องเป็นสนามหลวง ต้องแยกก่อนว่าค่ายย่อยกับตัว Grammy ใหญ่ไม่เหมือนกัน Brand Grammy เป็นสถาบัน แต่เวลาคนที่เดินเข้ามา เขาไม่ต้องมาคิดว่าส่งให้ Grammy แล้ว ถ้าคุณเป็นร็อค ก็ไป genie เป็นป๊อปก็ White Music ลูกทุ่งก็ Grammy Gold ดังนั้น ผมอยากจะให้คนอินดี้ เดินเข้ามาโดยไม่ต้องติดกับคำว่า Grammy ให้คิดถึง Brand สนามหลวงเลย สำคัญที่สุดผมอยากให้คนเข้าใจ Artist Model และทัศนคติของสนามหลวงในยุคใหม่ ดังนั้นอาจจะต้องใช้เวลาหน่อย แต่ผมคิดว่าอดีตผ่านไปแล้ว สนามหลวงจะต้องเป็น Play Ground ที่เชื่อมโยงค่ายเพลง ผู้คน ได้ทุกรูปแบบ ซึ่งผมว่า 4 Model นี้ผมว่าไม่หลุดแล้วล่ะ
ศิลปินที่อยากจะร่วมงานกับสนามหลวง ต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง
พี่เปิ้ล : อันดับแรกคือเพลง มีเพลงมาก่อน ที่ทำเอง เป็นเดโม่ มาคุยกัน เราจะคุยนานพอสมควร จะคุยถึงสิ่งที่คาดหวัง จากนั้นมาคุยเรื่อง Artist Model ที่ต้องการ มาวางแผนกัน ว่าจะไปทางไหน ยาวๆ เลย
พี่เจ๋อ : เอาจริงๆ นะ ผมไม่อยากให้คนรู้สึกว่าเรามีการ Screen เยอะ คือสำหรับผมมันเป็นความพึงพอใจ ของคนทั้ง 2 ฝ่าย คือวันนี้ให้พูดตรงๆ คนเค้าอาจไม่ได้รัก ไม่ได้ชอบ ไม่ได้สนใจเรานักหรอก นอกจากเป็นคนในวงการดนตรีนานๆ แต่ถ้าเป็นเด็กสักคนที่อ่านข่าวจาก The Guitar Mag แล้วรู้สึกว่าน่าลองว่ะ ผมอยากสนับสนุนให้วงการ อินดี้ มันเติบโต เพลงจะดีหรือไม่ อันนี้แล้วแต่พระเจ้าแล้ว (หัวเราะ) มันอยู่ที่ว่าทำงานร่วมกันได้หรือเปล่า เราคงไม่มานั่ง Screen ทีละโน้ต ทีละคำหรอก มันคือตัวตนของคุณ แล้วพร้อมจะทำงานกับเราหรือเปล่า แต่ก็ไม่ใช่ขนาดเอาขยะมาเราก็รับนะ ผมว่าคนทุกคนจะมีการ Screen ตัวเองในระดับนึง คนเราถ้าทำขยะอยู่ จะรู้ว่าตัวเองทำขยะนะ มันมีกลไกโลกบอกอยู่แล้ว สมมติ ทำลงไปใน YouTube ไม่มีคนฟัง จะกล้าเดินมาเหรอ มันก็คงต้องมีแบบเพื่อนบอกเพลงดีว่ะ บ้างล่ะ ซึ่งคุณก็ทำได้ทั้ง 2 ทางเลือกครับ จะทำเองก็ได้ มาคุยกับเราก็ได้ แล้วจริงๆ มันก็ทำ 2 อย่างพร้อมกันได้ด้วยซ้ำ
เรื่องของการเซ็นสัญญาจะมีข้อผูกมัดอะไรไหมครับ เช่นไปเล่นดนตรีไม่ได้ ไปเล่นกลางคืนไม่ได้ เอาเพลงไปทำอย่างอื่นไม่ได้
พี่เปิ้ล : อย่างที่บอก Artist Model มันมีหลายโมเดลให้เลือก ถ้าศิลปินเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เขาจะเอาไปทำอะไรก็ได้ เพราะเป็นสิทธิของเขา ไปเล่นดนตรี เล่นได้ ไปเล่นกลางคืน เล่นได้ ก็มันเป็นเพลงของเขา แต่เราดูแลให้ เราบริหารจัดการให้ เขามอบสิทธิให้เราดูแล บริหารจัดการในช่องทางต่างๆเพื่อการประชาสัมพันธ์และการก่อให้เกิดรายได้ ส่วนเรื่องเอาไปทำอะไรอย่างอื่นนี่ก็จะช่วยดูให้ว่าเอาไปทำอะไร อย่างเช่นเพลงของ Blues Tape เอาไปประกอบ Series เราก็ช่วยเจรจาให้ มีคนติดต่อ เพลงของภูมิจิตมา จะเอาไปประกอบหนัง เขาก็บอกพี่จัดการให้ผมหน่อย เราก็บริหารจัดการให้ ที่สนามหลวงศิลปินใกล้ชิดกันมีอะไรเขาก็ถาม เขา Inform เราตลอด
ฝากค่ายสนามหลวง
พี่เปิ้ล : ก็สามารถติดต่อมาได้ที่ Facebook Sanamluang Music inbox ฝากเพลงได้เลยค่ะ จะมีคนเช็กและติดต่อกลับไป เรายินดีต้อนรับทุกศิลปิน ทุกแนวค่ะ แล้วเร็วๆ นี้เราจะมี Website ด้วยคือ Sanamluang Music.net ที่จะติดต่อกับพวกเรา
พี่เจ๋อ : ผมเชื่อว่าทุกคนจะมีสิ่งที่ตัวเองฝัน ผมเชื่อว่าสนามหลวงจะสามารถต่อยอดสิ่งที่คุณเชื่อ ให้เกิดความสำเร็จที่มากขึ้นได้ เจตนาเรามีแค่นั้น เราจะเป็นคนที่ส่งเสริมให้อินดี้ได้รับประโยชน์มากที่สุด Artist Model ทั้งหมดถูกออกแบบมาจากความเป็นจริง ขอพูดแบบตรงๆ เลยนะ คือเราไม่ได้บังคับใครให้มาเซ็นสัญญากับเรานะ คุณไม่อยากเซ็นกลัวตัวตนเสีย เพราะเห็นเราเป็น Grammy ก็ไม่ต้องเซ็น แต่ถ้าเชื่อว่าหลักคิดเราน่าสนใจ เรามีช่องทางที่เราเดินไปด้วยกันได้ จะลองเดินไปด้วยกันมั้ยล่ะ เราไม่ได้การันตีว่าอยู่กับเราจะสำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่ได้บังคับคุณไง ผมเข้าใจว่าทุกคนรู้สึกและมองพวกเราแบบไหน เพราะเรามีอดีตมานาน มันก็มีทั้งด้านที่บวก ลบ แต่ในยุคนี้ผมอยากทำลายอุปสรรคเหล่านี้ให้หมดไป และเดินไปด้วยกันด้วย Model และวิธีการใหม่ๆ ครับ
ขอขอบคุณ : คุณดาว Grammy ที่อำนวยความสะดวกในการสัมภาษณ์ครับ
BAND OF SANAMLUANG MUSIC
Tabasco
Lomosonic
Tul / Apartment Khunpa
P.O.N.R. (พี.โอ.เอ็น.อาร์)
Pretty Punks
Sunnyday & Mindset
Clockwork Motionless
Daniel (แดเนียล ดิษยะศริน)
TUAN Thailand
Cut the Crab
C/O GO! (ซีโอโก)
Ariy Shibuya
The Pisat Band
The Passion of Anna
Supersub
Zero Hero
Yerm
The Superglasses Ska Ensemble
Kord Yim
West of East
Last Fight For Finish
Blues Tape
Young Man And The Sea
Poomjit