ถ้าพูดถึง “ทองหล่อ” ภาพแรกที่คุณนึกถึงคืออะไร?
ไม่ว่าคำตอบของคุณจะเป็นแบบไหน ห้าหนุ่มในนามวง อารีย์ ชิบูย่า (Ariy Shibuya) วงดนตรีใหม่ในสังกัดสนามหลวงมิวสิก ที่ประกอบด้วย เต๋า-ไทชู สุมิโยชิ (ร้องนำ), มาย-ภูมิพัฒน์ อามโน (กีตาร์), เท็ตสึ-เท็ตสึยะ อุเอะดะ (เบส), วิน-อัศวิน บุรพงศ์บัณฑิต (กลอง) และ เลิศ-เลิศเมธี สงวนแก้ว (คีย์บอร์ด) จะพาคุณไปอยู่ในทองหล่อคืนวันศุกร์ พร้อมกับชายหนุ่มคนหนึ่งที่อยู่ท่ามกลางเสียงเพลงและผู้คน พร้อมกับคำถามที่วนเวียนอยู่ในหัว ผ่านเพลง ทองหล่อ (Wanna Ask) ซิงเกิ้ลเปิดตัวของพวกเขา
แพสชั่นที่ตรงไปตรงมาในการทำเพลงให้มีความเป็นญี่ปุ่นสอดแทรกอยู่ในดนตรีแนวป็อปร็อก คือสิ่งที่สร้างความแตกต่างให้กับวงหน้าใหม่วงนี้ และพวกเขาก็เลือกที่จะถ่ายทอดคอนเซ็ปต์นี้กันตั้งแต่ชื่อวงที่จับเอาชื่อย่านในไทยและญี่ปุ่นมาเจอกัน เพราะที่พักของสมาชิกคนไทยอยู่ละแวกอารีย์ ในขณะที่สมาชิกฝั่งญี่ปุ่นอยู่แถวชิบูย่า
“เราชอบวงอย่าง X Japan กันก็จริง แต่เราไม่ได้จะทำเพลงให้เหมือน X Japan สิ่งที่พวกเราตั้งใจทำก็คือการใส่ความเป็นญี่ปุ่นเข้าไปในเพลง ถ้าได้ฟังงานของอารีย์ ชิบูย่า จะสังเกตได้ว่า เนื้อเพลงเป็นภาษาไทยแต่เมโลดี้จะไปทางญี่ปุ่น แล้วด้วยภาษาของเต๋าที่แต่งเพลงมา มันมีเอกลักษณ์ที่ฟังกี่ทีก็จะรู้ว่าเป็นเพลงของเขา”
นอกจากความเฉพาะตัวในด้านการแต่งเพลงของเต๋า สมาชิกคนอื่นก็ยังมีซิกเนเจอร์ในเรื่องสำเนียงดนตรี ไม่ว่าจะเป็นเสียงกลองที่แข็งแรงจนชวนให้กระทืบเท้าตามของวิน เสียงคีย์บอร์ดที่รายละเอียดบางอย่างทำให้นึกถึงเพลงยุค 80s ของเลิศ เสียงกีตาร์ที่ปรับเปลี่ยนสไตล์ไปตามอารมณ์เพลงของมาย และเสียงเบสของเท็ตสึที่สัมผัสได้ถึงกลิ่นอายของดนตรีสไตล์ญี่ปุ่นแบบชัดๆ ทันทีที่ได้ฟัง
จากวันที่มายเจอกับเต๋าเป็นครั้งแรกจนทำให้เกิดไอเดียในการทำวงดนตรีแนวนี้ และขยายต่อไปถึงการชวนเพื่อนๆ ที่รู้จักอยู่ในแวดวงดนตรีอย่างวินและเลิศ ไปจนถึงการเชิญเท็ตสึ มือเบสชาวญี่ปุ่นจากวงหนุมาน วงสัญชาติญี่ปุ่นที่คัฟเวอร์เพลงไทย ให้มาร่วมวงกัน ก็เป็นเวลากว่า 2 ปี และเมื่อการเดินทางมาถึงจุดนี้ พวกเขาเลือกที่จะเปิดตัวด้วยเพลง ทองหล่อ เพลงเร็วที่มีท่อนฮุคติดหูและมีเนื้อหาแทนใจผู้ชายอกหักที่มีฉากหลังของเส้นเรื่องเป็นย่านเดียวกับชื่อเพลง
“เพลงนี้เริ่มต้นจากที่มีเพื่อนคนหนึ่งอกหักมาและมีคำถามว่าทำไมต้องเลิกกัน ผมเลยนึกถึงฉากว่าเลิกกันเสร็จปุ๊บก็เดินเข้าผับในทองหล่อต่อเลย แล้วแต่งออกมาโดยให้เป็นตัวแทนของผู้ชายคนหนึ่งที่เป็นคนเยอะและขี้บ่น พอคิดแบบนั้นแล้วเนื้อเพลงมันก็มาเอง”
เต๋าซึ่งรับผิดชอบในการเขียนเนื้อร้องเพลงนี้เล่าถึงที่มาของเพลง โดยเหตุผลหนึ่งที่อารีย์ ชิบูย่าเลือกทำเพลงออกมาในโทนนี้ เพราะ ณ วันที่เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับตัวเอง พวกเขาค้นพบว่าไม่มีคำพูดที่อยากฟัง หรือเพลงที่จะแทนอารมณ์ได้อย่างตรงความรู้สึก อารีย์ ชิบูย่าจึงเชื่อว่าหลายคนที่ได้ฟังเพลงนี้ก็น่าจะเคยผ่านประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกับใน ทองหล่อ มาก่อน ถึงแม้เรื่องราวจะไม่ได้เกิดขึ้นที่นั่นเหมือนในเพลง
“ถ้าเนื้อเพลงของเราสามารถสื่ออารมณ์แทนคนฟังได้ในช่วงชีวิตที่เขาอยากพูด อยากถามใครสักคนแบบนี้…ขอแค่มีสักคนที่ฟังแล้วรู้สึกอย่างนั้น พวกเราก็ดีใจแล้ว”
แม้ว่าเส้นเรื่องของเพลงจะเล่นกับอารมณ์ผิดหวัง แต่อารีย์ ชิบูย่ากลับไม่ได้วางโจทย์ให้ ทองหล่อ เป็นเพลงเศร้าจมลึก โดยเลือกใส่ลูกเล่นที่ทำให้ซิงเกิ้ลนี้กลายเป็นเพลงอกหักที่คนฟังยังสามารถสนุกไปกับเพลงได้
“เราสังเกตจากเวลาคนฟังเพลงในผับ พอเพลงเศร้ามาเขาก็ชนแก้ว พอเพลงสนุกมาก็เต้นต่อ เราเลยรวมอารมณ์เหล่านี้ไว้ใน ทองหล่อ เพลงเดียวไปเลย ตัวเพลงเป็นเรื่องผิดหวังก็จริง แต่บีทสุดท้ายในเพลงมันสนุกนะ ไม่ได้เศร้าไปเสียหมด เพราะเราทำเพลงที่หวังว่าจะทำให้คนฟังนึกถึงอดีต เสร็จแล้วก็มาสนุกกับมันต่อได้ในท้ายที่สุด”