Giant
จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ถ้าเราพูดถึงวงดนตรีวงไหน ที่จะมีอิทธิพลต่อ คนในประเทศมากที่สุด ไม่มีวงไหนที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่า คาราบาว อีกแล้ว ราชาเพลงเพื่อชีวิต วงนี้สร้างอะไรหลายๆ อย่างไว้มากมายให้กับวงการดนตรี เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนในประเทศ ให้รู้จักดนตรีในวงกว้าง กว้างกว่าวงไหนๆ เคยทำได้ วงดนตรีที่มีงานเกิน 300 งานต่อปี วงดนตรีที่มี อัลบั้มที่ ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์วงการเพลงไทย สัญลักษณ์ความเป็นคาราบาว ตัวตนของนักดนตรี ทุกสิ่งชัดเจน ถึงทุกวันนี้ แม้ช่วงหลัง คาราบาว จะไม่ค่อยได้มีผลงานใหม่ๆ ออกมาแล้ว หรือบางทีออกมาก็ไม่ถึงกับดังเปรี้ยงปร้าง แต่ถึงกระนั้น เมื่ออินโทร เพลงอย่าง บัวลอย ขึ้นมาในแต่ละงาน ไม่ว่าจะเป็นลูกเด็ก เล็กแดง คนเฒ่า คนแก่ ก็เตรียมลุกขึ้นเต้นแล้ว (ถึงแม้จะต้องดูซ้าย ดูขวาดีๆ ไม่ให้โดนลูกหลงก็เถอะ)
Legacy
แต่ถ้าพูดตัวดนตรี เราก็ต้องย้อนไปดู เหล่าสมาชิก ผู้ก่อตั้ง คาราบาว ขึ้นมา น้าแอ๊ด น้าเล็ก น้าเทียรี่ พวกเขาคือคนในยุคที่ดนตรีในแบบ ร็อค แอนด์ โรล, โฟลค์ ร็อค, เซาเทิร์น ร็อค, ละติน ร็อค หรืออะไรแถวๆ 60-70’s รุ่งเรือง ดังนั้นแนวทางของดนตรี โดยรวมของ คาราบาว จึงออกมาในโซนนี้ แล้วเมื่อบวกกับเพลงในแบบลูกทุ่ง พื้นบ้านในแบบไทย โดยเฉพาะเสียงขลุ่ย ของ อ ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี และเนื้อหาที่มีทั้งการเมือง ปรัชญาแบบเซ็น ชีวิตคนแบบหาเช้ากินค่ำ เรื่องราวที่เป็นความจริงในสังคม ทุกอย่างถูก ถ่ายทอด ผ่านบทเพลง และดนตรีในแบบ คาราบาว จริงอยู่ว่าเนื้อหาในเพลงของคาราบาว จะเป็นสิ่งแรกๆ ที่ทำให้คนที่ได้ฟังเป็นครั้งแรกชื่นชอบ แต่นอกจากเนื้อหาแล้ว นักดนตรีโดยเฉพาะจากทางต่างจังหวัด พวกเขาได้แรงบันดาลใจในการเล่นดนตรีจากคาราบาว และหลายคนสามารถฝึกโซโล่ ได้จากบทเพลงของคาราบาวนั่นเอง
Back To Basic
ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุผลที่เรา อยากจะเขียนถึง คาราบาว ในคอลัมน์นี้นั่นเอง ทุกวันนี้แนวดนตรีมันถูกแตกขยายออกมามากมาย ซึ่งพอผสมกันแล้ว ปัญหานึงก็คือ บางครั้ง มันก็ยากเกินกว่าที่ คนที่อาจจะเริ่มเล่นคอร์ดเป็นระดับนึง อยากจะเล่นโซโล่ยากจะเล่นตามได้ ดังนั้นเราจึงอยากจะยกเพลงของวงดนตรีที่เป็นตำนานวงนี้ มาให้ได้เล่นกัน เพราะอะไร ดนตรีของคาราบาวนั่นค่อนข้างตรงไป ตรงมา มีความเป็นธรรมชาติ ไม่ได้มีซาวด์เอฟเฟ็กต์ที่ซับซ้อน ไม่ได้ใช้ทฤษฎีที่ยากเย็น มีเมโลดี้ที่ชัดเจน จึงเหมาะสำหรับการปู เบสิก ให้สำหรับคนที่อยากจะเริ่มโซโล่ อยากเล่นให้ Advance มากขึ้น ไม่ข้ามขั้นมากเกินไป และสามารถเอาไปใช้งานได้จริง ซึ่งการโซโล่ของคาราบาวนี่แหล่ะ ที่สร้างศิลปินประดับวงการมามากมายนัก
Instrument Of คาราบาว
เครื่องดนตรีของคาราบาว นั้นมีเยอะมาก ซึ่งเราคงต้องพูดถึงเฉพาะอุปกรณ์ ของ แนวหน้า ของวงทั้ง 3 คน โดยเฉพาะมือกีตาร์หลักทั้ง 3 คน แอ๊ด เล็ก เทียรี่ สามประสานในตำนาน (ทุกวันนี้มีเพิ่มน้าหมีมาอีกหนึ่ง) เราจะมาดูกันว่าอะไรที่เป็นความลับในการเล่นของ คาราบาว กัน
Gear : ถ้าจะให้พูดตามความเป็นจริงแล้ว ในภาคของกีตาร์ของคาราบาว แทบจะไม่มีอะไรที่มันซับซ้อนเลย เพราะทั้ง 3 คนใช้เซ็ตอัพที่ค่อนข้างปกติ ใช้เอฟเฟ็กต์ ไม่เยอะ เสียงแตกจากตู้ จากก้อน 2-3 ก้อน แต่ถ้าสังเกตดีๆ สิ่งที่อาจจะเป็นเคล็ดลับเล็กๆ ในเรื่องซาวด์ของคาราบาว ก็คือ Pickup ทุกคนมักจะใช้กีตาร์ที่เป็น Humbucker เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ในงาน แม้ว่าคาราบาวจะเปลี่ยนกีตาร์ในแต่ละยุคบ่อยขนาดไหน แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ พวกเขาเล่น Single Coil น้อยมาก ถ้าจะให้บอกว่าอาวุธลับคืออะไร ก็น่าจะเป็นพวก Pickup นี่แหล่ะกีตาร์ทรงแบบ Explorer ที่เป็นเหมือน Signature น้า เล็ก หรือ PRS แบบ ของน้าแอ๊ด ก็เป็น Humbucker ทั้งสิ้น (รูปประกอบไม่ใช่ตัวที่ทั้ง 2 คนเล่น)
Play
มาถึงเพลงของ คาราบาว ที่เราจะยกตัวอย่าง ต้องเกริ่นก่อนว่า เราอาจจะพูดถึง น้าเล็ก มากกว่าใครในบทความครั้งนี้ เพราะเขาเป็นมือกีตาร์โซโล่ ของคาราบาว อาจจะมี น้า เทียรี่ เล็กน้อย ซึ่งวิธีการโซโล่ที่เป็นเอกลักษณ์ และจุดแข็งของน้าเล็กก็คือ สำเนียงในแบบยุค 70 การดันสาย สั่นสาย วลีที่ใช้ นั่นคือแกนหลักในการสร้างโซโล่ของคาราบาว นอกจากนั้น น้าเล็ก ยังสามารถใช้เทคนิค ได้พอสมควรเช่นกัน ซึ่งเป็นเบสิกที่ดี และเหมาะกับคนที่เริ่มหัดโซโล่มากๆ เอาล่ะเรามาเริ่มกันเลยดีกว่า ว่าจะมีเพลงอะไรกันบ้าง
นี่คืออีกหนึ่งเพลงที่สร้างประวัติศาสตร์ และเป็นเพลงสัญลักษณ์ของคาราบาวอีกเพลงนึง แน่นอนไม่ใช่แค่ตัวดนตรี นี่คิอเพลงที่ศิลปินหลายคนหัดโซโล่จากเพลงนี้ ด้วยเมโลดี้ที่จับต้องได้ เริ่มด้วยการที่เราจะต้องวางมือใน Box ของ D minor Pentatonic ในช่วงเฟร็ตที่ 10-13 ก่อน ลองดูใน 3 ห้องแรกเราจะเห็นวิธีการเล่นเมโลดี้ วิธีการเล่นวลีแบบร็อคที่ติดบลูส์ การดันสายแบบ 1 เสียง การดันแล้วผ่อนแบบครึ่งเสียง การเล่นดันสายแบบ ¼ พวกนี้เป็นเบสิกพื้นฐานที่ดีในการสร้างเมโลดี้ และสำเนียงในการโซโล่ จากนั้นก็ตะมีโน้ต E เพิ่มเข้ามาในการจบ Phase ทำให้เสียงไม่ออก Pentatonic จนเกินไป ส่วนในครึ่งหลังให้ลองสังเกตุดูวิธีการเล่นเมโลดี้ และการดันสาย จะมีทั้งการเล่นเน้นให้เสียงโน้ตสั้นลง การดันสายแบบ ¾ คือดันไม่ให้ถึง 1 เสียงเต็มดี ซึ่งตรงนี้เป็นซาวด์แบบที่คนร็อคยุคเก่า และคนบลูส์เล่นจนเป็นธรรมชาติ และเป็นเคล็ดลับสำคัญในการสร้างสำเนียง และช่วงท้ายเป็นวลีแบบ บลูส์ร็อค ที่เหมือนคนบลูส์ เล่นลูกส่งที่เรียกว่า Turnaround นั่นคือการเล่น วลีโน้ตเป็นชุดๆ เพื่อให้ส่งเข้าสู่ท่อนไป โดยมักจะไหลจากเสียงสูงลงเสียงต่ำ นี่คือวิธีเล่นโซโล่ในเพลงนี้
เราจะได้อะไร : สิ่งที่เราจะได้จากเพลงนี้ก็คือวิธีที่เล่นกับโน้ตต่างๆ ด้วยการดันสายในแบบบลูส์ร็อค คือไม่ใช่แค่เล่นโน้ตตรงๆ แต่จะมีการดันสายขึ้นนิดๆ หน่อย เพื่อให้เสียงมันส่งเข้าสู่โน้ตต่อไป ลองทำการเรียนรู้ รายละเอียดตรงนี้ไว้ เพื่อเอาไว้ใช้ เป็นพื้นฐาน ในการเล่นเมโลดี้ต่างๆ ให้มีสำเนียงมากขึ้น
ความน่าสนใจของเพลงนี้อยู่ที่การเลือกใช้โน้ตตั้งแต่ ท่อนหลังจากออร์แกนเพลงแต่งงาน ที่เป็น Fill In โน้ตที่มากกว่าสเกล แบบ Pentatonic เริ่มจากเมโลดี้ชุดแรก ยังอยู่ใน Pentatonic แต่ว่าโน้ตสุดท้ายที่เป็นตัว F ดันไป 1 เสียงลงบนคอร์ด Ab ทำให้ได้เสียงโน้ต G ซึ่งเป็นตัว Major 7th ซึ่งเป็นสไตล์การเล่นในสไตล์ คล้าย Gary Moore ชอบเล่น ถัดไปเป็นลูกเล่นที่น่าสนใจก็คือการเล่นโน้ต Leading เข้าหา Arpeggio แบบ Chromatic โดยโน้ตหลักจะเป็น Cm Arpeggio มีโน้ต C, Eb, G แต่ในท่อนนี้จะเล่นโน้ตที่อยู่ต่ำกว่าโน้ตเหล่านี้ครึ่งเสียง ก่อนเข้าโน้ตหลักก็จะเป็น B, D, F#(Gb) ซึ่งทำให้เสียงน่าสนใจขึ้นอีกมาก ท่อนที่น่าสนใจถัดมาก็คือการไล่สเกล แบบทีละ 3 โน้ตเป็น Sequence แบบ 6 พยางค์ ซึ่งแบบฝึกนี้ใช้ฝึก วอร์มนิ้วได้ โดยไลน์ทั้งหมดที่ว่ามา เวลาเล่นสดจะเป็นน้าเทียรี่เล่น จากนั้นพอเข้าโซโล่ จะเริ่มจากดันสายเช่นเดิม และมีโน้ตที่น่าสนใจคือการเล่นโน้ตในโทนคอร์ด G บนคอร์ด Cm ทำให้ได้เสียงที่เป็น Tension ที่ฟังดูแปลกๆ หูหน่อย กับการสไลด์โน้ตจากเฟร็ตห่างๆ เพื่อสร้างสำเนียง นี่เป็นวิธีการสร้างโซโล่ของเพลงนี้
เราจะได้อะไร : วิธีการจัดการกับโน้ตเพื่อให้ได้สำเนียง มากกว่าการดันสาย เราสามารถดูตัวอย่างจากเพลงนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นโน้ตข้างเคียงตัวในคอร์ด การสไลด์ในเฟร็ตที่ห่างๆ ของเหล่านี้เราสามารถนำมาพัฒนาเป็นอาวุธในการเล่นเมโลดี้ได้ทั้งหมด
เป็นเพลงที่อาจจะดังน้อยหน่อยแต่เป็นเพลงที่เต้มไปด้วยเทคนิค ที่ยากขึ้นมาหน่อย ซึ่งคาราบาวเองก็มีการโซโล่แบบนี้อยู่เช่นกัน เริ่มจากการ Tapping ตาม Arpeggio ก่อนจะจิ้มเป็น 6 พยางค์ จากนั้นจะเล่นเมโลดี้ โดยการใช้เทคนิค จิ้มแล้วดันสายขึ้น ทำให้ได้สำเนียงอีกแบบนึง คือดันสายจากเฟร็ต 10 ดัน 1 เสียง ค้างไว้แล้วจิ้มที่เฟร็ต 15 จะทำให้ได้เสียงของโน้ตอีกแบบนึง จากนั้นช่วงท้าย มาลองดูวิธีการเล่น Legato โดยที่เล่นสลับ Hammer On, Pull Off โดยมีโน้ตยึดเป็น Pedal Tone หนึ่งตัว จากนั้นจะจบด้วยการดันสาย
เราจะได้อะไร : การเล่นเทคนิคที่เป็น เบสิก การเล่น Tapping ในช่วงแรกเป็นลูก Run ที่เก่ามาก แต่ก็เป็น เบสิกที่คนเล่นกีตาร์ อยากโซโล่ อยากจะเล่นเทคนิคนี้ต้องเล่นแบบนี้ได้ และอีกลูกก็คือ การดันสายแล้วจิ้ม จะทำให้ได้ระดับโน้ตที่เสียงสูงขึ้น โดยไม่ต้องขยับมือมาก และเสียงต่อเนื่องอีกด้วย