เคยได้ยินคำว่าโปรดิวเซอร์มือทองกันบ้างหรือเปล่าครับ คำนี้อาจจะฟังดูเชยสักนิดในวันที่หน่วยวัดความเร็วในการหมุนของโลกเป็น GB โลกของโซเชียลเป็นสื่อในการฟังเพลง ขายเพลง รวมถึงวิจารณ์เพลง มีหลายคนที่กำลังสร้างผลงาน สร้างชื่อเสียง กันอยู่ ในขณะที่เขาและเธอเหล่านั้นกำลังไฟแรง อาจจะทำให้มองข้ามในจุดที่เป็นรายละเอียด สิ่งเหล่านี้มักจะต้องใช้ประสบการณ์ การมองภาพรวมในการทำงาน ซึ่งเราไม่สามารถหาได้จากคนทั่วไป หรือเพื่อนรอบๆ ข้างเรา การรับรู้วิธีคิดจากคนที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว เป็นแรงขับเคลื่อนชั้นดี ที่จะสามารถต่อยอด ไปในสิ่งที่เราต้องการได้ง่ายขึ้น วันนี้เรามีโปรดิวเซอร์หนึ่งท่าน เขาผู้นี้ทำงานให้กับศิลปิน เบอร์ใหญ่ๆ มาแล้ว ทั้ง ก๊อท จักรพันธ์, เบิร์ด ธงไชย เป็นผู้ที่ทำให้คนรู้จัก ปนัดดา เรืองวุฒิ จากอัลบั้มดาวกระดาษ และเป็นคนที่ทำให้ดา เอ็นโดรฟินขึ้นมาเป็นเจ้าแม่อย่างทุกวันนี้ เขาคนนี้มีชื่อว่า ต้น สุวัธชัย สุทธิรัตน์ หนึ่งในโปรดิวเซอร์มือทองของประเทศอีกหนึ่งคน ลองติดตามอ่านแง่คิดและทัศนคติดีๆ จากเขาคนนี้ได้เลย
อยากให้พี่แนะนำตัวสักนิดครับ
พี่ต้น : ครับผม สุวัธชัย สุทธิรัตน์ ครับเป็นโปรดิวเซอร์ในแกรมมี่ ปีนี้ก็ใกล้ๆ จะ 20 ปี เข้าไปแล้ว (หัวเราะ) ตอนแรกตอนพี่จบอเมริกาใหม่ๆ ที่บ้านพี่อยากให้พี่เป็นตำรวจ แต่พี่ไม่ชอบอยากทำงานดนตรีมากกว่า กลับมาเลยตัดสินใจเอาเดโมที่เคยอัดไว้ เอาไปเสนอ ก็มาที่…. (นิ่งคิด) ตอนนั้นเป็นตึกซีมิกซ์ ก็เอาเดโมไปทิ้งไว้ผ่านไปเดือนกว่าๆ เขาก็เรียกเราเข้าไปทำมาจนวันนี้
ตอนนั้นพี่ต้นเล่น เครื่องอะไรหรือดนตรีแนวไหน
พี่ต้น : คือส่วนตัวพี่เป็นพวก Fusion Jazz สายญี่ปุ่นอย่าง Casiopea, T Square จะเป็นสไตล์แบบนี้ กลุ่มที่เป็นเพื่อนผมก็จะคล้ายๆ กัน อย่าง อ. เด่น อยู่ประเสิรฐ ผมเล่นแบบนี้มาตั้งแต่เด็กๆ เลยนะ ออกจะแปลกๆ กว่าชาวบ้านหน่อย (หัวเราะ) แต่ว่างานที่เป็นเดโม่ที่ เอามาเสนอแกรมมี่ เป็นเพลงแบบ ป็อป แต่มีพวก Loop อะไรพวกนี้ซึ่งตอนนั้นบ้านเรายังไม่ค่อยมี แต่ที่อเมริกาเขามีแล้ว ผมเลยเอามาใส่ในเดโม่ แล้วเขาคงเห็นว่าแปลกมั้งก็เลยให้เราเข้าไปทำงาน
คุยกับใครเป็นคนแรกๆ ครับพี่ ตอนเข้าที่ค่าย
พี่ต้น : ผมได้คุยกับ อ.ป็อก (วิชัย อึ้งอัมพร) แกเป็นโปรดิวเซอร์รุ่นตอนพี่เต๋อยังอยู่เลย เป็นรุ่นๆ นั้นเลย แกให้เลขาโทรมาเรียกผมเข้าไปทำงาน ตอนแรกผมไปทำ Arrangerก่อน เป็นงานของ ก๊อท จักรพันธ์ เป็นงานรีมิกซ์ เป็นชุด ก๊อท แดนซ์ เพราะด้วยความที่เพลงเดโม่เรามี Loop มันดูทันสมัยในตอนนั้นเขาเลยเรียกเรามาทำ แต่ผมไม่ใช่คนแรกที่ทำเรื่องนี้นะ คนแรกน่าจะเป็นพี่ ชนินทร์ วรากุลนุเคราะห์ คือผมไม่ได้รู้จักแกเป็นการส่วนตัว แต่เท่าที่ผมเห็นก็น่าจะเป็นแก ผมก็ทำงานส่วนนี้สักพัก มีลองไปทำ Mix Mastering ด้วย ผมเป็นคนแรกๆ เลยที่ทำเรื่องนี้ แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้ลึกซึ้งมาก บอกตรงๆ ว่า มั่วก็ได้ (หัวเราะ) เราแค่รู้ว่ามันต้องทำเท่านั้นเอง คราวนี้เราทำ Arranger ไปสักพัก พี่ป็อก ก็เห็นว่าเราเดินๆ เข้าๆ ออกๆ ในตึก อะเรนจ์เพลง แก้เพลง ทำงานในกลุ่มทีมทำเพลง เจอแก้เพลง เป็น สิบๆ รอบ สมัยนั้น แล้วแกเห็นเราสู้มั้ง ก็เลยบอกว่า ลองมาโปรดิวซ์เพลงสักชุดมั้ย เลยได้มาทำ ปนัดดา ชุด ดาวกระดาษ เป็นโปรดิวเซอร์เต็มตัวครั้งแรก
ความรู้สึกตอนนั้นเป็นยังไงครับ
พี่ต้น : กลัวดิ (หัวเราะ) บอกเลยว่ากลัว เราเป็นมือคีย์บอร์ด เล่นกีตาร์ก็ไม่เป็น แค่สื่อสารได้เท่านั้นว่าต้องการอะไร แต่ผมก็เคยเห็นรุ่นพี่ๆ เขาทำงาน ก็ทำกันได้ เรื่องระบบ อะไรก็พอจะรู้บ้าง คือต้องบอกว่าตอนนั้นเพราะเรามีความอยากจะทำ มีไฟอยู่เยอะ เลยกล้าที่จะทำ อัดเสียงผมยังบ้าอัดสดเลย (หัวเราะ) ช่วงนั้นอนาล็อคด้วย Edit ไม่ได้ ผิดแก้ใหม่หมด แล้วมิกซ์ก็ต้องมืมิกซ์เอง เพราะผมชอบเรื่องนี้โดยส่วนตัวอยู่แล้ว จัดเองเลย ซึ่งถ้าให้คะแนนตอนนี้คงให้แค่ 5 (หัวเราะ) แต่ ณ ตอนนั้นเราก็ว่าโอเคล่ะทำดีที่สุดแล้ว จริงๆ ยังมีข้อผิดพลาดเยอะ พี่ป๊อก แกยังติเลยว่าเฮ้ย มันยังไม่ดีนะ แต่ด้วยความที่มันเป็นระบบแบบ อนาล็อค แก้ไม่ได้แล้ว มันเสร็จแล้วก็ต้องเลยตามเลย (หัวเราะ) มาฟังอีกทีตอนนี้ผมยังขำเลย
งานที่คิดว่าเป็นงานสร้างชื่อ
พี่ต้น : ผมเล่าแบบนี้ มันเริ่มจากหลังงานของปนัดดา ผมก็เลยได้ทำงานของคนอื่นเรื่อยๆ อย่างพี่มาลีวัลย์ ขยับมา Teen 8 Grade A ทำให้ผมเข้ามาอยู่สายป็อปแล้ว ตอนนั้นพี่ดี้ เขาเห็นผมทำงาน เขาเลยบอกว่า ลองแต่งเพลงให้พี่เบิรด์ไหม ผมก็เอาสิครับ ตื่นเต้น ดีใจ มากตอนนั้น เราภูมิใจนะว่า เออ เราได้มีโอกาสทำแล้วโว้ย แกก็บรีฟงานมาว่าอยากได้อะไร เราก็ไปทำมาก็ได้เป็นเพลง ก็เลิกกันแล้ว ปรากฎมันฮิตขึ้นอันดับหนึ่ง ทำให้เราเห็นภาพเลยว่า อ๋อ เพลงฮิตมันต้องมีวิธีการทำแบบนี้นะ จากนั้นงานต่างๆ ก็ไหลเข้ามาเลย
อย่างเพลงนี้ขั้นตอนการบรีฟงานเป็นยังไงครับ
พี่ต้น : พี่ดี้จะบรีฟมาละเอียดมาก ว่าอยากได้เพลงสบายๆ เมโลดี้แบบใกล้ชิด หมายความว่าเราสามารถผิวปากฮัมเพลงได้ เรนจ์ไม่ต้องกว้าง ผมก็เอามโนภาพส่วนตัวนึกหน้าพี่เบิร์ด ว่ามันจะต้องออกมาแบบนี้ จังหวะง่ายๆ โป้ะ ตึก ตึก เราก็ตีโจทย์แบบนี้ เอาจริงๆ แต่งเพลงให้พี่เขาเราสบายไปครึ่งนึงแล้ว เพราะความสามารถของพี่เบิร์ด ยังไงก็ดันเพลงเราขึ้นไปได้แน่ๆ
กับงานของดา เอ็นโดรฟินล่ะครับ พี่ไปเจอ ดาได้ยังไง
พี่ต้น : คือดาเดินเข้ามาหาพี่เอง เอาเดโมมาเสนอ ซึ่งเราก็ว่า น้องเสียงมันได้ แต่วงที่มาด้วยมันก็ประมาณนึง ให้พูดตรงๆ คือเราอยากจะให้ดา ออกเดี่ยวนั่นแหล่ะ ผมอยากจะเซ็นต์ ดา คนเดียวด้วยซ้ำ แต่ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าวงสนิทกันขนาดไหน น้องมันเป็นแฟนกับใครในวงหรือเปล่า ก็เลยเซนต์สัญญามาทั้งหมด
พูดถึงเคสนี้ ก็เลยอยากถามตรงๆ ว่าเพราะอะไรวงถึงต้องแยก
พี่ต้น : คืออย่างนี้ เอาตรงๆ เลย ถ้าหากวงมันแต่งเพลงมาเองแล้วมันได้จริงๆ มันก็จะอยู่กันได้เรื่อยๆ แต่ทีนี้ ดา มันค่อนข้างต้องใช้คำว่าจุดประกาย แล้วมันดูเหมือนกับว่าวงมันไม่ได้มาด้วยกัน เหมือนมาเป็นแบ็คอัพมากกว่าเป็นวงดนตรี มันก็เลยดูห่างซึ่งเรื่องนี้มันก็ทำให้เกิดปัญหาได้ ไม่ได้เป็นที่วงนี้วงเดียวนะ หลายวงเป็น นักร้องมันห่างจากวงดนตรีค่อนข้างมาก ก็เลยเกิดปัญหา การแยกกันแบบนี้ ในฐานะที่ผมก็เป็นนักดนตรีต้องรู้สึกไม่ดีแน่นอน แต่ต้องบอกว่าผมไม่ได้ไปเสี้ยมอะไร หรือ มีใบสั่งให้วงน้องๆ มันแยกกันนะ เพราะผมน่ะยังไงก็ได้ คือ เค้าไปคุยกันเองว่า เออ เราคงมากันได้ประมาณนี้ ก็เลยแยกกัน ปัญหาลักษณะนี้มันจะไม่เกิดถ้าวงดนตรีวงนั้นนักดนตรีกับนักร้อง เก่งพอๆ กัน อย่างหิน เหล็ก ไฟ อะไรแบบนี้ ดูพี่ป็อป พี่โป่งสิ แน่นอนว่าบางครั้งน้องๆ วงดนตรีใหม่ๆ ก็จะไม่เข้าใจตรงจุดนี้
โอเคครับ งั้นขอถามถึงขั้นตอนการทำงานบ้าง สมมติเราได้โจทย์มาว่าต้องทำศิลปินสักคน พี่ต้นมีขั้นตอนยังไง
พี่ต้น : อย่างแรกผมจะดูว่า ตามที่เด็กอยากจะเป็น หรือว่า มีใบสั่งว่าอยากให้เป็น มันทำได้จริงหรือเปล่า บางครั้งสิ่งที่มันอยากเป็นกับสิ่งที่มันเป็นได้มันไม่เหมือนกัน บางคนมาแบบพี่หนูอยากแดนซ์ แต่โอโห หุ่นไม่ให้เลย (หัวเราะ) หรืออยากร็อคก็ต้องมาดูว่ามันร็อคจริงหรือเปล่า โอเค คราวนี้ถ้าเราเลือกได้แล้วว่าจะทำคนนี้ เราก็ต้องหาเรฟเฟอร์เรนซ์ ต้องยอมรับว่างานทุกงานในโลกนี้ต้องมีเรฟเฟอร์เรนซ์ ไม่ใช่ลอกนะ คือเราตั้งไว้ว่างานชิ้นนี้มันจะต้องมีโทน มีสี มีอารมณ์ลักษณะไหน หามาเลย 10-20 เพลงเสร็จแล้วก็ไปบรีฟคนแต่งเพลงว่าอยากได้เนื้อเพลงแบบนี้ อยากได้ดนตรีฟิลแบบนี้ แล้วไปแต่งมาใหม่ แล้วเอามากรองกัน ของพี่จะเป็นแบบนี้
เคยเจอเคสแบบ ต้องทำคนนี้ขึ้นมาให้ได้หรือเปล่าครับ แล้วพี่อึดอัดไหม
พี่ต้น : มีครับ พูดตรงๆ เลยนะว่า หลายคนด้วย แต่ถ้านายสั่งเราก็ต้องทำ ถามว่าอึดอัดไหม ไม่อึดอัดนะครับ แต่มันเหนื่อย เอางี้ผมไม่เอ่ยชื่อนะว่าใคร แต่บางคนผมต้องมา Edit ร้องทุกคำ ผมทำมาแล้ว (หัวเราะ) เป็นไฟต์บังคับเลย ร้องไม่ได้ ต้อง Edit ทุกคำ เราก็ต้องใช้วิธีที่เรียกว่า กุ้งพันอ้อย นั่นก็คือ เอาเสียงคอรัสมาห่อเพลงไว้ให้มันฟังได้ ไม่งั้นงานไม่เสร็จ คนพวกนี้บางครั้งก็รู้ บางครั้งก็ไม่รู้ว่าตัวเองร้องได้หรือไม่ได้ บางคนก็มีความพยายาม บางคนก็เข้าข้างตัวเอง ผมเจอมาทุกแบบแล้ว (หัวเราะ)
ในฐานะที่พี่ต้น อยู่ในวงการ และทำงานในด้านนี้มานาน อยากให้พูดถึงเรื่องการ Copy เพลงหน่อยครับ
พี่ต้น : เอาอย่างนี้พี่เคยเห็นคนที่ทำงานแบบเอาเพลง เรฟเฟอร์เรนซ์มาแปะใน โปรแกรมดนตรี แล้วดูว่าเขาทำยังไง อันนั้นเขาเรียกลอกแล้ว สำหรับพี่ เรฟเฟอร์เรนซ์มันต้องฟัง 2-3 รอบ แล้วต้องไม่ฟังอีกเลย ไม่งั้นมันจะติด เพราะบางเพลงมันทำมาดีอยู่แล้ว เราเอาแค่บรรยากาศมา แค่ มู้ด โทน เท่านั้นเอง พี่เองก็เคยมีพลาดเหมือนกัน อย่างเพลงของดา เพลงได้ยินไหม พี่หาเรฟเฟอร์เรนซ์มา แล้วชอบมากรู้สึกมันลงตัว เรื่องของเรื่องพี่ดันไปใช้โมทีฟเดียวกับเขาเลยแต่แค่อินโทรนะ ตัวเพลงคนละเรื่อง ซึ่งอันนี้ยอมรับว่าพลาด โดนด่าเละเลย คือเรื่องการ Copy พี่เชื่อว่าถ้าใครก็ตาม Copy มา แล้วเพลงบังเอิญอาจจะดัง แต่ก็ไม่สามารถจะทำอย่างนี้ได้ตลอดไปหรอก กฎหมายเขาบอกว่า ถ้าโน้ตขึ้นมาเหมือนกัน 7 ตัว ถือว่าผิด แต่มันก็มีคนทำงานแบบใช้ช่องว่า ขึ้นมา 6 ตัวแล้วก็บิดมันก็มี ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็อยู่ที่จรรยาบรรณของแต่ละคนแล้ว
กลายเป็นคู่กรณีกันไปแล้วระหว่างคนทำเพลงกับนักวิจารณ์ในเน็ต
พี่ต้น : ใช่ คือมันจะมีทั้ง 2 ด้านน่ะ พวกที่จ้องจะเล่นงาน เหมือนตำรวจจ้องจับโจร แล้วมีอคติกับคนทำเพลง กับ คนทำดนตรีที่มันลอกจริงๆ แต่พอจับได้ก็ออกมาแถๆ กันไปมันก็มีทั้ง 2 ด้าน
มองวงการดนตรีปัจจุบันเป็นยังไงครับ เดี๋ยวนี้มีวงใหม่ๆ เกิด ขึ้นมากมาย
พี่ต้น : คือมันง่ายตรงเครื่องมือ เราสามารถไปซื้อไมค์ ซื้ออุปกรณ์ มาทำเพลงกันได้ แต่ตัว Sound Quality มันอาจจะไม่ได้ คือเครื่องมือพวกนี้มันเอาไว้ทำเพลง แต่ไม่ใช่ทำMaster ถ้าอยากได้ซาวด์ๆ ดี ก็ต้องลงทุนไปในห้องอัด ซึ่งก็พูดยากในเมื่อเทคโนโลยีเป็นแบบนี้ อันนี้ในแง่ของการทำงานนะ ส่วนนักร้อง เดี๋ยวนี้คนไทยร้องเพลงกันเก่งขึ้นเยอะ ตอนนี้แนวทางมันกว้างมาก ไม่ใช่แค่เมืองไทยแต่เป็นทั่วโลก ซึ่งเป็นเรื่องดีที่มีการแข่งขันทำให้มีนักร้องใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ส่วนเรื่องธุรกิจเพลงมันก็ยังโตของมันได้ เพียงแต่ว่ามันเปลี่ยนรูปแบบ วิธีการได้เงินจากคนเสพดนตรีมันเปลี่ยนไป ซึ่งตอนนี้ก็มีวิธีการได้รายได้จากการเก็บค่าลิขสิทธิ์จากศิลปินที่ไปโชว์ เวลาเอาเพลงที่เราแต่งไปโชว์เราก็ต้องมีส่วนแบ่ง ไม่งั้นคนเบื้องหลังก็ตาย ซึ่งอันนี้ก็ต้องตกลงกันตั้งแต่แรก
ตอนนี้การแต่งเพลงจะคิดถึงแค่ตัวเพลงไม่ได้แล้วแต่ต้องซัพพอร์ต กับอย่างอื่นด้วย พี่มีความคิดเห็นตรงนี้ยังไงครับ
พี่ต้น : พี่ใช้คำว่าตอนนี้มันจำเป็นต้องเป็นอย่างนี้ เอางี้ บริษัทก็พยายามลดต้นทุน อะไรที่เป็นการลดรายจ่ายมันก็จำเป็นต้องทำ แต่ต้องเพิ่มอะไรมันก็ต้องเพิ่ม อย่างการเปิดเพลงแบบกรอกหูทุกวันมันก็มี เช่นเพลงละครที่เราฟังกัน มันก็ช่วยทำให้เพลงมันขายได้ ซึ่งส่วนตัวพี่ มาจากยุคที่ทำเพลงอย่างเดียว คือทำเพลงเพื่อเพลง ย่อมมีบางอย่างไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว แต่ทำยังไงได้ในเมื่อตอนนี้มันเป็นแบบนี้ หรืออย่างเคส หญิงลี กับเพลงขอใจเธอแลกเบอร์โทร มันก็ดังของมันเองด้วยจังหวะ หรืออะไรสักอย่างซึ่งเราก็คาดเดาไม่ได้ และก็ไม่สามารถคาดหวังว่าจะเกิดอะไรแบบนี้ได้อีก ให้แต่งอีกก็คงทำไม่ได้แล้ว มันไม่มีสูตรสำเร็จ ถ้ามันมีก็คงสบายกันกว่านี้
กังวลเรื่องเทรนด์เพลงบ้างหรือเปล่าครับ ว่าอาจจะตามวัยรุ่นไม่ทัน
พี่ต้น : ก็กลัวเหมือนกันนะ แต่คนเขียนเนื้อเพลง น่าเป็นห่วงมากกว่าพี่อีก (หัวเราะ) คือพี่เคยเห็นนักดนตรีรุ่นก่อนพี่ ตามไม่ทันก็มี ส่วนตัวพี่เองจะเป็นคนที่ฟังคน ก็คือไม่ว่าจะเป็นเพื่อน เป็นเด็ก เป็นใครก็ตามก็จะพยายามฟัง ซึ่งบางอย่างวิธีคิดพี่ก็เปลี่ยน อย่างเพลงร็อค เมื่อก่อนพี่จะเป็นมนุษย์เนี้ยบ คือต้องเล่นให้ตรง พี่จะคิดว่า เฮ้ย มึงจะมีผลงานออกทั่วประเทศนะโว้ยก็ต้องเล่นให้เนี้ยบ แต่อย่างเพลงร็อคบางทีมันมีเรื่องของฟิลลิ่งดิบๆ ที่อาจจะเหลื่อมนิดหน่อย แต่มันได้อารมณ์พี่ก็เออ เริ่มปล่อยบ้างแล้ว แต่เราก็ต้องระวังเรื่องเส้นบางๆ ของคำว่า ชุ่ย ไว้ด้วย ต้องดูว่ามันเป็นฟิล หรือมักง่าย
รายได้ของคนเบื้องหลังเป็นยังไงบ้างครับในทุกวันนี้
พี่ต้น : เราต้องทำงานหนักขึ้นเป็น 2 เท่า เพื่อที่จะให้ได้รายได้ที่เกือบจะเท่าแต่สมัยก่อน เมื่อก่อนอัลบั้มชุดนึงผมสามารถหยุดงานไปได้ 4-5 เดือน อยู่สบายๆ เดี๋ยวนี้จบงานต้องทำต่อเพราะมันเป้นเพลงต่อเพลง แล้ว ตอนนี้มันตัวใครตัวมัน เงินก็ได้น้อยลง คือมันต้องปรับตัวแล้ว
อยากให้ฝากอะไรถึงนักดนตรีใหม่ๆ บ้างครับ
พี่ต้น : ผมพูดกว้างๆ ละกันครับ เดี๋ยวนี้การทำเพลงมี 2 รูปแบบ ก็คือเราทำแล้วขายเอง ซึ่งอันนี้มันไม่มีรูปแบบ ความเป็นตัวของตัวเองมันชัดเจน อยากทำอะไรทำเลย เพราะดนตรีมันไม่มีผิดถูกอยู่แล้ว มีแต่ชอบไม่ชอบ เหมือนกับเราแบ่งปันประสบการณ์ สิ่งที่เราชอบถ้าคนอื่นฟังแล้วชอบ เพลงมันก็มีสิทธิ์ดัง กับ อีกแบบคือมาอยู่ในระบบค่าย แน่นอนเมื่อมาอยู่ในระบบมันก็ต้องมีกฎ มีกติกา บางคนมีความเป็นอินดี้ พี่ใช้คำนี้แล้วกันนะ มันก็จะอยู่ไม่ได้ คือเหมือนเราจบมหาวิทยาลัยแล้วเข้าทำงานบริษัทใหญ่ๆ สักแห่ง มันต้องมีความอดทน ต้องมีการวางแผน ต้องมีการเข้าประชุม มันมีเรื่องการโปรโมต มันมีเรื่องการลงทุน ก็จะเป็นระบบ ระเบียบ การเริ่มต้นที่บริษัทใหญ่แล้วออกไปทำเองบ้างครั้งก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะเราจะเข้าใจเรื่องระบบระเบียบ จะเป็นรากฐานที่ดี ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบไหนพี่ก็สนับสนุนทั้งหมด ทำมาเถอะครับมันยังมีตลาดอยู่ แต่อย่าไปมองเรื่องรายได้มากนัก เพราะมันก็จะเปลี่ยนรูปแบบการขายไปเรื่อยๆ ตราบใดที่คนยังมีลมหายใจ ยังรื่นเริงอยู่ ตลาดเพลงมันก็ไม่ตายครับ