เมื่อใครสักคนที่อยากจะเข้าสู่วงการดนตรี สิ่งที่หลายคนคิดตามสเตปก็คือการเรียนการสอน ที่ต้องตรงกับสิ่งที่คาดไว้ อยากเรียนดนตรี ก็ต้องไปเข้ามหาวิทยาลัยดนตรีสิ สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือในวงการเพลงบ้านเรา ซูเปอร์สตาร์สายดนตรี ไม่ค่อยมีคนที่จบมาจากสายดนตรีโดยตรงสักเท่าไหร่ หลายคนผันตัวเป็นครูอาจารย์ กลายเป็นเบื้องหลัง เล่นในผับ เป็นแบ็คอัพ อืม…มันก็เป็นอาชีพสุจริตนะ แต่ว่า เราเข้ามาเพื่อจะเป็นสิ่งนี้แต่แรกหรือเปล่า หนึ่งในปัญหาที่เราๆ นักดนตรีอาจจะไม่เคยได้รับรู้ก็คือธุรกิจดนตรี มันไม่ใช่แค่การฝึกซ้อมอย่างเชี่ยวชาญ แล้วทุกคนจะอินกับวรยุทธบนเฟร็ตบอร์ดของคุณ ในขณะที่คุณนั่งปั่นหกพยางค์ บนความเร็ว 140 ในงานประกวดดนตรี ป้าที่ขายลูกชิ้นอาจจะนั่งหาวแล้วหาวอีก แล้วคุณจะมานั่งพร่ำเพ้อ บอกคนไทยไม่รู้จักทฤษฎีดนตรี เราว่าไม่น่าจะถูกเท่าไหร่ ในวงการดนตรีมันมิติตื้นลึกหนาบางอีกมากมาย เราอาจจะเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ แต่ว่ามันจะดีกว่านั้นถ้ามีการเรียนการสอนให้เข้าใจ เชื่อว่าผู้อ่าน The Guitar Mag หลายคนก็กำลังอยู่ในวัยทางเลือก ลองมาทำความรู้จักกับคณะดนตรีในอีกรูปแบบนึง ของ ม.ศิลปากร จากคำแนะนำของ ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ราชลักษณ์ หรือ อ.แบงค์ ผู้ก่อตั้งสาขาดนตรีและธุรกิจบันเทิง ของ ม.ศิลปากรกันครับ
จุดเริ่มต้นทางดนตรีของ อ. แบงค์
อ.แบงค์ : ผมเป็นศิษย์เก่ารุ่นแรกของศิลปากรสายดนตรีเลยนะ ตอนนี้ก็มี 20 รุ่นแล้ว ยุคแรกที่ผมเรียนจะมีแค่คลาสสิคเท่านั้น แต่ผมเริ่มจากการเป็นคนสายร็อค เช่นพวก Mr.Big, Bon Jovi, Dream Theater มาครั้งแรกเราไม่ได้เรียนในสิ่งที่เราอยากเป็น ผมต้องเรียนถูกบังคับเรียนพวกกีตาร์คลาสสิค แต่ก็โอเคนะครับ เพราะทำให้ได้มีโอกาสได้จับได้เล่น Double Bass จริงจังด้วย หลังจากผมเรียนมา 2-3 ปี ศิลปากรก็เปิดสาขาแจ๊ซ แล้วผมก็ได้มีโอกาสได้เรียนแจ๊ซกับ อ.โปรด ธนภัทร มัธยมจันทร์ แต่ทางร็อคผมก็ยังไม่ทิ้ง ผมมีโอกาสออกผลงานกับวงพล่าน ก็จะอยู่กับสายเมทัล ซึ่งแฟนๆ ของวงตอนนี้จำผมไม่ได้แน่นอน (หัวเราะ) ผมใช้ชีวิตดนตรีค่อนข้างเต็มรูปแบบนะ พาร์ทนึงผมเล่นคลาสสิค แต่เล่นกลางคืนกับแจ๊ซ ผมเล่นที่ Brown Sugar แล้วก็เล่นเมทัลกับพล่าน แถมยังได้ไปโปรดิวซ์ให้กับ RS ยุค Real And Sure ได้ทำงานกับวงลำดวน ทำให้ผมได้เห็นอุตสาหกรรมดนตรีด้วย จนมีจุดเปลี่ยนนึงที่ผมรู้สึกว่าจะทำยังไงให้การใช้ชีวิตของเราไม่เดือดร้อนถ้าจะประกอบอาชีพทางนี้ พูดตรงๆ ว่าจะหาเงินยังไง ผมเลือกไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย เรียนด้านซาวด์เอ็นจิเนียร์ มันก็ไม่ใช่ ไปเรียนปริญญาโทที่ ม.มหิดล เกี่ยวกับ Music Educate มันก็ไม่ตอบโจทย์ คราวนี้ที่ม.กรุงเทพ เขาเปิดสาขา บริหารนิเทศน์ คือการทำเรื่องของพวกนิเทศน์ให้เป็นธุรกิจมากขึ้น ก็เลยตัดสินใจไปเรียนโดยที่ไม่รู้อะไรเลย เพราะชีวิตผมอยู่กับดนตรีมาโดยตลอด เจอ Power Point ทำไม่เป็น งง เราได้วิชามากมาย ซึ่งมันใช้ในชีวิตจริงทั้งหมด คราวนี้ด้วยความที่เราเล่นดนตรีได้โอเค เวลาอาจารย์เขาให้การบ้านอะไร ผมก็มักจะเอาดนตรีเข้าไปบวกด้วยตลอด ลองทำพวกแผนธุรกิจ ทำเรื่องอีเวนท์ ผมก็จะบวกดนตรีเข้าไปร่วมด้วยเสมอ จนอาจารย์คนนี้ที่สอนผมท่านเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ Telecom Asia ทุกวันนี้ท่านเกษียณแล้วแต่ก็ยังเป็นผู้บริหารระดับสูงของ True Corp. อยู่ ตอนนั้นท่านชวนผมไปทำงานประจำเป็น หน่วยงานนวัตกรรมที่ True ซึ่งผมก็ไม่ปฏิเสธ เลยได้วิชาเพิ่ม จนเห็นว่าดนตรีสามารถเข้าไปอยู่ได้กับทุกสิ่ง ตอน 10 ปีที่แล้วไม่มีใครเห็นโมเดลนี้ ดนตรีไม่จำเป็นจะขายแค่ซีดีอีกต่อไปแล้วนี่นา เราหารายได้จากตรงอื่นอีกเยอะ จนในที่สุดผมไปเรียนปริญญาเอก ด้านเซอร์วิส เพราะผมมองว่าดนตรีเป็นอะไรที่อยู่ในหมวดของงานบริการ สอนหนังสือ เล่นดนตรี ห้องอัด ก็งานบริการทั้งนั้น เราก็ไปเรียนสาขา บริหารธุรกิจบริการระหว่างประเทศ ไปเรียนเสร็จทำให้เราเข้าใจบางอย่าง เราเข้าใจธุรกิจดนตรีมากขึ้น ปัจจุบันดนตรีไม่ได้ขายแค่ผลงาน มันทำอะไรอย่างอื่นได้ตั้งเยอะ จนคณบดีที่นี่ เรียกผมเข้ามาให้ผมมาช่วย ผมได้พูดคุยกับท่านในเรื่องสถานะดนตรีในปัจจุบัน ทำให้ผมได้เปิดสาขาดนตรีและธุรกิจบันเทิงขึ้นที่นี่
รูปร่างหน้าตาของ สาขานี้เป็นยังไงครับ
อ.แบงค์ : ลำดับแรกสาขานี้เด็กที่มาไม่ต้องมีสกิลดนตรีเลย แต่ขอให้มี Passion รักในอุตสาหกรรมดนตรี รักที่จะพัฒนา เพราะฉะนั้นรุ่นแรกที่มาก็ไม่ต้องมีสกิลอะไรกันเลย ดูทัศนคติ ดูเกรด แต่ตอนหลังพอมันบูม คนเยอะมากขึ้นก็ต้องสกรีนมากขึ้น คราวนี้วิธีนึงคือเราใช้โมเดลการทำศิลปินของเกาหลี เพราะอะไร ดนตรีเกาหลีมันบวกกับวัฒนธรรม การมาของวงแบบ Super Junior, Girls Generation มันมีผลกระทบต่ออะไรบ้าง พอมันเป็นกระแส เราจะเห็นว่าธุรกิจที่มาคู่กัน คือท่องเที่ยว คือเครื่องสำอาง แล้วมันมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศ ทำให้เราเห็นว่าคนใช้แบรนด์ Samsung, Hyundai กันมากขึ้น มันเกี่ยวเนื่องกันนะ เพราะลุคของศิลปินมันเป็นอินเตอร์ขึ้น ธุรกิจหลายๆ อย่างมันก็จะได้รับผลไปด้วย ผมไปแกะรอยโมเดลของธุรกิจดนตรีเกาหลี มาใช้เพื่อเป็นวิชาเรียนในหลักสูตร เช่นวิชา Artist Management เราก็ให้พี่บอล Scrubb มาสอน ได้พี่มอย What The Duck ได้คุณพาย Fungjai มาสอนในเรื่องของ Music Promotion Management ได้คุณต้น โทนี่ผี มาสอนเรื่อง Digital Music Business สาขาวิชาของเราจะเป็นเกี่ยวกับธุรกิจเต็มตัว ไม่เกี่ยวกับการ Perform แต่ที่จะแตกต่างออกไปคือเด็กที่มาเรียนกับเราจะได้รับสิ่งที่เรียกว่ารสนิยมทางดนตรี อันนี้สำคัญมากเพราะถ้าเรียนธุรกิจดนตรีแต่ไม่มีสิ่งนี้เลยก็แย่เหมือนกัน เด็กที่มาเรียนกับเราเขาจะได้เจอเพื่อนที่เล่นดนตรีแจ๊ซ คลาสสิค แล้วก็จะไปจับกลุ่มแฮงค์เอาท์กัน ซึ่งพอรวมกันเขาจะฝังอะไรบางอย่างเข้าไปได้ นอกจากนั้นเราก็จะเสริมวิชาดนตรีพวก ประวัติดนตรีอีกเล็กน้อยเข้าไป พอเรียนขึ้นไปสูงๆ ก็จะเชิญ อ.หน่อง อานันท์ นาคคง ที่เป็นปราชญ์ด้านดนตรี วัฒนธรรมไทย มาสอนเรื่องดนตรีวิจารณ์ คือจะมีวิชาพวกนี้มาประกอบด้วย
เด็กที่เข้ามาในสาขานี้ต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง
อ.แบงค์ : คืออย่างนี้ ตอนนี้การสอบมันเปลี่ยนวิธีไปแล้ว ใน ปี 61 ที่ผ่านมาเราจะสอบ O-Net, A-Net ถ้าสาขาไหนเปิด ก็สอบตรงเข้าไปได้ ที่ผ่านมา 10 กว่าปีคือการสอบตรงเข้ามาในคณะเลย ยุคที่สาขานี้เปิดแรกๆ จะเป็นการสอบตรง แต่ตอนนี้กระทรวงศึกษาธิการจะเป็นรูปแบบใหม่ เพราะฉะนั้น ตอนนี้จะเป็นการสอบ 4 ครั้ง คล้ายๆ เอ็นทรานซ์เหมือนกันทั่วประเทศ ก็คือเหมือนเอ็นทรานซ์ บวกกับ O-Net, A-Net เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่สนใจคือเกรดเฉลี่ยน้องต้องไม่ต่ำกว่า 2 แล้วก็ต้องเอาคะแนนสอบ ภาษาไทย สังคม อังกฤษ ที่ทางหน่วยงานกลางกำหนด เพราะฉะนั้นเงื่อนไขก็คือ 1 เลือกสาขา ของเราเป็นอันดับหนึ่ง 2 คะแนนเฉลี่ยต้องไม่ต่ำกว่า 2 และคะแนนภาษาไทย สังคม อังกฤษ ตอนนี้ด้วยความที่เราเปิดแล้ว ค่อนข้างมีมาสมัครเยอะ แต่เรารับรุ่นนึงได้แค่ 50 คน ดังนั้นจุดสำคัญอีกจุดก็คือการสอบสัมภาษณ์ สิ่งที่พวกเราต้องการมากที่สุดก็คือคุณคิดว่าจบไปแล้วจะไปพัฒนาอะไรในอุตสาหกรรมดนตรี นี่ให้แนวทางในหนังสือเลยนะเนี่ย (หัวเราะ)
ถ้าอย่างนั้นสาขานี้จะให้อะไรกับเด็กกลับไป
อ.แบงค์ : เรามองว่าจะทำยังไงที่จะให้วัฒนธรรมร่วมสมัยที่ใช้ดนตรีขับเคลื่อน จะทำยังไงให้ตรงนี้ขับเคลื่อนเชิงเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นคุณไม่จำเป็นต้องเข้าไปทำงานในหน่วยงานสังกัดค่ายเพลงใหญ่ๆ ทุกวันนี้เรามีศิลปินอิสระมากมาย เราจะคิดแผนธุรกิจให้กับคนเหล่านี้อย่างไร ตอนนี้ปี 2 ผมทดลองโดยการสร้างค่ายเพลงจำลอง โดยให้น้องๆ มานำเสนอว่ามีแผนธุรกิจยังไงบ้าง บางกลุ่มบอกผมว่าจะไม่เปิดค่ายเพลง แต่จะเป็นบริษัทที่เอานักดนตรีทั่วไปเข้ามาหาเค้า แล้วเค้าจะให้คำปรึกษา คล้ายๆเป็น Music Business Consultant ให้คำปรึกษาว่าจะทำการตลาดยังไง ผมถามไปต่อว่าแล้วจะหารายได้ยังไง เขาก็บอกว่ามีอ๊อฟชั่นเสริม ถ้าคุณไม่มีทีมงานเรามี ขายเป็นแพ็คเกจ หรือทำเป็นศิลปิน นักดนตรีที่ดังสำหรับวงการแต่งงาน คือเราต้องการเห็นอะไรที่ครีเอทีฟแบบนี้ในวงการเพลง นี่เป็นตัวอย่าง เป็นแนวทางสำหรับน้องๆ ที่สนใจ
ความเป็นนักดนตรีและธุรกิจมันจะมีเส้นอีโก้ขวางตรงกลาง เราจะรวมตรงนี้เข้าด้วยกันได้อย่างไร
อ.แบงค์ : สมัยนี้เด็กๆ ลดตรงนี้ลงไปเยอะ ไม่เหมือนรุ่นเก่า ไม่ต้องเอาไกลตัว ผมเองนี่แหล่ะ เราอุตส่าห์เล่นแจ๊ซได้ คลาสสิคได้ มันต้องเป็นเพียว Art จนกระทั่งผมไปเจอจุดเปลี่ยน เราเล่นแล้วยังไงต่อ เราต้องมีครอบครัว ต้องดำเนินชีวิตได้ ผมได้ไปเห็นพี่น้องในวงการอย่างหนึ่ง วินัย ที่โพสต์ข้อความเกี่ยวกับทางเดินชีวิตของอาชีพนักดนตรี ซึ่งพี่หนึ่งแกเป็นสายเพอร์ฟอร์มเต็มตัวยังบอกว่าให้นักดนตรีต้องมีหัวธุรกิจสักนิดเลย ต้องยอมรับว่าบางคนที่ศึกษามาเยอะบางที จะไปกดเขาให้ลงไปเป็นแมส ก็ทำใจลำบาก ผมอยากจะให้ไอเดียอย่างนี้ ผมอยากให้ดนตรีหรือศิลปะทุกแขนงเป็นหน้าต่างบานแรกให้คนให้ได้ ผมยกตัวอย่างวันนึงคุณอยากฟังแจ๊ซ แต่ไม่เคยรู้เรื่องเกี่ยวกับแจ๊ซเลย ฟังมั่วๆ มันเป่าอะไรไม่รู้ พอดูชื่อศิลปิน Charlie Parker พอเป็นแบบนี้คุณมีสิทธิ์ที่จะเกลียดแจ๊ซได้เลย กลับกัน Kenny G ที่ชาวแจ๊ซ เกลียดกันมากมาย หาว่า Kenny G ไม่ใช่แจ๊ซ แต่ความเป็นจริงเขาเล่นได้ดี แต่เขาแค่เลือกที่จะเป็นหน้าต่างบานแรกให้คนที่สนใจแจ๊ซ พอได้แล้วก็ไปหาลึกๆ ฟังสิ สมัยนี้เด็กๆ เขาเปิดมากเลยนะ ปัญหาเรื่องนี้ลดไปเยอะแล้ว ไม่แน่นะในอีกสัก 10 ปี แล้วอาจจะอยู่แถวหน้าในเอเชียก็ได้
แต่สายที่เรียนเฟอร์ฟอร์ม บางครั้งทัศนคติต่างๆ ก็มาจากตัวอาจารย์ การคุยผู้ใหญ่กับผู้ใหญ่น่าจะยากกว่า
อ.แบงค์ : อันนี้ผมยอมรับว่าจริง แต่ผมจะยกตัวอย่างอาจารย์ท่านนึง ก่อนผมจะมาอยู่ที่นี่ มีคนบอกผมว่าถ้าคุยกับอาจารย์ท่านนี้ อย่าคุยเรื่องธุรกิจเด็ดขาด แต่ท่านเป็นคนที่เชิญผมมา เพราะท่านบอกว่าเล่นดนตรีคลาสสิคต่อไปไม่รอดแน่ ท่านบอกว่าจะทำยังไงให้ดนตรีคลาสสิคเข้าไปหาคน ท่านนี้คือ อ.ทัศนา นาควัชระ เป็นมือไวโอลินระดับประเทศ ระดับเอเซีย ที่เป็นลูกศิษย์ของ Menuhin ซึ่งแกเป็นคนที่ทุกคนบอกว่าห้ามคุยเรื่องธุรกิจด้วยเลย ซึ่งท่านเป็นคนออกปากเอง ว่าให้ผมพาไปเล่นในที่ ที่ไม่ต้องคลาสสิค ไม่ต้องหรูมาก ไปที่ไหนก็ได้ที่ ที่ดนตรีคลาสสิคจะเข้าหาคน แกเปลี่ยนวิธีคิดไปเยอะมาก ผมพาไปเล่นที่พารากอน แกก็ยืนเล่นคนผ่านไป ผ่านมาก็ดู ทำให้คนรู้จักคลาสสิคมากขึ้น นี่เป็นตัวอย่างที่ดีเลย แต่แน่นอนคนที่ไม่ได้ก็มี ในมหาวิทยาลัยนี่แหละ (หัวเราะ)วุฒิการศึกษาที่เด็กจะได้
อ.แบงค์ : เมื่อก่อนเราจะเป็นดุริยางคศาสตร์บัณฑิต ซึ่งโอเคเราก็ภูมิใจแต่ปัญหาคือน้องๆ เหล่านี้ไม่ได้มาสายเพอร์ฟอร์ม เพราะฉะนั้นถ้าเขาได้วุฒินี้ไป การไปสมัครงานจะมีปัญหา เพราะฉะนั้นสาขาของเราจะเป็นครั้งแรกที่เป็นการจัดการร่วมระหว่างดุริยางคศาสตร์บัณฑิต กับวิทยาการจัดการ คณะบริหาร เพราะฉะนั้นของเราจะเป็นศิลปศาสตร์บัณฑิต มันก็จะกว้างขึ้น เวลาไปฝึกงานก็จะได้ไปทำงานในสายงานต่างๆ ที่เป็นส่วนเกี่ยวกับโปรดักชั่น ดนตรี หรือการตลาดค่ายเพลงเป็นต้น
คำถามสำคัญ ค่าเทอมครับ
อ.แบงค์ : (หัวเราะ) ต้องบอกว่าหลักสูตรนี้ค่าเทอมอยู่ที่ 50,000 บาทครับ ก็ถูกกว่าหลักสูตรอื่นในที่นี้แล้ว
ความคาดหวังสูงสุดของ อ. แบงค์
อ.แบงค์ : อุตสาหกรรมดนตรีของเรา ที่ผ่านมายังไม่มีใครที่จบออกมาในหลักสูตร Business จริงจัง ที่ผ่านมาก็คือพี่ๆ ในวงการ ที่ใช้ประสบการณ์ลองผิดลองถูก จนกลายเป็นสิ่งที่ดีออกมา เราให้พี่ๆ เหล่านี้เป็นอาจารย์ เด็กที่เรียนก็จะได้ความรู้จากอาจารย์ที่ใช้ชีวิตจริงๆ กับอาจารย์ที่มาในทางทฤษฎี เพราะฉะนั้นผมมองว่าถ้าเด็กเหล่านี้เข้าสู่อุตสาหกรรมดนตรี สัก 100 คน จนไปถึง 1,000 คน ผมเชื่อว่าใน 10 ปี อุตสาหกรรมดนตรีของเราจะถูกขับเคลื่อนโดยคนพวกนี้ ผมอยากให้อาวุธทางวัฒนธรรมตรงนี้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบจริงจัง ซึ่งถ้าเด็กกลุ่มนี้เข้าไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมดนตรี มันจะถูกขับเคลื่อนได้เร็วมากขึ้น ทำยังไงเราจะผลิตเด็กที่มีคุณภาพ เข้าไปในอุตสาหกรรมนี้ให้ได้
ฝากถึงคนที่อยากจะมาเรียน
อ.แบงค์ : ผมฝาก 2 เรื่อง อย่างแรกน้องๆ ที่สนใจทางนี้ไม่ว่าจะเล่นดนตรีเป็นหรือเล่นดนตรีไม่เป็น แต่มี Passion เกี่ยวกับอุตสาหกรรมดนตรี ให้ลองเข้ามาช่วยกันพัฒนาวงการดนตรีให้ไประดับโลก เพราะฉะนั้นเราจะให้ความรู้ และบริบทที่ใช้ในชีวิตจริงได้ ดังนั้นพยายามสอบให้ได้เกรดเฉลี่ย ทำให้ถูกต้องตามกฎ ถ้าสนใจก็เข้ามาดูได้ที่ Error! Hyperlink reference not valid.เรื่องที่ 2 ตอนนี้ผมมีงานวิจัย ทำ App ชื่อว่า Bandcation ก็น่าจะโหลดได้ช่วงเดือนพฤษภา จะเป็น App ที่บอกว่าวงที่เขาเล่น เล่นที่ไหนบ้าง มีผลงานอะไร ซึ่งตรงนี้จะทำให้พวกเขามีแฟนคลับมาติดตาม สามารถบอกได้ว่าวงนี้เล่นเพลงสไตล์ไหน เล่นอยู่ตรงไหน มีใครพูดถึง มีคอมเมนท์อะไรบ้าง มีแรงค์กิ้งให้ ผมเชื่อว่าตรงนี้เป็นโอกาสของนักดนตรีทั่วไป ผมต้องการจะให้เป็น App ท่องเที่ยวด้านดนตรี อย่างเช่นฝรั่งมาบ้านเรา อยากดูดนตรีแจ๊ซ ที่เล่นแจ๊ซมีที่ไหนบ้างนอกจาก Saxophone กับ Brown Sugar ซึ่งเราสามารถหาจากตรงนี้ได้ ซึ่งผมก็หวังว่าวงดนตรีถ้าจะเป็นวงที่เจ๋ง ต้องดังจาก YouTube, Facebook และ Bandcation ด้วย (หัวเราะ) ก็ฝากด้วยครับ
เล็กๆ น้อย กับ “ไม้หมอน The Voice”
หนึ่งในผลผลิตของที่นี่ ก็คือแชมป์ The Voice คนล่าสุด น้องไม้หมอน มาลองฟังจากปากคำของนักศึกษา สาขานี้แลย
ขอแสดงความยินดีกับแชมป์ The Voice
ไม้หมอน : (หัวเราะ) ขอบคุณครับ ผมโชคดีที่ได้ ไม่คิดไม่ฝันเลยว่าจะได้ ได้เข้าไปทุกรอบก็พอใจแล้ว พอได้แชมป์นี่ก็ตกใจ แต่ก็ดีใจไปด้วย สเตปต่อไปก็ทำเพลง
ในฐานะนักศึกษาเข้ามาในสาขานี้ได้ยังไง
ไม้หมอน : ตัวผมเล่นดนตรีก็จริงแต่ตอนเข้ามาผมรู้สึกว่าไม่ได้อยากเล่นดนตรีเป็นอาชีพหลัก อยากเรียนอย่างอื่น แล้วเอามาใช้ควบคู่กัน คือตอนแรกผมเห็นวิชาก็ไม่เข้าใจ แต่พอเราได้มีประสบการณ์ในเวทีประกวด เราได้เห็นวิธีทำงานเบื้องหลังจริงๆ เราก็ได้เห็นว่าเออ วิชาที่เราเรียน มันถูกใช้งานจริงๆ ยกตัวอย่างเช่นการเลือกเพลงที่จะใช้ประกวดในรายการ เขาก็จะดูหลายๆ อย่างไม่ใช่เอาแค่เราร้องได้ หรือเราชอบ ทางรายการ ก็จะคิดเพลงเผื่อไว้ว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร ซึ่งการวิเคราะห์แบบนี้ ก็อยู่ในวิชาเรียน ซึ่งทำให้เราเรียนรู้ได้ของจริงจากการประกวด เราเห็นแล้วก็เข้าใจ ในสาขาของเราจะมีรหัสเรียกว่า Sumeb ซึ่งส่วนใหญ่ เราจะเรียนการตลาดคู่กับทฤษฎีดนตรี แต่เวลาเรียน เราจะเรียนวันอาทิตย์ด้วยก็มีหยุดในช่วงวันจันทร์ วันพุธอะไรแบบนี้ ซึ่งเราก็จะรู้เรื่องนี้แต่แรกอยู่แล้ว
บรรยากาศการเรียน การสอนที่นี่
ไม้หมอน : ผมว่าอบอุ่นดีครับ อย่างการร้องเพลงผมก็จะมีรุ่นพี่ที่เก่งช่วยติว ส่วนวิชาเรียน ช่วงที่ผมไปประกวด The Voice ก็จะมีเพื่อนสอน ช่วยติวให้ หรืออาจารย์แบงค์ก็ช่วยผมเยอะ โดยเฉพาะการให้คำปรึกษาเรื่องต่างๆ ทั้งการใช้ชีวิตในวงการ และที่สำคัญ อนุญาตให้ลาได้ ซึ่งตอนนี้ผมก็ต้องมาติวสอบ อย่างเคร่งเครียด (หัวเราะ)
ชีวิตเปลี่ยนไปมั้ย หลังจากได้แชมป์
ไม้หมอน : ก็นิดนึงครับ แต่ยังไงในมหาวิทยาลัยผมก็เป็นไอ้ไม้ไหมอนคนเดิม ตอนนี้ก็รอทำเพลงกับ Universal ครับ
เชิญชวนเพื่อนๆ มาเรียนสาขานี้กันครับ
ไม้หมอน : อยากเชิญชวนทุกคนมาเรียนครับ ถ้าเราสามารถทำได้หลายอย่างในวงการบันเทิง คุณสามารถทำงานเบื้องหลัง และถ้าอยากเป็นศิลปินก็หลักการธุรกิจไปใช้ได้เช่นกัน ลองมาเรียนกันครับ