ในการเล่นกีตาร์พวกเมโลดี้ต่างๆ ที่ทำให้เพลงฟังดูไพเราะ สิ่งสำคัญมันไม่ใช่แค่การดีดไปเรื่อยๆ แล้วจะออกมาเพราะ สิ่งสำคัญคือจังหวะในการดีด การเว้นช่องว่าง การเพิ่มโน้ตที่มากกว่า 1 ตัว เพื่อให้ได้เสียงประสานที่ไพเราะมากขึ้น มันเป็นเบสิกที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ และวิธีที่เรียนรู้ก็คือลองเล่นจากเพลงดังๆ หรือเพลงที่เป็นอมตะนั่นเอง เพลงที่เป็นเพลงดังหลายๆ เพลง ถ้าสังเกตดีๆ มันจะมีเมโลดี้ของโน้ตกีตาร์ง่ายๆ เป็นท่อนจำ ก่อนที่เราจะไปพูดถึงเนื้อเพลง หรือการร้องเพลง ท่อนเมโลดี้ที่เกิดจากเครื่องดนตรีอย่างกีตาร์ หลายเพลงท่อนกีตาร์จะเป็นท่อนแรกที่จะเข้าหูของคนฟังและจะเป็นที่จำได้ของคนที่สนใจในการเล่นกีตาร์ วงที่มีท่อนจำในเพลงเยอะมากๆ วงนึง ในประเทศไทย นั่นก็คือวง “คาราบาว” ในเล่มนี้มีเพลงช้าที่ Intro ขึ้นมาก็น่าจะจำได้ นั่นก็คือเพลงที่มีความหมายดีๆ อย่าง “ทะเลใจ” ซึ่งคนที่เริ่มเล่นกีตาร์ใหม่ๆ น่าจะลองฝึกไว้เล่น เพื่อเป็นเพลงแรกๆ ที่จะใช้หัดเล่น โซโล่ หรือเล่นเมโลดี้ ใครที่สนใจอยากลองเล่นเมโลดี้ เริ่มจากเพลงนี้ได้เลย
แนะนำ : เพลงนี้มีเมโลดี้ในการเล่นที่ไม่ยากก็จริง แต่สำหรับมือใหม่ ที่อยากเล่นกีตาร์โซโล่ อาจจะต้องใช้เวลาสักนิด การนำเพลงนี้มาให้เล่นก็น่าจะเรียกว่าเป็นการปูเบสิกที่ดีในการพัฒนาการเล่นต่อไป งั้นลองมาเล่น แบบฝึกที่เราแยกส่วนมาให้ฝึกกัน
Ex.1 คู่ 3 คู่4
ในเพลงนี้มีการเดินเมโลดี้ ด้วยคู่ 3 คู่ 4 เป็นหลัก ปัญหาหนึ่งของการเล่นในเพลงนี้ และปัญหาของคนที่เริ่มเล่นใหม่ๆ ก็คือการแยกเสียงของโน้ตที่เป็นขั้นคู่ไม่ออก ลองฝึกฟังในบาร์แรกดู ตรงที่เราสาย 3 กับ สาย 2 เล่น โน้ต E ตรงเฟร็ต 9 สาย 3 กับ โน้ต G# เฟร็ต 9 สาย 2 ตรงนี้เป็นเสียงแบบคู่ 3 แต่ในขณะที่เราเลื่อนโน้ตในสายที่ 2 ไปเป็น โน้ต A เฟร็ต 10 เราจะได้คู่ 4 นอกจากลองจับโน้ตแล้ว ลองฟังเสียงดูด้วยว่าแตกต่างกันขนาดตรงไหน แล้วรูปแบบการจับ ก็ไม่ได้ตายตัว ใน 2 ห้อง ต่อมาคุณลองวิเคราะห์ด้วยหู ว่าอันไหนเป็นคู่ 3 คู่ 4 (แน่นอนจริงๆ มันมีทฤษฎีอยู่ แต่เขียนแล้วอาจจะยาว ลองทำความคุ้นเคยด้วยหูตัวเองดูก่อน)
Ex.2 Hammer On, Pull Off
เทคนิค 2 อย่างนี้เป็นเบสิกในการเล่น กีตาร์เลย Hammer On คือการดีดโน้ตลงไป แล้วใช้นิ้วที่ยังไม่ได้กด “เคาะ” ลงไปที่โน้ตที่เสียงสูงกว่า ในตัวอย่างจะเห็นว่าเรากดโน้ตที่เฟร็ต 9 พอดีดแล้วก็เคาะลงไปที่เฟร็ต 10 ตรงนี้คือเทคนิค Hammer On ในทางกลับกันถ้าเราดีด จากเฟร็ต 10 แล้ว “เกี่ยว” โน้ตกลับมาที่เฟร็ตที่ 9 เราจะเรียกเทคนิคนี้ว่า Pull Off เช่นในตัวอย่าง เราจะดีดโน้ตที่เฟร็ต 10 ก่อน จากนั้น เกี่ยวกลับมาที่เฟร็ต 9 ในเพลงนี้จะยากตรงที่เราจะต้องเล่นเป็นขั้นคู่ แล้วค่อยเล่น 2 เทคนิคนี้
Ex.3 ผสมผสาน Hammer On, Pull Off
ในการเล่นจริงๆ มักจะไม่ได้เล่นแค่ Hammer On หรือ Pull Off อย่างเดียว เรามักจะเล่นผสมกัน ขึ้นอยู่กับว่า เราจะเล่น Hammer On หรือ Pull Off ก่อน แต่พอเล่นผสมกัน เราจะได้เมโลดี้ ที่ฟังดูเคลื่อนที่มากขึ้น และจะเป็นเบสิกที่จะปูไปเทคนิคยากๆ อย่าง Thrill หรือ Legato
Ex.4 จังหวะยก
เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่เป็นเบสิก ซึ่งเราจำเป็นมากๆ ที่จะต้องรู้ว่าอะไรคือจังหวะยก วิธีง่ายๆ ลองนับเป็นชุดๆ ชุดแรกนับ 1 2 3 4 ในจังหวะเท่าๆ กัน ตรงนี้ให้เราคิดว่าเท่ากับ 1 ห้องเพลง และจะตรงกับโน้ตตัวดำ คราวนี้นับแบ่งเป็น 1 และ 2 และ 3 และ 4 และ ให้ลอง นับ และดีดโน้ตไปด้วย เล่นโน้ตแล้วดีดเฉพาะตรงที่เป็นตัว “และ” ตรงนั้นคือจังหวะยก พอลองแล้วคุ้นเคย ลองไม่ดีดทุกตัวลองนับปากเปล่า แล้วดีด โน้ตเฉพาะตรงจังหวะ “และ” จะเป็นหลัง 1 หรือ 2 หรือ 3 หรือ 4 ก็ได้ ลองฝึกให้คุ้นเคยกับจังหวะยกดู
Ex.5 Grace Note Slide
อีกเทคนิคนึงเรียกว่า Grace Note Slide เทคนิคนี้ เราต้องรู้จากการเล่น Slide โน้ตก่อน วิธีคือการดีดโน้ต แล้วจากนั้น เคลื่อนที่มือข้างที่จับโน้ตไปในเฟร็ตที่สูง (หรือต่ำ) กว่าเป็นในแนวนอน ในตัวอย่าง จะเห็นโน้ตในเฟร็ต 11 สาย 3 กับเฟร็ต 10 สาย 2 ดีด แล้วสไลด์ไปที่โน้ตในเฟร็ต 13 สาย 3 กับ เฟร็ต 12 สาย 2 ตรงนี้เป็นวิธีการสไลด์ปกติ แต่ถ้าเป็น Grace Note Slide เราจะดีดโน้ตในเฟร็ต 11 สาย 3 กับ เฟร็ต 10 สาย 2 ดีด แล้วสไลด์ไปที่โน้ตในเฟร็ต 13 สาย 3 กับ เฟร็ต 12 สาย 2 แต่ให้อยู่ใน “จังหวะเดียวกัน” ไม่ใช่แยกกัน เหมือนดีดโน้ตทีเดียวแล้ว สไลด์อย่างเร็ว ซึ่งจะได้สำเนียงการเล่น อีกแบบ
Ex.6 Play The Intro
สุดท้ายลองเล่น Intro เพลงนี้จะเริ่มจากการเล่น Hammer On, Pull Off จากนั้น เล่น Grace Note Slide และไปดีดอีกทีตรงจังหวะ 4 และ ค้างโน้ต แล้วไปดีดอีกทีตรงจังหวะ “และ” ของจังหวะที่ 2 ในห้องถัดไป หลักๆ ใน Intro เพลงนี้จะเป็นการเล่นด้วยเทคนิคที่บอกมาข้างต้น